แนวคิดทางการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
แนวคิดทางการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) |
ความรู้ในทางพระพุทธศาสนานั้นต้องคู่คุณธรรม ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิชชาจรณสัมปันโน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ คือ เป็นผู้มีความรู้ดีและมีความประพฤติดี
แนวคิดทางการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นพระภิกษุสงฆ์นักปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก ท่านได้แสดงแนวความคิดปรัชญาการศึกษาไว้ในหนังสือหลายเล่ม แต่เล่มที่สำคัญคือ ทางสายกลางของการศึกษาไทย ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ตอน ๆ ที่ ๑ ว่าด้วยการศึกษา เครื่องมือพัฒนาที่ยังต้องพัฒนา ตอนที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องความคิด แหล่งสำคัญของการศึกษาและตอนที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องปัญหาที่ต้องแก้ไขยิ่งกว่าขยายโอกาสทางการศึกษา และยังได้แบ่งเนื้อหาย่อยออกเป็น ๔ บท ๆ ที่ถือว่าสำคัญคือบทที่ ๓ ซึ่งว่าด้วยสารัตถะของการศึกษา พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้แบ่งการศึกษาทั้งระบบออกเป็น ๓ องค์ประกอบ กล่าวคือ
องค์ประกอบที่ ๑ ภารกิจของการศึกษา โดยแบ่งหน้าที่ของนักการศึกษาทั้งระดับผู้บริหารและผู้สอนออกเป็น ๒ ประการคือ หน้าที่ประการแรกคือเรียกว่า สิปปทายก คือผู้ให้วิชาการความรู้ ด้วยการทำ หน้าที่ถ่ายทอดศิลปวิทยาให้อย่างสิ้นเชิง หน้าที่ประการที่สองเรียกว่ากัลยาณมิตร คือทำหน้าที่ชี้แนะให้ดำเนินชีวิตถูกต้องดีงาม เพื่อเป็นปูชนียบุคคลอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่มารับจ้างสอนเท่านั้น
องค์ประกอบที่ ๒ คือกระบวนการศึกษา ท่านได้กล่าวเปรียบเทียบการศึกษาทางโลกกับการศึกษาทางธรรมไว้อย่างน่าฟังว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษาทางโลกแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นคือ ๑) ปริญญาตรี ในระดับนี้ศึกษาอย่างกว้างๆ ไม่เจาะจงอะไร และเป็นการศึกษาพื้นฐานของทุกวิชา ๒) ปริญญาโท เป็นการศึกษาเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของวิชา และไม่ได้ศึกษาหลายวิชาเหมือนระดับปริญญาตรี และ ๓) ปริญญาเอก เป็นการศึกษาเจาะลึกลงไปเฉพาะเรื่อง เป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ละเรื่องในสาขาวิชานั้นๆ
ในทำนองเดียวกันพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้แบ่งการศึกษาทางธรรมหรือทางพระพุทธศาสนาออกเป็น ๓ คือ ๑) ขั้นญาตปริญญา คือขั้นรู้จักวิชานั้นๆ ๒) ขั้น ตีรณปริญญา คือ รู้ตรองเห็นหรือรู้จำได้ และขั้นที่ ๓ คือขั้นปหานปริญญา คือรู้แจ้งหรือรู้ขั้นปฏิบัติการแก้ปัญหาได้สำเร็จ ท่านได้ทำการประสานแนวการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกันอย่างประสานสอดคล้อง โดยจัดปริญญา ๓ ขั้นของทางโลกวิสัยเป็นกลุ่มวิชาการหรือวิทยาการ และจัดปริญญาทางธรรมหรือพระพุทธศาสนาเป็นกลุ่มแห่งความประพฤติหรือจริยธรรม ท่านได้อธิบายสรุปว่า ระบบปริญญาการศึกษาทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมนั้นต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ผู้วิจัยเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ เพราะว่า วิชาการทางโลกล้วนๆ นั้นเปรียบเสมือนอาวุธที่คมกริบ ถ้าไม่มีฝักคือวิชาทางธรรมมาเป็นเครื่องป้องกันไว้ มีดที่ไร้ฝักก็รังแต่จะบาดหรือทิ่มแทงเจ้าของที่พกพาศาสตรานั้นไป คนที่มีความรู้แต่อย่างเดียวแต่ไร้คุณธรรมก็รังแต่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม เป็นการทำร้ายตนเองและทำร้ายผู้อื่นด้วย
องค์ประกอบที่ ๓ คือวัตถุประสงค์ของการศึกษา ดังที่กล่าวแล้วว่าความรู้ในทางพระพุทธศาสนานั้นต้องคู่คุณธรรม ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิชชาจรณสัมปันโน แปลว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ คือ เป็นผู้มีความรู้ดีและมีความประพฤติดี ท่านได้อธิบายว่า คนที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วจะต้องประกอบพร้อมไปด้วยกายที่พัฒนาแล้ว ศีลที่พัฒนาหรืออบรมดีแล้ว จิตที่อบรบดีแล้ว และปัญญาที่อบรมดีแล้ว[2]
โดยสรุป พระพรหมคุณาภรณ์เน้นการบูรณาการจริยธรรมเข้ากับวิชาการ ซึ่งถือเป็นแนวปรัชญาการศึกษาที่ว่าด้วยการพัฒนา และการพัฒนาในทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์จะต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน การศึกษาตามทัศนะของท่านหมายถึง
“การพัฒนาชีวิตให้ดำเนินไปตลอด จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายคือ อิสรภาพและสันติสุข การศึกษาจึงมีเป้าหมายคือการพัฒนาชีวิตให้จุดหมายอันสูงสุดในส่วนที่จะพึงได้ เมื่อการศึกษาคือการพัฒนาชีวิตเช่นนี้ การศึกษาจึงต้องมีบทบาทและหน้าที่อันสำคัญหน้าที่ของการศึกษานี้เองที่เป็นตัวหล่อหลอมชีวิตของมนุษย์ให้ประสบอิสรภาพและสันติสุขได้”[3]
มนุษย์ที่สมบูรณ์คืออะไร พระพรหมคุณาภรณ์กล่าวว่า “มนุษย์หรือชีวิตที่สมบูรณ์นั้น คือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา อยู่อย่างไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน อยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ”[4]
ความมุ่งหมายของการศึกษา ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์อีกแง่หนึ่งคือ ประโยชน์หรือจุดหมายของชีวิต ๓ อย่างตามแนวตั้ง และจุดหมายของการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตตามแนวตั้งนี้จัดเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองโดยตรง ได้แก่ ประโยชน์หรือจุดหมายของชีวิต ๓ อย่างตามแนวราบ[5] และท่านยังได้อธิบายถึงแนวคิดทางการศึกษาในประเด็นอื่นๆ อีกดังต่อไปนี้ คือ ด้านกระบวนการศึกษานั้น การศึกษาส่วนแรกคือการถ่ายทอดความรู้จากผู้อื่นที่เรียกว่าปรโตโฆสะ ในที่นี้ก็คือครูเป็นผู้ให้ความรู้โดยตรงและดำรงฐานะเป็นกัลยาณมิตร ผู้คอยแนะนำให้ผู้ได้รับการศึกษารู้จักวิถีทางแห่งการดำเนินที่ถูกต้องดีงาม กัลยาณมิตรหรือสิปปทายกนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นครูเท่านั้น แต่หากเป็นการศึกษาที่ได้รับจากสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วย เช่น บิดามารดา หนังสือ ตลอดถึงสื่อมวลชนต่าง ๆ การถ่ายทอดโดยวิธีนี้แม้จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อผู้ได้รับการศึกษาก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถให้ผู้ได้รับการศึกษาบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิตได้ ก็เนื่องมาจากว่าการศึกษาที่แท้จริงคือการศึกษาชีวิตของตนเอง เพื่อให้รู้จักตนเองและสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ด้วยตนเองได้ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยการพัฒนาภายในหรือการศึกษาที่ก่อให้เกิดความรู้ภายในเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ คือ การศึกษาชีวิตและสรรพสิ่งโดยพิจารณาด้วยใจอันแยบคาย มีการคิดถูกวิธี ความรู้จักคิดหรือคิดเป็น”[6] การคิดแบบนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในบุคคลซึ่งทำให้จุดหมายของการศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ซึ่งมีอยู่ ๑๐ วิธีด้วยกันคือมีวิธีคิดแบบสืบสาวหาเหตุปัจจัยเป็นต้น[7] การคิดแบบโยนิโสมนสิการจึงสรุปลงได้เป็น ๒ คือ
๑. โยนิโสมนสิการประเภทพัฒนาปัญญาโดยตรง มุ่งให้เกิดความเข้าใจตามเป็นจริงตรงกับสภาวะแท้ ๆ เป็นโยนิโสมนสิการ ระดับสังคม
๒. โยนิโสมนสิการประเภทสร้างเสริมคุณภาพจิต มุ่งปลุกเร้าให้เกิดคุณธรรมหรือกุศลธรรมต่างๆ เน้นการสกัดหรือข่มตัณหา เป็นเครื่องนำไปสู่โลกิยสัมมาทิฎฐิโยนิโสมนสิการระดับจริยธรรม พระพุทธศาสนาถือว่าการศึกษานั้นคือชีวิตและต้องเป็นชีวิตที่ดำเนินอย่างถูกต้องมีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาจึงจะเป็นการศึกษา[8]
ในด้านองค์ประกอบของการจัดการศึกษา พระพรหมคุณาภรณ์เสนอว่า โรงเรียนและสังคมชุมชนนั้น ไม่ควรแยกออกไปจากกัน ซึ่งตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างโรงเรียนกับสังคมชุมชนตลอดถึงครอบครัวนั้นคือ จริยศึกษา ท่านกล่าวว่าการบูรณาการ (intregation) สถาบันการศึกษาเข้าในระบบจริยศึกษาของชุมชนหรือบูรณาการจริยศึกษาของโรงเรียนให้เข้ากับระบบจริยศึกษาของชุมชน โดยที่โรงเรียน วัด และบ้านมีส่วนร่วมอยู่ในระบบจริยศึกษา อย่างกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน[9] ดังจะเห็นได้จากท้องถิ่นในชนบทจะมีหมู่บ้าน “บวร” มากมาย (บวร ย่อมาจาก บ. คือบ้าน, ว. คือวัด, และ ร. คือโรงเรียน) สิ่งนี้ย่อมเป็นหลักประกันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับ สังคมชุมชนนั้นๆ ในโรงเรียนบุคคลที่มีความสำคัญก็คือครูและนักเรียน ในโรงเรียน ครูนับว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ครูในทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ ก็คือ บุคคลที่สามารถถ่ายทอดความรู้และช่วยชี้แนะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของนักเรียน “ครูมีหน้าที่ ๒ ประการคือ สิปปทายก คือผู้ให้หรือถ่ายทอดศิลปวิทยาและกัยาณมิตรคือ ผู้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่ดีหรือเพื่อนแท้ ช่วยชี้นำศิษย์มีปัญญาและคุณธรรม”[10] หน้าที่ครูในการถ่ายทอดคุณธรรมนี้จัดเป็นปัจจัยภายนอกของครูในแง่ของกัลยาณมิตรคือผู้แนะนำอบรมให้นักเรียนดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างถูกต้อง คุณธรรม หรือ คุณสมบัติเบื้องต้นของครูที่ก่อให้เกิดศรัทธาแก่นักเรียนมีอยู่ ๗ ประการที่เรียกว่าคุรุธรรม
ส่วนที่เกี่ยวกับหลักสูตร พระพรหมคุณาภรณ์ยอมรับความรู้สมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนซึ่งเน้นพุทธิศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพอันจะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้โดยเฉพาะหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันนี้การศึกษาแบบตะวันตกกำลังประสบปัญหาอย่างมากก็เนื่องมาจากว่าหลักสูตรนั้นไม่ได้จัดไว้เพื่อพัฒนาชีวิตทุกด้าน เน้นไปในทางวัตถุนิยมมากเกินไป ก็เพราะว่าไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตภายในของมนุษย์ได้เป็นที่ทราบกันดีว่า การศึกษาคือการพัฒนาชีวิตให้มีความเจริญงอกงามทั้งในด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษาและพลศึกษา การศึกษาจึงไม่ได้แยกออกไปจากวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์เลย การจัดหลักสูตรก็ควรที่จะเน้นให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงแห่งการดำเนินชีวิต ไม่ใช่จะมองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง การจัดหลักสูตรควรที่จะให้เป็นไปในลักษณะบูรณาการกับสาขาวิชาการอื่น ๆ ให้เป็นไปในลักษณะจริยศึกษาที่สากลกับทุกสาขาวิชาที่ถ่ายทอด พระพรหมคุณาภรณ์จึงเสนอให้มีการผสมผสานความรู้ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดทั้งภายนอกและภายใน และได้เสนอให้นำพุทธธรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาการนำพุทธธรรมที่เป็นแกนกลางของพระพุทธศาสนา มาบรรจุลงในหลักสูตรนั้นท่านกล่าวว่ามีมากมายเริ่มตั้งแต่ “หลักขันธ์ ๕ หลักปฏิจจสมุปบาท หลักไตรลักษณ์ มรรคมีองค์ ๘ และอริยสัจ ๔ หลักธรรมที่ท่านเสนอนั้นล้วนเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เมื่อจะย่อลงก็สามารถจัดลงในอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมที่ครอบคลุมกว่าข้ออื่น ๆ “อริยสัจ ๔ เป็นหลักธรรมสำคัญที่ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา”[11]
ในส่วนของการเรียนการสอนนั้นเป็นหน้าที่ของบุคคล ๒ กลุ่มคือ กลุ่มผู้ให้การศึกษาได้แก่ครู และกลุ่มผู้รับการศึกษา ได้แก่นักเรียน การเรียนการสอนก็แบ่งออกเป็น ๒ เช่นเดียวกันประการแรกคือ การสอนแบบสะสมข้อมูลโดยครูถ่ายทอดให้แก่นักเรียนทางด้านวิชาการและทักษะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญการสอนแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้นักเรียนได้คิด แต่หากช่วยให้เกิดสัญญาคือความจำมากกว่าและ ประการที่สองการสอนโดยไม่มีการสะสมข้อมูลโดยศึกษาจากภายในของผู้เรียนเอง ผู้สอนเป็นเพียงผู้แนะนำ ชี้แนะแนวทางเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติจริงโดยการนำไปคิดพิจารณาด้วยตนเองเป็นหน้าที่โดยตรงของนักเรียน[12]
องค์ประกอบของการศึกษานั้นแบ่งออกเป็น ๔ อย่าง โรงเรียนเป็นองค์ประกอบอันดับแรกเพื่อเป้าหมายคือให้การศึกษาแก่นักเรียน ซึ่งการเรียนการสอนนั้นมิได้แยกออกไปจากวิถีชีวิต โรงเรียนจึงมีหน้าที่ ๒ ประการคือ การถ่ายทอดความรู้และสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดการพัฒนาภายในแก่นักเรียน โรงเรียนจึงเป็นสถาบันที่ต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น บ้าน วัดเพื่อจัดการศึกษาให้เกิดสารัตถะมากขึ้น ครูและนักเรียนต่างก็มีบทบาทด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย คือครูมีหน้าที่ถ่ายทอดศิลปวิทยาและทำตนให้เป็นกัลยาณมิตรที่ดี คอยแนะนำชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่นักเรียน ในขณะที่นักเรียนก็มีหน้าที่รับเอาความรู้และสร้างคุณธรรมปัญญาให้เกิดแก่ตนเอง ครูและนักเรียนจึงสัมพันธ์กันอยู่เสมอ
ส่วนด้านหลักสูตรนั้น พระพรหมคุณาภรณ์ได้เสนอให้ใช้พระพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาของชีวิตภายใน แต่ประสานสอดคล้องกับวิชาการทางโลกที่ทันสมัยในยุคเทคโนโลยีอันเป็นวิชาการที่ส่งเสริมให้ความสะดวกสบายภายนอกต่อบุคคล ในด้านการเรียนการสอนนั้นทั้งครูและนักเรียนต่างก็ทำหน้าที่ของตนโดยความระมัดระวัง ครูก็ไม่ควรสอนแบบยัดเยียดถือตัวเองเป็นใหญ่ แต่หากคอยดูแลแนะนำนักเรียนในทางที่ถูกที่ควร ในขณะที่นักเรียนก็ตั้งใจฝึกฝนอบรมคุณธรรมปัญญาด้วยตนเอง นอกจากนั้น การเรียนการสอนตามหลักอริยสัจ ๔ ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีในสังคมปัจจุบันทำให้เกิดความชัดเจนว่าองค์ประกอบของการศึกษานั้น ได้ถูกจัดขึ้นมาดูจะสอดคล้องสัมพันธ์กับจุดหมายของการศึกษาตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์
ด้านสัมฤทธิ์ผลในการพัฒนาการศึกษา การศึกษาเป็นการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การพัฒนาดังกล่าวจึงแบ่งออกเป็น ๔ ด้านที่เรียกว่าภาวิตัตตะ คือมีตนที่ได้รับการศึกษาอบรมแล้ว พระธรรมปิฏกให้ทัศนะว่า ในวงการศึกษาและจิตวิทยาตะวันตกนิยมแบ่งพัฒนาการทางการศึกษาของบุคคลไว้ ๔ ด้าน คือ
๑) พัฒนาการด้านร่างกาย
๒) พัฒนาการด้านสังคม
๓) พัฒนาการด้านอารมณ์ และ
๔) พัฒนาการด้านปัญญา
หรือแบ่งออกเป็น ๓ แดน คือ
๑) พุทธิพิสัย คือ แดนความรู้และความคิด (cognitive domain),
๒) เจตพิสัย หรือแดนความรู้สึก อารมณ์ และทัศนคติ (affective domain), และ
๓) ทักษพิสัย หรือ แดนประสานงานจิตขับเคลื่อนกาย (psychomotor domain)
พระพรหมคุณาภรณ์ยืนยันว่า การแบ่งแดนอย่างนี้มีความใกล้เคียงกับการจำแนกที่มีอยู่ก่อนแล้วในพระพุทธศาสนา ถ้าดูเพียงแต่ตัวอักษรก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลยกับการที่พระพุทธศาสนาจำแนกภาวนาคือการพัฒนาเป็น ๔ ด้าน คือ กายภาวนา ได้แก่การพัฒนาทางกาย ศีลภาวนา ได้แก่การพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสภาพแวดล้อม จิตตภาวนา คือการพัฒนาจิตใจ และปัญญาภาวนาคือการพัฒนาปัญญา และจำแนกการศึกษาออกเป็น ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในส่วนที่ต่างกันก็มี พระพรหมคุณาภรณ์ให้ทัศนะว่าจะว่าไม่ต่างกันเลยนั้นคงไม่ใช่ ความจริงแล้วต่างกันในแง่ของขอบเขตและจุดเน้น[13]
โดยสรุปกล่าวได้ว่าพระพรหมคุณาภรณ์มองว่า การศึกษาที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ประสบความล้มเหลวมากกว่า ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เป็นต้นว่า การศึกษาเน้นการเรียนรู้ทางด้านทฤษฎีหรือวิชาการและพัฒนาความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น (Specialization) การศึกษาในยุคแห่งการแข่งขันจึงเป็นเพียงการสะสมข้อมูลและทักษะความชำนาญอันจะสามารถไปประกอบอาชีพ ทั้งนี้ได้ทิ้งการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในด้านอื่น ๆ ของผู้ที่รับการศึกษาไป การศึกษาในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมบางอย่างลงไปในสมองของผู้ศึกษาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย เช่น ให้การยกย่องผู้ที่เรียนเก่ง เน้นการศึกษาเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าตลอดถึงการประสบความสมหวังในอาชีพการงาน เพื่อความร่ำรวย มีชื่อเสียงตลอดถึงการมีบารมีอำนาจเหนือคนอื่น เป็นการสร้างความอยากเพื่อสนองตอบความโลภและความโกรธ ชอบชิงดีชิงเด่น เบียดเบียน ขัดแย้งซึ่งกันและกัน
นอกจากนั้นพระพรหมคุณาภรณ์ยังได้วิจารณ์ต่อไปอีกว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ทัศนคติเช่นนี้คือการศึกษาที่มีตัวอวิชชาครอบงำอยู่ คือไม่เข้าใจการศึกษาที่แท้จริง ขาดเป้าหมาย เป็นการศึกษาเพียงฉาบฉวยอันเกิดมาจากมิจฉาทิฎฐิเป็นจุดเริ่มต้น เป็นการศึกษาที่ไม่ได้มองภายในแต่หากเป็นการมองภายนอกเป็นหลัก เมื่อมีปัญหาเกิดแก่ชีวิต การศึกษาเพื่อสนองความโลภและความโกรธนั้นไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาของตนเองตลอดถึงสังคมไทยได้เลย ดังที่ปรากฏอยู่เสมอในสังคม เช่น มีการแบ่งแยก การขัดแย้งเกิดขึ้นในระหว่างกลุ่มชน เชื้อชาติและการขัดแย้งทางเศรษฐกิจการค้าต่างๆ จะเห็นว่าปัญหาอันเกิดมานี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากระดับบุคคลแทบทั้งสิ้น และการนำมาตรการต่างๆ มาแก้ปัญหานั้นๆ อาจจะแก้ได้ชั่วครั้งชั่วคราวแต่การเปลี่ยนแปลงที่ถาวรนั้นจะเกิดขึ้นก็โดยการพัฒนาที่ตัวบุคคลของแต่ละบุคคลก่อน สิ่งที่จะทำให้บุคคลเปลี่ยนแปลงได้นั้น ท่านได้เสนอให้มองที่จุดเริ่มต้นคือ การศึกษาเป็นหลัก อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตนเองและสังคม
ท่านเห็นว่าความรู้สมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ซึ่งเน้นพุทธิศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ อันจะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ตามแนวการศึกษาแบบตะวันตก ซึ่งกล่าวกันว่าเน้นความมีเหตุมีผลคือวิทยาศาสตร์ที่มีความเจริญก้าวหน้า แต่ปัจจุบันนี้การศึกษาแบบตะวันตกกำลังประสบปัญหาอย่างมากก็เนื่องมาจากว่าหลักสูตรนั้นไม่ได้จัดไว้เพื่อพัฒนาชีวิตทุกด้าน เน้นไปในทางวัตถุนิยมมากเกินไป ความเจริญด้านวิทยาศาสตร์ที่เน้นพวกวัตถุมากเกินนี้นับวันจะประสบความล้มเหลว ก็เพราะว่าไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตภายในของมนุษย์ได้
พระพรหมคุณาภรณ์ต้องการเสนอหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นตัวบูรณาการกับศาสตร์สาขาอื่นๆ ไม่ต้องการที่จะใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาตอบปัญหาทางสังคมทุกอย่างอย่าง แต่ท่านเสนอหลักวิชาการในมุมมองของพระพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นทางเลือกอันหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหาที่ศาสตร์นั้นๆ ถึงทางตันและยังแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีทั้งผลดีและเสีย ผลดีท่านพระพรหมคุณาภรณ์ไม่ได้ปฏิเสธแต่ท่านมองเห็นผลเสียในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น ยกตัวอย่างเรื่องผลิตภัณฑ์ M.G.O. คือการดัดแปลงพันธุ์พืชทางวิทยาศาสตร์เพราะความเชี่ยวชาญมากในสายนี้ ทำให้เกิดผลเสียทางด้านสิ่งแวดล้อม ถึงขนาดห้ามรับประทานอาหารที่ผลิตด้วยวิธีการนี้ คำว่าบูรณาการคือนำเอาหลักจริยธรรมเข้าไปกำกับ ให้คำนึงถึงผลที่จะตามมารอบด้านก่อนทำอะไรลงไป และการจะทำอย่างนี้ได้ ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ต้องเปิดใจรับรู้ศาสตร์แขนงอื่นๆ ด้วย คล้ายๆ กับปัญหาการขุดเจาะท่อประปาต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ และพยายามร่วมมือกับสำนักงานไฟฟ้าด้วยและต้องประสานงานกับผู้รับผิดชอบเรื่องการทาง การทำงานต้องประสานกันต้องคำนึงถึงความเสียหายอันจะเกิดมีแก่สังคมส่วนอื่นด้วย ขณะนี้ทั่วโลกหันมาหาศาสนาเพื่อต้องการนำเอามุมมองทางศาสนาไปแก้ปัญหาวิกฤตทางวิชาการต่างๆ ซึ่งแน่นอนศาสนาเป็นมุมมองทางด้านจิตวิญญาณก็เพื่อต้องการให้เกิดดุลยภาพ ยุคปัจจุบันเป็นยุคการเสนอแนวความคิดแบบองค์รวมทางความรู้หรือยุคพหุนิยมทางความคิด ความร่วมมือกันเท่านั้นจะทำให้เกิดสันติภาพ การเสนอแนวความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ยอมรับกันในวงวิชาการสมัยใหม่ ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งพระพรหมคุณาภรณ์เสนอหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องเน้นการพัฒนาคน ที่ผ่านมาเราเน้นการพัฒนาวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ผิดๆ กล่าวคือเน้นการพิชิตธรรมชาติ[14] จะเห็นว่าสอดคล้องกับอารยะประเทศอื่นๆ เช่นประเทศมาเลเซีย ตามแผนพัฒนาประเทศระยะ ๑๐ ปี [15]
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ