จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สำนักปฏิบัติ สายต่างๆ ในประเทศไทย ที่เป็นตัวแทน สายศีล สมาธิ และ ปัญญา

พุทธทาสภิกขุกับสำนักพุทธศาสนาของไทย 
สำนักปฏิบัติ สายต่างๆ ในประเทศไทย สายศีล สมาธิ และ ปัญญา
          
  พุทธศาสนาของไทยในปัจจุบัน มีสำนักและครูอาจารย์ที่ตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า แตกต่างกันออกไป และสอนพุทธศาสนาอยู่หลายแนวทางด้วยกันบางสำนักถือว่า ศีลและความบริสุทธิ์ ทางจริยธรรมเป็นคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า บางสำนักเห็นว่า สมาธิเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา ส่วนบางสำนักเห็นว่า ปัญญาและการใช้เหตุผล เป็นกุญแจสำคัญ ที่ไขไปสู่ความเข้าใจในพุทธศาสนา แต่ทุกสำนักก็พูดถึง ศีล สมาธิ และปัญญาประกอบกันไปด้วย โดยมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ศีล สมาธิ และปัญญา ได้กลายมาเป็นคำสอนพื้นฐานที่สำคัญ ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย
 ๑. สำนักแห่ง ศีลสันติอโศก
          พระโพธิรักษ์และสำนักสันติอโศก เป็นตัวแทนทางด้าน ศีลของพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบัน พระโพธิรักษ์ซึ่งบวชในสายธรรมยุตในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ และเหล่าสานุศิษย์ ได้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด โดยการฉันอาหารมังสวิรัติ เพียงวันละมื้อ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เมื่อตัดสินจากมาตรฐานของท่าน พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ในคณะสงฆ์ไทยอยู่ต่ำกว่าระดับความบริสุทธิ์ทางศีล ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ พระโพธิรักษ์จึงได้วิพากษ์วิจารณ์ความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ความเชื่อที่งมงาย และวัตถุนิยมของ พระสงฆ์ส่วนใหญ่ อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ความลุ่มหลงในการเสพสุข การฉ้อราษฎร์บังหลวง และความรุนแรงของสังคมไทยอีกด้วย

          กล่าวโดยรวม สันติอโศกสนับสนุนการตีความของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป พระโพธิรักษ์ได้นำเอา ระบบเหตุผลนิยม อันเป็นสิ่งที่ร่วมกันอยู่ในหมู่พระภิกษุฝ่ายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นพุทธทาสภิกขุหรือ พระธรรมปิฎกมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งในแง่ของหลักพุทธศาสนาและความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม แต่การตีความพุทธศาสนาของท่านนั้น บางครั้งก็คลาดเคลื่อนไปจากพระไตรปิฎก เช่น คำสอนที่ว่า พระอรหันต์ยังสามารถกลับมาเกิดใหม่ได้อีกหากต้องการ และพระอรหันต์กับพระโพธิสัตว์ โดยสาระสำคัญแล้ว ไม่แตกต่างกัน เป็นต้น ในข้อที่พระภิกษุฝ่ายปฏิรูปปฏิเสธการตีความทางอภิปรัชญาของพุทธศาสนา ของชนชั้นปกครองนั้น พระโพธิรักษ์ไปไกลยิ่งกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง โดยการที่ท่านได้ปฏิเสธ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ในระดับองค์กร และสถาบันอีกด้วย ทำให้ท่านถูกมองว่า เป็นภัยต่อความมั่งคงของการปกครองคณะสงฆ์ไทย
 การที่ท่านประกาศตนเป็นอิสระจากการปกครองของคณะสงฆ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น ในที่สุดแล้ว เป็นสิ่งที่รัฐและคณะสงฆ์ของไทยไม่อาจยอมรับได้ พระโพธิรักษ์และพระภิกษุแห่งสำนักสันติอโศกจึงถูกปราบปราม ด้วยการบังคับให้ลาสิกขา และถูกกล่าวหาด้วยข้อหาต่าง ๆ พระโพธิรักษ์และสานุศิษย์ยังคง ปฏิบัติภารกิจในทางศาสนาต่อไปด้วยการครองผ้าขาว (แทนการครองผ้าสีกรักมาแต่เดิม) และต้องต่อสู้คดี ในชั้นศาลมาจนถึงทุกวันนี้๒๓ พระโพธิรักษ์และสำนักสันติอโศกนับได้ว่า เป็นตัวแทนพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลางกลุ่มที่ไม่พอใจต่อระบบที่เป็นอยู่ของสังคมไทยในปัจจุบัน

หลวงปู่มั่นภูริทัตโต

 ๒. สำนักแห่ง สมาธิ” : พุทโธ, ยุบหนอ-พองหนอ, ธรรมกาย, และการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
          สำนักกรรมฐานที่เป็นตัวแทนในเรื่อง สมาธิของพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยสี่สายคือ สาย พุทโธซึ่งมีอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้ก่อตั้ง สาย ยุบหนอ-พองหนอซึ่งพระพิมลธรรมได้นำมาเผยแพร่จากประเทศพม่า สาย ธรรมกายซึ่งมีหลวงพ่อสด จนฺทโร แห่งวัดปากน้ำเป็นผู้ริเริ่ม และสาย การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวซึ่งมีหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เป็นผู้แนะนำสั่งสอน เป็นครั้งแรก
หลวงพ่อชา สุภทฺโท

ก) พุทโธ
          อาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และสานุศิษย์ซึ่งรวมทั้งอาจารย์ชา สุภทฺโท ได้รับการยกย่องว่าเป็นสายกรรมฐาน ที่เข้มแข็งที่สุดสายหนึ่งของไทย๒๔ ภายในกรอบพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก พระภิกษุในสายนี้ เป็นฝ่ายธรรมยุต (ยกเว้นสำนักอาจารย์ชา สุภทฺโท ซึ่งบวชในฝ่ายมหานิกาย) และประพฤติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด สำนักกรรมฐานสายนี้ สอนการปฏิบัติสมาธิโดยให้สติจดจ่ออยู่กับ ลมหายใจ ขณะที่ภาวนาคำว่า พุทในเวลาหายใจเข้า และคำว่า โธในเวลาหายใจออก คำสอนของสายอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้กล่าวถึงประสบการณ์เหนือธรรมชาติ ในขณะปฏิบัติสมาธิ ซึ่งรวมทั้งการได้พบปะกับเหล่าเทวดา เปรต อสุรกาย และภพภูมิต่าง ๆ สำนักกรรมฐานสาย พุทโธนับได้ว่าเป็นตัวแทนฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) ของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองในประเทศไทยปัจจุบัน

ข) ยุบหนอ - พองหนอ
          ในสมัยที่พระพิมลธรรมเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ท่านได้ส่งพระภิกษุไปศึกษากรรมฐาน มาจากประเทศพม่า แล้วจัดส่งคณะอาจารย์ฝึกอบรมเรื่องวิปัสสนากรรมฐานไปตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย๒๖ การปฏิบัติกรรมฐานแบบ ยุบหนอ-พองหนอจึงได้เริ่มแพร่หลาย สำนักกรรมฐานสายนี้มีความสัมพันธ์ทาง ธรรมเนียมปฏิบัติ ใกล้ชิดกับสำนักกรรมฐานของมหาศรีสะยะดอในประเทศพม่า การปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบ ยุบหนอ - พองหนอนี้เน้นการใช้สติเฝ้าดูการเคลื่อนไหวที่หน้าท้อง พร้อมกับภาวนาคำว่า ยุบ-หนอขณะหายใจออกและคำว่า พอง-หนอขณะหายใจเข้า ขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติก็จะเพ่งพินิจถึงความไม่เที่ยงพร้อมกันไปด้วย บางครั้งนักปฏิบัติอาจจะเพ่งดูร่างกายที่สวยงาม และจินตนาการให้เห็นว่า เป็นสิ่งปฏิกูล ที่ประกอบไปด้วยเนื้อหนัง เส้นเลือด เส้นเอ็น อวัยวะต่าง ๆ และโครงกระดูก เป็นต้น เพื่อให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของ สิ่งทั้งปวง กรรมฐานสาย ยุบหนอ-พองหนอได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวางและกระจัดกระจาย ตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมิได้มีการรวมตัวกัน เป็นองค์กรหรือเครือข่ายเดียวกัน อย่างชัดเจน พระภิกษุส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติกรรมฐานสาย ยุบหนอ - พองหนอเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศ และทำหน้าที่สั่งสอนประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้นกรรมฐานสาย ยุบหนอ-พองหนอนี้จึงอาจสงเคราะห์อยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลาง โดยทั่วไปในสังคมไทย

ค) ธรรมกาย
          การเติบโตอย่างเป็นประวัติการณ์ของสายธรรมกาย ในทศวรรษที่ ๒๕๒๐ อาจอธิบายได้ว่าเป็น ความต้องการของชนชั้นปกครอง และชนชั้นกลางของไทย ที่อยากจะมีส่วนร่วมโดยตรง ในสัญลักษณ์อันสูงส่งทางศาสนา นั่นคือสมาธิภาวนา ซึ่งสำนักธรรมกายจัดอบรมการปฏิบัติครั้งละจำนวนมาก นอกจากนี้แล้ว ธรรมกายยังได้เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้ไต่เต้าบันไดทางสังคม โดยผ่านทางองค์กร ของตน ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับสถาบันที่มีอำนาจในทางโลก เช่น ชนชั้นปกครอง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักธุรกิจระดับสูง เป็นต้น กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ธรรมกายยอมรับคำสอนของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง การตีความของธรรมกาย ได้ย่อจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือ นิพพาน ให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในร่างกายของมนุษย์ วิธีปฏิบัติสมาธิภาวนาของธรรมกายก็คือ การเพ่งให้เห็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ เหนือสะดือขึ้นมาประมาณสองนิ้ว ซึ่งถือกันว่าเป็น ศูนย์กลางของร่างกาย พร้อมกับภาวนาคำว่า สัมมา อรหังต่อมาผู้ปฏิบัติอาจจะเพ่งให้เห็นพระพุทธรูปใสบริสุทธิ์แทน ในขั้นสุดท้ายผู้ปฏิบัติได้รับการบอกกล่าวว่า จะได้เห็นพระพุทธเจ้าและพระนิพพานจริง ๆ ที่ ศูนย์กลางร่างกายของตน พร้อมกับการตีความที่คลาดเคลื่อน ไปจากพระไตรปิฎกว่า นิพพานเป็นอัตตา ธรรมกายได้ใช้วิธีการจัดการและการตลาดสมัยใหม่ พร้อมทั้งเทคนิคสื่อสารมวลชนที่ทันสมัย ในการเผยแพร่คำสอนของตน แม้ว่าสมาชิกของธรรมกายส่วนใหญ่ จะเป็นชนชั้นกลางก็ตาม แต่ธรรมกาย ก็ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองทุกฝ่าย ซึ่งรวมทั้งพระเถระที่สำคัญในมหาเถรสมาคมด้วย ดังนั้น อาจนับได้ว่า ธรรมกาย เป็นพุทธศาสนาในฝ่ายคามวาสี (วัดบ้าน) ของชนชั้นปกครองและผู้ที่ประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง

ง) การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว
          คำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มิได้เน้นการแบ่งแยกระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ เนื่องจาก ตัวท่านเองเล่าว่า ได้รู้ธรรมะในขณะที่ยังเป็นฆราวาส การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ในแนวของหลวงพ่อเทียน เปิดโอกาสให้ฆราวาสได้ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ หรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งแต่เดิมนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะในหมู่พระป่าเท่านั้น

          หลวงพ่อเทียนย้ำว่า การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคัมภีร์หรือตำรา (ซึ่งพระนักปฏิรูปอย่างเช่น พุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก สนับสนุน) การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวไม่ เกี่ยวข้องกับการกำหนดลมหายใจ การเพ่งรูปนิมิต การภาวนาคำต่าง ๆ ในใจ หรือการพิจารณาตรึกตรอง ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ และไม่เน้นเรื่องของศีล การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวร่างกายทีละจังหวะ เช่น การยกมือสร้างจังหวะหรือการเดินจงกรม เพื่อเป็นการปลุกสติหรือ ธาตุรู้ในตัวเองให้ตื่นขึ้น สติหรือธาตุรู้จะเข้าไป ดูความคิดซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง และตัดกระแสของความคิดนั้น ๆ

          หลวงพ่อเทียนและสานุศิษย์ที่สำคัญ เช่น อาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และอาจารย์ดา สมฺมาคโต เป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนได้รับความสนใจ ทั้งจากชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกล และจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากสำนัก กรรมฐานสายนี้ วิพากษ์วิจารณ์การตีความคำสอนพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง และไสยศาสตร์ของไทย จึงอาจจัดได้ว่า เป็นพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของชนชั้นกลางในสังคมไทย

๓. สำนักแห่ง ปัญญา” : พุทธทาสภิกขุ
          คำสอนที่เป็นตัวแทนของ ปัญญาในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของไทย ที่เด่นและสำคัญได้แก่ คำสอนของพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะพระภิกษุผู้นำฝ่ายปฏิรูป พุทธทาสภิกขุ ได้ตีความคำสอนในพระไตรปิฎก และวัฒนธรรมชาวพุทธของไทย ด้วยการใช้ปัญญาและ เหตุผล รวมทั้งการตีความในเชิงจิตวิทยา อันทำให้เรื่องราวทั้งหมดในพุทธศาสนา เป็นเรื่องทางจิตใจล้วน ๆ ในทรรศนะของพุทธทาสภิกขุแล้ว การเลื่อนชั้นตัวเองไปสู่ นิพพาน” (ความดับสนิทแห่งทุกข์) นั้น ผู้ปฏิบัติพึงแสวงหา ปัญญาด้วยการศึกษาหาความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ต่าง ๆ นอกเหนือจาก การอ่าน และฟังพระธรรมคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้ และประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมที่ดี พุทธทาสภิกขุกล่าวอยู่เสมอว่า พระธรรมก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือพระธรรมดังนั้น ท่านจึงสอนให้เฝ้าสังเกตความเป็นไปในธรรมชาติ พร้อมกับการปฏิบัติ อานาปานสติ (สติเฝ้าดูลมหายใจ) ไปด้วย อานาปานสติ เป็นวิธีการปฏิบัติ ที่มีกล่าวอ้างอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ในขั้นแรกของการปฏิบัตินั้นผู้ฝึก จะเฝ้าดูลมหายใจด้วยวิธีการต่าง ๆ (สมถะ) และในขั้นต่อมาให้ใช้สมาธิที่เกิดจากการดูลมหายใจ มาพิจารณาถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย (วิปัสสนา) พุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลารามเป็น สัญลักษณ์และตัวแทนทาง ปัญญาของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลาง กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา และปัญญาชนในสังคมไทย 
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ ปยุตโต
พระอาจารย์สายปัญญา มีมากมาย ซึ่งจะเป็นไปด้วยทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ที่เป็นลำดับ ควบคู่กันไป  ตามหลักปฏิบัติที่ ขาดออกจากกันไม่ได้
หลวงพ่อปัญญานันทะ

หลักในการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า ๔ วิธี


หลักในการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า ๔ วิธี

"หลักในการตอบ ๔ วิธี"
 คนที่เผ้าพระพุทธเจ้านั้นมีทุกระดับฐานะทางสังคม คือจากบุคลระดับพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้น ลงไปจนถึงจัณฑาลที่เป็นวรรณะต้องห้ามสำหรับคนในสมัยนั้น เจตนารมณ์ในการมาเฝ้าพระบรมศาสดานั้นก็แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะคนที่ถือตนเองว่าเป็นนักปราชญ์มักจะมาเฝ้าเพื่อต้องการทดสอบทำนองลองดีก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ในฐานะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงแสดงธรรมให้คนเหล่านั้นเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้อง กลายเป็นคนอ่อนน้อมยอมตนนับถือพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก จนถึงกับสร้างความริษยาอาฆาตให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มผลประโยชน์ คือคณาจารย์เจ้าลักธิที่มีอยู่ก่อน แม้ว่าคนเหล่านั้นเพียรพยายามทำลายพระบรมศาสดาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ต้องพ่ายแพ้พุทธานุภาพไปในที่สุด

ในกรณีของคนที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อถามปัญหานั้น พระบรมศาสดาทรงมีหลักในการตอบ ๔ วิธีด้วยกันคือ

     ๑. เอกังสพยากรณ์ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไปโดยส่วนเดียวอย่างเช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

     ๒. วิภัชพยากรณ์ พระพุทธเจ้าทรงจำแนกตัวไปตามลักษณะของเรื่องนั้น ๆ อย่างเช่น ปัญหาที่ว่าคนตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ? พระบรมศาสดาจะทรงตอบจำแนกไปตามเหตุผล คือ เมื่อเหตุให้เกิดมี อยู่การเกิดก็ต้องมี เมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มี

     ๓. ปฏิปุจฉาพยากรณ์ พระพุทธเจ้าทรงใช้ปัญหาที่ถามมานั้นเองย้อนถามไปอีกทีแล้วจะออกมาเป็นคำตอบเอง

     ๔. ฐปนียะ ปัญหาบางเรื่องบางอย่าง เป็นเรื่องไร้สาระบ้างตั้งคำถามผิดบ้าง พูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้ฟังบ้าง พระบรมศาสดาจะทรงนิ่งเสียไม่ตอบ เพราะพระพุทธเจ้าดำรัสทุกคราวของพระพุทธเจ้าวางอยู่บนหลักที่ว่า "ต้องเป็นเรื่องจริง เป็นธรรมมีประโยชน์ เหมาะสมแก่กาล คนฟังอาจจะชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างก็ได้ แต่ถ้าคุณสมบัติ ๔ ประการข้างต้นมีอยู่จะตรัสพระดำรัสนั้น"

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย สมัยยุคต่างๆ

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย สมัยยุคต่างๆ
                                             เปิดบรรยากาศอ่านบทความ
      พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ สมัยเดียวกันกับประเทศลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ไม่น้อยกว่า ๗ ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีในกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ตามยุคสมัยต่อไปนี้


  พระพุทธศาสนา สมัยทวาราวดี
   ผืนแผ่นดินจุดแรกของอาณาจักรสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกกันว่า "แหลมทอง" ซึ่งท่าน พระโสณะกับพระอุตตระได้เดินทางจากชมพูทวีปเข้ามาประดิษฐานนั้น จดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เรียกว่า "ทวาราวดี" สันนิษฐานว่าได้แก่ที่จังหวัดนครปฐม เพราะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น ปรากฏว่าเป็นหลักฐานประจักษ์พยานอยู่ พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนี้ เป็นแบบเถรวาทดั้งเดิม พุทธศาสนิกชนได้มีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในอินเดีย ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างขึ้น ศิลปะในยุคนี้เรียกว่า ศิลปะแบบทวาราวดี

  พระพุทธศาสนา สมัยอาณาจักรอ้ายลาว
   พระพุทธศาสนาในยุคนี้เป็นแบบมหายาน ในสมัยที่ขุนนางเม้ากษัตริย์ไทย ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยปัจจุบัน ครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว ได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายานผ่านมาทางประเทศจีน โดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ ในคราวที่พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเซียกลาง พระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนทรงรับพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในจีน และได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำเอาพระพุทธศาสนามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นครั้งแรก
 พระพุทธศาสนา สมัยศรีวิชัย พ.ศ. ๑๓๐๐
   อาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงจัดหวัดสุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน พระพุทธศาสนาแบบมหายานจึงได้แผ่เข้ามาสู่ภาคใต้ของไทย ดังหลักฐานที่ปรากฏคือเจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และรูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
  พระพุทธศาสนา สมัยลพบุรี พ.ศ. ๑๕๕๐
   ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. ๑๕๔๐ และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น
   เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดี ส่วนข้างใต้
   เมืองสุโทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดีส่วนข้างเหนือ
   เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก
   เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงต้อนข้างเหนือ
เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้เมืองลพบุรีหรือละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมัน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนในอาณาเขตต่าง ๆ ดังกล่าว จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมด้วย กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ด้วย ทำให้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ๒ แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน และภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาหลักของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในด้านภาษาและวรรณคดีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา สำหรับศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยานให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งนั้น คือพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นก็เป็นแบบขอม ถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปสมัยลพบุรี

  พระพุทธศาสนา สมัยเถรวาทแบบพุกาม
  ในสมัยที่พระเจ้าอนุรุทธมหาราช กษัตริย์พุกามเรืองอำนาจ ทรงรวบรวมเอาพม่ากับรามัญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง จนถึงลพบุรี และทวาราวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ส่วนชนชาติไทย หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ถึงประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๙ ขุนท้าวกวาโอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้สถาปนาอาณาจักรโยนกเชียงแสนในสุวรรณภูมิ หลังจากนั้นคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เมื่อกษัตริย์พุกาม (กัมพูชา) เรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจของขอม ก็ได้รับทั้งศาสนาและวัฒนธรรมของเขมรไว้ด้วย ส่วนทางล้านนาก็ได้รับอิทธิพลจากขอมเช่นเดียวกัน คือเมื่ออาณาจักรพุกามของกษัตริย์พม่าเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ดังเห็นว่ามีปูชนียสถานแบบพม่าหลายแห่ง และเจดีย์ที่มีฉัตรอยู่บนยอด และฉัตรที่ ๔ มุมของเจดีย์ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากพุกามแบบพม่า
   พระพุทธศาสนา สมัยสุโขทัย
   หลังจากอาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลง คนไทยจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นเอง ๒ อาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรล้านนา อยู่ทางภาคเหนือของไทย และอาณาจักรสุโขทัย มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน เมื่อพ่อขุนรามคำแหงเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ถึง ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ครั้งที่ ๒ ในสมัยพระเจ้าลิไท พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก กษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม มีความสงบร่มเย็น ประชาชนเป็นอยู่โดยผาสุก ศิลปะสมัยสุโขทัยได้รับการกล่าวขานว่างดงามมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีลักษณะงดงาม ไม่มีศิลปะสมัยใดเหมือน
  พระพุทธศาสนา สมัยอยุธยา
     พระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาได้รับอิทธิพลของพราหมณ์เข้ามามาก พิธีกรรมต่าง ๆ ได้ปะปนพิธีของพราหมณ์ เน้นความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิปาฏิหาริย์ มีเรื่องไสยศาสตร์เข้ามาปะปนอยู่มาก ประชาชนมุ่งเรื่องการบุญการกุศล สร้างวัดวาอาราม สร้างปูชนียวัตถุ บำรุงศาสนาเป็นส่วนมาก ในสมัยอยุธยาต้องประสบกับภาวะสงครามกับพม่า จนเกิดภาวะวิกฤตทางศาสนาหลายครั้ง ประวัติศาสตร์อยุธยาแบ่งเป็น

   อยุธยาตอนแรก (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)
ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็น ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงผนวชเป็นเวลา ๘ เดือน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ และทรงให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย สันนิษฐานว่าเป็นการเริ่มต้นของประเพณีการบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการรจนาหนังสือมหาชาติคำหลวง ใน พ.ศ. ๒๐๒๕

   สมัยอยุธยาตอนที่สอง ( พ.ศ. ๒๐๓๔ - ๒๑๗๓)
สมัยนี้ได้มีความนิยมในการสร้างวัดขึ้น ทั้งกษัตริย์และประชาชนทั่วไป นิยมสร้างวัดประจำตระกูล ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้พบพระพุทธบาทสระบุรี ทรงให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้ และโปรดให้ชุมชนราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกด้วย

   สมัยอยุธยาตอนที่สาม (พ.ศ. ๒๑๗๓ - ๒๓๑๐)
พระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้ ได้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงมีบทบาทอย่างมากทั้งต่อฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า สมัยนี้พวกฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกับไทย และได้พยายามเผยแผ่ศาสนา และทูลขอให้พระนารายณ์เข้ารีต แต่พระองค์ทรงมั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงนำพาประเทศชาติรอดพ้นจากการเป็นเมืองของฝรั่งเศสได้ เพราะมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

   สมัยอยุธยาตอนที่สี่ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๑๐)
พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีบทบาทมากในยุคนี้ ได้แก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเสวยราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๕ การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงยุคหลัง ถึงกับกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จึงจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้ ในสมัยนี้ได้ส่งพระภิกษุเถระชาวไทยไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ จนทำให้พุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองในลังกาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน และเกิดนิกายของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในลังกา ชื่อว่า นิกายสยามวงศ์ นิกายนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน

   พระพุทธศาสนา สมัยกรุงธนบุรี
  ปี พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายกทัพเข้าตีจนบ้านเมืองแตกยับเยิน พม่าได้ทำลายบ้านเมืองเสียหายย่อยยับ เก็บเอาทรัพย์สินไป กวาดต้อนประชาชนแม้กระทั่งพระสงฆ์ไปเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก วัดวาอารามถูกเผาทำลาย ครั้นต่อมาพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นผู้นำในการกอบกู้อิสระภาพ สามารถกอบกู้เอกราชจากพม่าได้ ทรงตั้งราชธานีใหม่ คือเมืองธนบุรี ทรงครองราชและปกครองแผ่นดินสืบมา ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและสร้างวัดเพิ่มเติมอีกมาก ทรงรับภาระบำรุงพระพุทธศาสนารวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกจากหัวเมือง มาคัดเลือกจัดเป็นฉบับหลวง แต่ไม่ยังทันเสร็จบริบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ต่อมา พ.ศ. ๒๓๒๒ กองทัพไทยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันทน์มายังประเทศไทย ภายหลังพระองค์ถูกสำเร็จโทษเป็นอันสิ้นสุดสมัยกรุงธนบุรี

   พระพุทธศาสนา สมัยรัตนโกสินทร์
   รัชกาลที่ ๑ (๒๓๒๕ - ๒๓๕๒)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ต่อจากพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงย้ายเมืองจากธนบุรี มาตั้งราชธานีใหม่ เรียกชื่อว่า "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์" ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆเช่นสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดสระเกศ และวัดพระเชตุพน ฯ เป็นต้น ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙ และถือเป็นครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย ณ วัดมหาธาตุ ได้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงจัดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๒

   รัชกาลที่ ๒ (๒๓๕๒- ๒๓๖๗)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ เป็นทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราช( สุก ) สมเด็จพระสังฆราช( มี ) และสมเด็จพระสังฆราช ( สุก ญาณสังวร)
   ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ ทรงจัดส่งสมณทูต ๘ รูป ไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา ได้จัดให้มีการจัดงานวันวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ซึ่งแต่เดิมก็เคยปฏิบัติถือกันมาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย แต่ได้ขาดตอนไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า จึงได้มีการฟื้นฟูวันวิสาขบูชาใหม่ ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการสอบไล่ปริยัติธรรมขึ้นใหม่ ได้ขยายหลักสูตร ๓ ชั้น คือ เปรียญตรี -โท - เอก เป็น ๙ ชั้น คือชั้นประโยค ๑ - ๙

   รัชกาลที่ ๓ (๒๓๖๗ - ๒๓๙๔)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วนกว่ารัชกาลก่อน ๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่ง และสร้างวัดใหม่ คือวัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดา และวัดเฉลิมพระเกียรติ ได้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เด็กในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ

   รัชกาลที่ ๔ (๒๓๙๔ -๒๔๑๑)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎได้ผนวช ๒๗ พรรษาแล้วได้ลาสิกขาขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๕๗ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๒๓๙๔ ด้านการพระศาสนา ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่นวัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิตร เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมาก โปรดให้มีพระราชพิธี "มาฆบูชา" ขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้

   รัชกาลที่ ๕ (๒๔๑๑ - ๒๔๕๓)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงยกเลิกระบบทาสในเมืองไทยได้สำเร็จ ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น คือวัดวัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุ และวัดอื่น ๆ อีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โปรดใหั้มีการเริ่มต้นการศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ ครั้น พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม ถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๔ โปรดให้จัดการศึกษาแก่ประชาชนในหัวเมือง โดยจัดตั้งโรงเรียนในหัวเมืองขึ้น
   เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการเป็นกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) โปรดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย จบละ ๓๙ เล่ม จำนวน ๑,๐๐๐ จบ พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาเป็นบาลีวิทยาลัย ชื่อมหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ และต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร
   ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิดในปีเดียวกัน

   รัชกาลที่ ๖ (๒๔๕๓- ๒๔๖๘)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง ทรงโปรดให้ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน ร.ศ. เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ให้เปลี่ยนกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ
   ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวงจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียน เป็นครั้งแรก
   พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า "นักธรรม" โดยมีการสอบครั้งแรกเมื่อ เดือนตุลาคม ๒๔๕๔ ตอนแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม"
   พ.ศ. ๒๔๖๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๓ โปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถาชาดก และคัมภีร์อื่น ๆ เช่นวิสุทธิมรรค มิลินทปัญหา เป็นต้น

   รัชกาลที่ ๗ (๒๔๖๘ - ๒๔๗๗)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๓ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในเมืองไทย แล้วทรงจัดให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ชุดละ ๔๕ เล่ม จำนวน ๑,๕๐๐ ชุด และพระราชทานแก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ ๕๐๐ ชุด โปรดให้ย้ายกรมธรรมการกลับเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการอย่างเดิม โดยมีพระราชดำริว่า "การศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัด" ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ กระทรวงธรรมการประกาศเพิ่มหลักสูตรทางจริยศึกษาสำหรับนักเรียน ได้เปิดให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม โดยจัดหลักสูตรใหม่ เรียกว่า "ธรรมศึกษา" ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ของไทย เมื่อคณะราษฎร์ได้ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘

    รัชกาลที่ ๘ (๒๔๗๗ - ๒๔๘๙)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชเป็นรัชกาลที่ ๘ ในขณะพระพระชนมายุ เพียง ๙ พรรษาเท่านั้น และยังกำลังทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
   ในด้านการศาสนาได้มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
   ๑. พระไตรปิฎก แปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด ๘๐ เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ และได้ทำต่อจนเสร็จเมื่องานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐
   ๒. พระไตรปิฎก แปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน แบ่งเป็น ๑๒๕๐ กัณฑ์ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับหลวง เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒
   พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และกรมธรรมการเปลี่ยนเป็น กรมการศาสนา และในปีเดียวกัน รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการปกครองแบบใหม่
   พ.ศ. ๒๔๘๘ มหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ "สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย" เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม
   พ.ศ. ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ถูกลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราช เป็นรัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน

   สมัยรัชกาลที่ ๙ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ สืบมา)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นราชกาลที่ ๙ สืบต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงเป็นศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา และทรงปกครองบ้านเมืองโดยสงบร่มเย็น ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการส่งเสริมพุทธศาสนาด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
   - ด้านการศึกษา ประชาชนได้สนใจศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นตามลำดับ ได้มีการจัดตั้งสมาคม มูลนิธิทางพุทธศาสนาเพื่อการศึกษามากมาย มีการจัดตั้งชมรมพุทธศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ พ.ศ. ๒๔๙๐ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายพระพุทธศาสนาขึ้น เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๙๐ และเปิดการศึกษาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๐ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการศึกษาของพระสงฆ์ได้มีการยกระดับมาตรฐานการศึกษา เช่นยกระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง คือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้เปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และมีนโยบายจะเปิดระดับปริญญาเอกในอนาคต ได้มีการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยสากลทั่วไป และได้ออกกฏหมาย พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง โดยรัฐสภาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีชื่อว่า "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ "มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย" ปัจจุบันนี้ได้มีวิทยาเขตต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ พะเยา แพร่ ลำพูน นครสวรรค์ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา หนองคาย นครปฐม นครศรีธรรมราช เป็นต้น ส่วนการศึกษาด้านอื่น ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญ ระดับประถมปลาย และ ม.๑ ถึง ม.๖ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเปิดการสอนพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน จนได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ
   - ด้านการเผยแผ่ ได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศไทยได้มีองค์กรเผยแผ่ธรรมในแต่ละจังหวัด โดยได้จัดตั้งพุทธสมาคมประจำจังหวัดขึ้น ส่วนพระสงฆ์ได้มีบทบาทในการเผยแผ่มากขึ้น โดยใช้สื่อของรัฐ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเอาวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาภาคบังคับแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตั้งแต่ ม. ๑ ถึง ม. ๖ พระสงฆ์จึงได้มีบทบาทในการเข้าไปสอนในโรงเรียนต่าง ๆ มีการประยุกต์การเผยแผ่ธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการบรรยาย ปาฐกถา และเขียนหนังสืออธิบายพุทธธรรมมากขึ้น ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เช่นมีพระเถระนักปราชญ์ชาวไทยในยุคนี้ ได้แก่ ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นต้น ในต่างประเทศได้มีการสร้างวัดไทยในต่างประเทศหลายวัด เช่นวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นวัดไทยแห่งแรกในต่างประเทศ ต่อจากนั้นได้มีการสร้างวัดไทยในประเทศตะวันตก คือวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิด เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ นับเป็นวัดไทยวัดแรกในประเทศตะวันตก ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้มีการสร้างวัดแห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอเนีย ชื่อว่า วัดไทยลอสแองเจลิส ปัจจุบันมีวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ประมาณ ๑๕ วัด นอกจากนั้นได้มีองค์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของคณะสงฆ์ไทย ได้จัดให้มีการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศขึ้นประจำทุกปี เพื่อส่งไปเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตก ปัจจุบันนี้ชาวตะวันตกได้หันมาสนใจพุทธศาสนากันมาก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีการจัดตั้งสำนักงานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกขึ้น ณ ประเทศไทย ( พ.ส.ล. ) เพื่อเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธทั่วโลก
   - ด้านพิธีกรรม ได้มีการเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เป็นพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ ให้เป็นพิธีของรัฐบาล เรียกว่า "รัฐพิธี" โดยให้กรม กระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้จัด จัดให้มีงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาช่วงวันวิสาขบูชาของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จแทนพระองค์ในพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเช่นวันวิสาขบูชา มาฆบูชา อาสาฬหบูชา ณ พุทธมณฑล ซึ่งสร้างขึ้น เมื่อคราว ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
   - ด้านวรรณกรรม ได้มีวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นมากมาย มีปราชญ์ทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นหลายรูป จึงได้เกิดวรรณกรรมทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรองมากมายหลายเล่ม เช่นพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ของท่านพุทธทาสภิกขุ หนังสือ พุทธธรรม ของพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นต้น
 ภาพโดย ชัยวัฒน์  ทองพริก
ยุคที่พุทธศาสนานำเข้ามาจากอินเดีย มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของดินเเดน ในประเทศไทยแต่ล่ะยุคสมัย และสะท้อนอิทธิพลที่มนุษย์ได้รับจากพุทธศาสนากล่อมเกลาเข้ามาสู่จิตใจ จนกำเนิดประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ที่เราลูกหลานได้รับสืบมา แม้สิ่งที่สื่อออกมาเป็นรูปธรรม และ นามธรรม จงมีความภูมิใจเสียว่า เราเป็นประเทศที่โชคดีที่สุด หากไปเป็นอย่างอื่นเราอาจจะคงไม่พบคำสิ่งที่ว่าศีลธรรม สันติภาพ เมตตา กรุณา  และสติปัญญา อันเกิดจาก ความอิสระแห่งศาสนาที่เปิดกว้างแห่งปัญญา และเหตุผลอย่างแท้จริง และลึกกว่านั้นยังมีสิ่งที่ลึกสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นั้นคือหลักคำสอนของพุทธองค์ ในแต่ระดับ จนสู่ขั้นแห่ง นิพพานนั้นเอง ข้าพเจ้าขอฝากพุทธศาสนาไว้กับหัวใจของ พุทธบริษัท ทุกคน จงวิ่งสู่เเก่นศาสนา และเริ่มการเรียนรู้อันถูกหนทางเสียที บรรพบุรุษของเราคงเห็นแล้วว่าพุทธศาสนามีค่ามากมายถึงยอมสละชีวิตเพื่อแลกมาแห่งการดำรงอยู่ จงค้นหาและเก็บเพ็ชรที่มีค่าไว้ในใจ ในหลักคำสอนพุทธองค์ ต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของพวกท่านต่อไป เถิด....   อุตฺตมสาโร..

พุทธกิจของพระพุทธเจ้า และ พุทธจริยา ๓ ประการ

 
บทสวดพาหุง ทำนอง
พุทธกิจของพระพุทธเจ้า และ พุทธจริยา ๓ ประการ
พุทธกิจประจำวัน ของพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจใน 45 พรรษา ช่วยเหลือมนุษย์ ประทาน โอวาทคำสั่งสอน ชี้ทางดับทุกข์ให้บรรลุถึงความสุข

คุณงามความดีที่พระพุทธองค์ทรงทำไว้นั้นย่อมปรากฏแก่โลกทั่วไป และในพุทธกิจแต่ละวันนั้น ไม่ว่าพระองค์จะประทับอยู่ที่ใด พุทธกิจประจำวันของพระองค์ก็มิได้เปลี่ยนแปลง

ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันพักผ่อน ดังจะให้จากตารางพุทธกิจของพระองค์ดังนี้

06.00 - 08.00 น. เสด็จบิณฑบาตโปรดประชาชน
08.00 - 10.00 น. เสวยภัตตาหารและแสดงธรรมโปรดประชาชน
10.00 - 12.00 น. เสด็จกลับพระวิหารพักผ่อน
12.00 - 14.00 น. ประทานโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ และลำเร็จสีหไสยาสน์
14.00 - 16.00 น. ทรงตรวจดูสัตว์โลก
16.00 - 18.00 น. แสดงธรรมโปรดประชาชน
18.00 - 19.20 น. ทรงพักผ่อน
19.20 - 22.00 น. แสดงธรรมโปรดภิกษุสงฆ์
22.00 - 02.00 น. โปรดแก้ปัญหาเทวดา
02.00 - 03.20 น. เสด็จจงกรม
03.20 - 04.40 น. สำเร็จสีหไสยาสน์
04.40 - 06.00 น. เสด็จลุกจากสีหไสยาสน์ และตรวจดูสัตว์โลก

ข้อสังเกต
 มีข้อที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งในพุทธกิจประจำวันคือ การตรวจดูสัตว์โลก เรื่องนี้ พระองค์จะทำอย่างไร ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์จะต้องทรงดูสัตว์โลกวันละ 2 ครั้ง ทุกวันไม่มีว่างเว้น

ครั้งแรก เวลาย่ำรุ่ง 04.00 - 06.00 น. ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยการแผ่ข่ายคือพระญาณไปตรวจดู เริ่มจากพระคันธกุฏีออกไปจรดขอบจักรวาล

ครั้งที่สอง เวลาบ่าย 14.00 - 16.00 น. พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกับครั้งแรกคนนั้นทันที แม้ว่าบุคคลผู้นั้น จะอยู่ไกลเพียงไร โหดเหี้ยมทารุณเพียงใด โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากลำบากพระวรกาย
ทั้งนี้เพราะพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อสัตว์โลก ถ้าจะยกตัวอย่างที่เห็นได้อยางชัดเจนและเป็นเรื่องที่ชาวพุทธทราบกันดี คือเรื่องที่พระองค์เสด็จไปโปรด พระองคุลิมาล


 เนื้อหาเพิ่มเติมย้ำความเข้าใจ

        "พุทธกิจประจำวัน ๕ ประการและพุทธจริยา ๓ ประการ"

งานการสอนธรรม เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นงานที่ละเอียดประณีต เพราะทรงมุ่งให้เป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่คนทั้งปวงและอำนวยผลให้เป็นความสุข พระพุทธเจ้า จึงทรงมีกิจหลักที่เรียกว่าพุทธกิจ ในแต่ละวันทรงมีพุทธกิจหลัก ๕ ประการ เพื่อบำเพ็ญพุทธจริยา ๓ ประการ เพื่อบำเพ็ญพุทธจริยา ๓ ประการ ของพระพุทธเจ้าให้สมบูรณ์ คือ

     พุทธจริยาประการที่หนึ่ง โลกัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก  
ในฐานะที่พระองค์เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมโลก ความสำเร็จในจริยาข้อนี้ทรงอาศัยพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการคือ

     พุทธกิจประการที่ ๑ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกผู้ต้องการบุญ
     พุทธกิจประการที่ ๒ ในเวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่คนผู้สนใจในการฟังธรรม
     พุทธกิจประการที่ ๓ ในเวลาค้ำทรงประทานพระโอวาทให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย
     พุทธกิจประการที่ ๔ ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรม และตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย
     พุทธกิจประการที่ ๕ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งประองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น

     พุทธกิจประการที่ ๕ นี้เอง เป็นจุดเด่นในการทำงานของพระพุทธเจ้า จนทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา บางคนมีความรู้สึกว่าทำไมคนแต่ก่อนสำเร็จกันง่ายเหลือเกิน ถ้าศึกษารายละเอียดแล้วจะพบว่าไม่มีคำว่าง่ายเลย เพราะนอกจากจะอาศัยวาสนาบารมีของคนเหล่านั้นเป็นฐานอย่างสำคัญแล้ว การแสดงธรรมของพระองค์นั้น เป็นระบบการทำงานที่มีการศึกษาข้อมูล การประเมินผล การสรุปผลในการแสดงธรรมทุกคราว

     หลังจากที่บุคคลนั้น ๆ ปรากฏในข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าคือทรงรู้ว่าเขาเป็นใคร ? มีอุปนิสัยบารมีอย่างไร ? แสดงธรรมอะไรจึงได้ผล ? หลังจากแสดงธรรมแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ? ดังนั้นการแสดงธรรมทุกครั้งของพระพุทธองค์ จึงบังเกิดผล เป็นอัศจรรย์เพราะจะทรงแสดงเฉพาะแก่ผู้เป็นพุทธเวไนย คือสามารถแนะนำให้รู้ได้เป็นหลัก

     พุทธจริยาประการที่สอง ญาตัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ 
เช่นการทรงมีพระพุทธานุญาตพิเศษ ให้พรญาติของพระองค์ ที่เป็นเดียรถีย์ (นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา) มาก่อน ให้เข้าบวชในพรุพุทธศาสนาได้ โดยไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาสก่อน (ติตถิยปริวาส คือ วิธีอยู่กรรมสำหรับเดียรถีย์ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องประพฤติปริวาส (การอยู่ชดใช้หรืออยู่กรรม) ก่อน ๔ เดือน หรือจนกว่าพระสงฆ์พอใจจึงจะอุปสมาบทได้) หรือการที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแนะนำให้พระญาติซึ่งกำลังจะทำสงครามกันได้เข้าใจในเหตุผล สามารถปรองดองกันได้

     พุทธจริยาประการที่ ๓ พุทธัตถจริยา ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า 
เช่น ทรงวางสิกขาบทเป็นพุทธอาณา สำหรับควบคุมความประพฤติของผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ทรงแนะนำให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตน ทรงวางพระองค์ต่อผู้ที่เข้ามาบวชและแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา ในฐานะของบิดากับบุตร ผู้ปกครองกัลยาณมิตร ศาสดาผู้เอ็นดูเป็นต้น ตามสมควรแก่บุคคลและโอกาสนั้น ๆ จนสามารถประดิษฐานเป็นรูปสถาบันศาสนาสืบต่อกันมาได้
รวบรวมโดย ชัยวัฒน์ ทองพริก  อ้างอิงข้อมูลจาก ธรรมะไทย

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การบวชคืออะไร ประวัติความเป็นมาของคำว่า "นาค" หรือ บวชนาค และ การเตรียมตัวก่อนบวช


การบวชคืออะไร
  เพลง บวชพระ แหละดี ไวพจน์
1.เป็นการค้นหาอะไร ที่มันดีกว่าอยู่บ้านเรือน
2.ให้เป็นการทดลองอยู่อย่างไม่มีทรัพย์สมบัติ อยู่อย่างต่ำต้อย พระเณรรูปไหนที่จะบวชเพียงเดือนเดียว ก็ขอขอให้ถือเป็นโอกาสทดลองว่า จะมีชีวิตอยู่อย่างต่ำต้อย ไม่ต้องมีสมบัติเลย
3.ทดลองการบังคับตัว บังคับจิต บังคับความรู้สึก บังคับ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ
4.ทดลองสละทรัพย์สมบัติ ของรัก ของพอใจ ทดลองไปทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรทดลอง
5.ประโยชน์ต่อตัวผู้บวช ได้เรียนรู้ธรรมะ ได้ปฏิบัติจริงได้ผลจริงๆ และได้รับสิ่งใหม่ที่ดีที่สุด คือเรื่องของพระธรรม ที่ทำให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์
6.ประโยชน์ต่อญาติผู้บวช ญาติพี่น้องทั้งบิดามารดา จะได้ใกล้ชิดพระศาสนามีความปิติยินดีในธรรมและศาสนามากขึ้น เรียกว่า เป็นญาติทางศาสนานั้นเอง ประโยชน์ทั้งหลายต่อสัตว์ทั้งหลาย ที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร และทั้งประโยชน์ต่อพระศาสนาเนื่องจากผู้บวช จะเป็นผู้เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่บุคคลทั่วไป และยั่งเป็นผู้สืบอายุพระศาสนาไว้ ให้คงอยู่คู่ลูกหลานคนไทยสืบไป

ในเมื่อบวชได้เพียงหนึ่งเดือน มันก็จะเป็นการบวชที่มีอานิสงค์มหาศาล อย่างที่ท่านอาจารย์แต่กาลก่อนท่านพูดไว้เป็นอุปมา เพื่อการคำนวณเพราะว่าไม่อาจจะพูดเป็นอย่างอื่น คือท่านพูดว่า ให้เอาฟ้าทั้งหมดนี้เป็นเหมือนแผ่นกระดาษ แล้วภูเขาพระสุเมรุเป็นเหมือนปากกาหรือพู่กัน ให้เอาแผ่นดินเป็นเหมือนกับหมึก เอาน้ำในมหาสมุทรเป็นน้ำละลายหมึก แล้วเขียนกันให้เป็นท้องฟ้า มันก็ไม่หมดอานิสงค์ของการ บวช ท่านไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ก็เลยพูดไว้เป็นอุปมาอย่างนั้น ว่าการบวช ถ้าบวชกันจริงมันมีอานิสงค์มากกว่านั้น



ประวัติความเป็นมาของคำว่า "นาค"
      ชายเมื่อมีอายุครบ20ปีบริบูรณ์ จะสามารถอุปสมบท หรือบวช เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาธรรมวินัยนำมาเป็นหลักในการประพฤติปฎิบัติต่อไปในการออกมาครองเรือนในภายภาคหน้าได้ สำหรับก่อนการบวชเรียนจะมีการไปอยู่วัดเพื่อเตรียมฝึกหัดในการท่องคำขานนาค และฝึกหัดซ้อมเกี่ยวกับวิธีบวช ในช่วงที่มาอยู่วัดนี้ ชาวบ้านจะเรียกผู้เตรียมตัวจะบวชว่า "นาค" หรือ " "พ่อนาค" "
อาจมีหลายๆคนสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกผู้จะบวชว่านาค ทำไมไม่เรียกชื่ออื่น ประวัติความเป็นมาของคำว่า ""นาค" อาจทำให้หลายๆคนหายข้องใจได้ ซึ่งประวัติของคำว่า "นาค" มีดังนี้
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ มีพญานาคผู้หนึ่งได้แปลงร่างเป็นมนุษย์เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ อยู่มาวันหนึ่งได้เผลอนอนหลับ ร่างจึงกลับกลายเป็นพญานาคดั่งเดิม ภิกษุอื่นไปพบเข้าก็เกิดความเกรงกลัว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเรียกมาตรัสถาม ได้ความว่าเพราะเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงปลอมตัวมาบวช พระพุทะองค์ทรงดำริว่าสัตว์ดิรัจฉานไม่อยู่ในฐานะควรจะบวชจึงโปรดให้ลงเพศบรรพชิตกลับไปเป็นาคดั่งเดิม แต่ภิกษุนั้นมีความอาลัย จึงขอฝากชื่อนาคไว้ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีคำเรียกขานคนที่ต้องการจะบวชว่า "นาค" สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน


การเตรียมตัวก่อนบวช



        ผู้จะบวชเรียกว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาค ซึ่งต้องท่องคำบาลีหรือที่เรียกกันว่าขานนาคให้คล่องเพื่อใช้ในพิธี โดยต้องฝึกซ้อมกับพระอาจารย์ให้คล่องก่อนทำพิธีบวชเพื่อจะได้ไม่เคอะเขิน
นอกจากนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องคิด ต้องเตรียมตัว และทำเมื่อคิดจะบวชดังต่อไปนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะต้องทำทั้งหมดเพราะว่าทั้งนี้ให้คำนึงถึงความเหมาะสม และกำลังทรัพย์ด้วย ขั้นตอนบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีก็ได้


เครื่องอัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆ ที่ควรมีหรือจำเป็นต้องใช้ได้แก่
๑.ไตรครอง ได้แก่ สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑
๒.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา ถลกบาตร สายโยค ถุง ตะเคียว
๓.มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีดโกน
๔.เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
๕.เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)
๖.เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
๗.จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ ๒ ผืน (อาศัย)
๘.ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
๙.โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก
๑๐.สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
๑๑.ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
๑๒.กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
๑๓.ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
๑๔.สันถัต (อาสนะ)
๑๕.หีบไม้หรือกระเป๋าหนังสำหรับเก็บไตรครอง

ข้อที่ ๑-๕ เรียกว่าอัฏฐบริขารซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ มีความหมายว่า บริขาร ๘ แบ่งเป็นผ้า ๕ อย่างคือ สบง ๑ ประคตเอว ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑ และเหล็ก ๓ อย่างคือ บาตร ๑ มีดโกน ๑ เข็มเย็บผ้า ๑ นอกจากนั้นก็แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละแห่งและกำลังทรัพย์



ของที่ต้องเตรียมใช้ในพิธีคือ
๑.ไตรแบ่ง ได้แก่ สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑
๒.จีวร สบง อังสะ (อาศัยหรือสำรอง) และผ้าอาบ ๒ ผืน
๓.ย่าม ผ้าเช็ดหน้า นาฬิกา
๔.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา
๕.รองเท้า ร่ม
๖.ที่นอน เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง (อาจอาศัยของวัดก็ได้)
๗.จานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต กระโถน
๘.ขันน้ำ สบู่ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
๙.ธูป เทียน ดอกไม้ (ใช้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย)
๑๐.ธูป เทียน ดอกไม้ *(อาจใช้แบบเทียนแพรที่มีกรวยดอกไม้ก็ได้ เอาไว้ถวายพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวช)
*อาจจะเตรียมเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์และพระในพิธีนั้นอีกรูปละหนึ่งชุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และศรัทธา


คำขอขมาบิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช

"กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่ข้าพเจ้าได้เคยประมาทล่วงเกินท่านต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ทั้งตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดี ขอให้ท่านจงอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนตราบเท่านิพพานเทอญ"


การบวชนาคและแห่นาค
การจัดกระบวนแห่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ คือ

* หัวโต หรือห้วสิงโต (มีหรือไม่ก็ได้)
* แตร หรือ เถิดเทิง (มีหรือไม่ก็ได้)
* ของถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด
* ไตรครอง ซึ่งมักจะอุ้มโดยมารดาหรือบุพการีของผู้บวช (มีสัปทนกั้น)
* ดอกบัว ๓ ดอก ธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม ให้ผู้บวชพนมมือถือไว้ (มีสัปทนกั้น)
* บาตร และตาลปัตร จะถือและสะพายโดยบิดาของผู้บวช
* ของถวายพระอันดับ
* บริขารและเครื่องใช้อย่างอื่นของผู้บวช
เมื่อ จัดขบวนเรียบร้อยแล้วก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่พระอุโบสถ เวียนขวารอบนอกขันธสีมา จนครบ ๓ รอบ ก่อนจะเข้าโบสถ์ก็ต้องวันทาเสมาหน้าพระอุโบสถเสียก่อนว่า วันทามิ อาราเม พัทธะเสมายัง โพธิรุกขัง เจติยัง สัพพะ เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต
เมื่อ เสร็จแล้วก็โปรยทานก่อนเข้าสู่พระอุโบสถโดยให้บิดามารดาจูงติดกันไป อาจจะอุ้มข้ามธรณีประตูไปเลยก็ได้ เสร็จแล้วผู้บวชก็ไปกราบพระประธานด้านข้างพระหัตถ์ขวาขององค์พระ รับไตรครองจากมารดาบิดา จากนั้นจึงเริ่มพิธีการบวช


ภาพประกอบโดย ชัยวัฒน์ ทองพริก

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น