จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สังโยชน์ ๑๐ ประการ บรรยาย อ.พุทธทาสภิกขุ

สังโยชน์ ๑๐ ประการ บรรยาย อ.พุทธทาสภิกขุ

สังโยชน์ ๑๐

เรื่อง สังโยชน์ ๑๐ ประการ นี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก, สังโยชน์ แปลว่า เครื่องผูก-
เครื่องผูกเครื่องล่าม, เหมือนกับโซ่หรือตรวน หรือ ขื่อ หรือ คา
หรืออะไรนี่,
เครื่องล่ามเครื่องผูกเครื่องจำ เรียกว่าสังโยชน์, สิ่งที่มันผูกจิตใจไว้ ให้ติดอยู่ใน
กิเลสในความทุกข์ในวัฏฏะ นี่คือ สังโยชน์
ก็คือ มันผูกให้ติดไว้กับสิ่งที่จะเป็น
ทุกข์, สิ่งที่จะทำให้เกิดทุกข์มันมีสังโยชน์ผูกติดไว้กับสิ่งนั้น. ถ้าตัดสังโยชน์ได้
หมดก็เป็นพระอรหันต์
,
ถ้าตัดสังโยชน์บางส่วนได้ ก็เป็นพระอริยเจ้าที่ลดๆ รองๆ
ลงมา, ถ้าตัดไม่ได้เลย เป็นปุถุชนเต็มขั้น, ถ้ามันตัดสังโยชน์ไม่ได้เสียเลย มันเป็น
ปุถุชนเต็มที่ นี่คอยฟังดูว่าเรามันเป็นปุถุชนเต็มที่ หรือว่า เรามันละอะไรได้บ้าง

สังโยชน์ข้อที่ ๑ เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า กายของตน, ความเห็นว่า
กายของตน ทั้งที่ไม่รู้จักว่า กายคืออะไรโดยแท้จริง, แต่มันเกิดความคิดเห็น
อันนี้ได้ว่า กายนี้, กายนี้เท่าที่เด็กทารกนั้นมันจะรู้สึกได้ว่า กาย ๆ นี้นั้นแหละ
ของตน. เด็กที่โตแล้วอย่างนี้ก็ได้, คนหนุ่มคนสาวคนแก่คนเฒ่าก็ได้,ที่เขารู้สึก
ว่า อะไรเป็นกาย- เป็นกาย เอาเป็นของตน นั่นคือ สังโยชน์ข้อแรก.
คำว่า กายๆ นี้ แปลว่า หมู่. คำว่า กายโดยแท้จริงไม่ได้แปลว่า ร่างกาย คำว่า
กาย มันแปลว่าหมู่. แต่โดยเหตุที่ว่า ร่างกายของคนๆ หนึ่ง มันมีของหลาย
อย่างรวมกันเป็นหมู่, เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไร ๓๒ อย่าง หลายอย่าง
มันรวมกันเป็นหมู่นี้ ก็เลยเรียกว่า กาย, คำว่า กาย นี้แปลว่า หมู่. ไม่ได้แปลว่า
ร่างกาย. แต่เพราะเหตุที่ร่างกายนั้นประกอบด้วยของหลายอย่างเป็นหมู่ ก็เลย
เรียกว่า ร่างกาย. คำว่า กาย แปลว่าหมู่; เช่น พลกาย นี้แปลว่า หมู่แห่งทหาร,
หมู่แห่งพล หมู่แห่งเสนา นี่พลกาย กายนั้นน่ะ แปลตามเดิมว่า หมู่ กลุ่ม, หมู่
กายแห่งทหารเรียกว่า พลกาย.
เรามีสัญชาตญาณแห่งความยึดถือว่า ตัวตนอยู่ในสันดาน พอมีความรู้สึก
เจริญขึ้น, พอเด็กทารกมันเจริญขึ้นพอที่จะรู้ว่ามีอะไร มันก็ยึดเอาสิ่งนั้นเป็น
กายเป็นตัวกู; เด็กไม่มีความรู้มาแต่ในท้อง เรื่องธรรมะธรรมโมอะไรไม่รู้
ทั้งนั้น; ดังนั้นเด็กนั้นจึงรู้ได้เพียงตามที่สัญชาตญาณมักจะชวนให้รู้ ชวน
ให้รู้สึกชวนให้สำคัญมั่นหมาย. ฉะนั้น เมื่อเด็กโตขึ้นก็มีความรู้สึกประเภท
ตัวตนตัวกูได้เอง, แล้วมันเกิดมาจากผัสสะที่มากระทบของอร่อย ก็รู้สึกว่า
อร่อย, แล้วมันก็มีความรู้สึกเกิดเขยิบต่อไปถึงว่า กูอร่อย, แม้จะไม่ออกเสีย
ว่า กู แม้จะพูดว่ากูไม่เป็น, พูดคำว่า กู มันพูดไม่เป็นก็ตามเถอะ, แต่มันมี
ความรู้สึกในความหมายของกู กูอร่อย กูไม่อร่อย อย่างนี้มันก็เพิ่มมากขึ้นๆ ๆ,
จนอายุมันมากขึ้น ความรู้สึกที่เป็นตัวกูก็เข้มข้นขึ้น เข้มข้นขึ้น, ทีนี้อะไรๆ ที่
มันเนื่องกันอยู่หมดนี้ ทั้งร่างกายนี้มันก็เป็นของกู. ฉะนั้น เด็กจะรู้สึกได้เอง
โดยไม่ต้องมีใครสอนว่าทั้งหมดนี้ของกู, เรียกว่า เป็นความโง่ข้อแรก ความ
โง่ นัมเบอร์หนึ่ง ที่มันจะเกิดขึ้นในความรู้สึกคิดนึกของเด็กนั้น, เรียกว่า
สักกายทิฏฐิ- สักกายทิฏฐิ. ทิฏฐิแปลว่า ความคิดเห็น สักกายะ ว่า กายของกู-
ว่ากายของกู, ความคิดเห็นว่า กายของกู เด็กก็มีความรู้อย่างนี้ตลอดชีวิตแหละ.
นี่อันแรกนี่ มันก็ลำบากสักเท่าไรที่เอาอะไรๆ เป็นของกู, แต่แล้วไม่เป็นได้
มันเป็นไปไม่ได้, มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน, เรียกว่า มันเป็นไปตาม
กฏของธรรมชาติ, ตามกฏของอิทัปปัจจยตา. นี้คนเราก็ต้องเป็นทุกข์เพราะ
ว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ, ทั้งที่เรารู้สึกว่าของกู ทั้งที่เรา
รู้สึกว่าตัวกู, ตัวกูก็ไม่เป็นไปตามต้องการของกู, ของกูก็ไม่เป็นไปตามที่กู
ต้องการ. นี่คือ ความทุกข์พื้นฐาน ความโง่นัมเบอร์หนึ่ง เรียกว่า สังโยชน์
ทำให้ผูกติดกันอยู่กับความทุกข์, หรือ ผูกติดกันอยู่กับกระแสแห่งความทุกข์
 คือ ปฏิจจสมุปบาทแห่งความทุกข์, มีกระแส, มีวง มีห่วง แล้วมันก็ผูกจิต
ให้ติดไว้กับห่วงนั้นแหละ โดยสักกายทิฏฐิความเห็นว่าของกู. ถ้าฟังไม่เข้า
ใจ มันก็จะไม่สนใจ, จะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความหมายอะไร. ถ้าฟังออก
แล้วจะสะดุ้ง ว่ามันเป็นเรื่องของเราโดยเฉพาะ ที่ทำให้เราติดอยู่กับความ
ทุกข์ออกมาไม่ได้ เพราะมันมีสิ่งนี้ผูกพันไว้, ผูกพันไว้เหมือนกับล่ามไว้หรือ
เย็บติดเข้าไว้ออกไม่ได้.
ข้อที่ ๑ เรียกว่า สักกายทิฏฐิ เป็นสัญชาตญาณพวกแม่บท ว่ามีตัวตนมีเป็น
ของตน แต่ไม่ต้องเล็งถึงตัวสัญชาตญาณแม่บทก็ได้, เป็นสัญชาตญาณลูก
ที่คลอดออกมาเป็นความเห็นแก่ตน ว่ามีตัวตน แต่ความหมายเดียวกันหมด,
ความหมายว่ามีตัวตนของตนในระดับโง่ที่สุด. ต่อมามันก็มีความรู้สึกว่า ตัว
ตนของตนสูงขึ้นไป ละเอียดยิ่งขึ้นไป, จนเอาธรรมะเป็นตัวตน, จนเอาปรมาตมัน
สิ่งสูงสุดอะไรเป็นตัวตนโน่น มันไม่ยอมขาดออกง่ายๆ แต่นี่โดยพื้นฐานสำหรับ
ปุถุชนทั่วไป ก็มีความรู้สึกว่า ตัวกูหรือของกูนั่นแหละ เป็นเครื่องผูกให้ติดไว้กับ
สายโซ่ของความทุกข์ ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปปาท. 

เครื่องผูกข้อที่ ๒ เรียกว่า วิจิกิจฉา ความลังเลไม่แน่ใจว่ามันถูกต้องแล้ว. ที่เขา
จะพูดหรือเขาจะอธิบายกันตามธรรมดา ก็จะว่าความลังเลสงสัย ความอะไรอีก
หลายๆ อย่าง. แต่ขอระบุว่า ความลังเลว่ามันไม่ถูกต้อง. ซึ่งเกิดได้ตามสัญชาต
ญาณ คือเกิดเองนั้น, เราไม่รู้เราก็ลังเลว่า มันจะไม่ถูกต้อง. นี่ถ้าเขาสอนให้รู้ เรา
ก็ลังเลว่าคำสอนนั้นมันไม่ถูกต้อง, ยังผิดอยู่นั่นแหละ คือไม่ถูกต้องอยู่นั่นแหละ.
ไม่มีความแน่ใจเด็ดขาดลงไปว่ามันถูกต้องแล้ว, นั้นตั้งแต่ว่าเรื่องสุขภาพอนามัย
ของเรานี้ เราก็ไม่ได้แน่ใจว่ามันถูกต้องแล้ว; ปลอดภัยแน่แล้ว, มันยังมีสิ่งที่จะ
ต้องเป็นทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรซ่อนอยู่ในนั้น, ความปลอดภัยอย่างอื่นๆ ก็
เหมือนกัน มันไม่แน่ใจว่าปลอดภัย: ความปลอดภัยทางการเงิน, ความปลอดภัย
ทางการคุ้มครอง, ความปลอดภัยทางอะไร, กระทั่งว่าสิ่งที่เรากระทำอยู่ทุกวัน
นั้น, เราก็ไม่ได้แน่ใจว่าเราจะทำได้ หรือว่าเราจะทำไม่ได้, มันก็สงสัยอยู่ ว่ามัน
จะถูกต้องหรือไม่? มันจะตัดปัญหาทั้งหลายทั้งปวงได้หรือไม่? แต่ถ้าเราโง่ให้
มากๆ เราจะพูดว่า เงินจะตัดปัญหาทั้งปวงได้, เราก็จะคิดว่าอย่างนั้น, เราก็คิด
แต่จะหาเงิน, แต่ส่วนลึกมันก็ยังสงสัยอยู่ ว่า แม้แต่เงินหรือแม้แต่พระเจ้า มันก็
ยังไม่แน่ว่าจะคุ้มครองได้. นี่เป็นเหตุให้สงสัยในพระพุทธ, สงสัยในพระธรรม,
สงสัยในพระสงฆ์ ว่าจะเป็นที่พึ่งได้จริงหรือไม่? มันสงสัยอย่างนั้น มันก็ดี มัน
ก็มีประโยชน์นะ ถ้าว่าสงสัยไว้ก่อนไม่เชื่อเสียทีเดียว; แต่ถ้ามันยังมีอยู่ ถ้ายังไม่
เชื่ออย่างที่กำลังพูดนี้ ยังไม่อยากจะเชื่อก็ได้, แต่อย่าเอาไปสงสัยให้เป็นทุกข์,
อย่าเอาไปลังเลให้เป็นทุกข์. ขอให้สังเกตดู, สังเกตดู, ฟังดูฟังดู, ถ้าเห็น ถ้าเห็น
ว่ามีเหตุผลคงจะดับทุกข์ได้ ก็ลองปฏิบัติดู; ถ้ามันดับทุกข์ได้แล้วก็เชื่อ, แล้วก็
หมดความลังเล, หมดความสงสัย
เดี๋ยวนี้ เรายังมีหวาดผวาอยู่ในส่วนลึก ที่เรียกว่า subconscious ในส่วนลึก
ที่เราไม่ต้องรู้สึก หรือไม่รู้สึกเรายังมีความหวาดผวาอยู่ในส่วนนั้น ว่ายังไม่
ปลอดภัย ยังมีอันตราย. นี่เรียกว่า วิจิกิจฉา, มันวิจิกิจฉาไปได้หมดแหละ. บางที
จะวิจิกิจฉาว่า พ่อแม่นี้จะรักเราจริงหรือไม่? ก็ดื้อไว้ก่อนดีกว่า เผื่อพ่อแม่ไม่ได้รัก
เราจริง. นี่มันมีได้สารพัดอย่าง ความลังเลไม่แน่ใจลงไปในทุกสิ่ง ที่หวังว่ามันจะ
มีประโยชน์, หรือจะปลอดภัย, มันยังลังเลสงสัย. ฉะนั้น เรามีความหวาดผวาได้
เมื่อไรก็ได้ ถ้ามันแสดงออกมาให้เห็นสักนิดหนึ่ง ว่ามันเป็นอันตรายหรือมันไม่ได้
อย่างที่ตั้งใจไว้. วิจิกิจฉาจึงเป็นสิ่งที่ทรมานใจอยู่ในส่วนลึกใต้สำนึก, มันก็ช่วย
ไม่ได้ เพราะมันมีสัญชาตญาณแห่งตัวกู ที่ยังไม่ไว้ใจ ที่ยังหวาดผวาอยู่ว่าจะไม่
สำเร็จประโยชน์แก่ตัวกู.
ที่นี้
สังโยชน์ที่ ๓ สีลัพพตปรามาส, ตะกี้พูดไปทีแล้ว เรื่องอุปาทาน สีลัพพัตต
ปรามาส เราไม่มีความรู้โดยประจักษ์โดยถูกต้องกับสิ่งนั้นๆ, แล้วเราก็เข้าใจผิด
ต่อสิ่งนั้นๆ, แล้วเราก็ยึดถือไว้อย่างผิดๆ นี่เรียกว่า สีลัพพตปรามาส เป็นเรื่องของ
ธรรมชาติ อยู่เหมือนกัน ที่จำเป็นจะต้องมีสิ่งนี้; เพราะว่าเรายังเข้าใจไม่ได้, เพราะ
ว่าเรายังเข้าใจไม่ได้. ถ้าเราเข้าใจเรื่องฟ้าร้องฟ้าผ่าไม่ได้, เราก็ต้องคิดเอาเอง
อย่างว่าเป็นอะไร. ถ้าเราคิดได้แต่เพียงว่า มันเป็นเรื่องของรามสูรกับเมฆขลา
มันก็เป็นเรื่องของรามสูรกับเมฆขลาไป, มันเป็นความจริงเพราะเราคิดอย่างนั้น
เพราะเราเชื่ออย่างนั้น. อะไร ๆ อีกมากอย่าง ที่เราไม่เข้าถึงความจริง, แต่เราก็
ยึดถือตามที่มันปรากฏแก่ความรู้สึกของเรา; นี่เรียกว่า เรามันโง่ตลอดเวลา.
ทีนี้มามองดูเฉพาะสิ่งที่เรากำลังต่อสู้ โดยสัญชาตญาณแห่งการต่อสู้, เราคิดว่า
จะต่อสู้ความทุกข์ได้ด้วยเหตุนี้ ด้วยเหตุอย่างนี้ ด้วยพิธีรีตองอย่างนี้, เหมือนใคร
แขวนพระเครื่อง, ถ้าแขวนพระเครื่อง ก็คิดว่า พระเครื่องนี้จะคุ้มครอง, ไม่ได้คิด
ว่า เราจะปฏิบัติให้ถูกต้อง มันจึงจะคุ้มครอง จึงจะไม่เป็นทุกข์ เราก็มาถือเสียว่า
เพียงแต่เอาพระเครื่องมาแขวนคอ มันก็คุ้มครองได้หมด, ไม่มีความทุกข์. นี่ความ
คิดของเรามันมีเพียงเท่านั้น คือ โง่, แล้วเราก็ไม่อาจจะรู้ว่า พระพุทธเจ้าคือใคร,
แล้วพระพุทธรูปที่เป็นสัญญลักษณ์ของพระพุทธเจ้านั้นคือใคร, ก็เราเอามาแขวน
ไว้เพราะว่ามีคนบอกว่าคุ้มครองได้, คุ้มครองได้; อย่างนี้ ยังเป็น สีลัพพตปรามาส
อยู่. ฉะนั้นตลอดเวลาที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ เราจะต้องมีความคิดนึกอย่างนี้, จะต้อง
รู้สึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเขาจึงแขวนพระเครื่องกัน ทั้งบ้านทั้งเมือง, จนกว่าเขาจะ
รู้ว่า พระเครื่องนี้คืออะไร พระพุทธเจ้าคืออะไร, แล้วปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแล้ว
ดับทุกข์ได้ นั้นแหละมันจึงจะพ้นจากสีลัพพตปรามาส.
เดี๋ยวนี้ก็ได้แต่ว่า เชื่อว่าปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เดช บารมีอะไรของพระพุทธเจ้า ที่ใครเขา
เสกเป่าไว้ในพระเครื่อง เอามาแขวนเข้าแล้วก็จะคุ้มครอง; อย่างนี้มันผิดจากความ
จริง, มันผิดจากเหตุผลแห่งความจริง, อย่างนี้ก็เรียกว่า มันลูบคลำความจริงผิดๆ,
ทำความจริงให้เป็นของไม่จริงเพราะความเข้าใจผิด. นี้ต้องมีกันอยู่ทุกคน; เพราะ
ฉะนั้นจึงต้องเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันไปก่อน. เราจะพูดว่าไสยศาสตร์นี้ต้องเก็บไว้ก่อน,
เก็บไว้ให้คนปัญญาอ่อน ซึ่งมันมีอยู่มากในโลกยังเลิกไม่ได้ ตลอดเวลาที่ยังต้อง
พึ่งไสยศาสตร์อยู่ มันก็ยังเป็นสีลัพพตปรามาสอยู่. นี่เพราะสัญชาตญาณแห่งตัว
ตนมันมีอยู่, แล้วมันรู้เพียงเท่านั้น มันรู้มากกว่านั้นไม่ได้, มันก็คิดอย่างนั้นเพราะ
ความรักตน, เพราะมันรักตน มันอยากให้ตนปลอดภัย นี่คนเราจึงมี สีลัพพต
ปรามาสกันอยู่ทั่วไป, ทำพิธีรีตองต่างๆ นานา; แม้จะเล่าเรียนศึกษากันมาอย่างไร
ก็ยังไม่พ้นที่จะเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยไม่มีเหตุผล, ไม่เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้นๆ
แล้วก็ยอมรับเอาสิ่งนั้นเข้ามาอย่างไม่มีเหตุผล, เพื่อเป็นที่พึ่งบ้าง, เพื่อเป็นเครื่อง
คุ้มครองบ้าง, เพื่อประโยชน์อย่างอื่นบ้าง ก็ตามใจเถอะ.
ถ้าไม่ทำด้วยเหตุผลที่แท้จริงของสิ่งนั้น เอาเข้ามาปฏิบัติอยู่ แล้วก็เป็น
สีลัพพตปรามาส จึงเต็มไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง, ไม่ว่าคนไทยหรือคนฝรั่งหรือ
คนจีนคนแขก เขาก็มีไปตามแบบของเขา, เรียกว่า สีลัพพตปรามาส คือลูบคลำศีล
และวัตร, นี่ใช้ภาษาศาสนาภาษาวัด ศีลคือข้อปฏิบัติในส่วนศีล, วัตรคือ ข้อปฏิบัติ
ที่เป็นวัตรยิ่งขึ้นไป, ไม่รู้เหตุผลตามที่เป็นจริงของสิ่งนั้นๆ แล้วก็จับเอามาถือไว้
ด้วยเหตุผลที่ผิดๆ คือไม่มีเหตุผลเอามาถือไว้ด้วยความโง่ของตนอย่างนั้น
อย่างนั้น, นี้คือ สีลัพพตปรามาส อันนี้ก็ออกมาจากสัญชาตญาณแห่งความมีตัวตน,
ยึดถือตัวตนเป็นหลัก ยึดถือความรู้สึกคิดนึกของตัวตนเป็นหลัก, มันก็เกิดขึ้นมา
อย่างนี้ เรียกว่า นี้ก็มาจากสัญชาตญาณ.

ทีนี้ สังโยชน์ที่ ๔ เรียกว่ากามราคะ คือ ยินดีในสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความ
รักใคร่. นี่เด็กๆ มันก็ทำเป็นอะไรถูกใจ อะไรถูกใจ มันก็ต้องยินดีในสิ่งนั้น, แล้ว
สิ่งที่มาทำให้เกิดความยินดีมีมากขึ้นทุกที มากขึ้นทุกที สูงสุดและรุนแรงยิ่งขึ้น
ทุกที จนถึงระดับสูงสุดของสิ่งที่เรียกว่า กามะ, กามะคือความใคร่ หรือวัตถุ
เป็นปัจจัยแก่ความใคร่, มันก็มีความยินดีอย่างแรงในสิ่งเหล่านั้นเพิ่มขึ้น-เพิ่มขึ้น-
เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ทารกเริ่มรู้สึกต่อเวทนา, รู้จักแยกแยะเป็น สุขเวทนา ทุกขเวทนา
มันก็มีความพอใจในส่วนที่เป็นสุขเวทนาที่น่าปรารถนา แล้วที่เป็นการขับกล่อม
เลยความจำเป็นไปเป็นเรื่องของกิเลส, คือว่าเลยสิ่งที่จำเป็นของชีวิต กลายเป็น
เรื่องของกิเลส.
เช่นว่า อาหารอย่างนี้ ทีแรกมันก็กินแต่เพียงเป็นเพียงอาหาร, แต่ทีนี้มันมีการปรุง
ให้เอร็ดอร่อย ให้ยั่วยวนแก่การกิน เลยระดับของอาหาร มันก็กลายเป็นเหยื่อของ
กิเลส, ถ้าเรากินสิ่งที่กินเพียงเป็นอาหาร ไม่มีโทษ, แต่ถ้าเรากินเป็นเครื่องอร่อยแก่
จิตใจแก่กิเลส นี้มันไม่ใช่อาหารแล้ว, มันกลายเป็นกามชนิดหนึ่งแล้ว, เรียกว่า กาม
ได้เหมือนกัน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นกามได้ทั้งนั้น
ถ้ามันถูกใจแก่กิเลส นี่เราก็มีความรู้สึกในสิ่งชนิดนี้มากขึ้นๆ เป็นนิสัย เรียกว่า
กามราคะ ชอบเอร็ดอร่อย ซึ่งเป็นการบำรุงบำเรอในความหมายของกิเลส แทนที่
จะเป็นความจำเป็นแก่ชีวิต.
ฉะนั้น ระวังให้ดี เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส ผิวหนังอะไร
ก็ตามเหล่านี้ มันควรจะมีอยู่อย่างถูกต้องเท่าที่จำเป็น ที่จะต้องมี; ถ้ามีเลยนั้นก็เป็น
เรื่องของกิเลสคือเป็นกาม ที่เป็นวัตถุ อยู่ข้างนอก เรียกว่า วัตถุกาม, ที่เป็นความ
รู้สึกรุนแรงอยู่ข้างใน เรียกว่า กิเลสกาม. วัตถุกามกับกิเลสกาม รวมกันนั่นแหละ
คือกาม ก็มีความยินดีในสิ่งที่เป็นกาม หรือเป็นปัจจัยแก่กาม มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
จนใหญ่จนโต มันก็ผูกพันกันไว้ให้ติดกันอยู่กับสิ่งนั้นๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นเหยื่อแก่
กิเลส, ไม่ใช่เป็นอาหารที่จำเป็นแก่ชีวิต.
รู้จักแยกแยะกันให้ดีๆ นะ เหยื่อของกิเลสกับอาหารที่จำเป็นแก่ชีวิตแล้วมันจะเห็น
ได้ง่ายๆ ไม่ยากนัก; ที่มันทำให้อร่อยมากขึ้นไปเกินกว่าจำเป็น นั่นมันจะเป็นเหยื่อ
ของกิเลส, ถ้าเท่าที่จำเป็นแก่ชีวิต ก็ยังคงเป็นอาหารที่จำเป็นแก่ชีวิต ถ้าเป็นเหยื่อ
ของกิเลส แล้วมันก็เป็นเรื่องเข้าไปในขอบเขตของความโง่ ซึ่งจะต้องใช้เงินมาก
จนเงินไม่พอใช้ นั่นเป็นเรื่องของกิเลส เป็นความหลอกลวงของกิเลส ถ้าเราไม่รู้สึก
ตัว เราก็ถลำเข้าไปในขอบเขตของเหยื่อของกิเลสมากขึ้นๆ จนเป็นนิสัย.
จะเห็นได้ง่ายๆ ว่า กินเพื่ออร่อยนั้นแหละ มันจะเพื่อกิเลส, ถ้ากินเพื่ออยู่ได้พอ
สบาย นั่นแหละเป็นกินอาหาร, กินอาหารเพื่อพออยู่ได้ตามสบาย ชีวิตอยู่ได้
ตามสบาย ถ้าเพื่อเอร็ดอร่อยเกินจำเป็น เป็นเรื่องของกิเลส, แล้วมันก็กลายเป็น
เหยื่อของกิเลส. ระวังอย่าได้อยู่ด้วยเหยื่อของกิเลส, อยู่ด้วยอาหารเท่าที่จำเป็น
แก่ชีวิต นี่ว่ากามราคะ ก็หมายความว่า พอใจกำหนัดยินดีในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่ง
ความเอร็ดอร่อยแก่กิเลส ที่เรียกว่า กาม แล้วก็มีกันทุกคน.
มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาดู อย่าเพ่อโกรธนะ ว่าสัตว์เดรัจฉานมันไม่เคยกินเพื่อเป็น
เหยื่อของกิเลสนะ; แต่พวกเรานี่มันไปกินเพื่อเป็นเหยื่อของกิเลสแล้วแพงๆ ทั้งนั้น
เลย, เปิดร้านอาหารโต้รุ่งเพื่อเอร็ดอร่อย อิ่มแล้วก็ยังจะกินใช่ไหม? ถ้ามันอร่อยน่ะ
อิ่มแล้วมันก็ยังอยากจะกินอยู่นั่นแหละ สัตว์เดรัจฉานทำไม่เป็นนะ, สัตว์เดรัจฉาน
กินอิ่มแล้วมันก็เลิกกันแหละ. นั่นแหละดูให้ดีๆ ว่าอย่าให้สัตว์เดรัจฉานมันดีกว่าคน
โว้ย, มันไม่ตกไปในเหยื่อของกิเลสมากเหมือนคน. ถ้าถือข้อนี้ได้มันจะประหยัดเงิน
ได้มากนะ มันจะมีความทุกข์น้อยลงกว่านี้มากนะ. นี่สังโยชน์ตัวที่ ๔ เรียกว่า กาม
ราคะ.

สังโยชน์ที่ ๕ เรียกว่า ปฏิฆะ- ความรู้สึกไม่ชอบใจ หงุดหงิด กระทบกระทั่งแห่ง
จิต จะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟก็ได้, หรือแม้แต่โกรธอยู่เล็กน้อย หงุดหงิด หงุดหงิด
นิดๆ อยู่ในใจก็ได้ เรียกว่า ปฏิฆะทั้งนั้น แหละคือ ความโกรธ ทั้งนั้นแหละ ความ
กระทบกระทั่งแห่งจิต คือจิตไม่ชอบใจ, จิตดิ้นรนด้วยสิ่งที่มากระทบกระทั่ง เรียก
ว่า ปฏิฆะ บางทีไม่มีเหตุผลอะไรก็เกิดปฏิฆะขึ้นมาได้ด้วยความคิดที่ผิดๆ ความจำ
แต่หนหลังนานแล้วก็เอามาคิดนึกให้จิตเกิดปฏิฆะ กระทบกระทั่งอย่างนี้ก็ได้. ที่เป็น
ปัญหาโดยมากมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของสัญญาในอดีต เอามาคิดให้กระทบ
กระทั่งในจิตใจ ให้มันมากกว่าที่จะมีเรื่องจริงเฉพาะหน้าเข้ามากระทบ, ถึงเรื่อง
จริงเข้ามาเฉพาะหน้ากระทบ มันก็เป็นปฏิฆะเหมือนกัน; แต่ดูมันจะหายไปเร็วกว่า
ที่ว่าจะไปเอาเรื่องเก่าๆ ในอดีตในความจำมาคิดมานึกแล้วเกิดปฏิฆะ. แล้วเราก็อยู่
ด้วยความปฏิฆะ ไม่พอใจได้ง่าย, เดี๋ยวก็ด่าฝน, เดี๋ยวก็ด่าแดด, เดี๋ยวก็ด่าลม, เดี๋ยว
ก็ไม่พอใจอะไรๆ ที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องมาถูกต้อง; นี้มันปฏิฆะ อยู่ที่กรุงเทพฯ คงจะ
ปฏิฆะด้วยยุงมากกว่าที่นี่, ไม่มีความปกติแห่งจิต มันปฏิฆะมันหงุดหงิด หงุดหงิด,
ถ้ามีจิตใจสูงพอ มันก็ไม่ต้องเป็น
เดี๋ยวนี้มันมีความเห็นแก่ตน พอไม่ได้อย่างตนต้องการมันก็ปฏิฆะ, แล้วมันโกรธ
หรือปฏิฆะมากกว่าความเป็นจริง เรามักจะโกรธอะไรมากเกินกว่าความเป็นจริง;
 เช่น ยุงกัดนิดเดียวมันโกรธตั้ง ๑๐ เท่า ๑๐๐๐ เท่า เหมือนกับเป็นเรื่องใหญ่
เรื่องโต นี่มันเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่ง มีการกระทบกระทั่งแห่งจิต เพราะมี
สัญชาตญาณตัวตน ไม่อยากให้อะไรมาลบหลู่ ดูหมิ่นตน, ไม่อยากให้มากระทบ
กระทั่งตน, ไม่อยากให้มาทำความเจ็บปวด แม้แต่รำคาญให้แก่ตน; แมลงวันหรือ
แมลงหวี่มาตอมที่ตา ก็โมโหโทโสเป็นยักษ์เป็นมาร, ถึงขนาดเป็นยักษ์เป็นมารก็ได้
นะ แมลงหวี่มาตอมที่ตา คิดดูให้ดีว่า ปฏิฆะนี่ก็ไม่ใช่ของเล่น มันเป็นของที่ทำลาย
ความสงบสุขความเยือกเย็นแห่งจิต.

ทีนี้ สังโยชน์ ข้อที่ ๖ รูปราคะ. ข้อที่ ๗ อรูปราคะ เครือเดียวกัน กามราคะ
มันไปพอใจติดแน่นในวัตถุปัจจัยของกาม, นี้รูปราคะมันพอใจติดแน่นในรูปล้วนๆ
ไม่เกี่ยวกับกาม, ไม่เกี่ยวกับความรู้สึกทางกาม. ธรรมดาเขาอธิบายไว้ว่า ใน
พรหมโลก ที่เป็นรูปพรหม, ในเทวโลกที่เป็นกามาวจรมีกามารมณ์ มีอะไรนั้น ก็
เรียกว่า กามโลก. ถ้าว่าในชั้นพรหมไม่มีกามอย่างนั้น มีแต่รูปบริสุทธิ์เรียกว่า
รูปโลก, แล้วในพวกที่ไม่มีรูป เรียก อรูปพรหมนี้ก็อรูปโลก. แต่มันไกลตัวไป จะ
พูดอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน.
เราจะพูดใกล้ๆ ตัว ก็คือ กำหนัดพอใจยินดีในสิ่งที่เป็นรูป, แต่ไม่มีความหมาย
แห่งกาม คนที่เขาชอบใจของบางอย่าง, เช่นว่า ชอบเครื่องลายคราม ชอบเครื่อง
มือเครื่องใช้อะไรที่ไม่ได้เกี่ยวกับกาม ไม่ได้เกี่ยวกับเพศ, ชอบเล่นต้นไม้ เล่น
โกศล เล่นบอน นกเขา ปลากัด อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เรียกว่า เป็นพวกรูป ได้
เหมือนกัน คือไม่มีเกี่ยวกับกาม, แล้วก็มีปัญหาได้มากเหมือนกัน, มันเป็นได้ถึง
กับว่า บางคนรักนกเขายิ่งกว่าลูกกว่าเมีย, บางคนมันรักไก่ชนยิ่งกว่าลูกกว่าเมีย.
นี่มันเป็นเรื่องไม่ใช่กามแต่มันบ้าถึงขนาดเดียวกันก็ได้, นี่เรียกว่า พวกรูปราคะ -
กำหนัดยินดีในสิ่งที่เป็นรูปล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับกาม ก็มีอยู่โดยมาก, โดยเฉพาะ
พวกสะสมของเล่น-สะสมของเล่นใครสะสมของเล่น มันตกอยู่ในข้อนี้
นี้ข้อถัดไป อรูปราคะ - สิ่งที่ไม่มีรูปเป็นนาม กำหนัดยินดี ที่จะเห็นได้ง่ายๆ ก็
ยินดีในชื่อเสียง, ยินดีในเกียรติยศชื่อเสียง เป็นบ้าเป็นหลัง หลงใหลในเกียรติ
ยศชื่อเสียง ไม่ได้ก็ฆ่าตัวตายเลย, นี่ชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้นนี้ แม้แต่บุญกุศล
เป็นต้นนี้ ไม่มีตัวตนที่เป็นรูป จัดเป็นพวกอรูป ก็เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี
ด้วยราคะได้เหมือนกัน จึงเรียกว่า อรูปราคะ, ใครมันบ้าชื่อเสียง บ้าเกียรติ บ้า
อะไรจนตัวตายก็ไม่ว่า, นี่คือพวกอรูปราคะ พวกเรานักเรียนก็คงจะมี จะไปหา
ชื่อเสียงให้แก่ทีมฟุตบอล หรือหาชื่อเสียงให้ทีมอะไรต่างๆ ซึ่งมันเป็นเพียงอรูป
ก็กำหนัดพอใจยินดีอย่างยิ่งเหมือนกัน กับเรื่องกามก็ได้ นี่เรียกอรูปราคะ.
กามราคะก็ดี รูปราคะก็ดี อรูปราคะก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้ มาจากสัญชาตญาณแห่ง
ความมีตัวตน สำหรับจะไปรักใคร่ยึดถือยินดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยอำนาจความ
โง่ คืออวิชชา ราคะความยินดีต้องมาจากอวิชชา คือความโง่; ถ้าไม่มีความโง่
ไม่มีอวิชชา มันก็เป็นเพียงความต้องการหรือความประสงค์ที่บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ
ไม่มีความเลวร้ายอะไร. แต่ถ้ามันต้องการด้วยอวิชชา คือความโง่แล้ว มันก็เป็น
กิเลสหมด.
นี่เรียกว่า รู้จักแยกกันเสียบ้าง กำหนัดยินดีด้วยกิเลส ด้วยอวิชชา ด้วยโมหะ มาก
จนถึงเรียกว่า ราคะ; แต่ถ้าว่า รักธรรมะถึงขนาดนั้น เรียกว่า ธรรมราคะ ก็เคยมี;
แต่เป็นคำที่ไม่ใช่ใช้ประจำ เป็นคำพิเศษใช้ในบางครั้ง บางกรณี เรียกว่า ธรรม
ราคะ. ถ้าเป็นธรรมราคะที่ถูกต้องก็ไม่มีโทษอะไร, แม้จะมีคำว่าราคะๆ ต่อท้าย.
เดี๋ยวนี้เรามีกามราคะ-กำหนัดยินดีในกาม, รูปราคะ-กำหนัดยินดีในสิ่งที่มีรูป
แม้ไม่เกี่ยวกับกาม, แล้วกำหนัดยินดีในสิ่งที่ไม่มีรูปแม้ไม่เกี่ยวกับกาม สามราคะ
นี้ทำไปด้วยอวิชชา ดูให้ดีนะว่า ยินดีในกามก็ได้, ยินดีในสิ่งรูปล้วนๆ เช่นของ
เล่นเป็นต้นก็ได้, ยินดีในเกียรติยศชื่อเสียงอะไรก็ได้ เป็นอรูป มาจากสัญชาตญาณ
แห่งความมีตัวตน, อยากจะให้มีสิ่งสนับสนุนบำรุงบำเรอ อยากมีไว้อวดเป็นต้น
มาจากสัญชาตญาณ

สังโยชน์ข้อที่ ๘ มานะ มานะ มานะมาอีกแล้ว เมื่อตะกี้พูดไปทีหนึ่งแล้ว เรื่อง
มานะ, มาตอนนี้อีกทีมาเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๘ มานะ ความสำคัญมั่นหมายแห่ง
ตัวกูว่าดีกว่า
ว่าเสมอกัน ว่าเลวกว่า นี่พูดแล้ว ไม่ต้องพูด เมื่อตะกี้พูดไปหยกๆ
มันก็มีปัญหาแก่จิตใจ เกิดความสำคัญมั่นหมายอย่างนั้นขึ้นมา ก็มีความดิ้นรน
ทุรนทุรายในความหมายใดความหมายหนึ่งแน่นอนละ สำคัญว่าดีกว่าเขา ก็
ทุรนทุรายไปอย่างหนึ่ง, สำคัญว่าเสมอกับเขา ก็ทุรนทุรายไปอย่างหนึ่ง, สำคัญ
ว่าเลวกว่าเขาก็ทุรนทุรายไปอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องผูกให้ติดอยู่กับความทุกข์
อย่างนี้ นี่เรียกว่ามานะ. เป็นเครื่องผูกข้อที่ ๘ มาจากสัญชาตญาณแห่งความ
มีตัวตน, แล้วมันมีสัญชาตญาณแห่งการที่จะยกหูชูหาง คือสัญชาตญาณแห่ง
การอวดตน มีอาการจะยกหูชูหางมันจึงเป็นปัญหา
ทีนี้

สังโยชน์ข้อที่ ๙ อุทธัจจะ - ความที่จิตฟุ้งขึ้น ฟุ้งซ่านอย่างเลวร้าย ฟุ้งซ่าน
ฟุ้งซ่านอย่างคนฟุ้งซ่านนั้นก็เรียกว่า อุทธัจจะ แต่เดี๋ยวนี้ ฟุ้งซ่านเพียงว่า จิต
หวั่นไหวแม้นิดเดียว, แม้นิดเดียว ก็เรียกว่า อุทธัจจะ คือจิตไม่ปกติ จิตพลุ่ง
จิตรู้สึกขึ้นมา เป็นความหวั่นไหวผิดจากปกติ. ยกตัวอย่างว่า เหมือนอย่างว่า
บุรุษไปรษณีย์ เขาถือจดหมายเดินเข้ามาจะส่งให้เรา พอเข้ามาในบ้าน จิต
ของเราก็เป็นอุทธัจจะ เพราะหยุดไม่ได้, ยิ่งบุรุษถือโทรเลขเข้ามาในบ้าน
จิตก็เป็นอุทธัจจะ ไม่รู้จะเรื่องดีเรื่องร้ายอะไร. นี้คือว่า จิตมันผิดจากปกติ
แล้วก็เรียกว่า อุทธัจจะ พลุ่งขึ้นมา ลุกขึ้นมา ซึ่งเป็นธรรมดา แล้วมีมากเรื่อง
มากราว ได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม จิตมันผิดจากปกติ สงบอยู่อย่างเดิมไม่ได้
เพราะเป็นปุถุชน มีสัญชาตญาณแห่งตัวตน ระแวงอยู่ซึ่งประโยชน์แห่งตน
หรือว่าความได้ ความเสียของตน; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่กำลังแข่งขัน
เล่นการพนันมีการแข่งขันอะไรกันอยู่ เช่นเล่นการพนันเป็นต้น จิตจะมี
อุทธัจจะตลอดเวลา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันอาจจะเป็นสุขสำหรับคนโง่
ที่นั่งเล่นไพ่ได้จนสว่าง, หรือว่าตีปิงปอง แทงบิลเลียดได้จนสว่าง มันอาจ
จะเป็นของคนโง่พอใจ. แต่ที่จริง มันเป็นความไม่สงบของจิตเรียกว่า อุทธัจจะ.
ทีนี้อันสุดท้าย สังโยชน์ข้อที่ ๑๐ อันสุดท้าย เรียกว่า อวิชชา คำนี้ ตัว
หนังสือแปลว่า ไม่มีความรู้ คือไม่มีวิชชานั่นแหละเรียกอวิชชา. แต่ว่า
คำว่า วิชชาๆ นี้ เขาหมายความเฉพาะความรู้ที่ถูกต้อง, ที่ใช้ประโยชน์
ได้ ที่ดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่า วิชชา, ทีนี้มันไม่มีวิชชา อันนี้มันจึงเป็น
อวิชชา, แม้จะมีความรู้มาก แต่มันไม่มีประโยชน์ ไม่ดับทุกข์ได้ ก็ไม่
เรียกว่า มีวิชชา, ถ้าไม่มีความรู้ที่จะดับทุกข์ได้ แล้วก็ไม่เรียกว่ามีวิชชา
ยังมีค่าเท่ากับอวิชชาอยู่. เขาจะไปเรียนเรื่องต่างๆ ได้ปริญญา มาไม่รู้กี่
สิบปริญญาแต่ไม่มีเรื่องดับทุกข์เลย ในทางธรรมะไม่เรียกว่าวิชชา, ต่อ
เมื่อมันมีส่วนแห่งการดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าวิชชา. นี่คือสัญชาตญาณ
เดิมแท้ ที่ไม่ได้ประกอบมาด้วยวิชชา, มันประกอบมาด้วยความไม่มีวิชชา
มันจึงเอียงไปเป็นกิเลส แต่พอสัญชาตญาณอันนี้แหละ ความรู้มีลักษณะรู้
อาการแห่งความรู้ อบรมให้เจริญทำให้ดีให้มาก จนมีความรู้ที่มีประโยชน์
ที่ดับทุกข์ได้เกิดขึ้น จึงเรียกว่า มีวิชชา เลยรอดตัว. ถ้าเราไม่สนใจเรื่องนี้
ไม่รู้เรื่องนี้, เราก็มีอวิชชาอยู่ตลอดเวลา.
ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า การศึกษาหมาหางด้วน มันรู้มาก รู้มาก รู้มาก แต่เรื่อง
หนังสือกับวิชาชีพ, แต่ไม่มีความรู้เสียเลย ว่าจะดับทุกข์ในจิตใจกันอย่างไร
ฉะนั้นการศึกษาทั่วโลกเวลานี้เป็นการศึกษาหมาหางด้วน เพราะไม่ประกอบ
ไปด้วยวิชชาที่ดับทุกข์ได้, มีแต่วิชชาที่จะทำอะไรเพื่อปากเพื่อท้องเพื่ออาชีพ,
พอเผลอเข้า ควบคุมไม่ได้, อันนั้นเกิดเป็นพิษขึ้นมา, เกิดปัญหาเกิดความทุกข์
อะไรขึ้นมา เพราะวิชชาชนิดนั้น ไม่ควบคุมความโลภได้, ไม่ควบคุมความ
โกรธได้, ไม่ควบคุมความหลงได้; นี้เราไม่เรียกว่าวิชชา, มีค่าเท่ากับอวิชชา.
ตลอดเวลาที่เรายังไม่มีวิชชา เราก็ตกอยู่ใต้อำนาจสัญชาตญาณที่ปราศจาก
วิชชา, สัญชาตญาณเดิมๆ มีตัวตนแล้วก็เห็นแก่ตัวตน ยิ่งเห็นแก่ตัวตนก็ยิ่ง
ไม่มีวิชชา ยิ่งมีอวิชชา อวิชชามาจากสัญชาตญาณแห่งการมีตัวตนที่ไม่ได้
รับการอบรม.
เป็นอันว่า สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการ ที่แสนจะร้ายกาจนี้ มันมาจากสัญชาต
ญาณ โดยเฉพาะสัญชาตญาณที่ยังไม่ได้รับการอบรม เป็นมาตามลำพัง
สัญชาตญาณ ที่ปราศจากวิชชาก็เท่ากับมีอวิชชาจึงเต็มไปด้วยความทุกข์.
กิเลสทั้งหลายเป็นอย่างนี้, นี้เฉพาะกิเลสที่ละเอียดที่ประณีตที่เป็นปัญหา
เรียกว่า สังโยชน์ ๑๐ ประการ; ถ้าละได้ก็เป็นพระอรหันต์, ละได้บางส่วน
ก็เป็นพระอริยเจ้าขั้นรองๆ ลงมา, ละไม่ได้เลยก็เป็นปุถุชนเต็มขั้น, หรือว่า
ถ้ามันไปส่งเสริมให้งอกงามไปทางโน้น ก็เป็นปุถุชนเกินขั้น มันจะบ้า แล้ว
มันจะเป็นสัตว์นรกไม่ทันรู้ตัว; ฉะนั้นอย่าทำเล่นกับสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณ
เลย.
ธ-สัญชาต-๑๕/๑๓๙-๑๕๓.ก/๕๕-๗๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น