จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สาระอนุพุทธ จากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า เรื่อง พระนันทะ กับนาง อัปสร 500 (หลุดออกจากกาม)

เรื่อง พระนันทะ กับนาง อัปสร 500 (หลุดออกจากกาม)
 ๒. นันทสูตร
   [๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
       สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค
โอรสของพระมาตุจฉา ได้บอกแก่ภิกษุเป็นอันมากอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมไม่
ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์อยู่ได้ ผมจะบอกคืนสิกขาลาเพศ
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะ
พระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉา ได้บอกแก่ภิกษุเป็นอันมากอย่างนี้ว่า ดูกร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ ผมจะบอก
คืนสิกขาลาเพศ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า มาเถิดภิกษุ เธอจงเรียก
นันทภิกษุมาตามคำของเราว่าดูกรท่านนันทะพระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับ
พระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระนันทะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระนันทะว่า
ดูกรท่านนันทะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ท่านพระนันทะรับคำภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถาม
ท่านพระนันทะว่า ดูกรนันทะ ได้ยินว่า เธอได้บอกแก่ภิกษุเป็นอันมากอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย ผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ฯลฯ ผมจักบอกคืนสิกขาลาเพศ ดังนี้จริงหรือ
ท่านพระนันทะกราบทูลว่า จริง พระเจ้าข้า ฯ
     พ. ดูกรนันทะ ท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ จักไม่สามารถทรงพรหมจรรย์ไว้ได้
จักบอกคืนสิกขาลาเพศเพื่อเหตุไรเล่า ฯ
     น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ออกจากเรือน นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยาณี
มีผมอันสางไว้กึ่งหนึ่งแลดูแล้ว ได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระลูกเจ้าพึงด่วน
เสด็จกลับมา ข้าพระองค์ระลึกถึงคำของนางนั้นจึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะ
ทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ จักบอกคืนสิกขาลาเพศ ฯ
     ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากพระวิหารเชตวัน
ไปปรากฏในเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียด
ฉะนั้น ฯ
   
      [๖๘] ก็สมัยนั้นแล นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ มีเท้าดุจนกพิราบมาสู่ที่บำรุงของท้าว
สักกะจอมเทพ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระนันทะว่า ดูกรนันทะ เธอเห็นนาง
อัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ผู้มีเท้าดุจนกพิราบหรือไม่ ท่านพระนันทะทูลรับว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ
   พ. ดูกรนันทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี หรือ
นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไหนหนอแลมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า หรือ
น่าเลื่อมใสกว่า ฯ
   น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงผู้มีอวัยวะใหญ่น้อยถูกไฟไหม้ หูและจมูกขาด ฉันใด
นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานีก็ฉันนั้นแล เมื่อเทียบกับนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ย่อมไม่ 
เข้าถึงเพียงหนึ่งเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงส่วนหนึ่งของเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงการเอาเข้าไปเปรียบว่า
หญิงนี้เป็นเช่นนั้น  ที่แท้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใส
กว่าพระเจ้าข้า ฯ
   พ. ยินดีเถิดนันทะ อภิรมย์เถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอเพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ
๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ
   น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสร
ประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไซร้ ข้าพระองค์จักยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระเจ้าข้า ฯ
   ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขน แล้วทรงหายจากเทวดาชั้น
ดาวดึงส์ ไปปรากฏที่พระวิหารเชตวัน เหมือนบุรุษมีกำลังพึงเหยียบแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด
ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของ
พระมาตุจฉา ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุแห่งนางอัปสร ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเป็น
ผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ
   
      [๖๙] ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสหายของท่านพระนันทะ ย่อมร้องเรียกท่าน
พระนันทะด้วยวาทะว่าเป็นลูกจ้าง และด้วยวาทะว่าผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาว่า ได้ยินว่า ท่าน
พระนันทะเป็นลูกจ้าง ได้ยินว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา ท่านประพฤติ
พรหมจรรย์เพราะเหตุนางอัปสรได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้รับรองท่าน เพื่อให้ได้นาง
อัปสร ๕๐๐ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ 
      ครั้งนั้นแล ท่านพระนันทะอึดอัดระอาเกลียดชังด้วยวาทะว่า เป็นลูกจ้างและด้วยวาทะ
ว่าเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงไถ่มาของพวกภิกษุผู้เป็นสหาย จึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่
ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อัน
ยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วย
ตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระ
อรหันต์ทั้งหลาย ฯ
  
       [๗๐] ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงามยิ่งนัก ยัง
พระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ได้
      ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค โอรสของพระมาตุจฉาทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญา
วิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
แม้ญาณก็ได้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคว่า พระนันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันหา
อาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ฯ
      ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป ท่านพระนันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม
แล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ ผู้มีเท้าดุจนกพิราบ ข้าพระองค์ขอ
ปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการรับรองนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทะ แม้เราก็กำหนด
รู้ใจของเธอด้วยใจของเราว่า นันทะทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ
อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้
แก่เราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาคโอรสของพระมาตุจฉา
ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญา
อันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรนันทะ เมื่อใดแล จิตของเธอหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ
ทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้น เราพ้นแล้วจากการรับรองนี้ ฯ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
   ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้แล้ว ย่ำยีหนาม คือกามได้แล้ว ภิกษุนั้น
   บรรลุถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์ ฯ 
 

พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

นางอัปสร นางฟ้าเทวดา



พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ข้าพเจ้าชอบมาก และทำให้มีความรูสึก ยังอยากจะบวชต่อไป 
ทุกครั้งที่จิตจะส่งออกนอก ตาไปกระทบรูป งาม สวยๆอย่างนี้ ทำให้มีความรู้สึกเกิดเวทนาขึ้น 
มันก็อยากจะสึกไปมีครอบครัว มีแฟนไปตามภาษาโลก นี้เป็นในพรรษาเเรกๆ
บังเอิญไปเจอรูปภาพข้างบน ที่พระพุทธเจ้าพานันทะไปบนสวรรศ์ มีนางอัปสร มากมาย
ตอนเเรกก็ไม่รู้ว่า เป็นภาพบรรยายอะไร เลยเข้าไปหาข้อมูลใน พระไตรปิฎก สยามรัฐ
ก็เจอ เนื้อหาในพระสูตร เรียกว่า นันทสูตร
อ่านไป ก็เข้าใจไม่ยากเลย ทีนี้ความคิด จิตก็ลุกโพรงเข้ามา ทำให้เห็นว่า
ไอ้ความงามความสวย ที่เราหลงๆกันอยู่นี้ มันงามมันสวยมันปรุงแต่ง
ไปเท่าไหรไม่หมดจริงๆ ไอ้คนนู้นก็สวย คนนู้นสวยกว่า คนนั้นสวยกว่าอีก
ตา มันเห็นไปปรุงแต่ง รูป เเล้วเกิดเกิดตัณหา ภพชาติ ..วนเวียนไม่สิ้นสุด
 สรุปว่า บ้าอยู่คนเดียว นี้ไม่รู้จักพิจารณาด้วยปัญญา ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 
ต่อมาเมื่อใจส่งออกก็พิจารณา ว่า ร่างกาย สังขาร เป็นของมิ ใช่ ตัว ใช่ตน ให้เห็นจนว่า
จิตมันเคยชิน เห็นความไม่น่าหลง ต่างๆ และพิจารณาไปอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้ฟุ้งซ่าน
เเต่มองให้คลายความหลงในกาม ให้เห็นความจริง ก็มาดูที่ตัวเราเองทุกครั้ง
ว่า มันสกปรก ไม่สะอาด พิจารณา อสุภในตัวเอง นี้คลายหลง
มองอะไรไม่ได้มองเห็นแบบคนอื่น แต่มันพิจารณา เห็นอย่างนี้ ไม่ได้รังเกียจ 
เพราะ มันเป็นของมันอย่างนั้น แต่มองให้ตัวกิเลศ อวิชชา นี้มันปลง ถ้าไม่
พิจารณาตัว สัตว์ อวิชชาตัวสร้างกิเลศนี้ ก็จะยังมีกำลัง เคยชินกับ รูปราคะ ต่อไป
จนมันหนาและปราบข่มยาก ขัดขวางต่อมรรคผล ดั่งนี้ขอฝากเพื่อนพระที่จะมีวิธีคลายจากกามราคะ ต้องหัดมองพิจารณา อยู่บ่อยๆอย่าให้ขาด หรือ ลืมหลงแล้วกัน มันจะเคยชิน จิตมันจะปล่อยวาง
ตามอัติโนมัติ  คนอื่นมันหลง มันชอบ มันวุ่นวาย จิตกระสับกระส่าย เรานี้เหนือกว่านั้น
คือ พ้นจากสภาพ อย่างฝึกนี้มีผลอาจได้บ้าง มากบ้าง อย่างน้อยก็ยังดีอยู่ ให้ขึ้นชื่อ ว่า พระเสขะ ผู้ทำความเพียรเพื่อเผากิเลศ นี้เรียกว่า เนื้อนาบุญ ยังเป็นศากยบุตร ของพระศาสดา นั้นเอง....
 อุตฺตม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น