จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สาระนิทานสอนใจ เซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง อย่างนั้นหรือ

นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่อง อย่างนั้นหรือ
วงล้อแห่งเซ็น

 


นิทานที่ สาม ชื่อเรื่อง "Is that so?" ท่านลองแปลเอาเองว่า อย่างไรมัน ก็คล้ายๆ กับว่า "อย่างนั้นหรือ?" นิทานที่สามนี้ เล่าว่า ณ สำนักเซ็น ของอาจารย์ เฮ็กกูอิน ซึ่งเป็นวัดที่เลื่องลือมาก เป็นเหมือนกับว่า เป็นที่พึ่งของหมู่บ้าน ที่ร้านชำใกล้ๆ วัดนั้น มีหญิงสาวสวย คนหนึ่ง เป็นลูกเจ้าของร้าน ทีนี้ โดยกะทันหัน ปรากฏว่า มีครรภ์ขึ้นมา พ่อแม่เขา พยายาม ขยั้นขยอ ถาม ลูกสาวก็ไม่บอก แต่เมื่อ ถูกบีบคั้น หนักเข้า ก็ระบุชื่อ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน เมื่อหญิงสาวคนนั้น ระบุ อาจารย์เฮ็กกูอิน เป็นบิดาของเด็ก ที่อยู่ในครรภ์ พ่อแม่โกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ ไปที่วัด แล้วก็ไปด่า ท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ด้วยสำนวนโวหาร ของคนที่โกรธที่สุด ที่จะด่าได้อย่างไร ท่านอาจารย์ไม่มีอะไรจะพูด นอกจากว่า "Is that so?" คือ ว่า "อย่างนั้นหรือ" สองคนด่าจนเหนื่อย ไม่มีเสียงจะด่า ไม่มีแรงจะด่า ก็กลับไปบ้านเอง ทีนี้ พวกชาวบ้าน ที่เคยเคารพนับถือ ก็พากันไปด่า ว่าเสียที ที่เคยนับถือ อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด นอกจากว่า "Is that so?" พวกเด็กๆ ก็ยังพากันไปด่าว่า พระบ้า พระอะไร สุดแท้แต่ ที่จะด่าได้ ตามภาษาเด็ก ท่านก็ว่า "Is that so?" ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
ต่อมา เด็กคลอดออกมาจากครรภ์ บิดามารดาที่เป็นตายาย ของเด็ก ก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ในฐานะเป็นการประชด หรือ อะไรก็สุดแท้ ว่า "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้" ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ก็มีแต่ "Is that so?" ตามเคย ท่านรับเด็กไว้ และต้องหานม หาอาหาร ของเด็กอ่อนนั้น จากบุคคลบางคน ที่ยังเห็นอก เห็นใจ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน อยู่ พอเลี้ยงเด็กนั้น ให้รอดชีวิต เติบโตอยู่ได้ ทีนี้ ต่อมานานเข้า หญิงคนที่เป็นมารดา ของเด็ก เหลือที่จะทนได้ มันเหมือนกับไฟนรก เข้าไปสุมอยู่ในใจ เพราะเขาไม่ได้พูดความจริง ฉะนั้น วันหนึ่ง เขาจึงไปสารภาพ บอกกับบิดามารดาของเขาว่า บิดาที่แท้จริง ของเด็กนั้น คือ เจ้าหนุ่มร้านขายปลา ทีนี้ บิดามารดา ตายายคู่นั้น ก็มีจิตใจ เหมือนกับ นรกเผาอยู่ข้างใน อีกครั้งหนึ่ง รีบวิ่งไปที่วัด ไปขอโทษ ขอโพย ต่ออาจารย์เฮ็กกูอิน ขอแล้ว ขอเล่าๆ เท่าที่จะรู้สึกว่า เขามีความผิด มากอย่างไร ก็ขอกัน มากมาย อย่างนั้น ท่านก็ไม่มีอะไร นอกจาก Is that so? แล้วก็ขอ หลานคนนั้น คืนไป ต่อมา พวกชาวบ้าน ที่เคยไปด่า ท่านอาจารย์ ก็แห่กันไป ขอโทษอีก เพราะความจริง ปรากฏขึ้น เช่นนี้ ขอกันใหญ่ ไม่รู้กี่สิบคน ขอกันนานเท่าไร ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูด นอกจาก Is that  so? อีกนั่นเอง เรื่องของเขาก็จบเท่านี้
นิทานเรื่องนี้ จะสอนว่าอย่างไร เราถือว่า นิทานชุดนี้ ก็เหมือนกับ นิทานอิสป ในทางวิญญาณ ในทาง Spiritual point of view นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร นั้นหรือ มันก็เหมือนกับ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "นตฺถิ โลเก รโห นาม" และ "นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต" "การไม่ถูนินทา ไม่มีในโลก" หรืออะไรทำนองนี้ แต่ท่านทั้งหลาย ลองเปรียบเทียบ ดูทีหรือว่า ถ้าพวกครูบาอาจารย์ ของเราทั้งหลาย เป็นผู้ถูกกระทำ อย่างท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ท่านจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม คือจะ Is that so? คำเดียว อยู่ได้ไหม ถ้าได้ เรื่องนี้ ก็คงจะไม่เป็น อย่างที่กำลังเป็นอยู่ คือ คงจะไม่ถูกฟ้องว่า ตีเด็กเกินควร หรือ อะไรทำนองนั้น ต้องไปถึงศาลก็มี อาตมาเคยเห็น ครูที่บ้านนอก ต้องไปพูด กันถึงโรงถึงศาลก็มี เพราะตีเด็กเกินควร เป็นต้น นี่คือ มันหวั่นไหว ต่ออารมณ์มากเกินไป จนกระทั่ง เด็กเล็กๆ ก็ทำให้โกรธได้ ที่เรื่องนิดเดียว ก็ยังโกรธได้นี่ เพราะว่า ไม่ยึดถือความจริง เป็นหลักอยู่ในใจ มันจึงไหวไปตามอารมณ์ โกรธมาก กลัวมาก เกลียดมาก ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น ทำไมไม่คิดว่า มันไม่ใช่ เรื่องราวอะไรมากมาย มันไม่ใช่ เป็นไปตามเสียงส่วนมาก ที่ยืนยันว่า อันนั้น ต้องเป็นอันนั้นจริง ความจริง มันต้องเป็นความจริง ถ้าจะมีอุเบกขา ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้ ไม่ใช่ อุเบกขาผิดอย่างอื่น ฉะนั้น เราควรจะฟังของเขาไว้


วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การบวชพระที่ต้องรู้ การบรรพชาและอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

การบรรพชาและอุปสมบทในพระพุทธศาสนา


 การบวชนับเป็นธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา มีจุดมุ่งหมายที่จะให้บุตรของตนได้เป็นศาสนทายาทสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป และอีกประการหนึ่งเป็นจุดประสงค์ของผู้เป็นบิดามารดาที่ต้องการให้บุตรของตนได้ศึกษาเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้นำเอาหลักคำสอนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในการที่จะอยู่ครองเรือนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในภายหน้า
การบวชจะมี ๒ ลักษณะ ได้แก่ การบวชเป็นสามเณร เรียกว่า "บรรพชา" และการเป็นเป็นพระภิกษุ เรียกว่า "อุปสมบท"

การบรรพชา หมายถึง การบวชเป็นสามเณร ซึ่งเป็นการเว้นจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เคยกระทำในชีวิตฆราวาส หันมาใช้ชีวิตแบบสันโดษ สงบ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสอันเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต การบรรพชา เป็นกิจเบื้องต้นของการอุปสมบท

ผู้ที่จะบรรพชาได้ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

๑. ต้องรู้เดียงสา คือมีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป
๒. ไม่เป็นโรคติดต่อ หรือโรคร้ายแรงเช่น โรคเรื้อน โรคฝีดาษ โรคกลาก โรคมงคร่อ หอบหืด ลมบ้าหมูและโรคที่สังคมรังเกียจอื่น ๆ
๓. ไม่เป็นผู้มีอวัยวะบกพร่อง หรือพิการ เช่น มือด้วน แขนด้วน ขาเป๋ ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ เป็นง่อย
๔. ไม่เป็นคนมีอวัยวะไม่สมประกอบ เช่น เตี้ยเกินไป สูงเกินไป คนคอพอก
๕. ไม่เป็นคนทุรพล เช่น แก่เกินไป ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
๖. ไม่เป็นคนมีพันธะ คือ คนที่บิดามารดาไม่อนุญาต คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ข้าราชการที่ไม่ได้รับอนุญาต
๗. ไม่เป็นคนเคยถูกลงอาญาหลวง เช่น คนถูกสักหมายโทษ คนถูกเฆี่ยนหลังลาย
๘. ไม่เป็นคนประทุษร้ายความสงบ เช่น เป็นโจรผู้ร้ายต้องอาญาแผ่นดิน
ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร

สามเณร การบวชเรียกว่า บรรพชา มีศีล ๑๐ ข้อ

สามเณร แปลว่า ผู้เป็นเชื้อสายแห่งสมณะ เมื่อเป็นสามเณรแล้ว ต้องถือศีล ๑๐ ข้อ ดังนี้

๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ ทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน
๒. เว้นจากการลักทรัพย์ ฉ้อ โกง ตู่ หรือหยิบฉวยเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้อนุญาต
๓. เว้นจากเพศสัมพันธ์ หรือการเสพเมถุน
๔. เว้นจากการพูดเท็จ
๕. เว้นจากการเสพสุราเมรัย เครื่องดองของเมา
๖. เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่
๗. เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี หรือดูการละเล่นต่าง ๆ
๘. เว้นจากการทัดทรง หรือประดับกายด้วยดอกไม้ ลูบไล้ด้วยของหอม
๙. เว้นจากการนอนบนที่นอนที่สูงหรือใหญ่ ข้างในยัดด้วยนุ่นหรือสำลีอันมีลายวิจิตร
๑๐.เว้นจากการรับเงินและทอง นอกจากนี้ ยังมีต้อง ปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณา จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คลานเภสัช ตลอดถึงวัตรที่ควรศึกษา อันเกี่ยวด้วยมารยาท คือ เสขิยวัตร อีก ๗๕ ข้อด้วย

การอุปสมบทหรือการบวชเป็นพระภิกษุที่ใช้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันมี 3 วิธีคือ

1. เอหิภิกขุอุปสัมปทา หมายถึง การบวชด้วยพระวาจาของพระพุทธเจ้าว่า จงเป็นภิกษุมาเกิด เป็นวิธีการอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้โดยตรงการอุปสมบทแบบนี้มีเฉพาะในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่

2. ติสรณคมนูปสัมปทา หมายถึง การบวชด้วยการถึงซึ่งที่พึ่งที่ระลึก 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชให้แก่ผู้ต้องการบวช โดยให้ผู้นั้นปลงผมและหนวดเครา ห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วกราบพระภิกษุผู้ที่จะบวชให้พระภิกษุนั้นกล่าวนำถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้ผู้ต้องการบวชกล่าวตาม เท่ากับเป็นคำปฏิญาณตนเข้านับถือพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวคำถึงพระรัตนตรัยจบแล้วเป็นอันสำเร็จเป็นภิกษุ การอุปสมบทแบบนี้ใช้ควบคู่มากับเอหิภิกขุอุปสัมปทา

3. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา หมายถึง การบวชด้วยคำประกาศย้ำ 3 ครั้ง รวมทั้งคำประกาศนำเป็นครั้งที่ 4 เป็นวิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์บวชให้แก่กุลบุตร โดยให้ผู้นั้นบวชเป็นสามเณรชั้นหนึ่งก่อน แล้วให้ขออุปสมบท จากนั้นพระกรรมวาจาจารย์สวนประกาศน้ำครั้งที่ 1 ว่าสงฆ์จะรับผู้นั้นเป็นภิกษุหรือไม่ เมื่อสงฆ์ยังนิ่งอยู่ก็สวดประกาศย้ำอีก 3 ครั้ง ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็เป็นอันสำเร็จเป็นพระภิกษุ วิธีอุปสมบทแบบนี้ใช้มาตั้งแต่พุทธกาล ตอนกลางมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อทรงอนุญาตญัตติจะตุตถกัมมอุปสัมปทาแล้ว ก็ทรงเลิกเอหิภิกขุอุปสัมปทา และติสรณคมนูปสัมปทาเสีย


ประโยชน์ของการบรรพชาและอุปสมบท


1. เป็นการทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน หมายความว่า พุทธศาสนิกชนจะช่วยรักษาพระพุทธศาสนาโดยรักษาพระธรรมวินัยให้
เจริญมั่นคง เพราะว่าพระพุทธศาสนาก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่ ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีงาม และสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาพระพุทธศาสนา ก็คือ การบวชเข้าไปเรียนรู้พระธรรมวินัย และรักษาถ่ายทอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่อกันไป เรียกว่า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

2. เป็นการทำหน้าที่ของคนไทย หมายความว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในสังคมไทย และได้กลายเป็นมรดกของชนชาติไทย คนไทยได้เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าสูงสุดของประเทศชาติและสังคมของเราเพราะว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแล้ว ก็ให้หลักธรรมคำสอน ทำให้คนประพฤติดีงามเป็นหลักให้แก่สังคม ทำให้สังคมอยู่กันได้ด้วยสันติสุข มีการเบียดเบียนกันน้อยลง ถ้ามีคนดีมากกว่าคนชั่วสังคมนี้ก็อยู่ได้ พระพุทธศาสนาได้ช่วยให้คนมากมายกลายเป็นคนดีขึ้นมา นอกจากนั้นพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ตั้งแต่ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การศึกษา ดนตรีและศิลปะต่าง ๆ ก็มาจากวัดวาอาราม เป็นต้น

3. เป็นการสนองพระคุณบิดามารดา ดังที่ถือกันเป็นประเพณีว่า ถ้าใครได้บวชลูกแล้ว ก็ได้บุญกุศลมาก ช่วยให้พ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสวรรค์ ตลอดจนได้เป็นญาติของพระศาสนา แต่ถ้ามองความหมายให้ลึกซึ้งลงไปก็เป็นเรื่องความเป็นจริงของชีวิตจิตใจ กล่าวคือ การบวชเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจของพ่อแม่มีความสุข มีความปลาบปลื้มใจ ด้วยความหวังว่าเมื่อลูกได้เข้าไปอยู่ในวัด ได้ศึกษาอบรมในพระธรรมวินัยแล้ว ต่อไปก็จะเป็นคนดี จะรับผิดชอบชีวิตของตนเองได้ จะรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมได้ แล้วเกิดความมั่นใจ พ่อแม่ก็จะมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อลูกบวช ก็เท่ากับจูงพ่อแม่เข้ามาสู่พระศาสนาด้วย มีโอกาสได้ฟังธรรม ได้เรียนรู้ธรรมะ ทำให้ได้ใกล้ชิดพระศาสนา เรียกว่าเป็นญาติของพระศาสนาอย่างแท้จริง

4. เป็นการฝึกอบรมพัฒนาตนเอง คือการพัฒนาชีวิตทั้งในด้านความประพฤติ คือพฤติกรรมทางกาย วาจา และด้านจิตใจที่มี
ความดีงาม เข้มแข็ง มั่นคง เป็นสุข และในด้านปัญญาคือความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตรงตามความเป็นจริง

                    ขอใครที่คิดที่จะบวชจงมีความเข้าใจและตั้งปณิธานอันดี ในการที่จะศึกษาพระธรรมและเปลี่ยนชีวิตให้ไปในทิศทางที่รู้และเข้าใจชีวิตที่แท้จริงเถิด  พระพุทธศาสนาส่วนนี้ฝากไว้กับพวกคุณที่เข้าใจจุดประสงศ์ของการบวชและดำเนินสู่ทิศทางนั้น   อุตฺตมสาโร

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่อง เล่าสอนใจ เรื่องกรรมทรมาณมดแดง

ทรมานมดแดง
แม้ชีวิตน้อยเล็กๆแต่เขาก็เจ็บเป็น
ถ้ามีใครที่ใหญ่กว่าเรามีอำนาจกว่าเราถ้าเขาทำร้ายเรา
เราก็เจ็บเหมือนกัน
มองสิ่งต่างๆของสัตว์โลกให้ละเอียด เราก็จะรู้ว่า เพื่อน เกิด แก่ เจ็บตาย

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับ อาจารย์กมลภา พยัคฆนันท์ ข้าราชการบำนาญ ภริยาอดีตเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐาน มองด้วยตาเปล่าก็จะทราบว่า เธอเป็นคนป่วย และมีอาการป่วยไม่น้อย อาการของเธอก็ดูน่าประหลาด เพราะบางครั้งจะมีอา การร่างกายข้างใดข้างหนึ่งทรุดเอียง ฮวบฮาบลงไปกองกับพื้นโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน และหากเธอฝืนร่างกายไม่ทัน ก็จะล้มลุกคลุกคลานต่อหน้าต่อตาคนมากๆ เป็นที่อับอาย และได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง เธอได้พยายามหาหนทางรักษาโดยใช้เวลานานกว่า 20 ปี ไปรักษากับหมอทุกประเภททั้งหมอจีน หมอไทย หมอฝรั่ง ใครบอกใครเล่าว่ามีหมอดีที่ไหน ราคาแพงแสนแพงเท่าใด เธอก็บุกบั่นตะเกียกตะกายไป จนสิ้นเงินสิ้นทองเป็นจำนวนมาก แต่อาการก็เพียงแค่ทุเลาเบาบางลงไปบ้างเท่านั้น สุดท้ายก็กลับมาเป็นอีก


เธอจึงหันกลับมารักษาด้วยการใช้ธรรมโอสถแทน นั่นก็คือการทำบุญสร้างกุศลทุกอย่าง ใครมาบอกบุญสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างสาธารณกุศลต่างๆ เธอจะบริจาคเงินร่วมบุญด้วย แม้กระทั่งงานสังคมสงเคราะห์ต่างๆ เลี้ยงเด็กกำพร้า งานกาชาด เธอก็จะไปร่วมทำงานด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ เหน็ดเหนื่อยเท่าไรไม่เคยท้อ รวมทั้งได้เข้าร่วมทำงานการกุศลทุ่มเทแรงกายและแรงทุนทรัพย์ที่สถาบันแม่ชี ไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง โดยมุ่งหวังว่าอาการป่วยของเธอ (ซึ่งหมอทั้งหลายก็ยังวินิจฉัยโรคไม่ถูกว่าป่วยเป็นโรคอะไร) จะหายเป็นปกติ เพราะทุกข์ทรมานเหลือเกิน


แต่อาการของเธอก็ยังไม่ดีขึ้น จนกระทั่งเมื่อ 10 ปีที่ แล้ว มีเพื่อนๆ ครูด้วยกันมาชวนให้เธอเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เธอจึงเข้าปฏิบัติ พอปฏิบัติเพิ่มขึ้นหลายครั้งอย่างตั้งอกตั้งใจและเคร่งครัด เธอ ก็ก้าวหน้าในทางธรรมปฏิบัติเพิ่มขึ้นๆ จนเกิดนิมิตขณะเข้าสมาธิ เห็นภาพมดแดงจำนวนมากนับร้อยนับพันตัวพากันเดินเป็นแถวยาวเหยียดอย่างมี ระเบียบ และต่อมาบรรดามดแดงเหล่านั้นก็พิกลพิการ ชิ้นส่วนในตัวมดแดงถูกแยกส่วนออกมาทีละส่วนๆ กองรวมกัน ชิ้นส่วนของมดแดงเหล่านั้นยังกระดุกกระดิกสั่นริกๆ แสดงถึงความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส


เมื่อเห็นภาพเช่นนั้น เธอก็นึกถึงเรื่องราวต่างๆ สมัยเป็นเด็กๆ ขึ้นมาได้ว่า บิดาของเธอเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด จึงมีฐานะดีย้ายไปรับราชการยังจังหวัดต่างๆ อยู่เนืองๆ เธอเป็นลูกสาวที่คุณพ่อคุณแม่รักมากกว่าลูกๆ ทุกคน และมีพี่เลี้ยงประจำตัวคอยดูแลประคบประหงมคนหนึ่ง เธอก็เหมือนเด็กในวัยเดียวกันอีกหลายคน นั่นคือเป็นเด็กฉลาด ช่างซักช่างถาม ถามเสียจนคนถูกถามรำคาญ ช่างสังเกต ช่างสงสัย และจะต้องพยายามเสาะหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเองให้หายสงสัยจนได้ โดยไม่ยอมเชื่อตามคำห้ามของพี่เลี้ยงหรือของผู้ใหญ่ ว่าจะเกิดอันตรายหากไปจับต้องสิ่งที่เป็นอันตรายนั้นๆ เช่นถูกห้ามว่าอย่าเล่นไฟ เพราะไฟจะไหม้มือเป็นอันตราย เธอจึงต้องพยายามพิสูจน์ด้วยตนเองให้ได้ว่าอันตรายอย่างไร ด้วยการไปจับไฟ พอไฟลวกปวดแสบปวดร้อน เธอจะไม่ร้องไห้เพราะทำตัวเอง และก็เข็ดไปอีกนาน


มีอยู่วันหนึ่งขณะที่เธอนั่งเล่นอยู่ใต้ต้นไม้ในสวนคนเดียว ทันใดก็เห็นมดแดงจำนวนมากพากันเดินตาม หัวหน้าเป็นแถวยาวเหยียดเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีตัวใดตัวหนึ่งแตกแถวเลย เธอก็สงสัยว่าเพราะอะไรมดจึงต้องเดินตามหัวหน้าอย่างเคร่งครัด หัวหน้าพาเลี้ยวซ้ายก็เลี้ยวซ้ายตาม พาเลี้ยวขวาก็เลี้ยวตาม พาหยุดก็หยุดตาม เธอจึงจับตัวหัวหน้าขึ้นมาพินิจพิจารณาหาเหตุผลว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำให้บรรดามดทั้งหลายต่างพากันแตกแถว วิ่งพล่านไม่เป็นกระบวน ไม่เป็นระเบียบ เธอเกิดความสงสัยต่อมาทันทีว่าเจ้ามดแดงที่จับอยู่นั้น หากไม่มีขาหลังข้างซ้ายจะเดินอย่างไร เมื่อคิดดังนี้เธอจึงเด็ดขาหลังข้างซ้ายมดแดง แล้วปล่อยลงวางบนพื้นดิน มดแดงก็เดินเอียงข้างซ้ายตัวลากไปกับพื้นด้วยความเจ็บปวด แล้วเธอก็สงสัยต่อไปว่าถ้าเด็ดสองขาหลังจะเดินอย่างไร คิดแล้วจึงเด็ดสองขาหลังทิ้ง ทำให้มดแดงต้องเดินลากส่วนกลางลำตัว และส่วนหัวแถไปกับพื้นด้วยความยากลำบากและทุกข์ทรมาน


ถึงขั้นนี้แล้วเธอก็ยังไม่สิ้นสงสัย จับมดแดงตัวอื่นๆ มาเด็ดสลับร่างกายส่วนต่างๆ โดยเด็ดลำตัว ส่วนขาหลังขาหน้า แล้ววางลงกับพื้นให้มดแดงเดินไถไปตามพื้นดินให้ดูบ้าง เด็ดส่วนคอบ้าง เด็ดครึ่งตัวส่วนหัวทิ้งไปบ้าง เด็ดขาทั้งสองด้านช่วงขาหน้าและขาหลังทิ้งไปบ้าง มดแดงถูกเด็ดในแต่ละวันนับร้อยๆ ตัว จนรังมดแดงที่ต้นไม้ต้นนั้นไม่เหลือมดแดงให้เด็ดต่อ เธอจึงสั่งให้พี่เลี้ยงปีนต้นไม้ต้นถัดไปเก็บรังมดแดงมาทั้งรัง แล้วนั่งเด็ดต่อด้วยความเพลิดเพลิน เธอใช้เวลานั่งเด็ดตัว มดแดงอยู่หลายวัน จนกระทั่งเกิดความเบื่อจึงเลิกเด็ดไปเอง แล้วก็ลืมเรื่องนี้เสียสนิท จนกระทั่งมาป่วยด้วยโรคที่หาสาเหตุไม่พบ และเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนพบว่าน่าจะมาจากสาเหตุนี้


ปัจจุบันเธอจึงรักษาอาการป่วยนี้ด้วยธรรมโอสถ สร้างบุญสร้างกุศล แผ่เมตตา ขออโหสิกรรมกับมดแดงทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวรทั้งที่เธอรู้ เธอจำได้ รวมทั้งที่จำไม่ได้ ไม่รู้ กระทั่งอาการป่วยของเธอทุเลาลงมากจนเกือบจะหายเป็นปกติ


กรรมนั้นหมายถึงการกระทำ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการกระทำที่ไม่ดี เป็นอกุศลกรรม จึงมีเจ้ากรรมนายเวรคอยติดตามทวงหนี้กรรม ให้ต้องชดใช้ตามโทษานุโทษ ตามมาตรฐานโทษที่ได้วางเอาไว้ จะซ่อนเร้นหลบหนีไม่ได้ เพราะนี่คือกฎแห่งกรรม และแม้จะสร้างกรรมดีไว้ แต่ก็ไม่สามารถลบล้างกฎแห่งกรรมนั้นๆ ได้ เป็นแต่เพียงบรรเทาเบาบางลงเท่านั้น

คัดลอกจาก...ผู้จัดการออนไลน์

ธรรมบรรยาย อ.พุทธทาส นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้

นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้

พุทุธทาส ภิกขุ ธรรมราชา แห่งโลกคืนแก่นศาสนา



เอ้า, ทีนี้ก็มาพูดถึง ที่ว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ กันดีกว่า: เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้ผมถูกด่า จนไม่รู้ว่าจะด่าอย่างไรแล้วว่าเอาพระนิพพาน มาทำให้สำเร็จประโยชน์ที่นี่และเดี๋ยวนี้. ในเมื่อ
เขาต้องการ ให้ตายแล้วเกิด, ตายแล้วเกิด, ตายแล้วเกิด, ร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ แล้วจึงจะนิพพาน. แล้วเรามาทำให้เป็นว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็มีนิพพาน เขาก็โกรธ ไม่รู้ว่ามันจะไปขัด
ประโยชน์ ของเขาหรืออย่างไร ก็ไม่ทราบ

เขาหาเรื่องว่า เรามาหลอกคนว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ หรือ ทำให้ นิพพานนี้ด้อยค่าลงไป เพราะทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เขาให้ถือว่าหมื่นชาติ แสนชาติ จึงจะได้; ถ้าอย่างนั้น ค่ามันก็มากซิ;
พอมาทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ กลายเป็นของง่ายไป เขาคัดค้าน ก็ด่า; ไม่เป็นไร, เราไม่ได้ต้องการแก่คนพวกนี้ เราต้องการให้คนทั่วไป ต่างหาก ได้รับประโยชน์จากนิพพาน

จิตถึงนิพพานได้ ต้องละอุปาทาน มันมีหลักอยู่ว่า เมื่อใดเกิดอุปาทาน เมื่อนั้นไม่นิพพาน คือ
จิตของเรา ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด คุณรู้ความหมายว่า จิตของเรา กำลังยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนในสิ่งใด เมื่อนั้นนิพพานไม่ได้; เมื่อใด จิตไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอยู่ เมื่อนั้นนิพพานเอง
เป็นนิพพาน ในทิฏฐิธรรมนี้ด้วย.

จะเล่าเรื่องก็คือว่า มีคนที่เป็นนักคิดนักศึกษา ที่เป็นฆราวาสทั้งนั้นไม่มีพระเลย เป็นพระอินทร์ก็มี เป็นอุบาสก เป็นคนร่ำรวยอะไรก็มี ก็มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมคนจึงไม่นิพพาน ในทิฎฐธรรม?
คือทำไม คนไม่บรรลุนิพพาน ในความรู้สึก ของตัวเอง ที่รู้สึกได้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้?

ทิฎฐิธรรมนั้น หมายความว่า รู้สึกอยู่กับใจของตัวเอง เขาถามว่า ทำไมคนจึงไม่บรรลุนิพพาน
ชนิดที่รู้สึกอยู่กับใจเอง ที่นี่และเดี๋ยวนี้?     ทิฎฺเฐว ธมฺเม - ในธรรมอันตนเห็นแล้วเทียว,
คือในความรู้สึกที่ตนกำลังรู้สึกอยู่เทียว; ไม่ใช่ต่อตายแล้ว, ตายแล้ว จะรู้สึกอย่างไรได้
ก็คือ ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

พระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสตอบว่า มันเป็นอย่างนั้น, คือ ท่านยกมาทั้งกระบิ ทั้งระบบ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง แล้วท่านก็ ตรัสทีละอย่าง

ท่านก็ต้องตรัสว่า เรื่องตานี่ เห็นรูปก่อน เป็นเรื่องแรก. รูปที่ตาเห็นนั้น เป็นอิฎฺฐา แปลว่าน่าปรารถนาอย่างยิ่งกนฺตา - ยั่วให้เกิดความรัก. กนฺตา เป็นภาษาไทย มาเป็น กานดา,
นางกานดา คือ นางสาวที่น่ารัก. กนฺตา - น่ารักอย่างยิ่ง, มนาปา - น่าพอใจอย่างยิ่ง. ปิยรูปา - มีลักษณะน่ารัก, กามูปสญฺหิตา - เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งกาม. รูปชนิดนั้นเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย
แห่งกาม คือ ความใคร่. รชนียา - ย้อมจิต.

รูปนั้น อิฎฺฐา, กนฺตา, มนาปา, ปิยรูปา, กามูปสญฺหิตา, รชนียา; หมายความว่า รูปนั้น น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ ลักษณะชวนรัก ก็เป็นที่เข้าไปตั้ง แห่งความใคร่ แล้วก็น้อมจิต จับจิตอย่างยิ่ง
รูปนั้นมีลักษณะอย่างนั้น

ทีนี้ บุคคลนั้นเห็นเข้าแล้ว; ถ้าเขาชอบใจอย่างยิ่ง อภินนฺทติ - ชอบอย่างยิ่ง, อภิวทติ - พร่ำสรรเสริญ อยู่อย่างยิ่ง. พร่ำสรรเสริญ; ก็คุณนึกดูว่า พอมันถูกอะไร อร่อยอะไรนี้ มันทำเสียงสูดปาก
อะไรบ้างนี้; อภิวทติ - พร่ำสรรเสริญ เหมือนกับคนบ้า เพราะสิ่งนั้นมันอร่อย มันสวย. แล้วก็ อชฺโฌสาย ติฎฺฐติ - ฝังจิตใจเข้าไปหมกอยู่ในสิ่งนั้น.

อย่าฟังแต่เสียงนะ คือ นึกถึงของจริง ที่มันสวยอย่างยิ่ง, แล้วมันก็เพลินอย่างยิ่ง, แล้วมันก็พร่ำแสดงทางปากนี่, ว่าพอใจอย่างยิ่ง, แล้วจิตมันก็ฝังลงไป ในสิ่งนั้นอย่างยิ่ง, คือ กายมันก็เป็นไป วาจา
มันก็เป็นไป จิตมันก็เป็นไปในทางที่จะเข้าไปหลงใหลในสิ่งนั้น. นี้เรียกว่า เขามันเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมก อยู่อย่างนี้นะ.

วิญญาณของเขา ก็เป็นวิญญาณ ที่กิเลสเหล่านั้น เข้าไปอาศัยแล้ว, กิเลส คือ ความรัก ความหลงใหล ความกำหนัด เข้าไปอาศัยอยู่ในจิตของเขา ในวิญญาณ ในจิตของเขา นี่ ความที่จิตมันถูกกิเลส
เข้าไปอาศัยนี้ ก็เรียกว่า อุปาทาน- ยึดมั่นถือมั่น ว่าสวย ว่าหญิง ว่าชาย, ว่าอะไรก็ตาม แล้วก็ของกู เพื่อตัวกู, เพื่อของกูนี้เรียกว่าอุปาทาน.

ความที่วิญญาณนั้น ถูกกิเลสเข้าไปอาศัยแล้ว กิเลสมันไปจับจิต
นั้นแล้ว ก็คือจิตมันฝังอยู่ในอารมณ์นั้น นี้เรียกว่า อุปาทาน
ผู้ที่มีอุปาทานไม่ปรินิพพานในความรู้สึกของตน คือ
ในทิฎฐธรรม ไม่นิพพาน.

เอ้า, ทีนี้ ก็ไปเปรียบเองเองในทางที่ตรงกันข้าม: เมื่อรูปที่มัน
น่าใคร่ น่ารักน่าพอใจ เป็นที่ตั้งแห่งกาม ย้อมจิตย้อมใจ มาถึง
เข้า. ทีนี้คนคนนั้นหรือภิกษุนั้นก็ตาม มีธรรมะพอมีสติปัญญาพอ
เขาก็เห็นว่า โอ๊ย! มันแค่นั้นแหละ, มันเท่านั้นแหละ,
มันปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ อย่างนั้นแหละ.

ถึงแม้ว่า น่ารักนี้ มันก็เป็นเรื่องที่เขาสมมติ รู้สึกอย่างนี้ ว่าน่ารัก
มันเห็นเป็นอย่างนั้นเอง. แล้วยังเห็นลึกไป โดยรายละเอียดอะไร
ก็ได้ ว่าไม่เที่ยง ว่าอนัตตา ว่าเป็นทุกข์: เมื่อคนๆนี้ เขามีความรู้พอ
เขาจะศึกษามาอย่างไร ก็ไม่ได้พูด โดยรายละเอียด แต่คนคนนี้
เขามีความรู้สึกพอ มีสติพอ มีปัญญาพอ เขาก็ไม่หลงเพลิดเพลิน
ไม่หลงพร่ำสรรเสริญ ด้วยปาก ใจของเขาก็ไม่ฝังลงไป.

เมื่อเป็นอย่างนี้ วิญญาณ หรือจิตของคนคนนั้น ก็ไม่ถูกกิเลสอาศัย,
กิเลสไม่เข้าไป อาศัยได้ในจิต นั้นคือไม่มีอุปาทาน. ผู้ที่ไม่มี
อุปาทาน ย่อมปรินิพพานในทิฎฐธรรม ในความรู้สึกของตนเอง
ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

มันสำคัญอยู่ที่คำว่า อุปาทาน; อย่าให้เป็นตัวภาษาหนังสือจดไว้
ในสมุด หรือหูฟังว่า อุปาทาน; ไม่พอ, ไปรู้จักอุปาทานที่เรา
มีอยู่จริง. ทุกๆคนมีอยู่จริง มีอุปาทาน ในรูป ที่เป็นที่ตั้งแห่งกาม,
ในเสียง ที่เป็นที่ตั้งแห่งกาม, ในกลิ่น ที่เป็นที่ตั้งแห่งกาม, ในรส
ที่เป็นที่ตั้งแห่งกาม, สัมผัสผิวหนังที่เป็นที่ตั้งแห่งกาม, ความรู้สึก
หรือสัญญาอะไร ที่มันเป็นที่ตั้งแห่งกาม ในใจนี้.

ส่วนใหญ่ ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสไว้ มันเป็นเรื่องเพศ
ตรงกันข้ามทั้งนั้นแหละ. ของเพศตรงกันข้ามทั้งนั้น : รูป เสียง
กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่เนื่องกันอยู่กับเพศตรงกันข้าม
นี้ จับจิตยิ่งกว่าสิ่งใด, เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานยิ่งกว่าสิ่งใด. ฝ่ายหญิง
ก็เป็นแก่ชาย ฝ่ายชายก็เป็นแก่หญิง. นั่นอุปาทาน มันมาจาก
๖ ประการนี้ ที่มันมีอำนาจรุนแรง

แล้วเราก็ไปดูของจริงซิ: อย่าดูตัวหนังสือ, ดูของของจริงนั้น,
ดูที่มันเกิดแก่ใจ ของเราจริงๆ เราก็จะรู้จัก อุปาทาน. เราก็
จะรู้จัก อุปาทาน, เราก็จะรู้จักว่า พอมีอุปาทานแล้ว จิตใจนี้ก็
เหมือนกับ ถูกอัดไว้ด้วยไฟ, บอกไม่ถูกดอก มันเหมือนกับว่า
ถูกทิ่ม ถูกแทง ถูกเผา ถูกลน ถูกมัด ถูกครอบงำ ถูกอะไรทุก
อย่าง; มีอุปาทาน ก็ไม่มีนิพพาน คือ ไม่ว่าง ไม่เย็น. ทีนี้ ถ้าจิต
ใจมันเป็นอิสระ มันไม่เป็นอย่างนั้นได้ มันก็ว่าง มันก็เย็น.

ต้องควบคุม รู้ทัน ผัสสะ และเวทนา เพื่อไม่เกิดอุปาทาน

นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้ เพราะเราสามารถควบคุมสิ่งที่มาสัมผัส
ด้วย ไม่ให้สร้างความเพลิดเพลินพร่ำสรรเสริญหรือเมาหมกขึ้นมา
ในใจ เราได้. มันมีเท่านี้ ถ้าคุณทำได้ เรื่องนิพพานนี้ ก็เป็นของจริง
ไม่ใช่ของพูดไว้ พูดเฉยๆ ไม่หลอกใคร. เราก็จะเป็นพุทธบริษัทจริง
เพราะเรารู้จักนิพพาน และเราทำให้มีนิพพาน เสวยรสของพระ
นิพพานได้.

ฉะนั้นก็ไปต่อสู้กับสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ;
เอาชนะได้ไม่มีการตกลงไปเป็นทาสของสิ่งนั้น ก็เรียกว่า
ไม่มีอุปาทานผูกพัน; เมื่อนั้นก็ นิพพาน คือว่างจากกิเลส,
แล้วก็เย็นอยู่ตามธรรมชาติของ จิตประภัสสร, 

นี่นิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้ มันเป็นอย่างนี้.

ถ้าจะเกี่ยงให้บำเพ็ญบารมี หมื่นชาติแสนชาติก็ได้ เพราะว่า
เกิดตัวกู ในอารมณ์ครั้งหนึ่ง เรียกว่าชาติหนึ่ง
เดือนหนึ่งอาจเกิดได้หลายร้อย
ปีหนึ่งอาจเกิดได้หลายพัน หลายหมื่น
ยี่สิบสามสิบปีก็เกิดได้หลายแสน

พอแล้ว, พอแล้ว อย่าให้มันมากกว่านั้นเลย
มันควรจะเข็ดหลาบแล้ว.
นี้ บำเพ็ญบารมีกัน หมื่นชาติแสนชาติ
ได้ก่อนแต่ที่จะเข้าโลง มันก็ไม่ค้านกันดอก.

หลักที่เขาว่า ให้บำเพ็ญบารมีหมื่นชาติแสนชาติเสียก่อน
จึงจะนิพพาน; ของเราปฏิบัติได้อย่างนี้,

แต่ของเขา มันจะเหลวคว้าง.
เขาต้องรอเข้าโลงแล้ว หมื่นครั้งแสนครั้ง
เดี๋ยวก็ลืมหมด ขี้เกียจพูดกัน เข้าโลงตั้งแสนครั้ง:
เราไม่ทันจะเข้าโลงสักที
เรามีการเกิดตาย แห่งตัวกูนี้ ตั้งแสนครั้ง เหมือนกัน.

เป็นอันว่า มันไม่ขัดกันละ,
ที่ว่าจะต้องสร้างบารมี แสนชาติ จึงจะนิพพาน ถูกแล้ว;
แต่ว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ เราสร้างได้แสนชาติ, แล้วหลังจากนั้น
มันมีการเข็ดหลาบ มันฉลาดพอที่จะทำไม่ให้กิเลสเกิด คือ
เราทำอยู่ ตลอดแสนชาติ นั่นแหละ ไม่ให้เกิดกิเลส.
อนุสัยลดๆๆๆ เดี๋ยวก็หมดอนุสัย กิเลสเกิดไม่ได้
มันก็เป็นนิพพาน โดยสมบูรณ์.

ฉะนั้น เมื่อคุณบังคับความรู้สึกได้ครั้งหนึ่ง เมื่อนั้นแหละ
คือสร้างบารมี ครั้งหนึ่ง. ถ้าคุณปล่อยจิต ไปตามอารมณ์
ก็เพิ่มๆๆๆ บวกๆๆๆ อนุสัย; บังคับจิตไว้ได้, กูไม่ไปอร่อยกับมึง.
บังคับจิตไว้ได้อย่างนี้ ทีหนึ่ง มัน ลบๆๆๆหนึ่งๆๆ อนุสัยมันเป็นลบ;
ไม่เท่าไรมันก็หมด มันไม่มีพื้นฐานรากฐาน ไม่มีเดิมพันที่จะเกิด
กิเลส ก็เป็นนิพพานโดยสมบูรณ์

 ระวังทำให้อุปาทานลดลง จะถึงนิพพานโดยลำดับ

นี่พูดกัน ในชีวิตประจำวัน คุณจะต้องถือเป็น เรื่องประจำวัน;
เพราะว่าเรื่องที่จะมาทำให้เกิดกิเลส มันมาทุกวันๆ; เรื่องที่
จะกำจัดมันเสีย ก็ต้องเป็นเรื่องทุกวันๆ ประจำวัน;

อย่าได้ไปหลงรักหลงเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมก
จิตไม่ถูกกิเลสอาศัยไม่มีอุปาทาน ก็จะเป็นนิพพานในทิฎธรรม
อยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้. นี่คือเรื่องนิพพาน.

เอ้า, ตอนท้ายนี้ อยากจะพูดอีกนิดหนึ่งว่า นิพพานนี้ให้เปล่า
ไม่คิดสตางค์; พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อย่างนั้น

ลทฺธา มุธา นิพฺพุติ ภุญฺชมานา - ให้เปล่า ไม่คิดสตางค์กับใคร.
นี่น่าจะขอบใจนิพพาน หรือ พระพุทธเจ้า ไม่เรียกไม่ร้อง อะไร
ไม่เรียกคิดค่าอะไร.

ระวังอย่าให้อุปาทานเกิดขึ้นมันก็เป็นนิพพานเอง
ไม่ยากลำบาก ไม่เหลือวิสัย แล้วก็ไม่คิดสตางค์,
แล้วก็ทำให้เสร็จเสียก่อนเข้าโลง.
ผมจึงพูดคำพูดขึ้นมาใหม่อีกคำหนึ่งว่า

"ตายก่อนตาย คือนิพพาน";
แต่ผมก็ได้ยินจากคนเฒ่าคนแก่อีกทีหนึ่ง
ผมลืมเสียแล้วว่าใครพูด คือ มันเนื่องมากับที่ว่า

สวรรค์ในอกนรกในใจ นิพพานอยู่ที่ตายก่อนตาย.

นี่ปู่ย่าตายายของเรา ไม่ใช่เล่น
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ; ไม่เรียกว่า อยู่ใต้ดิน อยู่บนฟ้าอะไร
เหมือนที่เขาพูดกันแต่ก่อนแล้ว

นิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย คือ ตัวกูๆๆ. ที่เคยเกิดวันละ
หลายๆหน ให้มันตายสนิทเสียก่อน แต่ที่ร่างกายนี้จะตายเข้าโลง
มันยิ่งแสดงว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้; ก่อนแต่ที่ร่างกายจะตายจะเข้าโลงนี้
ตัวกู-ของกู แห่งอุปาทาน ให้มันหมดเสียก่อน นั่นแหละคือนิพพาน.

นิพพาน คือตายเสียก่อนตาย ทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วก็ให้เปล่า
ไม่คิดสตางค์ใครยังไม่เอาอีกคนนั้นโง่กี่มากน้อยไปคำนวณเอาดู

นี่ผมพูดเรื่องที่ผมถูกด่าให้คุณฟัง.
พอผมพูดว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วก็ถูกด่า,
แล้วมันเปลี่ยนไม่ได้. จะด่าก็ด่าไปเถอะ มันเป็นเรื่องจริง อย่างนี้
มีหลักฐาน ในพระพุทธภาษิตอย่างนี้
ก็มันมีการทดสอบด้วยใจจริงอย่างนี้;
แล้วมันก็เห็นชัดๆ อยู่อย่างนี้ เป็นสันทิฎฐิโก อยู่อย่างนี้.
มันก็คงสภาพอย่างนี้ไว้, ก็คงพูดว่าอย่างนี้ : นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้.

เอาไปศึกษาเพิ่มเติม ความรู้เรื่องพุทธศาสนาให้เต็ม.
ผมได้บอกมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งต้น ครั้งแรกว่า ผมจะเลือกสรรมา
แต่เรื่องที่จำเป็น เป็นเนื้อหาเป็นสาระทั้งหมดทั้งสิ้น
ตั้งแต่ต่ำจนถึงสูงที่สุด มาพูดด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ;
อย่างที่ผมกำลังทำอยู่นี้.

เรื่องนิพพานนี้ จะพูดกันเป็นเดือนๆ ก็ได้;
แต่นี้เอามาแต่เนื้อหาสาระ หัวข้อที่เป็นหลัก
มันก็พูดเดี๋ยวนี้ ชั่วโมงกว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้,
แล้วก็คาบเกี่ยวไปถึงเรื่องอื่นด้วย ที่มันคาบเกี่ยวกันอยู่เป็นธรรมดา,
อะไรเป็นเหตุให้ไม่นิพพาน อะไรเป็นเหตุให้นิพพาน
ก็ต้องพูดถึงด้วย.

เอาละเลิกกันทีนะ
เลิกว่านิพพานนี้เหลือวิสัย นิพพานไม่มีประโยชน์ นิพพานจืดชืด
นิพพานต้องรอเข้าโลง หมื่นหน แสนหน นี่เลิก.

เอาเป็นนิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ก็จะเป็น พุทธบริษัทที่แท้จริง,
มีพระนิพพานได้จริง, มีพุทธศาสนาจริง คือมีนิพพาน
เป็นพุทธบริษัทจริง คือ รู้เรื่องนิพพาน.

เอ้า, ขอยุติการบรรยาย ชั่วโมงนี้ไว้เพียงเท่านี้ แล้วก็ปิดประชุม.

ธ-หาง ๓๙.ค/๑๕๑-๑๕๙

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น