จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สาระพุทธศาสนาวิชาการ เรื่องการบูชายัญ ตามพุทธศาสนา มหายัญในกูฏทันตสูตร

 
วิเคราะห์มหายัญในกูฏทันตสูตร  :  อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ
ความนำ
               ชาวอินเดีย ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนถึงครั้งพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีคติความเชื่อสืบทอดกันมาว่า การบูชายัญเป็นกรณียกิจที่สำคัญและจำเป็นในชีวิต เพราะยัญเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ ถ้าทำถูกต้องตามหลักการจริง ๆ จะสามารถบังคับเทพเจ้าให้อำนวยผลที่ปรารถนาแก่ผู้บูชาได้จริง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงการประจบประแจงหรือการอ้อนวอนขอความเมตตาอย่างธรรมดาเท่านั้น และถ้าทำให้เคร่งครัด ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนถึงขั้นสูงสุดที่เรียกว่า มหายัญ
               ที่มียัญสมบัติ ๓ องค์ประกอบ ๑๖ ก็สามารถบันดาลให้ผู้บูชาก้าวขึ้นสู่ฐานะเป็นเทพได้ด้วย จึงนิยมทำพิธีบูชายัญกัน มากขึ้น และมีรูปแบบวิธีปฏิบัติหลากหลายขึ้นตามลำดับ เช่น เครื่องบูชายัญต้องประกอบด้วยเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จึงต้องมีการฆ่าสัตว์จำนวนมาก ยิ่งมากและหลากหลาย ชนิดเท่าใดก็ยิ่งขลังและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเท่านั้น๒ และมีบัญญัติทางศาสนาว่า การฆ่าสัตว์บูชายัญไม่บาป
               โดยทั่วไป การบูชายัญมีส่วนประกอบ ๓ อย่างคือ (๑) ผู้เป็นเจ้าของยัญ ที่เรียกว่า ผู้บูชา (๒) ผู้ประกอบพิธีให้ ที่เรียกว่า ผู้ทำพิธี (๓) เครื่องบูชายัญ ในการบูชามหายัญซึ่งต้องใช้เครื่องบูชามากและหลากหลายนั้น ผู้บูชาที่มีอำนาจทาง การเงินและการเมืองเท่านั้นจึงจะสามรถทำได้ ผู้ทำพิธีบูชายัญให้ถือว่ามีความ สำคัญมาก ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างถูกต้อง แม่นยำ จริง ๆ มิฉะนั้น ยัญนั้น ๆ จะไม่ขลังไม่ศักดิ์สิทธิ์ หน้าที่นี้จึงสงวนไว้สำหรับพวกพราหมณ์เท่านั้น ผู้ทำพิธีกรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป ได้แก่ พราหมณาจารย์ ส่วน ผู้ทำพิธีกรรมให้แก่พระราชาหรือผู้ครองรัฐ ได้แก่ พราหมณ์ปุโรหิต ด้วยเหตุนี้ อำนาจของพราหมณ์จึงมากขึ้น ๆ จนกลายเป็นเทวดาบนดินไปด้วย เพราะเป็นผู้รู้ใจเทพเจ้า
               อย่างไรก็ดี มหายัญที่สมบูรณ์แบบ คือ ที่ประกอบด้วย ยัญสมบัติ ๓ ประการและองค์ประกอบอีก ๑๖ ประการ ซึ่งเชื่อถือกันว่า เป็นมหายัญยอดขลังและศักดิ์สิทธิ์นั้น เมื่อตกมาถึงสมัยพุทธกาลได้เลือนลางไปแล้ว พวกพราหมณาจารย์ พราหมณ์ปุโรหิต และพราหมณ์มหาศาลทั้งหลาย จึงไม่เคยพบไม่เคยเห็นคัมภีร์ที่ ว่าด้วยเรื่องนี้เลย ได้ยินแต่ชื่อและคำเล่าลือถึงสรรพคุณเท่านั้น แม้มีผู้ปรารถนาจะประกอบพิธีบูชามหายัญนี้กันมาก ก็ไม่มีผู้ใดทำให้ได้ แต่มีกิตติศัพท์ขจรไปในหมู่พราหมณ์ว่า พระสมณโคดมพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้ดี และนี้แหละเป็นที่มาของ กูฏทันตสูตร

 
                   กูฎทันตพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

               ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปแวะพักในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อขาณุมัต แคว้นมคธ หมู่บ้านนี้ พระเจ้าพิมพิสารพระราชทาน
เป็นพรหมไทย ให้กูฏทันตพราหมณ์ปกครอง ขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับที่หมู่บ้านนั้น กูฏทันตพราหมณ์กำลังเตรียมการจัดทำพิธีบูชายัญที่มียัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ ประการ เพื่อความสุขความเจริญของตนเองและประชาชนใน หมู่บ้านของเขา โดยได้เตรียมสัตว์ไว้ฆ่าบูชายัญ จำนวน ๓,๕๐๐ ตัว คือ "
               วัวเพศผู้ ลูกวัวเพศผู้ ลูกวัวเพศเมีย แพะ และแกะ อย่างละ ๗๐๐ ตัว แต่เนื่องจากตนไม่ทราบว่าจะทำพิธีนี้อย่างไรแน่ ทราบแต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงทราบดี ฉะนั้น เมื่อทราบจากพวกพราหมณ์ทั้งหลายว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกาแล้ว จึงได้ออกไปเฝ้าทูลถามวิธีประกอบพิธีบูชามหายัญดังกล่าว

 
พิธีบูชามหายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

               พระผู้มีพระภาคตรัสตอบกูฏทันตพราหมณ์ โดยทรงนำพิธีมหาบูชายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราชในอดีตกาล มาตรัสเล่าให้ฟัง ดังมีใจความต่อไปนี้
               เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชมีพระราชทรัพย์มหาศาล ทรงมี พืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ทรงทำสงครามได้ชัยชนะจนได้ครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล วันหนึ่ง ทรงประสงค์จะทำพิธีบูชามหายัญเพื่อความสุขสวัสดีแก่พระองค์เองสืบต่อไปชั่วกาลนาน จึงทรงปรึกษากับพราหมณ์ปุโรหิตว่าจะทำอย่างไร พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลแนะนำให้ทรงทำเป็นขั้น ๆ ดังนี้

               ขั้นที่ ๑ ให้ทรงปราบโจรผู้ร้ายแบบถอนรากถอนโคน เพื่อมิให้กลับมา เป็นเสี้ยนหนามเบียดเบียนประชาราษฎร์ต่อไปอีก โดยกราบทูลถวายวิธีการปราบโจร ๓ วิธี คือ
               ๑. ให้พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกรผู้ขยันในการทำเกษตร
               ๒. ให้พระราชทานต้นทุนแก่ราษฎรผู้ขยันในการค้าขาย
               ๓.ให้พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการผู้ขยันทำงานในหน้าท
ี่ราชการเมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงปฏิบัติตาม
               คำแนะนำนี้โดยเคร่งครัด ก็ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง คือพระราชทรัพย์เพิ่มพูนมากขึ้น ๆ บ้านเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย บ้านเรือนไม่ต้องปิดประตู อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า

               ขั้นที่ ๒ ให้มีรับสั่งถึงบุคคลในพระราชอาณาเขต ๔ พวก คือ (๑) พวกเจ้าผู้ครองเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับพระเจ้ามหาวิชิตราช (๒) พวกอำมาตย์ราชบริพารผู้ใหญ่ (๓) พวกพราหมณ์มหาศาล (พราหมณ์ผู้มีทรัพย์มาก) (๔) พวกคหบดีมหาศาล (คหบดีผู้มีทรัพย์มาก) เพื่อขอให้บุคคลเหล่านั้นรับทราบการพระราชพิธีบูชามหายัญ และขอความเห็นชอบด้วย ซึ่งปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นได้ตอบรับรองด้วยดี คำรับรองนี้เรียกว่า อนุมัติ ๔ (จากบุคคล ๔ พวก) ถือเป็นองค์ประกอบ ๔ ประการ ในองค์ประกอบทั้งหมด ๑๖ ประการ

               ขั้นที่ ๓ ให้ทรงตรวจหาคุณสมบัติ ๘ ประการของเจ้าของพิธีบูชามหายัญ คือ พระเจ้ามหาวิชิตราชเอง และคุณสมบัติ ๔ ประการของผู้ทำพิธี คือพราหมณ์ปุโรหิต ปรากฏว่าทั้งพระเจ้ามหาวิชิตราชและพราหมณ์ปุโรหิตมีคุณสมบัติครบถ้วนตามตำรา
               พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ คือ
               ๑. ทรงมีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้ เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
               ๒. มีรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม
โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
               ๓. ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง
               ๔. ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังจะเผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ
               ๕. ทรงมีศรัทธา ทรงเป็นทายก ทรงเป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ
               ๖. ทรงรู้เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก
               ๗. ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุด
มุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ ๆ
               ๘. ทรงเป็นบัณฑิต มีพระปรีชาสามารถดำริเรื่องราวในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการ คือ
               ๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้ เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
               ๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมันตระ (บทสวด)รู้จบไตรเทพ พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ (ว่าด้วยอภิธานศัพท์ในพระเวท) เกฏุภศาสตร์ (ว่าด้วยกฎการใช้ถ้อยคำในพิธีกรรม) อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์ (ว่าด้วยวาทศิลป์) และศาสตร์ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ
               ๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
               ๔. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเฉียบแหลมลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา
จึงเป็นอันได้องค์ประกอบของมหายัญครบทั้ง ๑๖ ประการ (อนุมัติ ๔ คุณสมบัติของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ และของพราหมณ์ปุโรหิต ๔) จากนั้นพราหมณ์ปุโรหิต ได้กราบทูลอธิบายเหตุผลให้ทรงสบายพระทัยว่า ผู้เป็นเจ้าของ พิธีบูชามหายัญที่มีองค์ประกอบครบ ๑๖ ประการอย่างนี้จะไม่มีผู้ใดครหานินทาได้ในภายหลัง

               ขั้นที่ ๔ ให้ทรงวางพระทัยในการบูชามหายัญทั้ง ๓ กาล คือ (๑) ก่อนการบูชา ต้องไม่ทรงเดือดร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลืองไป (๒) ขณะทำการบูชา ต้องไม่ทรงเดือดร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป (๓) หลังบูชาแล้ว ต้องไม่ทรงเดือดร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้ว ทั้ง ๓ ประการนี้เรียกว่า ยัญสมบัติ คือคุณสมบัติของมหายัญ ๓ ประการ

               ขั้นที่ ๕ ให้ทรงวางพระทัยในผู้มารับทาน ซึ่งจะมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกัน โดยให้ทรงตั้งพระทัยว่า จะทรงเจาะจงให้แก่ผู้ที่งดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เท่านั้น

               ขั้นที่ ๖ ในการทำพิธีบูชายัญนั้น จะต้องไม่มีการฆ่าวัว แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด จะต้องไม่มีการตัดหญ้าคา พวกทาสกรรมกรของพระเจ้ามหา วิชิตราชก็ไม่ต้องถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ตนไม่ต้องการ สิ่งที่ต้องใช้ในพิธีมีเพียงเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น

               เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเตรียมการเสร็จตามขั้นตอนนั้นแล้ว พวกเจ้าผู้ครองเมือง พวกอำมาตย์ พวกพราหมณ์มหาศาล และพวกคหบดีมหาศาลได้นำทรัพย์พวกละจำนวนมากมาถวายร่วมในพิธีนั้น แต่พระเจ้ามหาวิชิตราชไม่ทรงรับ กลับพระราชทานพระราชทรัพย์ให้แก่บุคคลเหล่านั้นอีกด้วย ทั้งนี้ ทรงให้เหตุผลว่า พระราชทรัพย์ของพระองค์มาจากภาษีอากรที่ชอบธรรมของราษฎรนั่นเอง บุคคล ทั้ง ๔ พวกจึงได้จัดตั้งโรงทานขึ้นในทิศทั้ง ๔ ของหลุมยัญ คือ พวกเจ้าผู้ครองเมืองตั้งโรงทานในทิศตะวันออก พวกอำมาตย์ในทิศใต้ พวกพราหมณ์มหาศาลในทิศ ตะวันตก และพวกคหบดีในทิศเหนือ แล้วทำการแจกทานไปพร้อม ๆ กับพระเจ้ามหาวิชิตราช
               เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเล่าจบ พราหมณ์ทั้งหลายในที่ประชุมนั้นพากัน ส่งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ ส่วนกูฏทันตพราหมณ์นั่งนิ่งงงงัน จนพวกพราหมณ์ ซักถามว่า ทำไมไม่แสดงความยินดี กูฏทันตพราหมณ์ตอบว่า ทำไมจะไม่ยินดี ใครไม่ชื่นชมยินดีศีรษะแตกแน่ ๆ แต่กำลังงง ไม่ทราบว่า ทรงทราบเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะไม่ทรงใช้คำว่า "เราได้สดับมาอย่างนี้" หรือ "เรื่องนี้ควรเป็นอย่างนี้" แต่ทรงใช้ว่า "เรื่องเคยมีมาแล้ว" จึงทูลถามพระผู้มีพระภาค ก็ได้รับคำตอบว่า พระองค์ คือพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชามหายัญนั้น และทรงยืนยันว่า การบูชามหายัญครั้งนั้นทำให้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ได้จริง ๆ
               กูฏทันตพราหมณ์ทูลถามว่า ยังมียัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อย แต่มีผลมากกว่ามหายัญดังกล่าวหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือนิตยทาน (การให้ทานที่ทำสืบต่อกันมา ถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล)
ทูลถามว่า มียัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อย แต่มีผลมากกว่านิตยทาน หรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือการสร้างวิหารอุทิศถวายแก่สงฆ์จากทิศทั้ง ๔
               ทูลถามว่า มียัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อย แต่มีผลมากกว่าการสร้างวิหาร หรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือการถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
               ทูลถามว่า มียัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อย แต่มีผลมากกว่าการถึง
พระรัตนตรัยหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือการสมาทานศีล ๕
               ทูลถามว่า มียัญอย่างอื่นที่เตรียมการน้อย แต่มีผลมากกว่าการสมาทาน ศีล ๕ หรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือการออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ชั้น คือ จูฬศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล บำเพ็ญสมถกรรมฐานจนได้ฌาน ๔ แล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไปจนได้วิชชา ๘ บรรลุอรหัตตผล ๒
               กูฏทันตพราหมณ์เลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต แล้วสั่งให้ปล่อยสัตว์ทั้งหมดที่เตรียมไว้ เมื่อได้ฟังอนุปุพพิกถาต่อไปอีกก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

วิเคราะห์มหายัญในกูฎทันตสูตร

               ๑. พระปรีชาสามารถในการสอน
               เมื่อกูฏทันตพราหมณ์ทูลขอให้บอกวิธีการประกอบมหายัญซึ่งมียัญสมบัติ ๓ ประการมีองค์ประกอบ ๑๖ ประการที่เชื่อกันว่าเป็นยัญชั้นสูงสุด สามารถอำนวยผลสูงสุดให้แก่ผู้บูชา แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัด พระพุทธองค์จึงทรงวางแผนการสอนเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย คือ หลักไตรสิกขา(ศีล สมาธิและปัญญา)ของพระองค์
               เริ่มต้น ทรงสร้างศรัทธาในมหายัญตามความเชื่อของพราหมณ์ โดยทรง นำเรื่องการประกอบพิธีบูชามหายัญซึ่งมีคุณสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ ประการ ของพระเจ้ามหาวิชิตราชมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน ทรงเน้นถึงการตระเตรียมการกันอย่างมโหฬาร เพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวและทรงทำได้สำเร็จ เพราะกูฏทันตพราหมณ์และคณะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงและให้ผลได้จริง แต่เพราะทรงเน้นถึงการเตรียมการอย่างมโหฬาร ทำให้กูฏทันตพราหมณ์ทูลถามต่อไปถึงการบูชายัญที่มีการเตรียมการน้อย แต่มีผลมาก ซึ่งเข้าเป้าหมายของพระองค์
               ๒. ทรงให้ทรรศนะปฏิวัติแนวความคิดทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
               พระพุทธองค์ในฐานะพราหมณ์ปุโรหิต ได้ให้คำแนะนำแก่พระเจ้ามหา วิชิตราชเป็นเชิงปฏิวัติแนวความคิดทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในสมัยนั้นดังนี้
              
               ๒.๑ ทรรศนะปฏิวัติแนวความคิดทางสังคม
                              ๒.๑.๑ เปลี่ยนแนวความคิดเรื่องการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์นานาชนิด เป็นการบูชาด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ แต่ให้ใช้เนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยแทน โดยไม่ต้องสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนและสัตว์ ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าและธรรมชาติ
                              ๒.๑.๒ เปลี่ยนความเชื่อจากเดิมที่เชื่อว่ามหายัญที่มียัญสมบัติ ๓ ประการมีองค์ประกอบ ๑๖ ประการ มีผลมาก เป็นความเชื่อใหม่ คือเชื่อว่า มหายัญนั้น มีการเตรียมการมาก แต่มีผลน้อยกว่านิตยทานที่ทำกันสืบ ๆ มา เริ่มตั้งแต่ชั้นต่ำสุด คือ การถวายทานเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล (หมายถึงปุคคลิกทาน ซึ่งมีผลน้อยกว่สังฆทาน) ทั้ง ๆ ที่มีการเตรียมการน้อยกว่า เหตุผลที่มหายัญมีผลน้อยกว่านิตยทานชั้นต่ำ เพราะมหายัญทั่วไปมีการฆ่าสัตว์ ผู้มีศีลสมบูรณ์ เช่น พระอรหันต์จะไม่ไปรับทานในพิธีนั้น ทำให้ขาดองค์แห่งทานที่สำคัญไป คือ ปฏิคาหกที่เป็นทักขิไณยบุคคล
               อนึ่ง ยัญสมบัติหรือคุณสมบัติของมหายัญ ๓ ประการนั้น พระผู้มี พระภาคทรงสอนไว้ในที่อื่น ๆ เหมือนกัน แต่เรียกกันว่า เจตนาสัมปทา ความถึงพร้อมแห่งเจตนาในการให้ทาน หมายถึง จิตที่เป็นโสมนัสประกอบด้วยปัญญาทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ ทำให้ทานนั้นมีผลมาก
              
               ๒.๒ ทรรศนะปฏิวัติแนวความคิดทางเศรษฐกิจ
               เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงปรึกษากับพราหมณ์ปุโรหิตว่า พระองค์มีโภคสมบัติที่เป็นของมนุษย์เป็นอย่างมาก ทรงรบชนะได้ครองดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล จึงทรงปรารถนาจะบูชามหายัญที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่พระองค์ตลอดกาลนาน
               พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลแนะนำว่า บ้านเมืองขณะนั้นมีโจรผู้ร้ายมาก มีการปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้นเมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยว จึงไม่ควรฟื้นฟูพิธีพลีกรรมขึ้นมาในช่วงนั้น ควรปราบโจรผู้ร้ายให้หมดสิ้นไปก่อน แล้วกราบทูลวิธีปราบโจรแนวใหม่ในลักษณะปฏิวัติแนวความคิดเดิม ดังนี้
                              ๒.๒.๑ วิธีปราบโจรแบบเดิม
               วิธีที่พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงคิดจะปราบโจรผู้ร้ายโดยจับมาประหารชีวิตก็ดี จองจำก็ดี
ปรับไหมก็ดี ตำหนิโทษก็ดี เนรเทศก็ดี ไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โจรที่พ้นโทษแล้วก็จะกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนต่อไปอีก
                              ๒.๒.๒ เปลี่ยนหลักพัฒนาเศรษฐกิจขั้นมูลฐาน
               พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลให้แก้ที่ต้นเหตุ คือความยากจนของคนด้วยวิธีปราบโจร
แบบถอนรากถอนโคน ๓ วิธี (ดูข้อเสนอขั้นที่ ๑) ซึ่งเป็นหลักพัฒนาเศรษฐกิจขั้นมูลฐานนั่นเอง คือวิธีที่ ๑ ได้แก่การบำรุงและส่งเสริมการเกษตรของชาวไร่ชาวนา วิธีที่ ๒ ได้แก่การบำรุงและส่งเสริมกิจการธุรกิจของพ่อค้า แม่ค้า และวิธีที่ ๓ ได้แก่การบำรุงและส่งเสริมงานราชการของข้าราชการ ซึ่งทำให้เกิดผลมาแล้วในรัชสมัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช คือเมื่อไม่มีคนจน บ้านเมืองก็สงบสุขและมีรายได้เข้าพระคลังมหาสมบัติอย่างมหาศาล
               วิธีการปราบโจรแบบถอนรากถอนโคนของพราหมณ์ปุโรหิตนี้ ถ้าเทียบกับราชสังคหวัตถุ คือ หลักการสงเคราะห์ของพระมหากษัตริย์ตามแนวพุทธ จะเห็นว่าเข้ากันได้ดี ราชสังคหวัตถุมี ๔ ประการ คือ
               ๑. สสฺสเมธํ ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร หมายถึงรู้จักบำรุงและส่งเสริมการเกษตร
               ๒. ปุริสเมธํ ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ หมายถึง รู้จักบำรุงและส่งเสริมคนดีมีความสามารถของบ้านเมือง
               ๓. สมฺมาปาสํ ความฉลาดในการผูกผสานร่วมใจประชาชนด้วยการบำรุงและส่งเสริมอาชีพ เช่น ให้คนจนกู้ยืมเงินไปลงทุนสร้างตัวด้วยธุรกิจต่าง ๆ มีพาณิชกรรม เป็นต้น
               ๔. วาชไปย หรือ วาจาเปยฺย ความมีวาจาดูดดื่มน้ำใจคน หมายถึง รู้จักพูดให้ผู้ฟังเชื่อถือ นิยมรักใคร่ เข้าใจดีต่อกัน จนสมานสามัคคีต่อกัน ๑
               ๒.๓ ทรรศนะปฏิวัติแนวคิดทางการเมือง
                              ๒.๓.๑ การปกครองแบบธรรมาธิปไตย
               พระเจ้ามหาวิชิตราชที่พระพุทธองค์ทรงนำมาเล่าให้กูฏทันตพราหมณ์ฟังนั้น เห็นได้ชัดว่า ทรงเป็นจักรพรรดิราช หรือ ราชาธิราช เพราะทรงรบชนะ มีเมืองขึ้นมากมาย แต่ละเมืองก็มีพระราชาปกครอง ระบอบการปกครองต้องเป็นแบบราชา ธิปไตย แต่เห็นได้ชัดเช่นเดียวกันว่า ทรงปกครองโดยธรรม ทรงถือธรรมคือความถูกต้องเป็นหลัก เช่น ทรงดำเนินตามคำแนะนำที่ชอบด้วยเหตุผลของปุโรหิตทุก ประการ ไม่ทรงรับของที่บรรดาเจ้าประเทศราช พวกอำมาตย์ ราชบริพารผู้ใหญ่ พวกพราหมณ์มหาศาลและพวกคหบดีมหาศาลนำมาถวาย จึงอาจเรียกระบอบการปกครองของพระองค์ว่าเป็นแบบธรรมาธิปไตยก็ได้
                              ๒.๓.๒ องค์ประกอบ ๑๖ ประการของมหายัญ
               ถ้าพิจารณาองค์ประกอบ ๑๖ ประการของมหายัญให้ลึกซึ้ง จะเห็นว่าเป็นหลักการปกครองหรือหลักรัฐศาสตร์ที่ทันสมัยที่สุด กล่าวคือ การตรวจและแสดงคุณสมบัติ ๘ ประการของพระเจ้ามหาวิชิตราช เทียบได้กับการแสดงวิสัยทัศน์ของนักปกครองในสมัยนี้ การตรวจและแสดงคุณสมบัติ ๔ ประการของพราหมณ์ ปุโรหิต ก็เทียบได้กับการแสดงวิสัยทัศน์ของข้าราชการชั้นสูง ผู้สนองงานของ นักปกครอง ส่วนอนุมัติ ๔ ที่ได้จากบุคคล ๔ พวก คือ (๑) พวกเจ้าผู้ครองเมือง หรือเจ้าประเทศราช (๒) พวกมหาอำมาตย์ราชบริพาร (๓) พวกพราหมณ์มหาศาล (๔) พวกคหบดีมหาศาล เทียบได้กับประชามติที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ นั่นเอง
                              ๒.๓.๓ หลักการพัฒนาคน
               หลักการปราบโจรแบบถอนรากถอนโคนที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากเป็นหลักการพัฒนาเศรษฐกิจขั้นมูลฐานแล้ว ยังจัดได้ว่าเป็นหลักการพัฒนาคนตามมุมมองทางการเมืองได้ด้วย เพราะมุ่งพัฒนาอาชีพของคน เท่ากับเป็นการสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถในอาชีพการงานของตน อันเป็นเหตุให้ก้าวพ้นจากความยากจน เป็นคนมั่งมีขึ้นได้
               อนึ่ง ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหลักการพัฒนาคนแบบ ยั่งยืนไว้ด้วย และถือว่าเป็นเป้าหมายของพระองค์ นั่นคือหลักการพัฒนาทางจิตจากระดับต่ำไปหาระดับสูง เริ่มจากการบูชามหายัญ ที่มีการเตรียมการมาก แต่มี ผลน้อย ไปหานิตยทานขั้นต่ำที่เจาะจงบุคคลผู้มีศีล ซึ่งหมายถึงปุคคลิกทาน เลื่อน ขึ้นสู่สังฆทาน เช่น การสร้างวิหารถวายสงฆ์ แล้วเลื่อนชั้นขึ้นเป็นการนับถือ พระรัตนตรัยหรือไตรสรณคมน์
               การรักษาศีล การเจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌาน แล้วใช้ฌานเป็นฐานเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไปจนได้วิชชา ๘ บรรลุเป็นพระ อรหันต์อันเป็นอริยบุคคลชั้นสูงสุด

สรุป

               มีพระสูตรจำนวนไม่น้อยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อปฏิรูปแนวความคิดทาง สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของสังคมอินเดียสมัยนั้นซึ่งเป็นแนวความคิดแบบพราหมณ์มาเป็นแนวความคิด
แบบพุทธ ดังเรื่องมหายัญในกูฏทันตสูตรนี้ ถ้ามีผู้สนใจช่วยกันศึกษาวิเคราะห์พระสูตรเหล่านี้ในเชิงวิชาการอย่างจริงจัง แล้วนำมาเป็นแนวพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบัน ก็จะเกิดประโยชน์แก่ชาติและประชาชนได้อย่างมาก จึงขอเสนอเพื่อพิจารณา
บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาจุฬาเตปิฏกํ, เล่ม ๙, ๑๕, ๒๑.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ราชวิทยาลัย ๒๕๓๙, เล่ม ๙, ๑๕, และ ๒๑.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ทีฆนิกาย สุมงฺคลวิลาสินี สีลกฺขนฺธวคฺคอฏฺฐกถา.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๓.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,สํยุตฺตนิกาย สารตฺถปกาสินี สคาถวคฺคอฏฺฐกถา.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,องฺคุตฺตรนิกาย มโนรถปูรณี ทุกาทินิปาตอฏฺฐกถา.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,องฺคุตฺตรนิกาย สารตฺถม�ฺชุสา องฺคุตฺตรฏีกา.

_______________

๑ ในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฏก เล่ม ๙ ดู พระไตรปิฏกภาษาไทย
               ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙,ข้อ ๓๒๓-๓๕๘, หน้า ๑๒๕-๑๕๐.
๒ ดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๐/๑๓๘-๑๓๙; ธมฺมปทฏฺฐกถา (ฉบับมหาจุฬาฯ) ภาค ๓ หน้า ๑๐๐-๑๐๒;
               องฺจตุกฺก.ฏีกา๒/๓๙/๓๗๑-๓๗๒ ประกอบ
๓ ดู รายละเอียดในพรหมชาลสูตรและสามัญญผลสูตร ในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฏก เล่ม ๙;
               ดู เวลามสูตร ในองฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๒๐/๔๗๐ ประกอบ
๓ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๐/๑๓๘-๑๓๙; สํ.อ. ๑/๑๒๐/๑๓๔-๑๓๙: องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๙/๖๔-๖๖;
               องฺจตุกฺก.อ. ๒/๓๙/๓๔๐-๓๔๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น