ถามตอบปัญหาธรรมมะ ตอนที่ ๔ ตอนจบ
13. จิต คืออะไร?
คำถามนี้มีประโยชน์มาก เพราะทุกคนรู้ว่ามีจิต แต่ถ้าถามจริงๆว่า เมื่อมีจิตแล้ว ขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ก็ยากที่จะตอบได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจิตคืออะไรจิตเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ เพียงคำเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่ายากที่จะเข้าใจลักษณะของจิต ทั้งๆที่ขณะนี้กำลังมีจิตซึ่งกำลังเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับรูปธรรมซึ่งไม่รู้อะไรเลย ก็ย่อมจะเห็นได้ว่าสิ่งที่วางอยู่ใกล้ตัว ที่มีลักษณะแข็ง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ แก้วนํ้านั้น ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได่กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะจับถ้วยแก้ว รู้ว่ามีสิ่งที่แข็งกำลังปรากฏ สภาพที่กำลังรู้นั้น คือ จิต แต่สภาพที่แข็งนั้นไม่รู้เลยว่ากำลังถูกสิ่งที่แข็งจับ จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นั้นมีมาตั้งแต่เกิด ถ้าสภาพรู้ไม่มีก็เป็นแต่เพียงก้อนเนื้อเท่านั้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่คิดอะไรเลย แต่ขณะใดที่คิด ขณะนั้นเป็นสภาพรู้ที่กำลังคิด ขณะใดที่กำลังได้ยินเสียง เช่น ในขณะนี้ จิตเป็นสภาพรู้ที่ได้ยิน เสียงจึงปรากฏ ถ้ารู้เพียงเท่านี้ แต่ไม่พิจารณาสภาพรู้ที่กำลังเกิดขึ้นรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็อาจจะคิดว่ารู้ว่ามีจิตแล้วก็พอแล้ว แต่ว่าขณะไหนเป็นจิตทางไหนก็แยกไม่ออก เพราะความเป็นจริงนั้น ขณะเห็นก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งคนตาบอดไม่มีโอกาสจะเห็น ขณะได้ยินก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งรู้ คือได้ยินเฉพาะเสียงเท่านั้น คิดนึกไม่ได้
จากหนังสือ "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ และปกิณณกธรรม" โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
Back to Top
14. วิปัสสนา คืออะไร?
วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง ไม่ใช่เป็นการเห็นด้วยตาเนื้อ แต่เป็นการเห็นด้วยตาคือปัญญา วิปัสสนาเป็นปัญญาขั้นภาวนา ไม่ใช่ปัญญาขั้นการฟัง ซึ่งเป็นขั้นปริยัติ (การศึกษา) ไม่ใช่ปัญญาขั้นการคิดพิจารณา ซึ่งก็มาจากขั้นการศึกษา เพราะว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นการศึกษาปริยัติ จะมีปัญญาพิจารณาถูกต้องได้นั้น ย่อมเป็นไปได้ยาก แต่ปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนา เป็นขณะที่มีสติเกิดขึ้นพร้อมกับปัญญา ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และค่อยๆเข้าใจตามความเป็นจริง คือนามธรรมมีลักษณะอย่างไร ปัญญาก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น รูปธรรมมีลักษณะอย่างไร ก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีการสร้างหรือต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติแต่อย่างใดเลย เป็นการอบรมเจริญปัญญาตามปกติในชีวิตประจำวัน เพราะตามความเป็นจริงมีสภาพนามธรรมรูปธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ่อยๆเสมอๆ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงทำให้ยึดว่าเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากหนังสือ "แด่ผู้บังเกิดเกล้าที่เรารัก" โดย อุบาสกผู้หนึ่ง
Back to Top
15. เจตสิก คืออะไร?
เจตสิก เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่จิตแต่เกิดร่วมกับจิตแล้วก็ดับพร้อมกับจิต เจตสิก ได้แก่ โลภะ โทสะ เป็นต้น โทสะคือความโกรธ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง โลภะคือสภาพที่ติดข้องต้องการ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ทั้งโลภะและโทสะไม่ใช่จิต จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ (สิ่งที่ถูกจิตรู้) เช่น การได้ยิน เป็นต้น ส่วนเจตสิกทั้งหลายนั้น บางเจตสิกก็เกิดกับจิตทุกประเภท บางเจตสิกก็เกิดกับจิตประเภทหนึ่ง ไม่เกิดกับจิตอีกประเภทหนึ่ง เช่น โลภเจตสิกไม่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต จิตที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยจะพอใจติดข้องในอารมณ์ จิตที่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยจะหยาบกระด้าง ขุ่นเคือง ไม่แช่มชื่น จิตที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตที่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นจิตต่างขณะต่างประเภท เพราะประกอบด้วยเจตสิกที่ต่างกัน เจตสิก เป็นนามธรรมต่างๆชนิดที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ทำให้จิตต่างกันเป็น 89 ประเภท หรือที่เรียกว่า 89 ดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือจิตที่โลกจักรวาลไหนๆทั้งสิ้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประมวลและทรงจำแนกจิตทั้งหมดออกเป็น 89 ประเภท ส่วนเจตสิกทั้งหมดนั้นมี 52 ประเภท เจตสิกบางประเภทเกิดได้เฉพาะกับจิตที่ดีเท่านั้น และเจตสิกบางประเภทก็เกิดได้เฉพาะกับจิตที่ไม่ดีเท่านั้นจากหนังสือ "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ และปกิณณกธรรม" โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
Back to Top
16. ทำอย่างไรจึงจะแก้ความหลงลืมได้?
ถ้าเป็นผู้ที่เจริญกุศลบ่อยๆ และมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก็คงจะพอแก้ไขได้ แต่ไม่ใช่อย่างรวดเร็วภายในวันสองวัน บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าไปฝึกสมาธิก็จะทำให้มีสติมากขึ้น ซึ่งสติในที่นี้คงจะหมายความว่า ลืมน้อยลง แต่ขณะที่ทำสมาธินั้น สมาธิจะตั้งมั่นคงที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเร็วขึ้น แต่สมาธิไม่ใช่สติ สติไม่ใช่สมาธิ สติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี แต่สมาธิเป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด ฉะนั้น การเจริญสติจึงเป็นกุศล ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ แต่การทำสมาธินั้น ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ย่อมเป็นมิจฉาสมาธิ ทุกอย่างจะต้องค่อยๆแก้ไป อย่าใจร้อน และอย่าคิดว่าจะมีวิธีพิเศษซึ่งสามารถจะแก้ได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่การรักษาโรคก็จะต้องตัดที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุ ฉันใด การละอกุศลธรรมซึ่งทุกคนสะสมมามากในสังสารวัฏ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ภายในสองเดือน สามเดือน ปีหนึ่ง ชาติหนึ่ง แต่ต้องเป็นเวลานานนับไม่ได้ทีเดียว เรื่องการหลงลืมก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ที่สะสมอบรมธรรมฝ่ายกุศลมากขึ้นเพิ่มขึ้นก็ย่อมจะแก้ได้ แต่ไม่ใช่โดยรวดเร็วทันใจ เพราะไม่มียาวิเศษที่จะรักษาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นธรรมหรือยารักษาโรคใดๆก็ตามจากหนังสือ "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ และปกิณณกธรรม" โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
Back to Top
17. เราจะพิจารณาด้วยตนเองได้ไหมว่า พระรูปนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว?
เคยได้ยินบางท่านบอกว่า ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์เพราะท่านเดินกลางแดดแล้วท่านไม่หยีตา เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ของแต่ละท่านอบรมเจริญปัญญาอย่างไร ท่านรู้อะไรและท่านแสดงธรรมข้อปฏิบัติของท่านอย่างไร มีคนหนึ่งพยายามทำเป็นพระอรหันต์อยู่ 3 วัน ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ เฉยๆ ไม่ตกใจ ไม่ทำอะไร มองดูอาการภายนอกคนอื่นก็เชื่อว่าพระอรหันต์คืออย่างนั้น แต่พระอรหันต์ไม่ใช่อยู่ที่ไม่หัวเราะ หรือว่าไม่ยิ้ม หรือว่าไม่หยีตากลางแดด แต่พระอรหันต์นั้นท่านหมดกิเลสเพราะอบรมเจริญปัญญารู้อะไร ท่านปฏิบัติอย่างไร และท่านแสดงหนทางที่ท่านปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้บุคคลอื่นได้เกิดปัญญาด้วย พระอรหันต์ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยปัญญา เพราะก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์นั้นต้องเป็นปุถุชนซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส ความไม่รู้ และความเห็นผิดในสภาพธรรม ถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ก็ไม่มีทางที่ใครสักคนหนึ่งจะมีปัญญาดับกิเลสได้ที่จะกล่าวว่าผู้นั้นผู้นี้รู้ขึ้นมาเองในเรื่องธรรมทั้งหลาย เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เรื่องสังขารธรรมไม่เที่ยง เกิดดับ เรื่องการอบรมเจริญหนทางที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาว่า ถ้าผู้ที่ท่านเข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นพระอรหันต์จริง ท่านก็ต้องแสดงหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่จะทำให้ผู้ฟังสามารถพิจารณาแล้วก็เกิดปัญญาได้ด้วย ไม่ควรที่จะเชื่อหรือคิดว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้รู้แจ้งธรรม จนกว่าจะได้พิจารณาธรรมที่บุคคลนั้นกล่าวว่าถูกต้องตามเหตุผลหรือไม่
จากหนังสือ "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ และปกิณณกธรรม" โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
Back to Top
18. การเจริญสติปัฏฐานจะต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิอันนี้จะหมายความว่าอย่างไร?
สมาธิจริงๆได้แก่สภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เอกัคคตาเจตสิก "เจตสิก" คือสภาพนามธรรมที่เกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิตโลภะ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง โลภะไม่ได้เกิดกับจิตตลอดเวลา
โทสะ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง โลภะไม่ได้เกิดกับจิตตลอดเวลา
สมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง คือ ทุกขณะ แต่ขณะที่เกิดกับอกุศลจิตนั้น ไม่มีกำลังเท่ากับขณะเกิดกับกุศลจิตที่เจริญอบรมให้สงบขึ้นๆ ฉะนั้น ที่กล่าวว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น ต้องประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิคือ เอกัคคตาเจตสิกนั้นไม่เคยขาดเลยสักขณะจิตเดียว แต่ปัญญาไม่ได้เกิดทุกขณะอย่างสมาธิ ฉะนั้น จึงมีสมาธิ 2 อย่าง คือ สมาธิที่เกิดกับอกุศลจิตเป็น "มิจฉาสมาธิ" สมาธิที่เกิดกับโสภณหรือกุศลจิตเป็น "สัมมาสมาธิ" ซึ่งพุทธบริษัทในยุคนี้อาจจะขาดการพิจารณาเรื่องมิจฉาสมาธิ เพราะว่าทุกคนอยากจะทำสมาธิ แต่ลืมพิจารณาว่าสมาธิที่จะทำโดยขาดปัญญานั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ
ฉะนั้น อย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะทำสมาธิ เพราะเหตุว่ามีทั้งมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ขณะใดที่ศึกษาเข้าใจและปัญญาเกิด ขณะนั้นสมาธิจึงจะเป็นสัมมาสมาธิ
ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีสมาธิ เพราะสมาธิคือเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภททุกขณะอยู่แล้ว แต่ควรพิจารณาระวังว่าจะเจริญมิจฉาสมาธิแทนสัมมาสมาธิ เพราะไม่ศึกษาให้เข้าใจเรื่องของสัมมาสมาธิเสียก่อน ฉะนั้นในขณะที่สติเกิดระลึกสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงศีล แต่เป็นอธิศีลสิกขา พร้อมทั้งจิตที่สงบเพราะเป็นกุศลนั้นก็เป็นอธิจิตสิกขา และปัญญาที่กำลังศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็เป็นอธิปัญญาสิกขาด้วย ขณะนั้นเป็นศีลที่ละเอียดกว่าปกติที่รักษาศีล 5 เพราะศีล 5 นั้นเพียงแต่ไม่ล่วงทุจริตกรรม แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทุกคนมีโลภะ อยากได้สิ่งที่ดี สวยงาม แต่ว่าละอายต่อการที่จะทำทุจริต ขณะที่ยกเว้นไม่กระทำทุจริตกรรมนั้นก็เป็นศีล เพราะไม่ได้ล่วงทุจริตทางกาย วาจา แต่ใจยังมีโลภะ ยังมีความปราถนา ยังมีความต้องการ เพียงแต่ว่าขณะนั้นมีเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นวิรัติทุจริต ทำให้เว้นไม่ทำทุจริตทางกายทางวาจาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของจิต แม้ขณะที่กำลังเป็นโลภะ ซึ่งยังไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรม ขณะนั้นสติย่อมประกอบด้วยศีลที่ละเอียดที่สามารถระลึกรู้แม้ลักษณะของความต้องการที่ยังไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรม เพราะศีลธรรมดานั้นเพียงแต่เว้นกายทุจริต วจีทุจริต แต่ไม่ได้ระลึกลักษณะสภาพของจิตขณะนั้นว่ามีความต้องการขั้นไหน ซึ่งอาจจะเกือบๆกระทำกายทุจริตก็ได้
ฉะนั้น สติปัฏฐานจึงประกอบพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา แต่เป็นขั้นละเอียด จึงเป็นขั้นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
อาจจะสงสัยว่าทำไมไม่มีคำว่าสมาธิ แต่สภาพของจิตซึ่งประกอบด้วยสัมมาสมาธิในขณะที่เกิดกับสติปัฏฐานนั้นเองเป็นอธิจิตสิกขา ฉะนั้น อธิจิตสิกขา ก็เป็นสมาธินั่นเอง แต่เป็นสมาธิที่เกิดร่วมกับอธิศีลและอธิปัญญา
น่าคิดว่าขณะนี้กำลังมีศีลหรือเปล่า ขณะนี้ไม่ได้กระทำกายทุจริต วจีทุจริตก็จริง แต่ว่าขณะนี้มีเจตนาที่จะวิรัติทุจริตอะไรหรือไม่ นี่เป็นความละเอียดของธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ไม่สามารถที่จะพิจารณานามธรรมได้เพียงจากอาการที่ปรากฏภายนอก เพราะนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม
จากหนังสือ "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ และปกิณณกธรรม" โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
Back to Top
19. การรับประทานอาหารมังสวิรัติ และการกินเจนั้นจำเป็นแค่ไหน ถ้าไม่รับประทานอาหารมังสวิรัติจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้หรือไม่?
พระผู้มีพระภาคทรงเสวยเนื้อเพราะว่ากลิ่นดิบไม่ใช่กลิ่นเนื้อ กลิ่นปลา แต่กลิ่นดิบเป็นกลิ่นของกิเลส ขณะนี้ทุกคนไม่ได้กลิ่นกิเลสเลย คือไม่รู้ว่ากิเลสเป็นสภาพธรรมที่น่ารังเกียจ ทุกคนเพียงแต่ได้กลิ่นเนื้อดิบ กลิ่นปลาดิบเท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่ากลิ่นดิบคือกิเลส ฉะนั้น ผู้ที่บริโภคอาหารเนื้อโดยอบรมเจริญปัญญาดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เช่นพระผู้มีพระภาคและพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงไม่มีกิเลส ไม่มีกลิ่นดิบ ฉะนั้น ควรรังเกียจกลิ่นกิเลส ไม่ใช่รังเกียจกลิ่นของเนื้อสัตว์ ที่ถามว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติและการกินเจนั้นจำเป็นแค่ไหน ก็ย่อมแล้วแต่บุคคล บางท่านบริโภคแล้วสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ก็พอใจที่จะบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของร่างกาย แต่ต้องพิจารณากิเลสในขณะที่กำลังกินเจ หรืออาหารมังสวิรัติว่ารู้สึกติดพอใจในรสอร่อยไหม ความติดความพอใจนั่นแหละเป็นกลิ่นดิบแล้ว ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ไม่ใช่พิจารณาเพียงอาการที่ปรากฏภายนอกเท่านั้น และที่ถามว่าถ้าไม่กินเจจะทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้หรือไม่นั้น ตอบว่าได้ เมื่อพิจารณาจิตและสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อรู้ชัดในสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงจากหนังสือ "พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่ และปกิณณกธรรม" โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ