เหตุแห่งความฝัน
ในคัมภีร์ทางศาสนา ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้คนเราฝันไว้ ๔ ประการ คือ
๏ ธาตุโขภะ คือ ธาตุในร่างกายกำเริบปั่นป่วน หรือเกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของธาตุในร่างกาย ความฝันเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อนอนผิดท่าหรือป่วยเป็นไข้ไม่สบาย จนบางครั้งทำให้นอนละเมอเพ้อพกจับไม่ได้ศัพท์เหมือนคนขาดสติ เรื่องที่ฝันมักเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความน่ากลัวต่างๆ อย่างฝันว่าตกจากภูเขาหรือตกจากที่สูงลอยไปในอากาศเหมือนเหาะได้ ถูกภูตผีปีศาจ ยักษ์มารวิ่งไล่ ถูกสัตว์ร้าย เช่น เสือ ช้าง หรือโจรผู้ร้ายวิ่งไล่ฆ่าฟัน เป็นต้น ในขณะที่วิ่งหนีมีความรู้สึกว่าวิ่งได้ช้ามาก ช้าจนบางครั้งเราต้องกระโดดสองขาแทนวิ่งเพื่อหนีจากสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวนั้น พอตื่นก็เหนื่อยแทบขาดใจ เหมือนวิ่งมาด้วยความเร็วหลายสิบกิโลเมตร
๏ อนุภูตปุพพะ คือ ฝันเนื่องมาจากอารมณ์ที่ได้ประสบมา ความฝันชนิดนี้น่าจะเกิดจากจิตที่หมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ประสบมาในชีวิตประจำวัน เช่น ประสบเหตุการณ์บางอย่างมา จิตจะเก็บเหตุการณ์นั้นไว้ แล้วกลายเป็นความฝันแม้บางครั้งเรามีความรู้สึกว่าลืมเหตุการณ์นั้นไปนานแล้ว แต่จิตยังคงเก็บเหตุการณ์นั้นไว้ในจิตใต้สำนึก เพียงแต่รอเวลาแสดงออกเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์นั้นมาปรากฏในความฝันจึงทำให้นึกขึ้นได้ทันที อารมณ์นั้นอาจเป็นอารมณ์ที่เราประสบมาช้านานหรือเพิ่งจะผ่านไปในวันนั้นแล้วเก็บเอามาคิดรำพึงจนหลับไปก็ได้
๏ เทวตูปสังหรณ์ คือ ความฝันที่เทวดานำมาเป็นสาเหตุที่จะบอกเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์บางอย่างให้ผู้ฝันรับรู้
ความฝันนั้นอาจเป็นต่างๆ ตามอำนาจการบันดาลของเทวดา ถ้าเทวดารักใคร่ปรารถนาจะให้การคุ้มครองรักษาและหวังประโยชน์ จะบันดาลให้ฝันดีและเป็นผลในทางที่ดี การที่จะฝันดีและเป็นผลดีตามอำนาจของเทวดานั้น ผู้ฝันต้องเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายด้วย
การจะเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ต้องเป็นผู้มีทาน คือการให้ปันสิ่งของตามโอกาส มีศีล คือความสะอาดกายสะอาดวาจา ความสงบเสงี่ยมอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หยาบกระด้างก้าวร้าว อวดดื้อถือดี ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น และมีธรรมอันงาม คือหมั่นฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้สะอาดผ่องแผ้ว
คัมภีร์ทางศาสนากล่าวว่า ผู้มีศีลมีธรรมอันงามย่อมเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีศีลมีธรรมงามอย่าว่าแต่มนุษย์เลยที่รัก แม้เทพเทวาทั้งหลายก็ชื่นชมต่อการปรากฏตัวของเขา
๏ บุพนิมิต คือ ลางที่บอกเหตุขึ้นก่อน เป็นความฝันที่เกิดด้วยอำนาจบุญกุศล และอำนาจบาปกรรม หรือเป็นบุพนิมิตแห่งการที่จะต้องเสวยผลแห่งบุญกุศลซึ่งเป็นฝ่ายดี และเป็นบุพนิมิตแห่งการที่จะต้องเสวยผลแห่งบาปกรรมซึ่งเป็นฝ่ายชั่ว
ความฝันที่เรียกว่าบุพนิมิตเป็นผลสืบเนื่องมาจากอำนาจบุญ และบาปที่คนๆ นั้นได้สั่งสมอบรมและกระทำไว้มาบันดาลให้ปรากฏเป็นลางบอกเหตุ พูดง่ายๆ ถึงเวลาที่บุญหรือกรรมจะให้ผลก็จะนิมิตให้รู้ล่วงหน้า ทั้งสองอย่างล้วนเป็นนิมิตที่ปรากฏให้ทราบล่วงหน้า
ท่านกล่าวว่า ความฝันชนิดธาตุโขภะและอนุภูตปุพพะ ไม่ควรเชื่อถือ ท่านปฏิเสธว่าไม่เป็นจริง เพราะสติไม่อยู่ในสภาพปกติ ความฝันชนิดเทวตูปสังหรณ์เป็นจริงบ้างไม่จริงบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทวดาผู้มาเข้าฝันเป็นตัวแปร
ส่วนบุพนิมิตนั้น ท่านยืนยันอย่างแน่นอนลงไปเลยว่าเป็นความจริงตามที่ฝันทุกประการไม่คลาดเคลื่อน และท่านให้ข้อสังเกตว่า ความฝันที่จัดว่าเป็นบุพนิมิตนั้นต้องปรากฏเฉพาะในเวลาค่อนรุ่งเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเวลาหัวค่ำ เวลาเที่ยงคืนและเวลาปัจฉิมยามนั้น เป็นเวลาที่ร่างกายกำลังเผาผลาญอาหาร ธาตุในร่างกายคนเราไม่ปกติเพราะต้องทำงาน จึงมีผลทำให้ความฝันคลาดเคลื่อนไม่แน่นอน ความฝันนั้นอาจจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือตั้งแต่หัวค่ำจนถึงหลังเที่ยงคืนธาตุในร่างกายยังทำงานอยู่ แต่เวลาค่อนรุ่งเป็นเวลาที่ร่างกายเผาผลาญอาหารเสร็จแล้วร่างกายอยู่ในสภาพปกติ ความฝันที่ปรากฏในช่วงนี้จึงเป็นจริงอย่างแน่นอน เพราะเป็นความฝันที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของร่างกาย แต่เป็นความฝันที่ปรากฏเพราะอำนาจบุญกุศล และอำนาจบาปกรรมของผู้นั้น ถ้าด้วยอำนาจบุญกุศลก็จะฝันดีและมีผลดี ถ้าด้วยอำนาจบาปกรรมก็จะฝันร้ายและมีผลร้ายด้วย ความฝันชนิดบุพพนิมิตจะไม่มี "ฝันร้ายกลายเป็นดี" หรือ "ฝันดีกลายเป็นร้าย" ถ้าฝันร้ายก็จะมีผลร้าย ฝันดีก็จะมีผลดี ท่านจึงให้ข้อสังเกตไว้ว่า ถ้าฝันในเวลาค่อนรุ่งให้พึงสันนิษฐานว่าเป็น "บุพนิมิต" แห่งอำนาจบุญ หรือบาปที่ปรากฏแก่เราล่วงหน้า
นอกจากนั้น ท่านยังได้แสดงอาการที่จิตของคนเราจะเข้าสู่ภาวะความฝันไว้ว่า ถ้านอนหลับสนิทจะไม่ฝัน ตื่นอยู่ก็ไม่ฝัน แต่เวลาที่ฝันเป็นเวลาที่จิตกำลังอยู่ในช่วงหลับเหมือนการหลับของลิง คือหลับๆ ตื่นๆ หรือครึ่งหลับครึ่งตื่นนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ