สาระธรรมอันอุดม
พระพุทธศาสนา กับคำสอนเรื่องเทวดา นรก และสววรค์ ว่ากันอย่างไร
คำสอนเรื่องเทวดา
ในพระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องเทวดาไว้หลายประเภทรวมทั้งประเภทที่นับว่าสำคัญที่สุด คือที่ทุกคนอาจเป็นไปได้ในชาตินี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน นั้นก็คือการเป็นเทวดาได้โดยมีคุณธรรมอันเป็นคำสอนที่ต้องการให้ได้ประโยชน์และได้ผลจริง ๆ ในหมู่ผู้ฟัง เพราะการฟังเรื่องเทวดาบนสวรรค์ว่ามีสุขสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับฟังนิทาน พอเลิกแล้วก็แล้วไป ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรได้ หรืออาจปฏิบัติด้วยเชื่อว่าตายแล้วจะได้เป็นอย่างนั้นบ้าง แต่ก็รู้สึกว่าจะเลื่อนลอยเกินไป ต้องทุ่มความเชื่อลงไปจนเต็มที่จึงจะปลอบใจให้สบายได้ ด้วยเหตุนี้จึงสู้คำสอนที่ให้เป็นเทวดาด้วยคุณธรรมในชาตินี้ไม่ได้ เพราะตรงไปตรงมาและมีเหตุผลในหลักคำสอนที่ให้เกิดผลดีแก่เอกชนและแก่ส่วนรวมอย่างน่าพอใจ
ประเภทแห่งเทพหรือเทวดาที่แสดงไว้ในพระพุทธศาสนามีดังนี้ :-
๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชินี พระราชกุมาร และพระราชกุมารี
๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาจริง
๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ อย่างสูง ได้แก่ พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้า
เทวดาทั้ง 3 ประเภทนี้ พอจะเห็นความได้ชัด คือ ในประเภทแรกสมมติเทพนั้น มนุษย์เราได้ยกย่องหัวหน้าขึ้นเทียบด้วยเทวดา ทั้งนี้เป็นไปตามระบบราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ การใช้ถ้อยคำแสดงคารวะก็เป็นไปโดยพิเศษ แต่เทวดาโดยสมมติอย่างนี้ ใคร ๆ จะเลือกเป็นตามชอบใจไม่ได้ เพราะจะต้องเป็นไปตามการสืบสกุลตามกฎมณเฑียรบาล ส่วนเทวดาประเภทที่ 2 ที่เรียกว่า อุปปัตติเทพนั้น ได้แก่ เทวดาจริง ๆ ซึ่งจะได้วินิจฉัยในตอนสุดท้ายที่ว่าด้วยสวรรค์นรกมีจริงหรือไม่ เทวดาประเภทนี้ กล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาได้แก่ผู้เคยประกอบคุณงามความดีไว้ แล้วผลแห่งคุณงามความดีนั้นส่งสนองให้ได้ประสบสุขในเทวโลก ซึ่งดูเหมือนจะมีกล่าวไว้ในทุกศาสนา แต่คนสมัยใหม่ไม่ค่อยเชื่อ หาว่าเป็นเรื่องปดหรือเอาสวรรค์มาล่อให้คนทำความดี ฉะนั้นจึงควรได้รับการพิจารณาในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงเทวดาประเภทที่ 3 แล้ว จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาได้ใช้หลักตัดสินที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในการวินิจฉัยเรื่องเทวดาโดยให้หลักไว้ว่า ยังมีเทวดาอีกประเภทหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเทวดาประเภทอื่น 2 ข้อข้างต้น คือ วิสุทธิเทพหรือเทวดาโดยความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ในที่นี้หมายถึงความบริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ อันได้แก่ความประพฤติตนเป็นคนดีพร้อมนั้นเอง
คนที่ประพฤติตนดี มีความบริสุทธิ์ ย่อมชื่อว่าเป็นเทวดาสูงกว่าเทวดาโดยสมมติ สูงกว่าเทวดาบนสวรรค์ นี่แสดงว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ให้เกียรติเทวดาบนสวรรค์ยิ่งกว่ามนุษย์ที่ประพฤติปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์สะอาดทางกายวาจาใจแต่ประการไร อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกในโลกที่สอนเรื่องเทวดาบนพื้นโลกซึ่งทุกคนอาจเป็นได้ อันสูงกว่าเทวดาทุกประเภทซึ่งมีกล่าวไว้ในศาสนาต่าง ๆ ทั้งเป็นเรื่องที่มีเหตุผลอันอาจตรองตามและลงมือประพฤติปฏิบัติได้ด้วย
เทวดาโดยความประพฤติประเภทนี้ ที่ว่าอย่างสูง ได้แก่พระอรหันต์ผู้ละกิเลสได้ เป็นอันแสดงว่าอย่างต่ำก็มี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ประกอบด้วยหิริความละอายแก่ใจ โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต ประพฤติธรรมฝ่ายขาว คือ คุณงามความดี ชื่อว่ามีธรรมของเทวดา”
นอกจากนั้นในศาสนาพราหมณ์ได้มีการสอนและพรรณนารูปลักษณะของพระพรหมไว้ว่ามี 4 หน้า นั่งเหนือดอกบัว ทางพระพุทธศาสนาก็ไม่ขัดคอ แต่ได้แสดงใหม่ในลักษณะ Reinterpretation คือ แปลความหมายใหม่ว่า ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรม 4 ประการ ที่เรียกว่า พรหมวิหาร คือ
๑. เมตตา ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขถ้วนหน้า (ปราศจากความพยาบาท)
๒. กรุณา เอ็นดูหรือสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุก (ปราศจากความโหดร้ายหรือความคิดเบียดเบียน)
๓. มุทิตา พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี (ปราศจากความริษยา)
๔. อุเบกขา วางใจเป็นกลาง (ปราศจากความลำเอียง)
คุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้ เป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่โดยแท้ ผู้ใดประกอบด้วยคุณธรรมชนิดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นพรหมซึ่งเป็นเทวดาชั้นสูง และท่านได้ยกตัวอย่างว่า มารดาบิดามีความรู้สึกเช่นนี้ต่อบุตร จึงชื่อว่าเป็นพรหมของบุตร เมื่อทางพระพุทธศาสนาโยงมาให้ประพฤติปฏิบัติได้จึงชื่อว่าได้ช่วยให้คนสมัยใหม่เข้าใจศาสนานี้ดีขึ้น และมองเห็นความทันสมัยไม่เก่าแก่ของพระพุทธศาสนา เพราะทุกคนอาจนำคติธรรมเรื่องเทวดานี้ไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ตนและส่วนรวมได้โดยทั่วกัน การกล้าตัดสินอย่างตรงไปตรงมาโดยชี้ไปที่คุณความดีว่า อาจทำให้คนธรรมดาดีเลิศยิ่งกว่าเทวดาโดยสมมติ หรือเทวดาจริง ๆ บนสวรรค์นั้น ทำให้หมดความยุ่งยากไปได้ เพราะส่วนที่ดีเลิศเป็นของกลางที่ทุกคนอาจนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้แล้ว ไฉนจะตะเกียกตะกายเพื่อเป็นเทวดาจริง ๆ บนสวรรค์ ซึ่งจะต้องรอให้ตายเสียก่อน และตายแล้วก็ไม่แน่ว่าจะได้เป็น เพราะเราอาจก่อกรรมทำชั่วอื่น ๆ ไว้ อาจไปนรกก่อนก็ได้ ท่านผู้อ่านหนังสือนี้ผ่าน บทก่อน ๆ มาแล้วคงจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนได้เคยกล่าวไว้แล้ว เมื่ออ้างถึงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่สรรเสริญว่า คนที่มีความรู้ดีและความประพฤติดีชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทวดาและมนุษย์ ซึ่งแสดงว่าเทวดาจริง ๆ ก็อาจต่ำกว่ามนุษย์ ถ้าเทวดานั้นยังไม่เป็นเทวดาที่ดี ยังมีใจต่ำหรือเกะกะเกเร การได้เป็นเทวดาก็เป็นเพียงได้รับผลดีของกรรมเก่าเท่านั้น ถ้าไม่ประพฤติตนให้ดีสมเป็นเทวดาก็สู้มนุษย์ที่ประพฤติดีไม่ได้ ฉะนั้น คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนาที่กล้าชี้ว่ามนุษย์อาจดีกว่าหรือสูงกว่าเทวดานี้ จึงนับเป็นลักษณะพิเศษจริง ๆ ที่จะหาไม่ได้ในคำสอนอื่น เพราะในคำสอนอื่นเทวดาล้วนสูงกว่ามนุษย์ทั้งนั้น ที่จะหาไม่ได้ในคำสอนอื่น เพราะในคำสอนอื่นเทวดาล้วนสูงกว่ามนุษย์ทั้งนั้น ซ้ำบ้างทีก็มองไม่ค่อยเห็นทางด้วยว่าทำอย่างไรมนุษย์จึงจะยกฐานะของคนให้เท่าเทียมได้บ้าง เพราะเป็นเรื่องผูกขาดฐานะ ส่วนพระพุทธศาสนาไม่ถือว่าตำแหน่งอะไร เช่น เทวดา หรือพระพุทธเจ้าจะเป็นตำแหน่งลอย ๆ ที่มีไว้เพื่อผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ จะต้องมีเหตุผลเพียงพอคือผู้ได้รับตำแหน่งนั้น จะเป็นใครก็ได้ที่ลงมือประพฤติปฏิบัติชอบตามควรแก่เหตุผล จึงจะได้รับผลเช่นนั้น อันนี้เองที่พระพุทธศาสนากลายเป็นวิทยาศาสตร์ไป ซึ่งทุกคนผู้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลย่อมเว้นเสียมิได้ที่จะชื่นชมในหลักธรรมอันตรงไปตรงมา ไม่มีอภิสิทธิ์พิเศษใด ๆ แฝงอยู่เลย
เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านเรื่องนี้ได้อ่านข้อวินิจฉัยเรื่องนรกสวรรค์เทียบเคียงกับเรื่องเทวดาที่ผ่านมาแล้ว ผู้เขียนขอแสดงบทความเรื่องนรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ ซึ่งเคยเขียนวินิจฉัยเรื่องนรกสวรรค์ไว้เป็นทางพิจารณาโดยเหตุผลสืบไป
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า เราพยายามพิจารณาหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเราอย่างใช้เหตุผล หรือข้อพิสูจน์ตามแนวทางวิทยาศาสตร์มากเพียงใด ก็จะเป็นประโยชน์ให้เราได้ชื่อว่านับถือศาสนาด้วยปัญญามากเพียงนั้น และการนับถือศาสนาแบบใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลนี้เป็นที่พึงประสงค์อย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา
ต่อไปนี้ขอเชิญท่านอ่านบทความเรื่องนรกสวรรค์มีจริงหรือไม่เป็นลำดับไป :-
นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่?
ปัญหาเรื่อง นรกสวรรค์ มีจริงหรือไม่นี้ นับว่าน่าสนใจ เพราะถ้าเราทำความเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งก็จะชื่อว่านับถือศาสนาอย่างใช้ความพิจารณารอบคอบ และไม่ต้องทำให้เกิดความสงสัยบ่อย ๆ ในศาสนาที่ตนนับถือว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ เพียงไร?
เราอาจแบ่งนรกสวรรค์ออกเป็นชั้น ๆ ได้ดังนี้
๑. นรกสวรรค์ในจิตใจของเราเอง อย่างที่พูดกันว่าสวรรค์ในอกนรกในใจ
๒. นรกสวรรค์ในโลกปัจจุบันที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
๓. นรกสวรรค์ที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตา เป็นเรื่องของอีกโลกหนึ่งต่างหาก
ต่อไปนี้จะอธิบายเรื่องนรกสวรรค์ ตามที่จำแนกประเภทไว้นั้นโดยลำดับ
ประเภทที่ 1
นรก สวรรค์ ในจิตใจของตนเอง
ทางพระพุทธศาสนาถือว่า จิตใจของเรานี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะบังคับบัญชาร่างกายให้ทำอะไรได้ทั้งในทางดีทางชั่วตามลักษณะของจิตใจนั้น กาย วาจา เป็นเพียงหุ่นให้ในชักหรือเชิดให้แสดงอาการต่าง ๆ และจิตใจนั้นก็เป็นตัวรับรู้รับทราบและรับผิดชอบแทนร่างกายทั้งหมด แม้มีใครมาด่าว่าเสียดสีร่างกาย จิตใจก็เป็นผู้ออกรับแทนร่างกาย ในเวลานอนหลับจิตใจพักงาน แม้จะมีใครมาด่าว่าก็ไม่รู้สึกโกรธเคือง เพราะจิตใจไม่รู้ตกลงว่าร่างกายที่ปราศจากจิตใจก็ไม่ผิดอะไรกับท่อนไม้ เมื่อจิตใจเป็นตัวรับผิดชอบการกระทำต่าง ๆ ซึ่งตนสั่งงานไปทางกายกับวาจาเช่นนี้ ทางพระพุทธศาสนาจึงสั่งสอนให้ศึกษาเรื่องของจิตใจเป็นพิเศษ
จิตใจที่เต็มไปด้วยความรู้สึกใฝ่ต่ำ คือ คิดแต่ทางชั่วช้าเลวทราม เมื่อสั่งงานให้กายวาจาแสดงอาการอะไรออกมา ก็ย่อมเป็นไปในทางชั่วช้าเลวทรามเช่นเดียวกัน จิตใจชนิดนี้ย่อมเต็มไปด้วยความเดือดร้อน เพราะความชั่วช้าภายในเผาอย่างหนึ่ง เพราะผลความชั่วที่ทำลงไปคอยตามรบกวนจิตใจอีกอย่างหนึ่ง คนทุกจริตฉ้อโกงผู้อื่นหรือคนที่มากไปด้วยความโกรธความริษยา ย่อมมีจิตใจเร่าร้อนอยู่เนืองนิตย์ เหมือนกับตกนรกทั้งเป็นและเป็นการตกนรกทางจิตใจ และโดยประการตรงกันข้ามถ้าจิตใจประกอบด้วยคุณธรรม เช่น เมตตากรุณาความคิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความพลอยยินดีในความเจริญของผู้อื่นไม่ริษยาและความรู้จักรังเกียจความชั่วต่าง ๆ จิตใจใฝ่สูงนี้จะเต็มไปด้วยความสุขสงบ ชื่นบาน เป็นสวรรค์ ไปในตัว เพราะฉะนั้น ด้วยจิตใจนี้ บุคคลอาจตกนรก ขึ้นสวรรค์ เป็นสัตว์นรก สัตว์เดียรัจฉานเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้าได้ สุดแต่ว่าจะประกอบส่วนชั่วหรือส่วนดีมากน้อยเพียงไร
ประเภทที่ 2
นรกสวรรค์ที่มองเห็นได้ด้วยตา
ผู้เคยเข้าไปดูในคุกตะรางห้องขังแล้ว คงได้เห็นคนตกนรกทั้งเป็นไปถูกขังทนทุกข์ทรมานอยู่ในลักษณะต่าง ๆ กัน นานบ้าง ไม่นานบ้าง ตามควรแก่โทษานุโทษ และทำนองเดียวกัน เราก็คงได้เห็นผู้ประพฤติตัวเป็นพลเมืองดี ไม่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง อุตสาหะทำมาหากินตั้งเนื้อตั้งตัวได้เป็นหลักฐาน มีความเป็นอยู่ดี มีบ้าน มีที่ดินและยวดยานพาหนะใช้สอยพรั่งพร้อมผาสุกไปด้วยทรัพย์สมบัติและสิ่งที่ปรารถนา ผู้เป็นเช่นนี้เมื่อเทียบกับนักโทษดังกล่าว ก็จะเห็นได้ว่าต่างกันอย่างชัดเจน เป็นนรกสวรรค์ที่สอนให้มนุษย์มองเห็นผลแห่งความดีความชั่ว ว่าต่างกันอย่างไรในปัจจุบันทันตาเห็น
ประเภทที่ 3
นรกสวรรค์จริง ๆ ที่เห็นไม่ได้ด้วยตา
เราคงจะเคยได้ฟังคำพรรณนาถึงเรื่องนรกสวรรค์ว่ามีสภาพวิจิตรพิสดารอย่างน่าสนใจ แต่ก็รวมความได้อย่างหนึ่งว่า นรกมีไว้สำหรับลงโทษคนชั่ว สวรรค์มีไว้ให้รางวัลแก่คนดี ปัญหาที่สำคัญก็คือ นรกสวรรค์ดังกล่าวนี้มีจริงหรือ ถ้ามีเราทำไมจึงไม่เห็น ถ้าพูดเพียงเรื่องเห็นหรือไม่เห็นแล้ว อย่าว่าแต่นรกสวรรค์ซึ่งอยู่คนละโลกกับเราเลย แม้เมืองที่อยู่ห่างไกลคนละเมืองกับเรา เราก็มองไม่เห็นต้องอาศัยฟังคำบอกเล่าของคนอื่น เรื่องนรกสวรรค์จริง ๆ นั้นผู้บำเพ็ญคุณธรรมทางจิตใจสูง จนสามารถเห็นได้ด้วยตาภายใน ได้บอกกล่าวไว้ว่ามี ส่วนคำพรรณนารายละเอียดนั้น เป็นเรื่องที่กล่าวสืบ ๆ กันมา เราไม่ควรติดใจอะไรมากนักมาพิจารณากันในขั้นว่า มีหรือไม่มีก่อนดีกว่า และในการวินิจฉัยเรื่องนรกสวรรค์มีจริงหรือไม่นี้ ถ้าสามารถอาศัยวิชาวิทยาศาสตร์มาช่วยอธิบายได้เราก็น่าจะลองวินิจฉัยดู
เราลองสอบสวนข้างฝ่ายผู้ไม่เชื่อก่อนว่า มีเหตุผลอย่างไร ก็มักจะได้รับคำตอบว่า เพราะไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ปรากฏ หรือนำมาแสดงไม่ได้ ในการวินิจฉัยปัญหาใด ๆ ก็ตาม เราจะอ้างเพียงความไม่รู้ไม่เห็นมาเป็นเหตุผลว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้หรือเหตุการณ์นั้นนี้ไม่มีจริงหาได้ไม่ การละเมิดกฎหมาย โดยอ้างว่าไม่รู้กฎหมายย่อมไม่ทำให้เป็นข้ออ้างที่มีน้ำหนัก การที่เราไม่รู้ว่าไฟเป็นของร้อนแล้วยื่นมือเข้าไปในไฟนั้น ไฟจะยอมรับรู้กับข้ออ้างของเราแล้วไม่ทำให้มือเราร้อนได้หรือ ในการโต้ตอบปัญหาใด ๆ เราจะใช้ข้ออ้างเพียงว่าไม่รู้ไม่เห็นมาเป็นเหตุผล ก็จะทำให้คำกล่าวของเราปราศจากน้ำหนักมากขึ้น เพราะการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ เราจำเป็นต้องให้ข้อวินิจฉับนั้นมีรากฐานอยู่บนความรู้ ไม่ใช่บนความไม่รู้ แม้ไม่รู้ประจักษ์ก็ให้เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุผลก็ยังดี ส่วนในข้อที่นำมาแสดงไม่ได้ อย่าว่าแต่เรื่องเช่นนั้นเลย แม้เรื่องในโลกเราเช่นมีผู้เล่าเรื่องภูเขาหิมาลัยให้ฟัง เราไม่เชื่อว่ามีเพราะเราไม่รู้ไม่เห็น และนำภูเขานั้นมาแสดงแก่เราไม่ได้ ดังนี้เราก็เห็นได้ว่า ความไม่รู้ไม่เห็น หรือการที่ไม่สามารถยกภูเขาหิมาลัยไปแสดงแก่ใคร ๆ ได้นั้น ย่อมไม่ทำให้ภูเขานั้นพลอยไม่มีไปตามข้ออ้างของผู้ไม่เชื่อไปด้วย
นรกสวรรค์ตามคำอธิบายของท่านผู้ฝึกฝนอบรมจิตชั้นสูงว่า มีความเป็นอยู่ต่างไปจากมนุษย์ และมีเอกเทศอยู่ส่วนหนึ่ง ผู้จะรู้จะเห็นต้องมีเครื่องมือ คือ ทิพยจักษุ (ตาทิพย์) อันต้องอาศัยการฝึกหัดอบรมจึงสามารถรู้เห็นได้ นักวิทยาศาสตร์ทางจิตใจในปัจจุบัน เช่น ดร. เทาเลสส์, ดร.ไทเรล, ดร.คาริงตัน, ดร.โซล, ดร.เฮตติงเกอร์ แห่งอังกฤษ และ ดร.ไรน์ แห่งอเมริกา ได้พยายามพิสูจน์ความสามารถในเรื่องทิพยจักษุ (ตาทิพย์) เรื่อง เจโตปริยญาณ (กำหนดรู้ใจผู้อื่น) ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าถ้าเราฝึกหัดแล้ว ก็จะเกิดความสามารถรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างแปลกประหลาด ซึ่งมนุษย์ธรรมดาไม่อาจรู้เห็นได้ (ดู The Personality of Man ของ G.N.M. Tyrell หน้า 106-128, และดู Guide to Modern Thought ของ C.E.M. Joad ตอนที่ว่าด้วย Abnormal Psychical Phenomena)
นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นคว้าเรื่องไก่ ได้พยายามติดตามค้นคว้าโรคไก่ชนิดหนึ่งชื่อนิวคาสเซิล อันเป็นไวรัสชนิดเล็กถึงกับลอดเครื่องกรองได้ ไวรัสชนิดนี้ต้องใช้กล้องจุลทัศน์ที่มีสมรรถนะ (ความสามารถ) สูงจึงเห็นได้ เพราะจะต้องขยายให้ใหญ่กว่าเดิมตั้งหมื่นหรือแสนเท่า คราวนี้เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และเราไม่ยอมใช้เครื่องมือแบบนักวิทยาศาสตร์ เราก็ไม่มีทางอื่นนอกจากเชื่อว่าไม่มีเพราะมองไม่เห็น หรือถ้าเชื่อว่ามีตามอย่างนักวิทยาศาสตร์ความเชื่อนั้นก็ไม่พิเศษอะไรไปกว่าความเชื่อตามเขาว่าในเรื่องอื่น ๆ แม้ในเรื่องนรกสวรรค์ ถ้าต้องการพิสูจน์จริง ๆ ก็ต้องสร้างเครื่องมือ คือ ทิพยจักษุซึ่งมีวิธีการสร้างให้เกิดได้ แต่เรามักจะใช้วิธีลัด คือไม่ยอมสร้างเครื่องมือแล้วจะเรียกร้องให้เห็นด้วย จึงเป็นเรื่องที่ช่วยอะไรไม่ได้
นักดาราศาสตร์จะช่วยคลี่คลายปัญหานี้ได้ดีพอใช้ เพราะกล่าวตามเหตุผลทางดาราศาสตร์ โลกอื่นจากโลกเรายังมีอยู่อีกหลายล้านหลายโกฏิโลก หรือมีผู้ที่มีความสุขสูงกว่ามนุษย์เรา คือ อาจมีความเจริญเทียมเทวดาในสวรรค์ หรือในอีกบางโลกจะมีมนุษย์หรือสัตว์อยู่กันอย่างลำบากยากเข็ญ ทนทุกข์ทรมานดั่งตกนรก และความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น อาจวิจิตรพิสดารไปกว่าในโลกเราเท่าไรก็ได้ เพราะแม้แต่ในโลกเราเองก็มีสัตว์มากมายหลายแสนหลายล้านชนิด ตั้งแต่ตัวเล็กที่สุดจนมองไม่เห็นกับตัวใหญ่ที่สุด มีรูปร่างต่างกัน กินอาหารต่างกัน อาศัยอยู่ในน้ำในดินหรือในต้นไม่บนพื้นดินแผกกันตามชนิด เหตุนี้นรกสวรรค์ซึ่งมีอยู่ในโลกอื่นก็อาจมีได้ แม้ในการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
แต่นรกสวรรค์ จริง ๆ เป็นเรื่องเห็นได้ยาก เราอาจเข้าใจเรื่องสวรรค์ในอกนรกในใจ หรือนรกสวรรค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีเลวต่าง ๆ กันนี้เองได้ดีกว่า เราจะได้เว้นเหตุชั่ว ประกอบกระทำแต่เหตุที่ดีเพื่อจะได้ไม่ต้องตกนรกทั้งเป็น แม้เราจะไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์จริง ๆ ก็ไม่ทำให้กระทบกระเทือนต่อหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะยังมีนรกสวรรค์ปัจจุบันให้เราเห็นอยู่อีก ข้อสำคัญขอให้เราเว้นชั่วประพฤติดีเป็นใช้ได้ ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มนุษย์คิดได้ดีเพียงแต่จะไปสวรรค์ หากสอนไว้สูงกว่านั้นโดยสอนให้บรรจุนิพพาน ซึ่งสูงกว่าสวรรค์ คือ ไม่มีการกลับกลอกแปรปรวนต่อไปอีก เพราะสวรรค์ยังมีความไม่ยั่งยืน ผู้อยู่ในสวรรค์ก็ยังไม่หมดกิเลส ท่านจึงสอนเรื่องนิพพานอันเป็นเรื่องของการดับกิเลสและทุกข์ทั้งปวง
ในบทนี้ขอตั้งประเด็นเป็น 2 ประการ คือ พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งพระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักแก้ไขความทุกข์อย่างถูกทาง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวโยงต่อเนื่องกัน คือ เมื่อใช้สติปัญญาก็เป็นเหตุให้แก้ความทุกข์ความเดือดร้อนได้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ