จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

ถามตอบปัญหาธรรมมะ ตอนที่ ๓

                                   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

ถามตอบปัญหาธรรมมะ ตอนที่ ๓

8. การปฏิบัติวิปัสสนาจำเป็นต้องฝึกสมาธิก่อนหรือไม่   มีอาจารย์บางท่านให้ฝึกสมาธิจนได้ปฐมฌานก่อนจึงจะสามารถปฏิบัติธรรมได้แล้วจึงมีผล?

การอบรมเจริญภาวนา   ทั้งการอบรมเจริญความสงบซึ่งเป็นสมถภาวนา   และการอบรมเจริญปัญญาคือวิปัสสนาภาวนา   ต้องอาศัยปัญญาจึงจะเจริญได้   เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่ต่างกันระหว่างกุศลจิตและอกุศลจิต   ก็ย่อมจะเจริญสมถะคือความสงบหรือวิปัสสนาไม่ได้   ทุกคนมีจิตแต่ไม่เคยพิจารณาจิตขณะนี้   เพราะมักจะพิจารณาแต่สิ่งที่ปรากฏภายนอก   เช่น  ดูบุคคลนั้นบุคคลนี้   ลืมคิดว่าจิตที่กำลังเห็นบุคคลอื่น   คิดถึงบุคคลอื่นในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล    ฉะนั้น   การอบรมเจริญความสงบของจิต   จึงต้องมีสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้สภาพที่ต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตในขณะนี้เสียก่อน   แล้วจึงจะอบรมเจริญกุศลที่เป็นความสงบหรือที่เป็นวิปัสสนาได้    ข้อสำคัญที่สุด   จะต้องทราบว่า   ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคก็มีผู้ที่อบรมเจริญความสงบของจิตถึงขั้นอรูปฌานขั้นสูงสุด   คือขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน   แต่ไม่ใช่หนทางดับกิเลส   ไม่ใช่หนทางดับทุกข์   เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว   ทรงดับกิเลสแล้ว   จึงทรงแสดงพระธรรมเพื่ออนุเคราะห์บุคคลอื่นให้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม   ดับกิเลสได้   ฉะนั้น   การอบรมเจริญสมถภาวนาจึงเป็นการเจริญกุศลจิตซึ่งสงบจากอกุศลจนจิตสงบมั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ   การเจริญสมถภาวนามีก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า   แต่การอบรมเจริญวิปัสสนาซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่ดับกิเลสนั้น   มีเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงหนทางไว้แล้ว    ฉะนั้น   ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนา   ทั้งในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน   ตลอดมาจนถึงสมัยนี้และทุกสมัย   จึงไม่จำเป็นต้องอบรมเจริญสมถภาวนาถึงขั้นของฌานจิต   แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้เจริญกุศลขั้นสมถะ   เพราะเหตุว่ากุศลทุกขั้นควรเจริญ   กุศลขั้นทานก็ควรเจริญ   กุศลขั้นศีลก็ควรเจริญ   กุศลขั้นความสงบก็ควรเจริญ   คือ  มีเมตตา  กรุณา   มุทิตา   และอุเบกขาต่อบุคคลอื่น   ระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาค   คุณของพระธรรม   คุณของพระสงฆ์   ระลึกถึงคำสอนที่ทำให้จิตใจพ้นจากความโลภ   ความโกรธ  ความหลง   ในขณะนั้นก็เป็นกุศลขั้นความสงบ   เป็นการอบรมเจริญสมถะในชีวิตประจำวัน   ไม่ใช่ขั้นพากเพียรให้ความสงบเพิ่มขึ้นจนเป็นฌานจิตแต่ละขั้น   ซึ่งเป็นการยากแสนยากที่ใครจะสามารถอบรมจิตให้สงบจนเป็นฌานจิตได้   ถ้าใครใคร่จะเจริญความสงบจนถึงขั้นฌานจิต   ชาตินี้ก็ยากที่จะถึงได้   เมื่อพากเพียรที่จะให้จิตสงบถึงขั้นฌานจิต   ก็ไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา   เมื่อศึกษาโดยละเอียดจะเห็นได้ว่า   การอบรมเจริญวิปัสสนานั้น   เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถรู้ชัดประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้   คือขณะที่กำลังเห็น   กำลังได้ยิน  กำลังคิดนึก   กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ในขณะนี้นั่นเอง
ฉะนั้น  ที่ถามว่า   การปฏิบัติวิปัสสนาจำเป็นจะต้องฝึกสมาธิก่อนหรือไม่   ก็ขอเรียนให้ทราบตามมหาสติปัฏฐานสูตรว่าไม่จำเป็น   เพราะเหตุว่า   เห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง   ไม่ใช่สัตว์  ไม่ใช่บุคคล   ไม่ใช่ตัวตน  เป็นอนัตตา
สติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัด   ได้ยินขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา สติจะต้องระลึกศึกษาจนกว่าจะรู้ชัด   ขณะที่กำลังคิดนึกไม่ใช่ตัวตน   เป็นจิตที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ   จิตแต่ละขณะแต่ละประเภทเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา    สติจะต้องระลึกรู้จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้ง   สำหรับที่ว่ามีอาจารย์บางท่านให้ฝึกทำสมาธิจนได้ปฐมฌานก่อนจึงสามารถจะปฏิบัติธรรมได้และจึงจะมีผลนั้น   ก็ขอให้พิจารณาลักษณะของจิตที่สงบด้วยสติสัมปชัญญะ   จนกว่าจะรู้ว่าลักษณะของจิตที่สงบเป็นกุศลต่างกับจิตที่ไม่สงบอย่างไรเสียก่อน   และรู้ว่ามีหนทางอย่างไรที่จะเจริญอบรมให้ความสงบนั้นเพิ่มขึ้น   จนเป็นความสงบที่มั่นคงเป็นสมาธิขั้นต่างๆ   ซึ่งยังไม่ถึงปฐมฌาน   ซึ่งก็จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ   จึงจะรู้ได้ถูกต้อง   และถ้าสติปัฏฐานเกิดแทรกคั่นในระหว่างนั้น   ก็จะเห็นได้ว่าสติปัฏฐานสามารถที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้แม้ว่าปฐมฌานไม่เกิด    เพราะฉะนั้น   ไม่ว่าจิตไม่สงบหรือสงบก็ตาม   เมื่อสติเกิดขึ้นขณะใด   ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้นตามความเป็นจริง   จึงเป็นการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์
Back to Top


9. หนีกรรมหรือตัดกรรมได้หรือไม่?

ไม่มีใครหนีผลกรรมที่ทำไว้แล้วได้ เช่น  เมื่อทำกุศลกรรมมาแล้ว   ถึงเวลากุศลกรรมจะให้ผล   แม้ไม่อยากได้ก็ต้องได้   ไม่อยากรวยก็ต้องรวย   อยู่ดีๆก็มีคนมาเชิญให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   แม้ไม่อยากเป็น   เขาก็เชิญให้เป็น   สำหรับผลของอกุศลกรรมก็โดยนัยเดียวกัน   กล่าวคือ   แม้ไม่อยากให้เกิดขึ้น   ก็ไม่สามารถจะยับยั้งได้ เช่น   ได้ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหนักเบาต่างๆกันไป   ตามควรแก่กรรม (อกุศลกรรม) ที่ได้กระทำไว้แล้ว   เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายต่างๆ   หรือลงทุนค้าขายก็ประสบปัญหาขาดทุน   ล้มละลาย  เป็นต้น  
บางคนคิดว่าตนเองฉลาด   จึงพยายามจะทำความดีลบล้างความชั่ว   เช่น   ได้เงินมาหลายร้อยล้านด้วยการทุจริต   คอรัปชั่น   ก็นำเงินที่ได้แบ่งไปทำบุญกฐิน   ผ้าป่า  หรือ   บริจาคช่วยเหลือคนยากจน   ด้วยคิดว่าจะได้หักกลบลบหนี้กันไป   แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว   การให้ผลของกรรมมิได้ปะปนกันเลย   กรรมชั่วที่ได้กระทำไปเรียบร้อยแล้ว   ก็ต้องรับผลในส่วนของกรรมชั่วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ไม่ช้าก็เร็ว   ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า   ส่วนกรรมดีที่ได้กระทำก็รอโอกาสที่จะให้ผลต่อไป
แม้พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถจะพ้นจากกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีตชาติ   ดังได้ทรงแสดงอกุศลกรรมในอดีตชาต อันเป็นเหตุให้พระองค์ประสบกับทุกขเวทนาต่างๆในพระชาตินี้    ตัวอย่างที่ขอยกมากล่าวในที่นี้คือ   การที่ต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ถึง 6 พรรษา   ทรงแสดงบุรพกรรมของพระองค์ดังข้อความใน   อรรถกถา  พุทธวรรคที่ ๑   พุมธปาทานว่า  "ก็ในกาลนั้น   เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อโชติปาละ   ได้กล่าวกับพระกัสสปสุคตเจ้าว่า   การตรัสรู้ของสมณโล้นจักมีมาแต่ไหน   การตรัสรู้เป็นของยากยิ่ง   เพราะวิบากกรรมอันนั้น   เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมายอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง 6 ปี  จึงบรรลุพระโพธิญาณ ..."
(พระสูตร และอรรถกถาแปล   ขุททกนิกาย  อปทาน  เล่มที่๘ ภาคที่๑)

ด้วยวิบากกรรมนั้น   ทำให้พระองค์ปฏิบัติผิดอันเป็นเหตุให้พระองค์ต้องทุกข์ทรมานพระวรกายอย่างยิ่ง   กว่าจะทรงทราบว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด   และมิใช่หนทางที่จะบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จากหนังสือ "กรรม...คำตอบของชีวิต"   โดย  อัญญมณี  มัลลิกะมาส
Back to Top


10. การให้ทานกับการทำบุญนั้น   มีอานิสงส์เท่ากันหรือไม่   ถ้าไม่เท่าเพราะเหตุใด?

บุญ   คือกุศลที่ชำระจิตใจให้สะอาด   ด้วยการกระทำทางกาย  ทางวาจา   ทางใจ   ฉะนั้น   ทานจึงเป็นบุญประเภทหนึ่ง   บุญมีหลายประเภท   ไม่ใช่แยกทานเป็นส่วนหนึ่ง   แล้วก็บุญเป็นอีกส่วนหนึ่ง    แต่บุญหรือ
ปุญญกิริยามีหลายอย่าง   และทานก็เป็นบุญประเภทหนึ่งนั่นเอง    ฉะนั้น   ที่สงสัยว่าการให้ทานกับการทำบุญนั้นมีอานิสงส์เท่ากันหรือไม่   ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของจิต   จิตที่เป็นกุศลต่างกับจิตที่เป็นอกุศล   และในการกระทำกุศลแต่ละครั้ง   แม้แต่การให้ทานแต่ละครั้งนั้น   อาจจะพิจารณาได้ว่า   จิตใจในขณะที่ให้แต่ละครั้งนั้นต่างกันหรือเปล่า   บางครั้งก็ให้ด้วยความเต็มใจที่จะให้   บางครั้งก็ให้ด้วยความรำคาญหรือไม่ค่อยเต็มใจ   หรือว่าจำเป็นที่จะต้องให้   รู้สึกเหมือนถูกบังคับกลายๆให้ให้ก็เป็นได้    ฉะนั้น   การที่กุศลใดจะมีอานิสงส์มากน้อยกว่ากันนั้น   ก็ขึ้นกับสภาพจิตซึ่งผ่องใสปราศจากอกุศลในขณะนั้นประการหนึ่ง   และอีกประการหนึ่ง   คือในขณะที่ทำกุศล   จะเป็นการให้ทานหรือบุญกุศลอย่างอื่น   เช่น   ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้มีความสะดวกสบายนั้นก็เป็นกุศล   แต่ถ้าหวังสิ่งตอบแทนขณะนั้น   กุศลก็ไม่มาก   เพราะมีอกุศลขั้น   แม้แต่เพียงหวังคำชม   คำสรรเสริญยกย่อง  หวังลาภ   หวังยศ  ก็เป็นอกุศล    ฉะนั้น   ที่กุศลจิตจะมีกำลังผ่องใส   มีอานิสงส์มากหรือน้อยนั้น   ก็ขึ้นอยู่กับว่าขณะที่ทำบุญกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น กุศลจิตเกิดตลอด   หรือว่ามีอกุศลเกิดคั่นด้วยความหวังผลหรือหวังสิ่งใดตอบแทนหรือไม่   ถ้ามีอกุศลคั่นก็เป็นกุศลที่ไม่มีกำลัง   อานิสงส์ก็ต้องน้อยกว่ากุศลซึ่งไม่มีอกุศลคั่น

จากหนังสือ  "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่   และปกิณณกธรรม"  โดย   สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top


11. การฝึกมโนมยิทธิกับการสะกดจิตนั้น ต่างกันอย่างไร   การที่จิตเห็นกายพระพุทธเจ้า นรก สวรรค์ เป็นภาพนิมิตนั้น เป็นการฝึกอย่างถูกต้องหรือไม่ อยู่ในหลักการสะกดจิตหรือมโนยิทธิหรือเปล่า?

มโนยิทธิเป็นอิทธิฤทธิที่สำเร็จด้วยความสงบมั่นคงของจิตขั้นปัญจมฌาน   ซึ่งยากที่จะเกิดได้   จึงไม่เหมือนกับการสะกดจิต
ถ้าไม่อบรมเจริญกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยปัญญาให้สงบมั่นคงจนถึงขั้นปัญจมฌาน   ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน   และฝึกหัดอบรมคุณวิเศษคือจักษุทิพย์   เพียงแต่นั่งทำสมาธิแล้วเห็น   นรก  สวรรค์   ก็ไม่ใช่เหตุที่สมควรแก่ผล   พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว จะเห็นพระองค์ได้อย่างไร    จิต  เจตสิก  รูป ดับ ยังคงเหลือแต่พระบรมสารีริกธาตุ   ซึ่งยังไม่อันตรธานเท่านั้น    ฉะนั้น ในสมัยนี้ถ้าจะเห็นส่วนของพระผู้มีพระภาคก็จะเห็นได้แต่เพียงพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น   ไม่สามารถเห็นกายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย

จากหนังสือ  "ตอบปัญหาธรรม"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

Back to Top


12.  การทำสมาธิหากทำได้ถึงขั้นหนึ่ง   เช่น  อัปนาสมาธิ   จะเกิดปัญญาขึ้นเองได้   ใช่หรือไม่?

การทำสมาธิไม่ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งสัจจธรรมได้   เพราะไม่ได้อบรมเจริญเหตุ   คือ วิปัสสนาภาวนาจนสมบูรณ์ที่จะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้   ผู้บำเพ็ญสมถภาวนาสามารถอบรมจิตให้สงบ   จนบรรลุอภิญญา  มีตาทิพย์   หูทิพย์  ระลึกชาติได้   และสามารถทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้   แต่สมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้   เมื่อกิเลสเกิดขึ้นครอบงำจิต   สมถภาวนาที่ถึงขั้นสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆได้ก็เสื่อม   อย่างไรก็ตาม   การเจริญสมถภาวนาที่เป็นสัมมาสมาธินั้น   เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งด้วยเหตุผล   ดังนี้
  1. สมาธิเป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์   ซึ่งได้แก่  เอกักคตาเจตสิก   เอกักคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็น สัมมาสมาธิ   เอกักคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็น มิจฉาสมาธิ    เมื่อทำสมาธิแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นมิจฉาสมาธิ   และจะเข้าใจผิดว่า   ขณะที่ต้องการให้จิตจดจ่อในอารมณ์ที่ต้องการนั้น   เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์   คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา
  2. จะต้องไม่เป็น อภัพพบุคคล   คือ ผู้ไม่สามารถบรรลุฌานจิต   หรือโลกุตตรจิตได้    ส่วนผู้ที่เป็น ภัพพบุคคล   คือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา   หรือวิปัสสนาภาวนา   อาจบรรลุฌานจิต หรือโลกุตตรจิตได้นั้นต้องเป็นบุคคลที่ :
    2.1  ไม่มีวิบากเป็นเครื่องกั้น   คือ  ปฏิสนธิจิตเป็น  "ติเหตุกะ" (เป็นเหตุกบุคคล)   ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา   คือ   มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตด้วย   โดยมีเหตุ 3 เหตุ  คือ   อโลภะเจตสิก  อโทสะเจตสิก   และอโมหะ คือ ปัญญาเจตสิก
    2.2  ไม่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น   คือ   ไม่ได้กระทำอนันตริยกรรม 5 คือ   (1) ฆ่าบิดา  (2) ฆ่ามารดา  (3) ฆ่าพระอรหันต์  (4) ทำร้ายพระผู้มีพระภาคให้ห้อพระโลหิต   และ (5) ทำสังฆเภท  คือ ทำลายพระสงฆ์ให้แตกกันโดยไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน
    2.3  ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น   คือ  ไม่มีนิยตมิจฉาทิฏฐิ 3   ได้แก่  อกิริยทิฏฐิ (ปฏิเสธการกระทำโดยเห็นว่าไม่เป็นบุญและไม่เป็นบาป)   นัตถิกทิฏฐิ (ปฏิเสธผลของบุญและบาป)   อเหตุกทิฏฐิ (ปฏิเสธเหตุ   เห็นว่าทุกอย่างไม่มีเหตุ   ไม่มีปัจจัยเกิดขึ้น)
  3. จิตที่สงบจากอกุศลเป็นสมถภาวนานั้น   ต้องเป็นกุศลจิตในอารมณ์ 40   คือ  กสิณ 10  อสุภ 10  อนุสสติ 10  อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1   จตุธาตุววัฏฐาน 1  พรหมวิหาร 4   และอรูปฌานอารมณ์ 4

ฉะนั้น   การอบรมสมถภาวนาให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เพียงจดจ้องอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งตามที่ต้องการ   ก็จะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุคตต์   ที่จะทำให้บรรลุถึงอุปจารสมาธิได้    นอกจากนี้   หากเข้าใจผิดว่า   โลภะมูลจิตขณะนั้นเป็นมหากุศล   ก็จะทำให้คิดว่านิมิตต่างๆที่จิตปรุงแต่งนั้นเป็นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิต
ด้วยเหตุนี้   จึงควรศึกษาธรรมะให้เข้าใจ   เพื่อละคลายความยึดมั่นความเป็นสัตว์   บุคคล  ตัวตน   และเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการเจริญสติปัญญา   ไม่ใช่การอยากทำสมาธิ
จากหนังสือ  "ปรมัตธรรมสังเขป"   โดย  สุจินต์  บริหารวนเขตต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น