เคยสงสัยกันไหมคะว่า “ช่างปั้น” ที่ปั้นพระบรมรูปของบูรพมหากษัตราธิราชนั้น “รู้” ได้อย่างไรว่า “รูปร่างหน้าตา” ของแต่ละพระองค์เป็นเช่นไร
.
วันนี้ #เพจน้ำเงินเข้ม จะพามาไขกุญแจความสงสัยค่ะ
.
เดิมที... นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามประเทศของเราไม่เคยมีการสร้างพระบรมรูปพระมหากษัตริย์มาก่อนเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นแบบงานเขียน หรืองานปั้นก็ตาม มีเพียงงานปั้นหรืองานหล่อพระพุทธรูป เทวรูป หรือรูปพระสงฆ์ที่คนนับถือมากเท่านั้น
.
แม้จะเป็นการสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ ก็ยังสร้างขึ้นเป็นพระพุทธรูปแทนพระบรมรูปพระมหากษัตริย์เลยค่ะ
.
กระทั่ง #ในสมัยรัชกาลที่4 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของสยามประเทศ และเป็นช่วงที่อิทธิพลชาติตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลต่อสยามมากขึ้น...นี่เองที่ทำให้สยามประเทศมี #พระบรมรูปพระมหากษัตริย์องค์แรก เกิดขึ้น
.
เรื่องนี้ “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ได้ทรงกล่าวถึงในพระนิพนธ์ “ความทรงจำ-ดำรงราชานุภาพ” อันเผยจุดเริ่มต้นของการสร้างพระบรมรูปพระมหากษัตริย์องค์แรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มจากการมีกษัตริย์ต่างประเทศได้ส่งพระรูปหล่อของตน หรือทั้งของตนและของพระมเหสีมาถวายเป็นบรรณาการแด่รัชกาลที่ 4 หลังจากนั้นจึงได้ถือกำเนิดพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยขึ้นมา
.
“...มีผู้ส่งรูปพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (องค์ที่ทรงพระมาลาสก็อต) ไปให้ทำเป็นรูปหล่อที่ยุโรปเมื่อ พ.ศ.2406 ช่างปั้นฝรั่งเศสเป็นผู้ปั้น ได้เห็นแต่ฉายาลักษณ์ จึงคิดประดิษฐ์รูปโฉมตามคะเน...ส่งเข้ามาถวายทอดพระเนตรก่อน
.
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร เห็นรูปพระบรมรูปที่ฝรั่งทำผิดเพี้ยนพระลักษณะมากนัก จึงให้บอกเลิกแล้วดำรัสสั่งให้ช่างไทยปั้นพระบรมรูปขึ้นใหม่อีกองค์ 1
ให้ทำเป็นอย่างพระบรมรูประบายสีขนาดเท่าพระองค์ แต่การปั้นยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 4
.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดฯ ให้ทำต่อมาจนสำเร็จ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น #พระบรมรูปปั้นองค์แรกของพระมหากษัตริย์ไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท บนเขาวัง จ.เพชรบุรี
.
และเมื่อมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นนั้นแล้ว รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชดำริว่าควรจะสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์…”
.
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท บนเขาวัง จังหวัดเพชรบุรีค่ะ
.
กลับมาที่การสร้างพระบรมรูปองค์พระมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1-4) ตามพระราชดำริรัชกาลที่ 5 กันค่ะ ในการนั้น มีพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ และเป็นช่างฝีมือดีในสมัยนั้นเป็นผู้อำนวยการ
.
แน่นอนว่าการสร้างพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไม่มีปัญหาเลย เนื่องจากมีแบบพระบรมรูปเดิมที่เคยปั้นไว้อยู่แล้ว และอาจจะมีการอาศัยผู้ที่เคยเห็นพระองค์ให้บอกลักษณะ และคอยติให้ช่างแก้ไขได้ทันท่วงที
.
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ก็ไม่มีปัญหาอีกเช่นกัน ด้วยยังมีผู้เคยเห็นพระองค์มาคอยบอกลักษณะรูปโฉมอยู่มาก
.
#แต่รู้ไหมคะ ว่าการสร้างพระบรมรูปของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช #รัชกาลที่1 นั้นต้องประสบปัญหาใหญ่เชียวค่ะ เนื่องจากแทบจะไม่หลงเหลือผู้ที่เคยเห็นพระองค์ท่านเพื่อบอกพระลักษณะต่าง ๆ แก่ช่างได้
.
กระนั้นก็ยังนับว่าโชคดี...เพราะที่สุดแล้ว สามารถค้นหาบุคคลดังกล่าวได้มา 4 คน ได้แก่ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) และ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ลมั่ง สนธิรัตน)
.
พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 จึงถูกสร้างขึ้นจากการบอกกล่าวถึงพระลักษณะรูปโฉมที่เคยเห็น หรือจากภาพจำของทั้ง 4 คนนั่นเอง
.
ทั้งนี้ พระบรมรูปปั้นสำเร็จและหล่อได้ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2414 แล้วโปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และให้พระบรมรูปดังกล่าวเป็นแม่แบบของการปั้นพระบรมรูปและพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ตลอดไป
.
ฉะนั้น แน่ใจได้เลยค่ะว่า พระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์นี้ แม้จะมีการสร้างในภายหลังรัชกาล ก็มีผู้ที่เคยเห็นพระองค์จริงมาช่วยบอกช่างและติให้แก้ไขจนเหมือนพระองค์จริงที่สุด
.
.
ที่มา:
-เว็บไซต์ MGR Online
-หนังสือ ความทรงจำ-ดำรงราชานุภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ