ที่มาของคำว่าสวัสดี มากันอย่างไร เพิ่งรู้เมื่อได้อ่านบทความนี้
"ฮัลโหล" เป็นคำทักทายที่ใช้มากที่สุดในการรับโทรศัพท์ บ่อยครั้งเราก็นำมาใช้เป็นคำทักทาย ระหว่างเพื่อนฝูง เมื่อพบเจอกัน ทุกวันนี้คนไทยใช้คำว่า "ฮัลโหล" กันจนติดปาก จนบางคนอาจจะลืมไปแล้วว่า คนไทยเราเองก็มีคำทักทายแบบไทย ๆ ที่มีความงดงามทางภาษา มีความไพเราะ และเป็นคำที่มีความหมายดีด้วย
เป็นเวลากว่า 64 ปีแล้ว ที่คำว่า "สวัสดี" ได้ก้าวเข้ามาในชีวิตของคนไทย ผู้ที่คิดค้นคำนี้ขึ้นก็คือ "พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)" ซึ่งในขณะนั้นท่านเป็นอาจารย์สอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านได้นำคำว่า "สวัสดี" ทดลองใช้ในหมู่นิสิตจุฬาก่อน หลังจากนั้นรัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้นำคำว่า "สวัสดี" มาใช้เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการ เมื่อปีพ.ศ. 2486
คำว่า "สวัสดี" นั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้พิจารณามาจากศัพท์ "โสตถิ" ในภาษาบาลี หรือ "สวัสดิ"
(สะ-หวัด-ดิ) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดีไทยมานาน โดยคำว่า "โสตถิ" หรือ "สวัสดิ์" นี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า สวัสดิ์
(สะ-หวัด-ดิ) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดีไทยมานาน โดยคำว่า "โสตถิ" หรือ "สวัสดิ์" นี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า สวัสดิ์
สวัสดี มีความหมายว่า ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง ความปลอดภัย
โสตถิ มีความหมายว่า ความสวัสดี ความเจริญรุ่งเรื่อง
จะเห็นได้ว่าคำดังกล่าว เป็นความหมายที่ดี จึงมีความเหมาะสม ที่จะใช้กล่าวเมื่อแรกพบกัน หรือเมื่อลาจากกัน เพราะสวัสดี ไม่ได้เป็นเพียงแค่ คำทักทายเท่านั้น แต่ยังเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิต เป็นการอวยพรให้กับผู้ที่เราสนทนา ให้ประสบแต่สิ่งดี ๆ นั่นเป็นลักษณะพิเศษในคำทักทายของคนไทย ซึ่งในคำทักทายของหลายชาติไม่มีเหมือน ยกตัวอย่างคำว่า "ฮัลโหล" ในภาษาอังกฤษ ก็แค่ทักทายกันเมื่อพบกัน คำว่า "หนีฮ่าว" ของภาษาจีนนั้นก็มีความหมายว่าคุณสบายดีไหม ส่วนคำทักทายทั้ง 3 เวลาของชาวญี่ปุ่นนั้น ก็จะเป็นแค่การทักทายโดยทั่วไป ไม่ได้มีความหมายพิเศษอื่น ๆ แต่อย่างไร
ส่วนคำว่า "สวัสดี" นั้นจะทำหน้าทีทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และ เมื่อเรากล่าวคำสวัสดี คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมาย ถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้น มาจากใจของผู้ไหว้
ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่า สวัสดี พร้อมกับการยกมือขึ้นประนม จึงแฝงให้เห็นถึงความมีจิตใจที่งดงามของคนไทย ที่หวังให้ผู้อื่นพบเจอแต่ในสิ่งที่ดี ซึ่งการกระทำที่งดงามดังกล่าวนี้ ถือเป็นมงคลทั้งต่อตัวผู้พูด และผู้ฟัง
ไม่ว่าโลกจะล้ำหน้าไปขนาดไหนเพียงใดก็ตาม แต่การทักทายด้วยคำว่า สวัสดี ที่สื่อถึงความจริงใจมีไมตรี และความปรารถนาดี ที่คนไทยมีต่อกันและกันนั้น ก็ยังไม่เคยล้าสมัย
ซึ่งชาวต่างชาติเขาก็ยังชื่นชมวัฒนธรรมล้ำค่านี้ แล้วพวกเราจะปล่อยให้ การคำทักทายอย่าง "สวัสดี" นั้นสูญสลายหายไปตามกาลเวลาหรือ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ