จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ชีวประวัติ อนุสรณ์ บางส่วนของการบันทึก ประวัติเเละผลงาน ของพระครูกาชาด (เจียม กิตติสาโร) เจ้าอาวาส วัดหน้าพระบรมธาตุ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

ชีวประวัติของพระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)
 เจ้าอาวาส วัดหน้าพระบรมธาตุ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
(หมายเหตุในบล้อกไม่สามารถจัดอักษรให้เป็นระเบียบได้ การโพสข้อความเป็นอัติโนมัติของการตั้งค่า 
จึงขออภัยในการไม่เรียบร้อย ในข้อมูล)



ชีวิตปฐมวัย

ชีวประวัติของพระครูกาชาด  (เจียม  กิตฺติสาโร)  สถานะเดิมของท่านนั้น  มีชื่อเรียกว่า เจียม นามสกุล โภคา  เกิดเมื่อวันที่  ๑๕  กันยายน  พ.ศ. ๒๔๖๗  ตรงกับวันจันทร์ แรม ๓ ค่ำ เดือนสิบ (๑๐)  ปีชวด  บิดาชื่อนายแจ้ โภคา   มารดาชื่อนางหม้ง  โภคา  อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๐๘๓ หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช   ท่านมีพี่น้อง ร่วมบิดา มารดา เดียวกันทั้งหมด ๘  คน รวมท่านเป็นพี่ชายคนโต ท่านพระครูกาชาดนั้นท่านเกิดกับหมอตำแย        ที่บ้าน ซึ่งเป็นการคลอดที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้น การให้กำเนิด เด็กชายเจียม ไม่มีปัญหาอะไร เป็นไปอย่างราบรื่น มีการเติบโตวิ่งเล่นเหมือนเด็กวัยทั่วไป สุขภาพในวัยเด็ก แข็งแรงบ้าง ป่วยบ้างตามประสา แต่ส่วนใหญ่แล้วชีวิตการป่วยของท่านในวัยเด็กไม่ค่อยจะเจ็บป่วยมากเหมือนเพื่อน ๆที่เล่นอยู่ในวัยเดียวกัน นิสัย เป็นเด็กร่าเริง สนุกสนานเป็นไปตามประสาเด็กบ้านทุ่ง บ้านนา เพราะเป็นลูกของชาวนา ชาวไร่ ในวัยเด็กจึงมีนิสัยที่เป็นหลักคือขยันช่วยการช่วยงาน เป็นงานเป็นการทุกอย่างตามที่จะเรียนรู้ได้ เพราะตัวท่านนั้นเป็นพี่ชาย คนโต ก็มีน้องชาย น้องสาว ที่จะเป็นภาระหน้าที่ของท่านที่จะต้องดูแล ตามหน้าที่  ชีวิตในวัยนั้น เป็นชีวิตในวัยเด็กที่เลี้ยงง่าย       เพราะเป็นยุคสมัยที่ ไม่มีสิ่งที่มายั่วยุดึงความสนใจให้ไปหลงมัวเมาเหมือนดั่งยุคปัจจุบัน วิถีชีวิต ทั้งของตัวท่านเองและในครอบครัว ก็เป็นครอบครัวที่อยู่ง่ายกินง่าย เลี้ยงง่าย อยู่แบบพอมีพอกิน อาชีพหลักในครอบครัว  คืออาชีพทำนา  มีผืนนาหลายไร่  ฐานะทางบ้านในสมัยนั้น  จึงจัดเป็นฐานะปานกลาง อยู่กันไม่ลำบากขัดสน จากการสัมภาษณ์ น้องสาว ๒ คนของพระครูกาชาด       คือ นางเรียง โภคา น้องสาวคนที่ ๔ และนางวาด โภคา น้องสาวคนสุดท้อง คนที่ ๘                    

ในบทสัมภาษณ์ เรื่อง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสถานะทางบ้านในสมัยนั้นอยู่และใช้ชีวิตกันอย่างไร   ซึ่งทั้งสองก็ให้การตอบสัมภาษณ์ว่า  สถานะทางบ้านสมัยนั้นอยู่กันไม่ลำบาก อยู่แบบ   มีกิน  ไม่ขัดสน ฐานะปานกลาง พ่อ แม่ นั้นเป็นคนขยัน คิดการณ์ไกล ได้ขยันอดออมเก็บเงิน       ซื้อที่นาที่ดิน มาหลายไร่ สมัยนั้น นาไร่ผืนล่ะ ๕๐ บาท  เลยซื้อที่นาไว้ได้เยอะ เพื่อแบ่ง ๆ  ไว้ให้ลูกหลานในยามข้างหน้า  และอาชีพหลักทางครอบครัว คือการ ทำนา ปลูกข้าว  ............,,,,,
...................................


ลักษณะนิสัยในวัยเด็กของเด็กชายเจียม


ผู้สัมภาษณ์ได้ถาม เรื่องลักษณะนิสัย ของ เด็กชายเจียมซึ่งก็คือ พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสสาโร) ในปัจจุบัน และในส่วนเรื่องของการทำหน้าที่ดูแล น้องๆและพ่อ แม่  ผู้ตอบสัมภาษณ์ ทั้งสองช่วยกันตอบ ว่า สมัยตอนพวกเราเป็นเด็ก ก็ไม่ได้อยู่กับพี่ชายมากนัก เพราะว่าพี่ชาย เด็กชายเจียม แม่ ให้ไปบวชเรียนเป็นสามเณรอยู่ ในช่วงอายุ ๑๖ ปี ที่วัดคลองขยัน เป็นวัดไม่ไกลจากบ้านมากนัก แต่เมื่อเป็นสามเณรอยู่ พี่ชายสามเณรเจียม ไม่ค่อยได้มาเยี่ยมบ้านบ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่ พ่อ แม่ มักไปหาที่วัดอยู่บ่อยครั้ง พ่อ แม่ เป็นคนนิสัยชอบเข้าวัดทำบุญ จึงดีใจที่ลูกชายบวชเรียนเป็นสามเณร เพราะได้ฝากไว้ กับเจ้าอาวาส ที่พ่อ แม่สนิทกัน คือ พระครูสุจิตรวรสาร ให้ได้ช่วยเป็นเรื่องราวในการศึกษาเล่าเรียน วิชาทางธรรม ของสามเณรเจียม แต่เมื่อถึงวัยอุปสมบทเป็นพระนั้นท่านได้เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมากถ้าทางบ้าน พ่อแม่มีอะไรขัดสนเดือดร้อน หรือ ใครป่วยเป็นอะไร ท่านก็มาเยี่ยมมาดูแลไม่ขาดตกบกพร่อง และก็ช่วยอะไรตามที่ช่วยได้ ตลอดระยะเวลา พี่หลวงท่านไม่เคย ทิ้ง พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เมื่อถึงช่วงเวลาที่พวกเรา แยกย้ายกันไปตั้งครอบครัว เมื่อมีเรื่องอะไรที่ท่านรู้ข่าวเมื่อญาติ เพื่อนฝูง พี่น้อง เดือดร้อนแล้ว ท่านจะยื่นมือมาช่วยอย่างเต็มที่ทุกครั้ง จนญาติ พี่น้อง ของเราทุกคนยอมรับและชื่นชมนิสัยท่าน ว่า เป็นพระที่น่าเคารพนับถือ มีนิสัยอ้อนน้อม อ่อนโยน เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แบ่งปัน โอบอ้อมอารี ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เลือกทำกับใคร หาใครในญาติพี่น้องเราทั้งหลายเปรียบเสมอเหมือนท่านได้ แม้ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ แต่นิสัยเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยน คือ ดีตลอด เพื่อนๆ    พระของท่านมาพูดให้ได้ยินอยู่เสมอ ว่า     ท่านพระครูกาชาด แต่ไหน แต่ไรแล้ว เป็นคนนิสัย ใจกว้างขวาง ไม่โลภ ไม่สะสม ไม่หลงในอำนาจ ลาภสักการะ ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งพวกญาติ พี่น้อง และพระในวัด ทั้งลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิดและสัมผัส ก็รู้ลักษณะนิสัย เหล่านี้ของท่าน พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) เป็นอย่างดี

((จากการตอบสัมภาษณ์ น้องสาวของพระครูกาชาดทั้งสองนั้น คือ นางเรียง โภคา และ นางวาด โภคา   ๓ มกราคม ๒๕๕๕))


ออกบรรพชา

ชีวิตของเด็กชายเจียม โภคา สู่เส้นทางเข้ามาสู่ร่มเงาของพระพุทธศาสนา จากการสัมภาษณ์ พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) โดยตรง ท่านได้บอกเล่าเรื่องราวการเข้ามาบวช         ของท่านว่า ขณะนั้นเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาก็ต้องช่วยแม่เก็บเกี่ยวข้าวกลางนาตามปกติของทุกปีพอหมดงานจากการเก็บเกี่ยวข้าวก็เป็นช่วงว่างจากงาน วันหนึ่งแม่นั่งอยู่ใต้ต้นไม้           แม่ได้กวักมือเรียกไปถาม โดยพูดในทำนองภาษาใต้ ข้อร้องว่า ไอ้นุ้ย เอย เสร็จนา เสร็จไร่แล้ว บวชให้แม่     สักที”  เด็กชายเจียมตอนนั้น ท่านได้กล่าวคัดค้านว่า ค่อยบวชก่อน ให้โตกว่านี้สักนิด ถ้าบวชก็ยังเป็นสามเณรอยู่”  แต่มีคำพูดที่ออกจากปากมารดาเพียงไม่กี่คำที่ทำให้เด็กชายเจียม ตัดสินใจออกบวชด้วยความยินดี โดยแม่ท่านได้พูดว่า ถ้าเกิดแม่ตายเสียก่อน เมื่อไร แม่จะได้เห็นผ้าเหลืองของลูกท่านพระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) ท่านบอกว่าท่านได้ฟังคำนั้น จากที่พูดคัดค้านว่า    จะไม่บวช เกิดความรู้สึกซาบซึ้งน้ำตาไหลขึ้นมา เพราะมีความรักแม่อย่างมาก ก็เลยตัดสินใจตกลงปลงใจบวช  หลังจากนั้นพอเสร็จฤดูเก็บเกี่ยว พ่อ แม่ท่านก็ให้ท่านไปอยู่ที่วัดคลองขยัน    ตำบลบ้านกลาง อำเภอเชียรใหญ่ คือเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เป็นเวลาประมาณ ๒ เดือน และได้ฝากไว้กับเจ้าอาวาสวัดคลองขยัน  ถ้าบวชแล้วให้ช่วยดูแลการศึกษาเล่าเรียนด้านปริยัติธรรม   ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงปีแรกพอดี ใน พ.ศ.๒๔๘๔  ที่พระครูสุจิตรวรสาร เจ้าอาวาสวัดบ้านเนิน     ตำบลบ้านเนิน อำเภอเชียรใหญ่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ปีแรก เด็กชายเจียมซึ่งตอนนั้น อายุ ๑๖ ปี ก็ได้บวชกับ พระอุปัชฌาย์ พระครูสุจิตรวรสาร เป็นสามเณรรูปแรกในปีนั้น บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ เมื่อได้บวชเสร็จแล้วก็กลับไปประจำวัดคลองขยัน วัดประจำบ้านเกิด ในขณะท่านเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี ท่านได้ฝึกหัด ท่องบทสวดมนต์ และใฝ่ใจอ่านหนังสือนักธรรม เพราะว่าท่านตั้งใจจะบวชต่ออีกนาน ซึ่งท่านบอกว่าท่านเป็นเด็กที่มีความตั้งใจและมีความทรงจำดี หนังสือธรรมะต่างๆท่านชอบอ่านเป็นนิสัย มีจิตใจพื้นฐานในการขวนขวายศึกษาธรรมะ ทั้งถามครูบาอาจารย์ในข้อธรรมต่างๆที่ตนเองสงสัย ท่านเป็นคนช่างคิดช่างตั้งคำถามเป็นนิสัยทุนเดิมอยู่แล้วนั้นเอง

อุปสมบท  

เมื่ออายุครบบวช ๒๐ ปี ก็ได้ไปบวชอุปสมบท กับพระอุปัชฌาย์รูปเดิมที่เคยบรรพชาให้ครั้งเป็นสามเณร  คือ พระครูสุจิตรวรสาร  เจ้าอาวาสวัดบ้านเนิน  ตำบลบ้านเนิน  อำเภอเชียรใหญ่  จังหวัดนครศรีธรรมราช  พระกรรมวาจาจารย์  คือ  พระครูพินิจวิหารคุณ  อุปสมบทเมื่อวันที่  ๘  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๖ 


วิถีชีวิตในช่วงอุปสมบทกับการศึกษาเล่าเรียน

ในบางส่วนจากการบอกกล่าวของพระครูกาชาด (เจียม  กิตฺติสาโร) นั้น  ท่านบอกว่า ฝ่ายญาติพี่น้องของท่าน พวกลุง น้า อา ฝ่ายนั้น ก่อนที่ท่านจะเข้ามาบวช  ได้บวชเป็นพระไม่ลาสิกขากัน  ๔-๕  รูป  คือบวชตลอดชีวิต  ท่านกล่าวพูดว่า ฝ่ายเรานั้นมีเชื้อบวชพระ คือ บวชแล้วไม่ค่อยสึก เราเลยมีนิสัยมาทางนี้ ตอนแรก ๆ  เป็นสามเณรคงคิดว่าจะบวชไม่นาน    แค่จะบวชให้ พ่อ แม่ เท่านั้น แต่เส้นทางชีวิตเรามันได้ลิขิตให้เดินมาทางนี้หลังจากอุปสมบท      เป็นพระภิกษุหนุ่มท่านก็ได้กลับไปประจำวัดคลองขัยนเหมือนเดิม ต่อจากนั้นท่านก็ขออนุญาต       เจ้าอาวาส  เพื่อไปศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมที่วัดหน้าพระบรมธาตุ  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ท่านเจ้าอาวาสก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี  ซึ่งในสมัยนั้น                    วัดหน้าพระบรมธาตุ  เป็นสำนักเรียนปริยัติธรรมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราชและภาคใต้ เปิดสอนเป็นทางการ  เมื่อวันที่  ๒๔  สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๖๗  มีสอนทั้งแผนกนักธรรมและบาลี   เจ้าอาวาสและเป็นเจ้าสำนักในสมัยนั้น  คือ  พระอาจารย์หมุ่น  อิสฺสโร (พระครูกาแก้ว) ต่อมามีสมณศักดิ์สูงสุด คือ พระศรีธรรมราชมุนี ปริยัติธรรมวาที สังฆปาโมกข์ เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช  และผู้ช่วย คือ พระมหาใส  ถาวโร ซึ่งต่อมาเป็นเจ้าอาวาส วัดหน้าพระบรมธาตุ และมีสมณศักดิ์ เป็นเจ้าคุณธรรมนาถมุนี ที่เป็นพระอาจารย์หัวหน้าหลักในการสอนปริยัติธรรมและผลักดันการเปิดสำนักเรียนปริยัติธรรมที่วัดหน้าพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  พระภิกษุเจียมก็ได้ศึกษานักธรรมจากพระอาจารย์ทั้งสอง  จนสอบไล่     จบการศึกษานักธรรมชั้นเอก  ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ  เมื่อ  พ.ศ .๒๔๙๐ และก็ขอเรียนต่อบาลี     อีก  ๒  ปี  แต่ไม่ได้จบบาลีเป็นเปรียญธรรม  เรียนจบแค่ชั้นประโยค ๑-๒  เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒        ท่านเจ้าคุณหมุ่น  อิสฺสโร  เลยฝากให้ไปอยู่วัดโคกสมานคุณ  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา เพื่อให้ไปเรียนศึกษาชั้นมัธยมต้น  ต่อมาทางโรงเรียนพุทธยาคมศรียาภัย  อำเภอเมือง            จังหวัดชุมพร  พึ่งเปิดเป็นโรงเรียนมัธยม  ไม่ค่อยมีนักเรียนมาเรียนมากนัก  จึงขอพระไป ๒ รูป   จากวัดโคกสมานคุณ  ท่านจึงต้องไปช่วยเรียนที่นั้น จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ และท่านก็เดินทางไปเรียนต่อที่จังหวัดภูเก็ต  จบด้านบัญชีและพิมพ์ดีด  เรียนจบก็กลับมาประจำ   ที่วัดโคกสมานคุณ  ต่อจากนั้นเมื่อท่านเรียนจบการศึกษาที่ท่านตั้งใจแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นชีวิต    ที่ ต้องช่วยเหลือด้านการศึกษา  เป็นครูพระสอนปริยัติธรรม  เผยแผ่ศาสนา  เป็นระยะเวลานาน   อยู่หลายสถานที่  หลายโรงเรียน  ทั้งจังหวัดสงขลา  จังหวัดชุมพร  จังหวัดนครศรีธรรมราช            

คือ มีบทบาทภาระหน้าที่รับผิดชอบอยู่ ๓ อย่าง
     ๑.   ช่วยงานแม่กองธรรมสนามหลวงของจังหวัดสงขลาทั้งเป็นกรรมการ และครูผู้สอนปริยัติธรรม
     ๒.    เป็นงานหลักคือครูสอนนักธรรม ประจำอยู่หลายโรงเรียน
     ๓.    เป็นครูสอนภาบาลี ขั้นเบื้องต้น


เหตุการณ์ที่ทำให้มาประจำอยู่วัดหน้าพระบรมธาตุ  

ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง   จังหวัดนครศรีธรรมราช

หลังจากพระครูกาชาด (เจียม  กิตฺติสาโร) จบการศึกษามัธยม ๖ ที่โรงเรียนพุทธคยาคมแล้ว  ท่านก็ได้ไปช่วยเป็นครูสอนที่วัดประดู่พัฒนาราม  ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ทำหน้าที่สอนวิชาพระพุทธศาสนาด้านปริยัติได้ทุกวิชาและได้กลับไปสอนหนังสือที่โรงเรียนชุมพรรังสรรค์  จังหวัดชุมพร  เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๙๖  และเป็นรักษาการเจ้าอาวาสที่วัดเนยยาม  อำเภอถลาง  จังหวัดชุมพร  อยู่  ๒  ปี   หลังจากนั้นท่านเสร็จจากวาระการสอนที่นั้นก็ถูกเชิญไปสอนที่ จังหวัดภูเก็ต  ที่วัดหลักช้าง ชาวบ้านที่นั้นขอให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั้น ท่านได้ปฏิเสธ แต่ได้ช่วยอยู่ที่นั้น และเป็นครูสอนอยู่ได้ ๒-๓ ปี พอทำหน้าที่เสร็จจึงลาออกมา ไปประจำอยู่วัดโคกสมานคุณ อำเภอหาดใหญ่เหมือนเดิม แต่ตอนนั้นก็ไปเป็นครูสอนที่วัดนันทาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐  อยู่สอน ๓ ปี  หลังนั้นจากการตอบการสัมภาษณ์ ของ พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) ท่านบอกว่า ตอนนั้นยังเป็นครูสอนที่วัดนันทาราม  วันหนึ่งไปรักษาโยมที่นอนป่วย อยู่ที่โรงพยาบาลปากพนัง ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระธรรมนาถมุนี(ใส ถาวโร)  บังเอิญไปพบ แล้วก็ชวนมาให้ไปอยู่ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  และให้ไปเป็นครูช่วยสอนปริยัติธรรมที่นั้น  หลังจากนั้นก็อยู่ที่นั้นเรื่อยมาตลอด  และก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเทศนา  เป็นนักเทศน์แหล่มหาชาติ  นักเทศน์เดี่ยว ปาฐกถาธรรม  จัดรายการวิทยุ  เป็นนักเทศน์แสดงธรรมมากมาย”  ตั้งแต่บัดนั้นมา พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)หรือพระภิกษุเจียมสมัยนั้น ก็ได้เจริญเติบโตทางตำแหน่งหน้าที่ ได้รับการไว้วางใจจาก พระคณาจารย์ทั้งหลาย  ชีวิตช่วงนั้นมีบทบาททางพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆทั้งทางตำแหน่ง ที่รับเป็นภาระหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งการเป็นเจ้าคณะตำบลช้างซ้าย และเป็นพระอุปปัชฌาย์         และเป็นรองเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ  จนผ่านช่วงชีวิตระยะเวลามาถึงการได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดหน้าพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  อย่างเป็นทางการ  เมื่อเจ้าอาวาสในสมัยนั้น  คือ พระครูปริยัติวโรปการ  ได้สละตำแหน่ง  เนื่องด้วยอาการอาพาธอย่างหนัก  ท่านพระครูกาชาดจึงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้นมา พอถึง พ.ศ.๒๕๔๐ ก็ได้รับต่ำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอพระพรหม และได้มีบทบาทด้านการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง.


ผลงานด้านเกียรติคุณของพระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)

ในบทบาทการพัฒนาสังคมของพระครูกาชาด(เจียม กิตฺติสาโร) นั้นท่านได้รับการยอมรับมอบเกียรติคุณและรางวัลการชมเชย หลากหลายในช่วงชีวิตการทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ผลงานเกียรติคุณที่ได้รับมีดั่งต่อไปนี้
         ๑.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้มอบ ปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาสังคมศึกษา เมื่อวันที่ ๑ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ เมื่อตอน อายุ ๘๐ พรรษา ๖๑ สาขาวิชาจริยศึกษา
         ๒.กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ มอบประกาศเกียรติคุณ ด้าน มีส่วนร่วมและสนับสนุนในการอนุรักษ์สืบทอดและจรรโลงมรดกศิลปวัฒนธรรมไทย ตามโครงการดูแลทรัพย์สินทางศิลปวัฒนธรรมของชาติของพระสังฆาธิการ เมื่อ วันที่ ๒ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕
        ๓.สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ ได้มอบ ใบประกาศเกียรติคุณบัตร ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัว สร้างอาคาร สดุดีมหาราชา ของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย เมื่อ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๐
        ๔.กระทรวงศึกษาธิการ มอบประกาศเกียรติคุณบัตร ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัว ให้แก่การสนับสนุนทุนงบประมาณการจัดตั้ง มูลนิธิ วัดอัมพวัน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๕
       ๕.โรงเรียนเฉลิมราชประชาอุทิศ จ.นครศรีธรรมราช ได้มอบเกียรติบัตร ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ส่วนตัว ในการสนับเงินงบประมาณในด้านการสร้างอาคารเรียน ของโรงเรียน เมื่อ วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๐
       ๖.สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ สามัคยารามได้มอบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ ในการสนับสนุนงบประมาณในการทำประโยชน์ด้านสาธารณะสังคม ชอง สมาคม เมื่อ วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๕
      ๗.มูลนิธิร่วมพัฒนาแผ่นดินเกิดลุ่มน้ำปากพนัง สนองพราชดำริ ได้มอบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ สนับสนุนในการช่วยเหลือโครงการแนวพระราชดำริลุ่มน้ำปากพนัง เป็นเวลาต่อเนื่อง ๕ ปี เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕
     ๘.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ได้มอบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ สนับสนุนเงินงบประมาณในด้านการศึกษามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๖ และ เมื่อ วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ และเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๘
    ๙.มูลนิธิวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณ ได้ยกย่องและมอบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ สนับสนุนทุนงบประมาณ และเป็นบุคคลที่ช่วยเหลือ มูลนิธิด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ทางภาคใต้มาตลอดระยะเวลาหลายปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ ๒๕๔๕ มอบประกาศนิยบัตรทุกปีในการสนับสนุนงบประมาณ และมอบประกาศนียบัตรเกียรติคุณยกย่องบุคคลตัวอย่างที่สนับสนุนในด้านการศึกษาสงเคราะห์ของมูลนิธิ เมื่อ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๕ รวมเงินงบประมาณในการช่วยเหลือ ระยะเวลา ๕ ปี ประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท
    ๑๐.โรงพยาบาลท่าช้าง สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสุราษฎ์ธานี ได้มอบ ประกาศนียบัตร อนุโมทนาให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ สนับสนุนเงินงบประมาณในด้าน สบทุนก่อสร้าง อาคารผู้ป่วยใน(ตึกสงฆ์) โรงพยาบาลท่าช้าง ตำบล.ท่าช้าง อำเภอ.พุนพิน จ.สุราษฎ์ธานี เมื่อ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖ และ วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นเงินงบประมาณ ๒ ปี ปีล่ะ ๕,๐๐๐ บาท
    ๑๑.โรงเรียนวัดคลองขยัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต ๓ อำเภอ.เชียรใหญ่ ได้มอบ ใบอนุโมทนาบัตร ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ สบทุนงบประมาณในการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียน
    ๑๒.กระทรวงศึกษาธิการ มอบประกาศเกียรติคุณ ให้พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)ที่ได้บริจาคทรัพย์ สนับสนุนเงินงบประมาณในด้านการทุนการศึกษา ของโรงเรียนวัดคันธมาสี เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๘ ,วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ,๑๐ มกราคม ๒๕๔๗ และ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๖
    ๑๓.สำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่วนภาคใต้ ได้ยกย่อง มอบประกาศเกียรติคุณ ให้ พระครูกาชาด (เจียม กิตํติสาโร)เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้านศาสนศึกษา ในด้านการช่วยเหลือสนับสนุนงบประมาณ บำรุงและอุปถัมป์ ด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ ทางภาคใต้ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑

((เก็บข้อมูล ที่พอหามาได้เป็นข้อมูล จากใบเกียรติคุณ และใบประกาศนียบัตร และข้อมูลบันทึกจากเอกสารหนังสือการข้อสมณศักดิ์))

บางส่วนชีวิตของการเป็นนักเผยแผ่ธรรม ของพระครูกาชาด


ในส่วนบทบาทด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระครูกาชาด  (เจียม  กิตฺติสาโร) นั้น ได้กระทำมาก่อนที่ท่านจะได้รับสมณศักดิ์ ดำรงตำแหน่งพระครูกาชาด และเป็นเจ้าอาวาส          วัดหน้าพระบรมธาตุในปัจจุบัน  ก่อนเริ่มแรกของบทบาทการเป็นนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา     อย่างจริงจังย้อนไปตอนที่ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัด ฐานานุกรมของพระธรรมนาถมุนี  เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ เมื่อมีตำแหน่งในยุคนั้นก็เป็นที่รู้จักของชาวบ้าน  ท่านได้เริ่มการทำหน้าที่          เป็นนักเผยแผ่ธรรมะ ประจำของวัดหน้าพระบรมธาตุ  จนเป็นที่รู้จักของประชาชน และ ชาวบ้าน ทั้งต่างจังหวัด และ ต่างอำเภอ   ชาวบ้านเรียกท่านง่าย ๆ  ว่า ท่านปลัดเจียม  ในสมัยนั้น ท่านเป็นนักเทศน์ที่ เก่งกาจในการเทศน์ในหลายด้าน เช่น เป็นพระธรรมกถึก นักเทศน์เดี่ยว   เป็นนักเทศน์ปุจฉา วิสัชนา  เป็นนักปาฐกถาธรรม  เป็นนักอภิปรายและบรรยายธรรม เป็นนักเทศน์ออกอากาศประจำสถานีวิทยุ และ เป็นนักเทศน์มหาชาติที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ เป็นที่ชื่นชอบ และเป็นที่รู้จัก ของประชาชนทั่วไป  ชื่อเสียงที่ได้มาจากการเทศน์มหาชาตินั้น  ท่านจึงมักเป็นที่นิยมมากกว่า    การเทศน์ในด้านอื่น ๆ   ในการสัมภาษณ์น้องสาวของท่านพระครูกาชาด เรื่องการเป็นที่นิยมในการเทศน์มหาชาติของท่านอาจารย์ในยุคสมัยหนุ่ม ๆ  นั้น  น้องสาวท่านตอบให้สัมภาษณ์ ว่า            ตอนที่เป็นหนุ่ม  ยังแข็งแรงอยู่  ท่านพระครูกาชาด เป็นนักเทศน์มหาชาติที่หาใครเทียบไม่ได้  ในลีลาการเทศน์        ทั้งน้ำเสียง  จังหวะ  และอารมณ์ในการใส่ลงไปในตัวละครมหาชาติ  ถ้าเป็นผู้หญิงก็เล่นเสียงผู้หญิง  ถ้าเสียงผู้ชายอย่างชูชก  แม้ตัวละครตัวไหน  รูปแบบอย่างไร  ท่านทำเสียงให้เข้ากับตัวละครและอารมณ์นั้นได้หมด  ชาวบ้านรู้จักมาก มีชื่อเสียงมาก”     และในตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัด  ตั้งแต่  พ.ศ. ๒๕๑๐  ท่านก็ทำหน้าที่การเทศน์  แสดงธรรม  เผยแผ่พระพุทธศาสนามาตลอดในระยะเวลา  จนได้สมณศักดิ์สูงสุด      เป็นพระครูกาชาด  และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ  ท่านก็ยังทำหน้าที่        เป็นนักเผยแผ่อบรมธรรมมะ  เป็นธุระในการอบรมสั่งสอนธรรมมะแก่คฤหัสถ์เรื่อยมา  ดังหลักฐานประกอบการขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ของท่าน   เมื่อ  พ.ศ.๒๕๔๗  ในเรื่องการเผยแผ่     ตอนหนึ่งระบุว่า  พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๖  ท่านพระครูกาชาดได้รับหน้าที่เป็นพระธรรมทูต  สายที่ ๘ จังหวัดนครศรีธรรมราช  มีการจัดรายการเทศน์ประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพภาคที่  ๔ จังหวัดนครศรีธรรมราชทำมาหลายปี  และเทศน์มหาชาติภายในจังหวัดและต่างประเทศ       เช่น  มาเลเซีย  พม่า ส่วนการเทศน์ภายในตัวจังหวัดนครศรีธรรมราช  จากการสัมภาษณ์      พระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) ท่านได้กล่าวว่า ในสมัยหนุ่ม ๆ เรามีชื่อเสียงมาก  งานเทศน์นี้     มีคิวข้ามปี  โดยเฉพาะการเทศน์มหาชาติ  แม้จะเป็นประเพณีการเทศน์แบบภาคกลาง  แต่ในยุคนั้นชาวบ้านนิยมสนใจและชอบฟังกันมาก  มันไม่น่าเบื่อ  ท่านได้รับการนิมนต์บ่อยที่สุด   มีคู่นักเทศน์  คือ พระมหาเรื้อย   ที่เทศน์ด้วยกัน และในทุก ๆ  อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราชเราไปเทศน์หมด มีคิวข้ามปีเลยทีเดียว
นอกจากการเด่นในเรื่องการเทศน์มหาชาติ ของพระครูกาชาด (เจียม  กิตฺติสาโร ) แล้ว  ท่านบอกว่าท่านยังสนใจและมีความสามารถ   ในการเทศน์ปฏิภาณ  สามารถเทศน์เดี่ยว  เทศน์คู่  เทศน์ปุจฉา-วิสัชชนา ๒ ธรรมมาสน์    หรือ  ๓  ธรรมมาสน์  นั้นได้หมด  

((จากบทให้สัมภาษณ์ของพระครูกาชาด และ น้องสาว นางเรียง โภคา และ นางวาด โภคา 
๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕))

ได้รับการแต่งตั้ง ยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นพระครูชั้นเอก เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอพระพรหม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ พร้อมพระภิกษุสงฆ์และสามเณรร่วมอนุโมทนา

ด้านการปกครอง
ท่านพระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) ได้รับตำแหน่งด้านการปกครองมาตามลำดับ ดังนี้

๑)   พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นเจ้าคณะตำบลช้างซ้าย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ขณะนั้นมีสมณศักดิ์ เป็น พระครูปลัดเจียม กิตฺติสาโร)
           ๒)   พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นพระอุปัชฌาย์
           ๓)  พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นรองเจ้าอาวาส วัดหน้าพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
           ๔) เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดหน้าพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัด               นครศรีธรรมราช
           ๕) เป็นเจ้าอาวาส วัดหน้าพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดย เฉพาะบทบาทที่สำคัญในตำแหน่งการปกครอง ของพระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์ เป็น พระครูปลัดเจียม กิตฺติสาโร
           ๖)พ.ศ. ๒๕๔๔  เป็นเจ้าคณะอำเภอ พระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช  มีวัดในเขตปกครอง  ๑๘ วัด
((เวลาต่อมา ด้วยสุขภาพของท่านที่ไม่เเข่งเเรง จึงขอลาออกจากต่ำเเหน่ง มาทำหน้าที่ เป็นที่ปรึกษา เจ้าคณะอำเภอพระพรหม))

.....สมัยโบราณสมณศักดิ์ของ พระครูกานี้มีความสำคัญ      และผูกพันกับ วัดพระธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช  ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาพระธาตุทั้ง ๔ ทิศ   โดยมีกาทั้ง  ๔  เฝ้ารักษาดังนี้ 
 ๑. พระครูกาแก้ว (กาสีขาว) รักษาด้านทิศตะวันออก                   
๒. พระครูการาม (กาสีเหลือง) รักษาด้านทิศใต้  
๓. พระครูกาชาด (กาสีแดง) รักษาด้านทิศตะวันตก  
๔. พระครูกาเดิม (กาสีดำ) รักษาด้านทิศเหนือ



คติแนวคิดคำสอนของพระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร)

จากการบันทึกเสียง การสอนของพระครูกาชาด (เจียม กิตฺติสาโร) ในพิธีอุปสมบท การทำหน้าที่พระอุปปัชฌาย์ กล่าวสอนนาคพร้อมญาติโยม และพระภิกษุ แบ่งแยกประเด็นในหัวข้อการบรรยายดังนี้ 
((สอนนาคเรื่องความกตัญญู กตเวที, บันทึกเสียงด้วยเครื่องเล่น mp3 Sony,ณ.อุโบสถ วัดหน้าพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช,๕ มกราคม ๒๕๕๕.))

๑.เรื่องความกตัญญู กตเวที

ร่างกายของเรานั้น ให้จ้าวนาค และญาติโยมที่มานั่งฟังในวันนี้ ได้ยินได้รับรู้ไปพร้อมเสียกันเลยว่าชีวิตและร่างกายของเรานั้นที่เราได้มีอยู่ ได้กำเนิดเกิดมา นั้นมาจาก พ่อ แม่ พ่อและแม่ นั้นร่วมกันเป็นผู้ให้กำเนิดเกิดเรามา เราเกิดจากที่อื่นไม่ได้ ไม่ได้มีพระเจ้าใดสร้างมา แต่พ่อ แม่นั้น เป็นผู้ให้กำเนิด หรือเราจะเรียกว่าพระเจ้าก็ได้ ดังนั้น นี้ถือว่า คือ ผู้มีบุญ ผู้มีคุณ ที่ท่านทั้งสองได้ประคบประห่มดูแลให้เราอยู่มาได้ในทุกวันนี้ มีร่างกายครบ ๓๒ ประการสมบูรณ์ ดังนั้นเราต้องทำหน้าที่ของลูก ที่เรียกว่า ความกตัญญู กตเวที คือการรู้คุณของบุคคลอื่น และ กตเวที ก็คือ บุคคลที่ตอบแทนผู้มีคุณแก่ตน ดังนั้น คำว่า กตัญญูกตเวที จึงหมายถึง บุคคลผู้รู้คุณที่คนอื่นกระทำแล้วและทำตอบแทน ใช้ได้กับทุกคนที่เข้ามีคุณกับเรา แต่ในที่นี้เราหมายถึง พ่อ แม่ หรือ เรียกว่า บุพการี ทางสายโลหิต  คุณพ่อ แม่ มีอย่างไรบ้าง พ่อแม่ เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูก เลี้ยงดู ป้องกันและรักษา พ่อแม่ที่เป็นพ่อแม่จริงๆ เมื่อให้กำเนิดลูกแล้วจะไม่ทอดทิ้ง ถึงแม้จะประสบความลำบากยากจน ลำเค็ญสักเพียงใดก็ตาม ก็จะไม่ทอดทิ้งลูก กลับคอยป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ไม่ให้เกิดแก่ลูก เมื่อมีเหตุสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ เช่น ต้องประสบภัยคือความเจ็บไข้ได้ป่วย พ่อแม่ก็ไม่ทอดทิ้งพยายามทำการรักษา พยาบาลด้วยตัวเองบ้าง หาหมอมารักษาบ้าง บางครั้งพ่อแม่ต้องทำงานหนัก อาบเหงื่อต่างน้ำ ยอมอด ยอมทนเพื่อลูก ต้องการให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน มีความรู้ ความฉลาดเท่าทันคนอื่น พ่อแม่นอกจากจะให้กำเนิด เลี้ยงดู ป้องกันรักษาลูกแล้ว ท่านทั้งสองยังมีจิตใจที่ประกอบด้วยคุณธรรม คือ พรหมวิหารธรรม 4 ประการ อันได้แก่ เมตตา ความรักใคร่สนิทสนม กรุณา ความปรานีสงสารในเมื่อมีความทุกข์ยากเดือดร้อน มุทิตา พลอยยินดีในความสำเร็จของลูกด้วยความจริงใจ และอุเบกขา ความวางเฉยในเมื่อลูกมีการงานทำ สามารถเลี้ยงตนและครอบครัวได้ พ่อแม่ได้ทำการเลี้ยงดู จึงต้องเลี้ยงท่านตอบแทน ช่วยทำการงานของท่าน รักษาวงศ์สกุลไว้ ประพฤติตนให้เป็นผู้ควรรับมรดก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ควรทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ ดังนั้น พ่อแม่จึงเป็นผู้มีคุณแก่ลูกทั้งหลาย  ดังนั้นการที่เข้ามาบวช ในครั้งนี้ ถือว่าทำให้ พ่อ แม่ สบายใจ คือ การตอบแทนบุญ คุณ ตามรูปแบบประเพณี และเราจะเข้ามาศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย เพื่อขัดเกลาตัวเองเป็นคนใหม่ คือเปลี่ยนจิตใจใหม่ให้มันดีขึ้น เมื่อลาสิกขาออกไปแล้วจะเป็นคนดีของสังคม และรู้ จัก ความรู้ผิด รู้ชั่ว สามารถหลีกหนีกับมันได้ และเป็นลูกที่ดีของพ่อ แม่อย่างถูกต้อง.

๒.แนวคำสอนเรื่องกฎไตรลักษณ์ 

 ((สอนนาคแนวคำสอนเรื่องกฎไตรลักษณ์. บันทึกเสียงด้วยเครื่องเล่น mp3 Sony,ณ.อุโบสถ วัดหน้าพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช,๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕.))
ชีวิตของพวกเราทั้งหลายนั้น ที่นั่งๆกันอยู่ จะมองเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงกันมาเรื่อยๆ และได้ตายกันมาในหลายอายุ อายุ ๕ ขวบ อายุ ๑๘ อายุ ๓๐ ๔๐ มาถึงปัจจุบัน นี้อายุในช่วงชีวิตนั้นได่ผ่านพ้นมาในหลายๆคน วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ และ มาวัยแก่ชรา  คนที่มีปัญญา สามารถจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ ในแต่ละช่วงชีวิต เพราะร่างกายมันได้เปลี่ยนแปลงมาตลอด และภายใน และภายนอกได้ตายเกิดอยู่ตลอดเวลา มาดูพิจารณากันให้ชัดๆ ว่าถ้าภายในนี้ คือส่วนร่างกายประกอบข้างใน เช่น เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง นี้มันเกิดขึ้น และดับ หาย และเกิดขึ้นตลอด ไม่มีสิ่งใดที่เป็นสิ่งเดิม และเราก็อยู่ได้มาวันนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของมัน ร่างกายข้างในมันเหมือนเครื่องจักรและมันทำงานของมัน ถ่ายของเสีย รับสารอาหารและกระจายไปทั่วร่างกาย ถ้ามันไม่เปลี่ยนแปลงยังคงอยู่แบบเดิมเราคงไม่เป็นเราอยู่ทุกวันนี้ อาจจะตายไปแล้วก็ได้ แต่นี้ที่เรามีชีวิตอยู่เพราะมันทำงานกันอย่างต่อเนื่อง เลือดอะไร ก็หมุนเวียน การขับถ่ายของเสียก็ทำงานอย่างปกติ ส่วนร่างกายภายนอก นี้มันก็ตายเปลี่ยน ตายเกิด ดูที่ผิวหนังของเรานี้มันมีผิวหนังที่หมดอายุ และก็ผลิตผิวหนังใหม่มาอีก และก็เป็นอยู่อย่างนี้  เส้นผมมันเติบโตยาว หลุดร่วงและก็เติบโตมาใหม่ จนว่ามันจะขาวโพลนทั้งหัว แม้ว่าจะย้อมปิดบังมันก็ได้ไม่นาน ตาที่เคยผ่องใส มันก็จะเปลี่ยนมาดูไม่ค่อยชัด ชัดเจน จนว่ามันจะขุ่นมัวไปตามความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างในทั่วทุกสารทิศร่างกาย ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้ มันไม่มีอะไรที่ทนอยู่ได้ตามสภาพของมัน ที่เรียกว่า ทุกขัง ที่มันเกิดขึ้นแล้วสลายตัว มันทำให้เห็น ความเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า อนิจจัง คือ อาการที่ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ในขันธ์เหล่านี้  จะห้ามดวงตาไม่ให้ขุ่นมัว จะห้ามหูไม่ให้ตึง จะห้ามผมไม่ให้หงอก จะห้ามฟันไม่ให้หัก จะห้ามผิวหนังไม่ให้เหยี่ยว จะห้ามร่างกายไม่ให้ป่วย นี้มันห้ามไม่ได้ แม้ว่ามันเป็นของเราแท้ๆ ที่เรานี้มันรู้สึกอย่างนั้น ถ้าทุกอย่างที่เราเข้าใจว่าเป็นของเรา เราก็ต้องสั่งบังคับมันได้ นี้บังคับไม่ได้แสดงว่ามันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของธรรมชาติ จึงเข้า ภาษาพระที่เขาเรียกว่า อนัตตา ไม่ใช่ตัวใช่ตน เป็นส่วนประกอบของธรรมชาติทั้งสิ้น ถ้าแยกส่วนทั้งหลายในร่างกายของเราออกไปคนทิศคนทาง ส่วนไหนบ้างที่เราจะชี้มันว่าตัวเรา  นั้นมันส่วนลำแขนขาดลอยไปข้างหนึ่ง นั้นมันส่วนใบหู นั้นมันส่วนศรีษะ ที่ตกอยู่บนพื้น นั้นมันนิ้วเท้าที่ขาดอยู่ นี้เราชี้ว่า ตรงไหนมันเป็นตัวเราไม่ได้ แต่ที่ธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธาตุทั้งสี่ ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม ธาตุไฟ  นี้มาประชุมกัน รวมเป็นร่างกาย ที่มีเบญจขันธ์ปรุงแต่งสมมติว่าเป็นเรา เป็นเขาขึ้นมา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน นี้แหละเป็นส่วนนามธรรมที่ทำให้ ตัวเรามีความรู้สึกว่ามีตัว มีตน ขึ้นอย่างนั้น และก็จะหลงยึดมั่น ถือมั่นกัน จนจะมีความเห็นแก่ตัว เบียดเบียนคนอื่นได้ และจะหลงแสวงหาสิ่งทั้งหลายมาตามตัณหา ตามอารมณ์ นี้เพราะมีอวิชชา ความไม่รู้อะไร สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพราะตัณหากิเลศ นี้มันปิดบังปัญญา ชีวิตเราก็มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ในเรื่องที่จะให้จิตใจหม่นหมอง เศร้าหมอง ร้อนเร่าในใจอยู่ตลอด เมื่อกิเลศมันแสดงอาการ เป็นเพราะความมีตัวมีตนในความรู้สึกนั้นเอง ถ้าเราทั้งหลายหันมาพิจารณาว่า ร่างกายเรามันเป็นความจริงที่กล่าวมา ว่ามัน เป็นกฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แม้ของเราก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ของคนอื่นก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ก็เป็นในกฏไตรลักษณ์ ทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ให้มากเรา จะมีความทุกข์น้อยลงที่เกิดจากการยึดสิ่งทั้งหลายมาเป็นของเรา หากเราจะมีมาก็ด้วยสติปัญญา รู้เท่าทัน ไม่ให้สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมาแสดงเป็นความทุกข์ให้แก่เราอีกต่อไป และจะอยู่กับสิ่งทั้งหลายอย่างมีค่าที่สุด ทำหน้าที่ตามความถูกต้องที่เราควรจะทำต่อกันอย่างสันติ และชีวิตนี้มันจะอิสระจากสิ่งทั้งหลาย ที่เรียกว่า เป็นไท คือ อิสระจากกิเลศทั้งหลายทั้งปวง สิ่งเหล่านี้ก็ต้องอยู่กับการฝึกฝนเรียนรู้ตามทางของพระพุทธเจ้าที่ทรงชี้บอกพวกเราทั้งหลายต่อไปนั้นเอง

.........................................................................
ข้อมูลภาพประกอบ

(หมายเหตุมีเหตุประการใดในการตรองข้อมูลเมื่อพบข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงในส่วนใด จะกลับมาเเก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง) 



2 ความคิดเห็น:

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น