จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ธรรมจักร คืออไร ที่มาของธรรมจักร

ธรรมจักร คืออไร ที่มาของธรรมจักร

ก่อนจะพูดถึงเรื่องธรรมจักร ข้าพเจ้าขอทบทวนฟื้นความจำเรื่องพุทธประวัติแก่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ซึ่งยังคงจำกันได้ดีว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะประสูตินั้น มีพระคัมภีร์ทายลักษณะบอกไว้ว่า ท่านผู้ประกอบด้วยลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการ ย่อมมีคติเป็น 2 คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบรรพชา จักได้เป็นพระพุทธเจ้า

                  พระเจ้าจักรพรรดิ มีสมบัติเป็นอย่างไรบ้าง ? เราลองพิจารณากันดู ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิมีสมบัติสำคัญ เรียกว่ารัตนะ มี 7 อย่างคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว ใน 7 อย่างนี้ จักรแก้วเป็นของสำแดงพระบรมเดชานุภาพสำคัญที่สุด และดูเหมือนจักรแก้ว หรือจักกรัตนะนี้แหละ ที่ เป็นเหตุให้ได้เชื่อว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จักกรัตนะ หรือจักรแก้ว หรือล้อแก้วนี้ ตามพระคัมภีร์บาลีบอกไว้ว่ามีกำพันซี่ มีกง มีดุม บริสุทธิ์ด้วยอาการทุกอย่าง เมื่อจักกรัตนะบังเกิดแก่พระราชาองค์ใด พระราชาองค์นั้นก็เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ท่านพรรณาไว้ว่า วันที่จักกรัตนะปรากฎนั้น เป็นวันเพ็ญอุโบสถ พระราชาทรงสรงพระเศียรและรักษาอุโบสถศีล เสด็จประทับอยู่บนราชอาสน์ ณ ประสาทชั้นบน แล้วจักรรัตนะก็ลอยจากจักกทหะ ในภูเขาวิบุลบรรพต มาปรากฎเฉพาะพระพักตร์ให้ทรงประจักษ์ว่า พระองค์เป็นราชาจักรพรรดิแล้ว พระเจ้าจักรพรรดิก็จะเสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงทำอุตตราสงค์ แล้วทรงหยิบพระสุวรรณภิงคารด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงประพรมน้ำในพระสุวรรณภิงคารลงบนจักกรัตนะด้วยพระหัตถ์ขวา แล้วมีพระราชดำรัสว่า จักกรัตนะอันเจริญจงหมุนไป จักกรัตนะอันเจริญจงนำชัยชนะให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วจักกรัตนะนั้นก็หมุนไปทางทิศบูรพา หมุนไปทางทิศทักษิณ หมุนไปทางทิศปัศจิน หมุนไปทางทิศอุดร จักกรัตนะหมุนไปทางทิศใด พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจัตุรงคเสนาก็เสด็จตามไปด้วย จักกรัตนะหยุดอยู่ ณ ประเทศใด พระเจ้าจักรพรรดิกับจัตุรงคเสนาก็พักอยู่ ณ ประเทศนั้นด้วย

 
                         
                (ซ้าย) ภาพสิงโตรองรับธรรมจักร เหนือบัวหัวเสา บนเสาศิลาอโศก ขุดพบที่ตำบลสารนาถ เมืองพาราณสี

                (ขวา) ภาพจำหลักเป็นดอกบัว และเสาธรรมจักร ที่กำแพงศิลาพระมหาสถูปสาญจี จะเห็นดอกบัวตูมสองดอกชูก้านออกมาจากฐานเหนือบัวคว่ำคล้ายรูประฆังคว่ำ แสดงให้เห็นว่า ยอดเสาศิลาอโศก ภาพซ้าย เมื่อยังสมบูรณ์ดีอยู่ ก็จะมีธรรมจักรประดิษฐานอยู่เหนือหัวสิงโตทั้งสี่ เช่นใน รูปขวา

                 บรรดาพระราชาผู้เคยเป็นปฏิปักษ์อยู่ในทิศนั้น ๆ ก็เข้ามาเฝ้าถวายการต้อนรับถวายความภักดี ยอมอยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพ พระเจ้าจักรพรรดิก็พระราชทานโอวาทด้วยศีลห้า (ซึ่งเรารู้จักกันดีแล้ว) เมื่อจักกรัตนะนำชัยชนะไปทั่วปฐพี มีมหาสมุทรเป็นแดนโดยรอบแล้ว ก็นำเสด็จกลับมายังราชธานี* จักกรัตตะหรือล้อแก้วนี้ในคัมภีร์อรรถกถา** พรรณานาขยายความออกไปอีกยืดยาว แต่พอสรุปกล่าวไว้ว่าจักกรัตนะนั้นมีรูปเหมือนล้อรถ ดุมเป็นแก้วอินทนิล ตรงกลางดุมส่องแสงซ่านออกเป็นวงกลมเหมือนพระจันทร์ทรงกลดรอบดุมเป็นแผ่นเงิน มีซี่กำล้วนแล้วด้วยแก้ว 7 ประการ ทั้งพันซี่ กำแต่ละซี่มีลวดลายประดับต่าง ๆ กัน ส่วนกงล้อเป็นแก้วประพาสสีสุกใส วงนอกของกงทุกระยะของกำ 10 ซี่ที่สอดเข้าไปนั้น มีท่อแก้วประพาฬติดอยู่ขอบนอกของกงทุกระยะ รวม 100 ท่อ เมื่อจักกรัตนะหมุนไปในอากาศท่อแก้วประพาฬเหล่านี้ จะกินลมเกิดเป็นเสียงไพเราะดุจเสียงปัญจดุริยางคดนตรี บนท่อแก้วประพาฬแต่ละอันมีเศวตฉัตรห้อยเฟื่องดอกไม้แก้วมุกดา เมื่อจักกรัตนะหมุนเวียนไปจะปรากฎคล้ายวงล้อ 3 อัน หมุนอยู่ภายในของกันและกัน

                  แต่เท่าที่เห็นทำรูปกันไว้ ก็ทำเป็นอย่างล้อรถหรือล้อเกวียนนั่นเอง (ดูรูปขวามือ เพื่อเปรียบเทียบ)

                  เมื่อได้พูดถึงจักกรัตนะ หรือล้อแก้ว ซึ่งเป็นสมบัติส่งเสริมพระบรมเดชานุภาพสำคัญยิ่งของพระเจ้าจักรพรรดิ มาโดยสังเขปเช่นนี้ ก็พอจะนึกเห็นกันได้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิก็คือผู้ทำให้จักรหรือล้อหมุนไป ซึ่งในบางพระสูตรยังกล่าวเป็นตำนานไว้อีกว่า พระราชาจักรพรรดิ ผู้ประกอบด้วยธรรมทรงเป็นธรรมราชา เป็นผู้ทำให้จักรหมุนไปโดยธรรม จักรนั้นอันสัตว์มนุษย์ไร ๆ ผู้เป็นปรปักษ์ (ต่อพระเจ้าจักรพรรด) จะหมุนไม่ได้

                  เมื่อพระสิทธัตถะราชกุมารไม่ต้องพระประสงค์สมบัติจักรพรรดิ และทรงประปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า จึงเสด็จออกบรรพชาและทรงบำเพ็ญเพียร จนได้ตรัสรู้ "พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ" พระองค์ก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือที่เราเรียกกันเป็นคำสามัญว่า "พระพุทธเจ้า" พระพุทธเจ้าได้โปรดประทานเทศนาเป็นครั้งแรกแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ คือพวกพระภิกษุ 5 องค์ ณ อิสิปตนะมิคทายวัน ในเมืองพาราณสี เมื่อวันอาสาฬหปุณณมี คือวันเพ็ญเดือน 8 เทศนาครั้งแรกนี้เรียกกันว่า "ปฐมเทศนา" และเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นปฐมเทศนานั้น เรียกว่า "ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร" แปลง่าย ๆ ก็ว่าพระสูตรว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าทรงหมุนล้อแห่งธรรมหรือธรรมจักร

..............................................................
* ดู - มหาสุทสฺสนสุตฺต ทีฆนิกาย มหาวคฺค
** สุมงฺคลวิลาสินี ทุติยภาค น. 289 - 290

 ธนิต  อยู่โพธิ์  เรียบเรียง











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น