จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย เพื่อ อะไร



จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย

                  พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อที่มารวมกันเป็นสิกขาบท  เพื่อเป็นข้อฝึกหัดทางกายวาจานี้ พระองค์แสดงวัตถุประสงค์ทุกครั้ง จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัยมี ๑๐ ประการ คือ


 จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยส่วนรวม

                                ๏ สังฆะสุฏฐุตายะ เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดโดยรวม ที่ยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์นั้น หมายถึง พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติโดยการบังคับ กดขี่ตามพระพุทธอำนาจ แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทโดยการยอมรับจากสงฆ์ว่าที่บัญญัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีแก่ส่วนรวม  เพื่อให้เกิดผลดีร่วมกันและทุกฝ่ายต่างให้การยอมรับ

                                 ๏ สังฆะผาสุตายะ  เพื่อความผาสุกของพระสงฆ์ หมายถึง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยดี  นอกจากพระสงฆ์จะอยู่ร่วมกันด้วยความเรียบร้อยแล้ว   ต้องเกิดความสบายแก่ทุกฝ่ายด้วย


ประโยชน์เฉพาะบุคคล

                                ๏  ทุมมังกูนัง ปุคคะลานัง นิคคะหายะพื่อกำราบคนหน้าด้าน ไม่มียางอาย  หมายถึง  หากพระองค์ไม่บัญญัติสิกขาบทชี้โทษให้เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด  อะไรมีโทษน้อยอะไรมีโทษมาก คนที่หน้าด้านไร้ยางอายเหล่านี้เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็จะทำอะไรได้ทุกอย่างตามใจชอบ เพราะถือว่าไม่มีข้อห้าม

                                ๏  เปสะลานัง  ภิกขูนัง ผาสุวิหาระตายะ เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีล  หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทก็เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่มีศีล  คนเหล่านี้มักจะมีความละอายสงบเสงี่ยมเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่สร้างความรำคราญให้แก่ผู้อื่น  หากพระองค์ไม่บัญญัติสิกขาบท ท่านที่มีศีลเหล่านี้ก็จะอยู่ด้วยความลำบาก  เพราะจะถูกรบกวนจากคนที่ไร้ยางอายคอยสร้างปัญหาสร้างความรำคราญให้

    จุดประสงค์เพื่อประโยชน์คือความดีงามแห่งชีวิต

                                ๏  ทิฏฐะธัมมิกานัง อาสะวานัง สังวะรายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทเพราะคำนึงถึงผลดีและผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้บวช เช่น ถูกชกต่อย, ถูกตีด้วยไม้, ถูกตัดมือตัดเท้า, ถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองในลักษณะต่างๆ ตามสมควรแก่ความผิด ตลอดถึงการเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว จะทำให้ผู้บวชมีความสำรวมระวังมากขึ้น  เป็นการป้องกันไม่ให้โทษดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังบวชอยู่

                                ๏  สัมปะรายิกานัง อาสะวานัง ปะฏิฆาตายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดในอนาคต เป็นการป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้บวชในอนาคต  อันเนื่องมาจากผลแห่งบาปกรรมที่ไม่สำรวมระวังในความเป็นพระ ท่านแสดงโทษของการผิดศีลไว้ ดังนี้ บ้านแตกสาแหรกขาด ทรัพย์สมบัติล่มจม  ร่างกายเกิดโรคภัยเบียดเบียน

              
 จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน

                                ๏   อัปปะสันนานัง วา ปะสาทายะ เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส

                                ๏  ปะสันนานัง วา ภิยโยภาวายะ เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้วมีความเลื่อมใสยิ่งขึ้น

                ประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทั้งสองข้อนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเอง  คือ เมื่อคนเป็นอันมากได้เห็นพระสงฆ์ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล งดงามด้วยอาจาระ ก็จะเกิดความเลื่อมใส  และผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะเกิดศรัทธามากยิ่งขึ้น นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตามธรรมะคำสั่งสอนเพื่อเข้าสู่ความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป


 จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา

                                ๏  สัทธัมมัฏฐิยา  เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม คือ เมื่อมีการบัญญัติสิกขาบท ภิกษุทั้งหลายย่อมเรียนสิกขาบทและพระพุทธวจนะเมื่อปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ย่อมได้บรรลุโลกุตตรธรรม ที่ตนจะพึงบำเพ็ญข้อปฏิบัติแล้วบรรลุได้ด้วยความปฏิบัติ เพราะฉะนั้น พระสัทธรรมทั้งหมด ชื่อว่าเป็นสภาพตั้งอยู่ยั่งยืนนานด้วยสิกขาบทบัญญัติ

                                ๏  วินะยานุคะหายะ พื่ออนุเคราะห์พระวินัย คือ เพื่อให้ภิกษุเคารพในวินัย  อันเป็นกฎระเบียบเเบบแผนขนบธรรมเนียมที่ทรงบัญญัติไว้ ให้บังเกิดมีผลในการปฏิบัติตามหลักการอย่างหนักแน่นมั่นคง

 ที่มา จากหนังสือ ลูกผู้ชายต้องบวช ผู้แต่ง ญาณวชิระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น