จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เราถามพระพุทธเจ้าตอบ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ 2

พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
 เหตุทำให้เกิดความกลัวป่าเปลี่ยว
 ปัญหา เพราะเหตุใดผู้บำเพ็ญเพียรทางจิตใจบางท่าน เมื่อเข้าไปอยู่ในป่าเปลี่ยวจึงเกิดความหวาดกลัว แต่บางท่านก็ไม่หวาดกลัว ?
 พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพราหมณ์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์.... มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์..... มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์..... มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์..... มีความอยากได้ มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย.... มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจชั่ว.... อันถีนมิทธะกลุ้มรุมแล้ว.... ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบระงับ มีความสงสัยเคลือบแคลง... ยกตนข่มผู้อื่น ... เป็นผู้หวาดหวั่น มีชาติแห่งคนขลาด.... ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ.... เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม.... มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ... มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด.... มีปัญญาทราม เป็นใบ้ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเกิดมีความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตนคือความเป็นผู้มีปัญญาทรามและเป็นคนบ้าใบ้เป็นเหตุ....ฯ
 ภยเภรวสูตร มู. ม. (๓๑-๔๔)
ตบ. ๑๒ : ๒๙-๓๕ ตท.๑๒ : ๒๖-๓๑
ตอ. MLS. I : ๒๒-๒๕


ความกลัวบางอย่างเกิดจากตนเป็นเหตุ

ปัญหา มีผู้กล่าวว่า ความหวาดกลัวบางอย่างเกิดจากความเข้าใจผิดของตนเอง มีความจริงเพียงใด และจะกำจัดความหวาดกลัวชนิดนี้ได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ไฉนหนอเราพึงอยู่ในราตรี ... ที่กำหนดกันว่า ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักข์..... พึงอยู่ในเสนาสนะคือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์ น่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า.... ถ้ากระไร เราพึงเห็นความกลัวและความขลาด ดังนี้ ดูก่อนพราหมณ์ ต่อมา เราอยู่ในราตรี ... เห็นปานนั้น อยู่ในเสนาสนะเห็นปานนั้น .... ก็เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะเห็นปานนั้น เนื้อมาก็ดี นกยูงทำไม้ให้ ตกลงมาก็ดี หรือว่าลมพัดใบไม้ให้ตกลงมาก็ดี เรานั้นได้มีความดำริอย่างนี้ว่าแน่นอน ความกลัวและความขลาดนั้นกำลังมา เราได้มีความดำริอย่างนี้ว่าไฉนหนอเราจึงเป็นผู้ปรารถนาภัยอยู่โดยแท้ ทำอย่างไรหนอเราจะพึงกำจัดให้ความหวาดกลัวและความขลาด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ?”

ภยเภรวสูตร มู. ม. (๔๕)
ตบ. ๑๒ : ๓๖ ตท.๑๒ : ๓๑
ตอ. MLS. I : ๒๖

 ความเห็นอันถูกต้องของพระสาวก
 ปัญหา สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องมีทรรศนะเกี่ยวกับชีวิตอย่างไร จึงจะถือว่าถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอัคคิเวสสะ สาวกของเราในพระธรรมวินัยนี้ย่อมเห็นเบญจขันธ์นั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึงทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดังนี้

ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ด้วยเหตุเท่านี้แหละ สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจอันเป็นเหตุให้กล่าวว่าข้อนี้เป็นอย่างไร ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตนฯ
 จูฬสัจจกสูตร มู. ม. (๔๐๑)
ตบ. ๑๒ : ๔๓๓-๔๓๔ ตท.๑๒ : ๓๕๗-๓๕๘
ตอ. MLS. I : ๒๘๘

 วิธีกำจัดความขลาด
 ปัญหา ความกลัวก็ดี ความขลาดก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่เราเป็นครั้งคราว เราจะกำจัดความกลัวและความขลาดได้โดยวิธีใด ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่าเราพึงเป็นผู้ข่มความกลัวและความขลาดได้ อนึ่ง ความกลัวและความขลาดอย่าพึงครอบงำเราได้เลย เราพึงครอบงำย่ำยีความกลัวและความขลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิดดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำตนให้เหินห่างจากฌาน พอกพูนสุญญาคาร (คือพยายามอยู่ในเรือนว่างหรือที่สงัดเงียบ บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ)

อากังเขยยสูตร มู. ม. (๓๙)
ตบ. ๑๒ : ๕๙ ตท.๑๒ : ๕๐
ตอ. MLS. I : ๔๒


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น