ประเพณีการทอดผ้าป่า
ทอดผ้าป่า หมายถึง พิธีบุญอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ผ้าป่าคือผ้าที่ผู้ทำบุญนำไปวางไว้ที่ใดที่หนึ่งไม่ต้องการให้พระรู้ว่าตนเป็นผู้ทำบุญ และตั้งใจไว้ว่าหากภิกษุรูปใดมาพบผ้านั้นก่อนให้หยิบเอาไป กิริยาที่เอาผ้ามาวางไว้ แล้วตั้งใจอธิษฐานนั้น เรียกว่า ทอดผ้าป่า
พิธีทอดผ้าป่า เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ พิธีทอดผ้าป่าจะคล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่จำกัด ในแต่ละปีทางวัดจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้ และไม่มีการเจาะจงพระภิกษุในการรับผ้า
ความเป็นมาของประเพณีการทอดผ้าป่า กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากชาวบ้าน ดังนั้นพระภิกษุจะต้องหาผ้าที่ชาวบ้านทิ้งแล้ว ผ้าที่เปรอะเปื้อน ผ้าห่อศพ โดยรวบรวมนำมาซักฟอกทำความสะอาดตัดเย็บและย้อมทำเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ เมื่อชาวบ้านทราบถึงความยากลำบากจึงต้องการนำผ้ามาถวายแต่ยังไม่มีพุทธานุญาต ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องการนำผ้าไปทอดทิ้งตามที่ต่างๆเช่น ตามทางเดิน ป่าช้า แล้วแต่ว่าพระภิกษุสงฆ์องค์ใดจะมาพบเห็นแล้วนำผ้านั้นไปใช้
ในปัจจุบันการทอดผ้าป่าได้มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยนิยมนำกิ่งไม้มาปักไว้ในกระถาง และนำผ้ามาผูกแขวนไว้ และอาจจะนำผ้ามาทำเป็นรูปร่าง ต่างๆ เช่น ชะนี รูปผี แขวนไว้ที่กิ่ง และสิ่งของเครื่องใช้ที่จะถวายพระ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ เงินหรือปัจจัยให้เสียบไม้แล้วปักกับต้นกล้วยเล็กๆ ในกองผ้าป่า
ก่อนพิธีการทอดผ้าป่า จะต้องมีการจองผ้าป่า เช่นเดียวกันกับการทอดกฐิน เนื่องจากเป็นงานค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นจึงจะต้องแจ้งความจำนงให้ทางวัดทราบก่อนเพื่อที่จะได้มีการจัดเตรียมต้อนรับ เมื่อถึงวันกำหนดก้จะมีการแห่ขบวนผ้าป่าที่วัด หลังจากนั้นก็จะนำผ้าป่าไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ และกล่าวคำถวายผ้าป่า พระสงฆ์หนึ่งรูปจะลุกขึ้นมาชักผ้าบังสุกุลและกล่าวปริกรรม พระสงฆ์สวดอนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธี
คำกล่าวถวายผ้าป่า
“อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุ สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”
คำแปล “ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ