จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

เรื่องสั้น คำถามของชีวิต


เรื่องสั้น คำถามของชีวิต
ในเสียงสายลมที่พัดหวิวพลิ้ว  แสงอาทิตย์สาดทาบทาทุกสรรพสิ่ง  ใบไม้เอนล้อลู่ลม  อากาศอบอุ่นของยามเช้าช่วงปลายฝนต้นหนาว  ภิกษุสองวัยนั่งบนลานดินสนทนากันเบาๆ  องค์หนึ่ง   ผ่านฝน  ผ่านร้อนหนาวมาหลายฤดู จนเส้นผมปรากฏสีดอกเลา  ภิกษุอีกรูปเพียงย่างเข้าสู่ความเป็นหนุ่มเต็มเบญจเพศ  คนสองวัยสองความคิดบนเส้นทางเดินเดียวกัน 

          หลวงตาครับ  เสียงภิกษุหนุ่มผู้เริ่มเข้ามาสู่ร่มกาสาวพัตร์  เริ่มสนทนา 

“หลวงตาคิดว่าการที่คนเราถือศีลเพื่ออะไร 

แล้วทำไมคำตอบของศาสนาแต่ละศาสนาถึงไม่เหมือน

กัน”

แล้วคุณคิดว่าคุณถือศีลเพื่ออะไร  หลวงตามีความรู้ไม่มาก  เพียงผ่านโลกมามากจึงอยากจะบอกตามทัศนะของหลวงตา  และถามคุณว่า 

“คนเราอยู่คนเดียวในโลกได้ไหม”

ไม่ได้ครับ

“เมื่ออยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้  ต้องเอาอะไรยึดละ”

กฎหมายครับ

“แล้วถ้าไม่มีกฎหมายละ”

ก็ต้องอาศัยระเบียบแบบแผน

“แล้วถ้าไม่มีระเบียบแบบแผนละ”

ก็ต้องอาศัยธรรมเนียม  จารีตประเพณี

“แล้วถ้าไม่มีธรรมเนียม  จารีตประเพณี”

คงต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน  ภิกษุหนุ่มกล่าว

หลวงตามองภิกษุหนุ่มด้วยแววตาอ่อนโยน   ก่อนเอ่ยอย่างช้าๆ  ว่าที่คุณตอบมานั่นแหละคือศีลเบื้องต้น

“ความเห็นอกเห็นใจเป็นบ่อเกิดของจารีต  ประเพณี จารีต  ประเพณีเป็นบ่อเกิดของแบบแผน  แบบแผนเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยกันและกันอย่างแยกไม่ออก” 

“เมื่อคนเราไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกได้  เจตนารมย์ของการถือศีลเบื้องต้นในความรู้สึกของหลวงตาเองนะ  การที่คนเราต้องรักษาศีล  ก็เพื่อให้สังคมเราอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  ไม่เบียดเบียนกัน  ถ้าปราศจากการถือศีลเสียแล้ว  การอยู่ร่วมกันก็ไม่เป็นสุข  จิตใจเราก็จะไม่เป็นปกติไปด้วย  เพราะฉะนั้น  พระพุทธองค์จึงสอนให้เราถือศีล  เพื่อที่เราจะได้มีความสุขด้วยการอยู่รวมกัน  และจะเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ  จิตก็จะดี  และมีอารมณ์ผ่องใส”

คำสอนในทางพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องห้ามจิตใจ  เป็นเครื่องยับยั้งชั่งใจให้เกิดความคิดอ่านถูกต้อง  จะทำอะไรก็ต้องคิด  คิดว่า  ทำทำไม  ทำเพื่ออะไร  ทำแล้วจะได้อะไร  แล้วสิ่งที่ได้มานั้นมันเป็นวามสุขหรือความทุกข์  ให้ความร้อนหรือให้ความเย็น  ให้ความเสื่อมหรือให้ความเจริญแก่ชีวิตของเรา  และแก่คนหมู่มากไหม  ก่อนจะทำอะไร  ต้องคิด  คิดให้ละเอียด

ภิกษุหนุ่มครุ่นคิดตามคำพูดของหลวงตา  พูดเบาๆ  คล้ายรำพึงกับตัวเอง  ก่อนทำ  ต้องคิด  คิดให้ละเอียด

หากชีวิตคนเป็นเหมือนต้นไม้ใบหญ้า คงไม่ต้องคิดหรอก 

ทำไมละหลวงตา  ภิกษุหนุ่มถาม

คำตอบนั้น  ท่านก็รู้อยู่แล้ว  เพราะต้นไม้ใบหญ้ามันแค่ยืนต้น  ไม่มีจิต  ไม่มีวิญญาณ  แต่คนเราทอดความคิดไปอีกทอดหนึ่ง  มีอารมณ์ความรู้สึก  มีการจินตนาการมาก  จึงขอเตือนท่านดังในพุทธภาษิตธรรมบทว่า

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา        มโนเสฏฺฐา มโนมยา 

มนสา เจ ปทุฏฺเฐน             ภาสติ วา กโรติ วา 

ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ            จกฺกํว วหโต ปทํ. 

ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ 

สำเร็จแล้วด้วยใจ, ถ้าบุคคลมีใจร้าย พูดอยู่ก็ดี  ,

ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น 

ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ฉะนั้น.

          ขอฝากให้ท่านไปว่าทุกอย่างเกิดจากความคิดเราก่อน  หลวงตาเพียงเป็นพระแก่ๆ  ไม่มีธรรมะลึกซึ้งอะไร  เพียงอยากเตือนว่า 

จงระวังความคิดของเรา

เพราะความคิดของเรา

จะกลายเป็นความอยากของเรา

จากความอยากของเรา

จะกลายเป็นการกระทำของเรา

จากการกระทำของเรา

จะกลายความเชื่อของเรา

จากความเชื่อของเรา

จะกลายเป็นการยอมรับของเรา

จากการยอมรับชองเรา

จะกลายเป็นการวิเคราะห์ของเรา

เมื่อสิ่งใดที่เรายอมรับ อาจจะเป็นสิ่งที่เรายอมรับคนเดียวก็ได้  ฉะนั้นควรคิดให้ลึกและให้ละเอียดไปถึงการยอมรับของสังคม  หากสิ่งใดที่คิดแล้วไปสิ้นสุดที่การไม่ยอมรับของสังคม  สิ่งนั้นก็ไม่จำเป็นต้องทำ

“สิ่งใดที่คิดแล้วเป็นประโยชน์  คิดไปจนถึงการยอมรับได้ของสังคม  สิ่งนั้นจงกระทำเถิด”

หากคุณคิดว่าศีลมันมากก็จงดูจิต  รักษาจิตของตนให้เป็นปกติเท่านั้น  ใจความของศีลสรุปอยู่ที่การมีสติ  ใจความของการรักษาศีลอยู่ที่พุทธพจน์ว่า

อันใดเดือดร้อนเขา  สบายเรา  อย่าทำ

          อันใดเดือดร้อนเรา  สบายเขา  อย่าทำ

          อันใดเดือดร้อนเขา  เดือดร้อนเรา  อย่าทำ

          อันใดไม่เดือดร้อนเขา  ไม่เดือดร้อนเรา

          จงพูด  จงคิด  และกระทำเถิด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น