จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สำนักปฏิบัติ สายต่างๆ ในประเทศไทย ที่เป็นตัวแทน สายศีล สมาธิ และ ปัญญา

พุทธทาสภิกขุกับสำนักพุทธศาสนาของไทย 
สำนักปฏิบัติ สายต่างๆ ในประเทศไทย สายศีล สมาธิ และ ปัญญา
          
  พุทธศาสนาของไทยในปัจจุบัน มีสำนักและครูอาจารย์ที่ตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า แตกต่างกันออกไป และสอนพุทธศาสนาอยู่หลายแนวทางด้วยกันบางสำนักถือว่า ศีลและความบริสุทธิ์ ทางจริยธรรมเป็นคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า บางสำนักเห็นว่า สมาธิเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา ส่วนบางสำนักเห็นว่า ปัญญาและการใช้เหตุผล เป็นกุญแจสำคัญ ที่ไขไปสู่ความเข้าใจในพุทธศาสนา แต่ทุกสำนักก็พูดถึง ศีล สมาธิ และปัญญาประกอบกันไปด้วย โดยมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ศีล สมาธิ และปัญญา ได้กลายมาเป็นคำสอนพื้นฐานที่สำคัญ ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย
 ๑. สำนักแห่ง ศีลสันติอโศก
          พระโพธิรักษ์และสำนักสันติอโศก เป็นตัวแทนทางด้าน ศีลของพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบัน พระโพธิรักษ์ซึ่งบวชในสายธรรมยุตในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ และเหล่าสานุศิษย์ ได้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด โดยการฉันอาหารมังสวิรัติ เพียงวันละมื้อ และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เมื่อตัดสินจากมาตรฐานของท่าน พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ในคณะสงฆ์ไทยอยู่ต่ำกว่าระดับความบริสุทธิ์ทางศีล ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ พระโพธิรักษ์จึงได้วิพากษ์วิจารณ์ความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ความเชื่อที่งมงาย และวัตถุนิยมของ พระสงฆ์ส่วนใหญ่ อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ความลุ่มหลงในการเสพสุข การฉ้อราษฎร์บังหลวง และความรุนแรงของสังคมไทยอีกด้วย

          กล่าวโดยรวม สันติอโศกสนับสนุนการตีความของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป พระโพธิรักษ์ได้นำเอา ระบบเหตุผลนิยม อันเป็นสิ่งที่ร่วมกันอยู่ในหมู่พระภิกษุฝ่ายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นพุทธทาสภิกขุหรือ พระธรรมปิฎกมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งในแง่ของหลักพุทธศาสนาและความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม แต่การตีความพุทธศาสนาของท่านนั้น บางครั้งก็คลาดเคลื่อนไปจากพระไตรปิฎก เช่น คำสอนที่ว่า พระอรหันต์ยังสามารถกลับมาเกิดใหม่ได้อีกหากต้องการ และพระอรหันต์กับพระโพธิสัตว์ โดยสาระสำคัญแล้ว ไม่แตกต่างกัน เป็นต้น ในข้อที่พระภิกษุฝ่ายปฏิรูปปฏิเสธการตีความทางอภิปรัชญาของพุทธศาสนา ของชนชั้นปกครองนั้น พระโพธิรักษ์ไปไกลยิ่งกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง โดยการที่ท่านได้ปฏิเสธ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ในระดับองค์กร และสถาบันอีกด้วย ทำให้ท่านถูกมองว่า เป็นภัยต่อความมั่งคงของการปกครองคณะสงฆ์ไทย
 การที่ท่านประกาศตนเป็นอิสระจากการปกครองของคณะสงฆ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นั้น ในที่สุดแล้ว เป็นสิ่งที่รัฐและคณะสงฆ์ของไทยไม่อาจยอมรับได้ พระโพธิรักษ์และพระภิกษุแห่งสำนักสันติอโศกจึงถูกปราบปราม ด้วยการบังคับให้ลาสิกขา และถูกกล่าวหาด้วยข้อหาต่าง ๆ พระโพธิรักษ์และสานุศิษย์ยังคง ปฏิบัติภารกิจในทางศาสนาต่อไปด้วยการครองผ้าขาว (แทนการครองผ้าสีกรักมาแต่เดิม) และต้องต่อสู้คดี ในชั้นศาลมาจนถึงทุกวันนี้๒๓ พระโพธิรักษ์และสำนักสันติอโศกนับได้ว่า เป็นตัวแทนพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลางกลุ่มที่ไม่พอใจต่อระบบที่เป็นอยู่ของสังคมไทยในปัจจุบัน

หลวงปู่มั่นภูริทัตโต

 ๒. สำนักแห่ง สมาธิ” : พุทโธ, ยุบหนอ-พองหนอ, ธรรมกาย, และการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
          สำนักกรรมฐานที่เป็นตัวแทนในเรื่อง สมาธิของพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยสี่สายคือ สาย พุทโธซึ่งมีอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้ก่อตั้ง สาย ยุบหนอ-พองหนอซึ่งพระพิมลธรรมได้นำมาเผยแพร่จากประเทศพม่า สาย ธรรมกายซึ่งมีหลวงพ่อสด จนฺทโร แห่งวัดปากน้ำเป็นผู้ริเริ่ม และสาย การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวซึ่งมีหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เป็นผู้แนะนำสั่งสอน เป็นครั้งแรก
หลวงพ่อชา สุภทฺโท

ก) พุทโธ
          อาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และสานุศิษย์ซึ่งรวมทั้งอาจารย์ชา สุภทฺโท ได้รับการยกย่องว่าเป็นสายกรรมฐาน ที่เข้มแข็งที่สุดสายหนึ่งของไทย๒๔ ภายในกรอบพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก พระภิกษุในสายนี้ เป็นฝ่ายธรรมยุต (ยกเว้นสำนักอาจารย์ชา สุภทฺโท ซึ่งบวชในฝ่ายมหานิกาย) และประพฤติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด สำนักกรรมฐานสายนี้ สอนการปฏิบัติสมาธิโดยให้สติจดจ่ออยู่กับ ลมหายใจ ขณะที่ภาวนาคำว่า พุทในเวลาหายใจเข้า และคำว่า โธในเวลาหายใจออก คำสอนของสายอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้กล่าวถึงประสบการณ์เหนือธรรมชาติ ในขณะปฏิบัติสมาธิ ซึ่งรวมทั้งการได้พบปะกับเหล่าเทวดา เปรต อสุรกาย และภพภูมิต่าง ๆ สำนักกรรมฐานสาย พุทโธนับได้ว่าเป็นตัวแทนฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) ของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครองในประเทศไทยปัจจุบัน

ข) ยุบหนอ - พองหนอ
          ในสมัยที่พระพิมลธรรมเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ท่านได้ส่งพระภิกษุไปศึกษากรรมฐาน มาจากประเทศพม่า แล้วจัดส่งคณะอาจารย์ฝึกอบรมเรื่องวิปัสสนากรรมฐานไปตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย๒๖ การปฏิบัติกรรมฐานแบบ ยุบหนอ-พองหนอจึงได้เริ่มแพร่หลาย สำนักกรรมฐานสายนี้มีความสัมพันธ์ทาง ธรรมเนียมปฏิบัติ ใกล้ชิดกับสำนักกรรมฐานของมหาศรีสะยะดอในประเทศพม่า การปฏิบัติสมาธิภาวนาแบบ ยุบหนอ - พองหนอนี้เน้นการใช้สติเฝ้าดูการเคลื่อนไหวที่หน้าท้อง พร้อมกับภาวนาคำว่า ยุบ-หนอขณะหายใจออกและคำว่า พอง-หนอขณะหายใจเข้า ขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติก็จะเพ่งพินิจถึงความไม่เที่ยงพร้อมกันไปด้วย บางครั้งนักปฏิบัติอาจจะเพ่งดูร่างกายที่สวยงาม และจินตนาการให้เห็นว่า เป็นสิ่งปฏิกูล ที่ประกอบไปด้วยเนื้อหนัง เส้นเลือด เส้นเอ็น อวัยวะต่าง ๆ และโครงกระดูก เป็นต้น เพื่อให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของ สิ่งทั้งปวง กรรมฐานสาย ยุบหนอ-พองหนอได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างกว้างขวางและกระจัดกระจาย ตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมิได้มีการรวมตัวกัน เป็นองค์กรหรือเครือข่ายเดียวกัน อย่างชัดเจน พระภิกษุส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติกรรมฐานสาย ยุบหนอ - พองหนอเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศ และทำหน้าที่สั่งสอนประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้นกรรมฐานสาย ยุบหนอ-พองหนอนี้จึงอาจสงเคราะห์อยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลาง โดยทั่วไปในสังคมไทย

ค) ธรรมกาย
          การเติบโตอย่างเป็นประวัติการณ์ของสายธรรมกาย ในทศวรรษที่ ๒๕๒๐ อาจอธิบายได้ว่าเป็น ความต้องการของชนชั้นปกครอง และชนชั้นกลางของไทย ที่อยากจะมีส่วนร่วมโดยตรง ในสัญลักษณ์อันสูงส่งทางศาสนา นั่นคือสมาธิภาวนา ซึ่งสำนักธรรมกายจัดอบรมการปฏิบัติครั้งละจำนวนมาก นอกจากนี้แล้ว ธรรมกายยังได้เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้ไต่เต้าบันไดทางสังคม โดยผ่านทางองค์กร ของตน ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับสถาบันที่มีอำนาจในทางโลก เช่น ชนชั้นปกครอง นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักธุรกิจระดับสูง เป็นต้น กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ธรรมกายยอมรับคำสอนของพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง การตีความของธรรมกาย ได้ย่อจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดคือ นิพพาน ให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในร่างกายของมนุษย์ วิธีปฏิบัติสมาธิภาวนาของธรรมกายก็คือ การเพ่งให้เห็นดวงแก้วใสบริสุทธิ์ เหนือสะดือขึ้นมาประมาณสองนิ้ว ซึ่งถือกันว่าเป็น ศูนย์กลางของร่างกาย พร้อมกับภาวนาคำว่า สัมมา อรหังต่อมาผู้ปฏิบัติอาจจะเพ่งให้เห็นพระพุทธรูปใสบริสุทธิ์แทน ในขั้นสุดท้ายผู้ปฏิบัติได้รับการบอกกล่าวว่า จะได้เห็นพระพุทธเจ้าและพระนิพพานจริง ๆ ที่ ศูนย์กลางร่างกายของตน พร้อมกับการตีความที่คลาดเคลื่อน ไปจากพระไตรปิฎกว่า นิพพานเป็นอัตตา ธรรมกายได้ใช้วิธีการจัดการและการตลาดสมัยใหม่ พร้อมทั้งเทคนิคสื่อสารมวลชนที่ทันสมัย ในการเผยแพร่คำสอนของตน แม้ว่าสมาชิกของธรรมกายส่วนใหญ่ จะเป็นชนชั้นกลางก็ตาม แต่ธรรมกาย ก็ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครองทุกฝ่าย ซึ่งรวมทั้งพระเถระที่สำคัญในมหาเถรสมาคมด้วย ดังนั้น อาจนับได้ว่า ธรรมกาย เป็นพุทธศาสนาในฝ่ายคามวาสี (วัดบ้าน) ของชนชั้นปกครองและผู้ที่ประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง

ง) การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว
          คำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มิได้เน้นการแบ่งแยกระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ เนื่องจาก ตัวท่านเองเล่าว่า ได้รู้ธรรมะในขณะที่ยังเป็นฆราวาส การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ในแนวของหลวงพ่อเทียน เปิดโอกาสให้ฆราวาสได้ปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ หรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งแต่เดิมนั้นจำกัดอยู่แต่เฉพาะในหมู่พระป่าเท่านั้น

          หลวงพ่อเทียนย้ำว่า การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคัมภีร์หรือตำรา (ซึ่งพระนักปฏิรูปอย่างเช่น พุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก สนับสนุน) การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวไม่ เกี่ยวข้องกับการกำหนดลมหายใจ การเพ่งรูปนิมิต การภาวนาคำต่าง ๆ ในใจ หรือการพิจารณาตรึกตรอง ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ และไม่เน้นเรื่องของศีล การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวร่างกายทีละจังหวะ เช่น การยกมือสร้างจังหวะหรือการเดินจงกรม เพื่อเป็นการปลุกสติหรือ ธาตุรู้ในตัวเองให้ตื่นขึ้น สติหรือธาตุรู้จะเข้าไป ดูความคิดซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง และตัดกระแสของความคิดนั้น ๆ

          หลวงพ่อเทียนและสานุศิษย์ที่สำคัญ เช่น อาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และอาจารย์ดา สมฺมาคโต เป็นพระภิกษุในฝ่ายมหานิกาย การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนได้รับความสนใจ ทั้งจากชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกล และจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เนื่องจากสำนัก กรรมฐานสายนี้ วิพากษ์วิจารณ์การตีความคำสอนพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง และไสยศาสตร์ของไทย จึงอาจจัดได้ว่า เป็นพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูปของชนชั้นกลางในสังคมไทย

๓. สำนักแห่ง ปัญญา” : พุทธทาสภิกขุ
          คำสอนที่เป็นตัวแทนของ ปัญญาในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของไทย ที่เด่นและสำคัญได้แก่ คำสอนของพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะพระภิกษุผู้นำฝ่ายปฏิรูป พุทธทาสภิกขุ ได้ตีความคำสอนในพระไตรปิฎก และวัฒนธรรมชาวพุทธของไทย ด้วยการใช้ปัญญาและ เหตุผล รวมทั้งการตีความในเชิงจิตวิทยา อันทำให้เรื่องราวทั้งหมดในพุทธศาสนา เป็นเรื่องทางจิตใจล้วน ๆ ในทรรศนะของพุทธทาสภิกขุแล้ว การเลื่อนชั้นตัวเองไปสู่ นิพพาน” (ความดับสนิทแห่งทุกข์) นั้น ผู้ปฏิบัติพึงแสวงหา ปัญญาด้วยการศึกษาหาความรู้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ต่าง ๆ นอกเหนือจาก การอ่าน และฟังพระธรรมคำสั่งสอนจากท่านผู้รู้ และประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมที่ดี พุทธทาสภิกขุกล่าวอยู่เสมอว่า พระธรรมก็คือธรรมชาติ ธรรมชาติก็คือพระธรรมดังนั้น ท่านจึงสอนให้เฝ้าสังเกตความเป็นไปในธรรมชาติ พร้อมกับการปฏิบัติ อานาปานสติ (สติเฝ้าดูลมหายใจ) ไปด้วย อานาปานสติ เป็นวิธีการปฏิบัติ ที่มีกล่าวอ้างอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ในขั้นแรกของการปฏิบัตินั้นผู้ฝึก จะเฝ้าดูลมหายใจด้วยวิธีการต่าง ๆ (สมถะ) และในขั้นต่อมาให้ใช้สมาธิที่เกิดจากการดูลมหายใจ มาพิจารณาถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย (วิปัสสนา) พุทธทาสภิกขุและสวนโมกขพลารามเป็น สัญลักษณ์และตัวแทนทาง ปัญญาของพุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป ของชนชั้นกลาง กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา และปัญญาชนในสังคมไทย 
พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ ปยุตโต
พระอาจารย์สายปัญญา มีมากมาย ซึ่งจะเป็นไปด้วยทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ที่เป็นลำดับ ควบคู่กันไป  ตามหลักปฏิบัติที่ ขาดออกจากกันไม่ได้
หลวงพ่อปัญญานันทะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น