จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ธรรมะกับดารรา.....ธรรมชาติ แอน-สิเรียม ภักดี ดำรงฤทธิ์


ธรรมะกับดารรา.....ธรรมชาติ แอน-สิเรียม ภักดี ดำรงฤทธิ์

เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดกันว่า ขณะที่ตั้งครรภ์ลูกในท้อง มักจะมีใจสัมพันธ์กับแม่ อย่างเช่น ถ้าลูกเป็นชาย แม่มักจะเหม็นเครื่องสำอาง ไม่อยากแต่งตัว แต่ถ้าลูกเป็นหญิง แม่มักทำตัวตรงกันข้าม ฉันเคยอธิษฐานไว้ว่า ถ้ามีลูก ขอให้เป็นผู้หญิงเถอะ แล้วก็ได้ลูกสาวมาสมใจ

และไม่รู้เป็นเพราะเหตุใด ตอนท้องนนนี่ ฉันอยากอ่านหนังสือธรรมะ และบังเอิญไปเจอหนังสือชื่อ "พอดี"ของหลวงพ่อชาเข้า จึงหยิบมาเปิดอ่านดู ตั้งแต่นั้นมา เลยเป็นคนสนใจใฝ่ธรรมะไปเลย ฉันรู้สึกว่า ขณะอ่านหนังสือธรรมะ ใจของเราจะสงบ ลืมความวิตกกังวล ความไม่สบายใจไปได้ชั่วขณะ จากนั้น ฉันได้นำธรรมะมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

ต่อมา ได้มีโอกาสได้เข้าปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน หลักสูตร 7 คืน 8 วัน ของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย และของพระวิปัสสนาจารย์อีกหลายรูป ทำให้เข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น

คุณผู้อ่าน คงอยากทราบว่า เวลาปฏิบัติธรรมต้องทำอะไรบ้าง? และได้ผลจากการปฏิบัติอย่างไรบ้าง? ขอเล่าประสบการณ์ให้ฟังดังนี้ค่ะ

ตลอดเวลา 7 คืน 8 วัน ที่ไปอยู่ศูนย์ปฏิบัติธรรม จะมีตารางการใช้ชีวิตในนั้น ให้เราปฏิบัติตาม เช้าวันแรก ต้องลงทะเบียนก่อน แล้วจึงนำสิ่งของที่ติดตัวมาไปเก็บที่ห้องพัก รับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นจะมีการปฐมนิเทศ ส่วนวันที่เหลือ ต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 ทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย แล้วก็มาเดินจงกรม-นั่งกรรมฐาน-เดินจงกรม-ทานอาหารเช้า-เดินจงกรม-นั่งกรรมฐาน-เดินจงกรม-ทานอาหารกลางวัน-พักผ่อนตามอัธยาศัย-เดินจงกรม-นั่งกรรมฐาน-เดินจงกรม-นั่งกรรมฐาน-ทานอาหารว่าง-อาบน้ำ-ฟังธรรม-นั่งกรรมฐาน-แยกย้ายกันไปพัหผ่อน ประมาณ 3 ทุ่ม ทำตามตารางอย่างนั้ ตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 7....
ส่วนวันสุดท้าย เป็นวันออกจากกรรมฐาน จะมีการคัดเลือกนักปฏิบัติธรรม ทั้งหญิงและชาย 2-3 คน มาแสดงความรู้สึกในระหว่างปฏิบัติธรรม พร้อมกล่าวขอบคุณเจ้าภาพที่อุปถัมภ์ความเป็นอยู่ในระยะเวลานี้ จากนั้น ทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว แยกย้ายกันกลับบ้าน

ข้อห้ามสำคัญในระหว่างปฏิบัติ คือ ห้ามพูดคุยกัน รวมถึงการพูดคุยทางโทรศัพท์ หรือพบญาติด้วย พระวิปัสสนาจารย์สอนว่า การพูดทำให้เราขาดสติตามรู้ปัจจุบัน และยังเป็นการรบกวนผู้อื่นอีกด้วย จนถึงวันสุดท้าย ถึงพูดคุยทักทายกันได้ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ หรือของมึนเมาทุกชนิด ก็ถือเป็นข้อห้ามเช่นกัน

นักปฏิบัติทุกท่าน ต้องใส่เสื้อผ้าสีขาว เพื่อความเป็นระเบียบ ไม่ก่อให้เกิดกิเลสแก่ตนเองและผู้อื่น ฉันสังเกตุดูว่า นักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ จะเป็นหญิงมากกว่าชาย ที่เป็นเช่นนี้ ฉันคิดว่า ผู้หญิงคงมีความทุกข์มากกว่าผู้ชาย จึงต้องแสวงหาวิธีดับทุกข์ให้กับตัวเอง

การปฏิบัติธรรม คือ การอบรมจิตให้สะอาด สว่าง สงบ พ้นจากนิวรณ์รบกวนจิต ให้สับสนขุ่นมัว เกิดปัญญารู้เห็นสภาพธรรมดาตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การอบรมจิต ด้วยการเจริญสติ คือ การระลึกรู้ปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น รู้ตัวว่าเดินอยู่ พูดอยู่ หรือคิดอยู่ ประการสำคัญ คือ เราต้องทำตัวให้เหมือนกับเด็กแรกเกิด คือ ไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต มีเพียงปัจจุบันเท่านั้น.......
ฉันคิดว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ตื่นเต้นเร้าใจเหมือนหนังสืออ่านเล่น เปรียบได้กับยาขมที่กินยาก เมื่อเราปวดหัวตัวร้อน ก็ต้องกินยา และถ้าเรามีโรคร้ายเป็นความทุกข์ใจ ก็ต้องพึ่งธรรมโอสถ เพื่อรักษาใจให้สงบไม่เร่าร้อน การปฏิบัติธรรมนี้ จะทำให้กิเลสลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อกิเลสน้อยลงเพียงใด ทุกข์ก็ลดน้อยลง และเราก็จะเป็นสุขมากขึ้น

ส่วนการเดินจงกรมนั้น ท่านอาจารย์สอนว่า ให้ตั้งตัวตรง มองไปข้างหน้าราว 2 เมตร ไขว้มือไว้ด้านหน้า หรือด้านหลังก็ได้ การเดินจงกรมมีวิธีเดิน 6 ระยะ แต่นักปฏิบัติ ต้องเริ่มเดินระยะที่ 1 ก่อน ทั้งนี้ เพราะระยะที่ 1 เป็นการเดินแบบธรรมชาติ คือ เหยียบส้นเท้าลงก่อน และเดินไม่เร็วนัก ไม่ช้านัก ก้าวสั้นๆ โดยงอเข่าแล้วเหยียบลง

ความพอดีในการเดิน ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราเดินเร็วเกินไป สติจะตามรู้เท่าทันการเดินไม่ชัดเจน หรือถ้าเดินช้าเกินไป ก็จะทำให้เกร็ง และเครียด ท่านอาจารย์ได้เดินสาธิตให้ดูหลายรอบ ฉันดูท่านเดินแล้ว นำมาฝึกเดินเอง แต่การทำสิ่งที่ไม่เคยชินจะทำได้ยาก

ท่านอาจารย์สอนอีกว่า เวลาเดินให้เอาใจไปไว้ที่เท้า ตามรู้อาการยกเท้า ย่างเท้า และเหยียบเท้า ตั้งแต่เริ่มเกิดอาการ จนกระทั่งอาการสิ้นสุดลงในแต่ระยะ และให้ว่าในใจกำกับไปด้วยตามอาการว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือ ยก-ย่าง-เหยียบ เมื่อเริ่มย่างเท้าขวา ให้บริกรรมว่า"ย่าง" เมื่อเหยียบเท้า ให้บริกรรมว่า"หนอ" หรือ "ยก-ย่าง-เหยียบ"ก็ได้ เท้าซ้ายก็ให้ทำเช่นกันนี้......
เมื่อเดินจงกรมแล้ว ก็มานั่งกรรมฐาน ซึ่งต้องนั่งตัวตรงเสมอ เพื่อไม่ให้ปวดหลังหรือคอ ท่านั่งทั่วไป คือ นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หรือจะนั่งแบบเรียงเท้าก็ได้ โดยวางเท้าขวาไว้ด้านใน เท้าซ้ายไว้ด้านนอก ไม่ทับกัน ในขณะนั่ง ให้ตามรู้อาการพอง และอาการยุบ กล่าวคือ ตามปกติเมื่อเราหายใจเข้า กะบังลมจะหดลง ส่งผลให้ลมในท้องพองออกมา และเมื่อหายใจออก กะบังลมจะยืดขึ้น ส่งผลให้ลมในท้องยุบลง ท่านให้บริกรรมตามอาการที่เกิดขึ้นว่า พอง-หนอ ยุบ-หนอ คือ เมื่อท้องเริ่มพอง ให้บริกรรมว่า "พอง" และบริกรรมว่า"หนอ" เมื่ออาการพองสิ้นสุดลง

นอกจากการเดินจงกรมและนั่งกรรมฐานแล้ว ท่านอาจารย์ยังสอนให้กำหนดรู้อิริยาบถย่อยอีก คือ อาการเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ นอกจากการยืน เดิน นั่ง นอน เช่น เวลาลุกขึ้นจากที่นอน พับผ้าห่ม ล้างหน้า แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ทานอาหาร เป็นต้น ให้ทำช้าๆ และกำหนดรู้ตามอาการไปด้วย ทุกๆขณะที่เคลื่อนไหว แต่เวลาทำธุระส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ ท่านให้ทำตามปกติ ไม่ต้องช้ามาก เพราะถ้ามัวแต่ทำช้าๆในเวลานั้น แล้วให้คนอื่นยืนรออยู่หน้าห้องน้ำ พวกเขาเหล่านั้น คงพากันกำหนดดว่า "โกรธหนอๆ" น่าจะไม่ดีนัก
......
 
หลังจากการปฏิบัติธรรมเสร็จ ก็จะมีการสอบอารมณ์ ตามปกติ การสอบอารมณ์จะมีทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ของการปฏิบัติ ไปจนถึงวันที่ 7 การสอบอารมณ์ คือ การบอกเล่าประสบการณ์ของการปฏิบัติในแต่ละวัน ให้พระวิปัสสนาจารย์ทราบ และเราสามารถสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติกับท่านได้ ถ้าท่านเห็นว่าเราปฏิบัติผิด ก็จะแนะนำใหม่ แต่ถ้าหากเห็นว่า เราทำถูกแล้ว ท่านจะให้การบ้านที่เกี่ยวกับการปฏิบัติไปทำต่อ แล้วกลับมารายงานท่านในวันต่อไป

หลังจากปฏิบัติจนครบตามกำหนดแล้ว ฉันคิดว่า สิ่งที่ได้รับกลับมาสำหรับตัวเอง ก็คือ ทำให้รู้จักตัวเองดีกว่าเดิม เข้าใจว่า ตัวเรามีสิ่งที่ไม่ดี อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความโลภโมโหโทสัน หรือริษยาปองร้ายกัน ล้วนเกิดมาจากความยึดมั่น ถือว่ามีอัตตาตัวตน เมื่อเข้าใจดังนี้ ความยึดมั่นในตัวตนก็จะลดน้อยลง ส่งผลให้ ทิฐิมานะ และกิเลสอื่นๆ ลดน้อยลงไปด้วย

เริ่มเข้าใจคนอื่นมากขึ้น คนที่ยังไม่เข้าใจตัวเอง ย่อมจะเข้าใจคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าใจตัวเองดี ก็จะเข้าใจคนอื่นได้เช่นกัน เมื่อเรารู้ว่าตัวเองยังมีกิเลส ที่ทำให้เร่าร้อนใจ และกระทำผิดด้วยอำนาจของกิเลส ก็จะเข้าใจว่า คนอื่นเขาก็มีกิเลสเหมือนเรา จึงทำผิดได้ ความเข้าใจเช่นนี้ ทำให้เรารู้สึกสงสาร และให้อภัย คนที่เราไม่ชอบ แทนการตำหนิ หรือรังเกียจเขา

รู้จักแก้ไข และปรับปรุงตัวเอง คือ โดยทั่วไปเมื่อเราเกิดความโลภ หรือความโกรธ มักจะไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ทำสิ่งที่เป็นโทษกับตัวเอง และคนอื่น แต่ผู้ที่เคยปฏิบัติธรรมมาแล้ว จะมีสติรู้เท่าทันลักษณะของความโลภ หรือความโกรธ ที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อเรารู้ตัวเช่นนี้ ก็จะสามารถยับยั้งชั่งใจ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส แม้เราอยากจะได้ของที่ชอบ ก็พยายามหามาในทางสุจริต ไม่ละโมบสมบัติของคนอื่น หรืออยากได้โดยไม่ชอบธรรม ชีวิตนี้ ก็จะเจริญก้าวหน้าในครรลองที่ถูกต้อง

เชื่อในบาปบุญคุณโทษ รู้สึกเกรงกลัวไม่กล้าทำบาป เพราะเชื่อว่าผลของบาปมีจริง และมีใจน้อมไปเสมอในการทำบุญ อันได้แก่การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตามความเหมาะสมของแต่ละวัน

เพิ่มพูนศรัทธาในศาสนา คือ ในขณะปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อจิตสงบไม่ซัดส่าย มีสมาธิตั้งมั่นในอารมณ์ปัจจุบัน จะรู้สึกเป็นสุข ความสุขทางธรรม มีภาพสงบเย็น ไม่เร่าร้อนเหมือนความสุขทางโลก

บทความนี้ เป็นเรื่องเล่าที่ฉันได้ประสบมา และเรียนรู้จากการปฏิบัติธรรม อยากให้เห็นว่า เป็นความรู้สึกนึกคิดของฉันเท่านั้น ซึ่งยังศึกษา และปฏิบัติธรรมไม่มากนัก หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ต้องขออภัยด้วยค่ะ......
(จากหนังสือหลากชีวิต-สิเรียม
)
รวบรวมโดย ชัยวัฒน์ ทองพริก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น