จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลักการพระพุทธศาสนากับหลักการวิทยาศาสตร์

 หลักการพระพุทธศาสนากับหลักการวิทยาศาสตร์


หลักการของพระพุทธศาสนากับหลักการของวิทยาศาสตร์มีทั้งส่วนที่สอดคล้อง และส่วนที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้ ความสอดคล้องกันของหลักการของพระพุทธศาสนากับหลักการวิทยาศาสตร์

1. ในด้านความเชื่อ (Confidence) หลักการวิทยาศาสตร์ ถือหลักว่า จะเชื่ออะไรนั้นจะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เสียก่อน วิทยาศาสตร์เชื่อในเหตุผล ไม่เชื่ออะไรลอย ๆ และต้องมีหลักฐานมายืนยัน วิทยาศาสตร์ไม่อาศัยศรัทธาแต่อาศัยเหตุผล เชื่อการทดลองว่าให้ความจริงแก่เราได้ แต่ไม่เชื่อการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกอย่างดำเนินอย่างมีกฎเกณฑ์ มีเหตุผล และวิทยาศาสตร์อาศัยปัญญาและเหตุผลเป็นตัวตัดสินความจริง วิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่า สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนดำเนินไปอย่างมีเหตุผล มีความเป็นระเบียบและมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน

หลักการทางพระพุทธศาสนา มีหลักความเชื่อเช่นเดียวกับหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้สอนให้มนุษย์เชื่อและศรัทธาอย่างงมงายในอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ แต่สอนให้ศรัทธาในอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ที่จะก่อให้เกิดปัญญาในการแก้ทุกข์แก้ปัญหาชีวิต ไม่สอนให้เชื่อให้ศรัทธาในสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ สอนให้มนุษย์นำเอาหลักศรัทธาโยงไปหาการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ ด้วยปัญญา และด้วยการปฏิบัติ ดังหลักของความเชื่อใน กาลามสูตรคืออย่าเชื่อ เพียงเพราะให้ฟังตามกันมา อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้เรียนตามกันมา

อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
อย่าเชื่อ เพียงเพราะเสียงเล่าลือ
อย่าเชื่อ เพียงเพราะอ้างตำรา
อย่าเชื่อ เพียงเพราะตรรกะ หรือนึกคิดเอาเอง
อย่าเชื่อ เพียงเพราะอนุมานหรือคาดคะเนเอา
อย่าเชื่อ เพียงเพราะคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าเชื่อ เพียงเพราะตรงกับทฤษฎีของตนหรือความเห็นของตน
อย่าเชื่อ เพียงเพราะรูปลักษณะน่าเชื่อ
อย่าเชื่อ เพียงเพราะท่านเป็นสมณะหรือเป็นครูอาจารย์ของเรา

ในหลักกาลามสูตรนี้ พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปว่า จะต้องรู้เข้าใจด้วยว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล หรืออกุศล ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล มีโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดทุกข์ พึงละเสีย ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล มีคุณ เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสุข ก็ให้ถือปฏิบัติ นั่นคือศรัทธาหรือความเชื่อที่ก่อให้เกิดปัญญา

2. ในด้านความรู้ (Wisdom) ทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์และหลักการของพระพุทธศาสนา ยอมรับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ หมายถึง การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้ประสบกับความรู้สึกนึกคิด เช่น รู้สึกดีใจ รู้สึกอยากได้ เป็นต้น วิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากประสบการณ์คือ จากการที่ได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ แล้วเกิดความอยากรู้อยากเห็นก็แสวงหาคำอธิบาย วิทยาศาสตร์ไม่เชื่อหรือยึดถืออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว แต่จะอาศัยการทดสอบด้วยประสบการณ์สืบสาวไปเรื่อย ๆ จะไม่อ้างอิงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์และการทดลอง วิทยาศาสตร์แสวงหาความจริงสากล (Truth) ได้จากฐานที่เป็นความจริงเฉพาะองค์ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ได้จากประสบการณ์ ความรู้ใดที่อยู่นอกขอบเขตของประสบการณ์ไม่ถือว่าเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์พระพุทธเจ้าก็ทรงเริ่มคิดจากประสบการณ์คือ ประสบการณ์ที่ได้เห็นความเจ็บ ความแก่ ความตาย และที่สำคัญที่สุดคือความทุกข์ พระองค์มีพระประสงค์ที่จะค้นหาสาเหตุของทุกข์ในการค้นหานี้ พระองค์มิได้เชื่ออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว ไม่ทรงเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ที่จะให้คำตอบได้แต่ได้ทรงทดลองโดยอาศัยประสบการณ์ของพระองค์เองดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

หลักการพระพุทธศาสนาและหลักการทางวิทยาศาสตร์มีส่วนที่ต่างกันในเรื่องนี้คือ วิทยาศาสตร์เน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ด้านประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ส่วนพระพุทธศาสนาเน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดทางจิตใจ หลักการทางพระพุทธศาสนามีส่วนคล้ายคลึงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ในหลายประการ เช่น ในขณะที่มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งมุ่งแสวงหาความจริงของธรรมชาติที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Science) และมีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งมุ่งแสวงหาความรู้ที่จะนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science)

หลักการพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัทธรรมเพื่อสอนให้มนุษย์เกิดปัญญา 2 ทางคือ ทางแรก สอนให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรมชาติและในกฎธรรมชาติ เช่น สอนให้รู้หลักอิทัปปัจจยตา หลักไตรลักษณ์ หลักอริยสัจ หลักเบญจขันธ์ ทางที่สอง สอนให้เกิดความรู้ความเข้าใจในคุณค่าทางจริยธรรม เพื่อนำไปใช้ไปปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อธรรมชาติที่เรียกว่า ไตรสิกขา สอนให้ละเว้นความชั่ว สอนให้กระทำความดี และสอนให้ทำจิตใจให้สงบบริสุทธิ์

อย่างไรก็ตามหลักการพระพุทธศาสนาจะมีฐานะคล้ายกับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ แต่จริยศาสตร์แนวพุทธไม่เหมือนกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ดังท่านพระธรรมปิฎก แสดงความเห็นไว้ในการบรรยายเรื่อง พระพุทธศาสนาในฐานะรากฐานของวิทยาศาสตร์ตอนหนึ่งว่า

วิทยาศาสตร์นำเอาความรู้จากกฎธรรมชาติ โดยสอนให้มนุษย์รู้จักใช้เทคโนโลยี เพื่อควบคุมธรรมชาติ ส่วนปรัชญาพุทธสอนให้มนุษย์นำสัจธรรมมาสร้างจริยธรรมเพื่อดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ สอนให้มนุษย์ใช้ปัญญา ในการแก้ปัญหาชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิต

ไอสไตย์นักวิทยาศาสตร์ของโลกผู้ยิ่งใหญ่


ความแตกต่างของหลักการพระพุทธศาสนากับหลักการทางวิทยาศาสตร์

1. มุ่งเข้าใจปรากฎการณ์ทางธรรมชาติหลักการทางวิทยาศาสตร์มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องการรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผลที่ตามมา เช่น เมื่อเกิดฟ้าผ่า ต้องรู้อะไรคือสาเหตุของฟ้าผ่า และผลที่ตามมาหลังจากฟ้าผ่าแล้วจะเป็นอย่างไร หลักการพระพุทธศาสนาก็มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่ พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์มากกว่ากฎเกี่ยวกับสิ่งที่ไร้ชีวิต จุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนาคือ สอนให้คนเป็นคนดีขึ้น พัฒนาขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
2. ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติ หลักการทางวิทยาศาสตร์ต้องการเรียนรู้กฎธรรมชาติและหาทางควบคุมธรรมชาติ หรือเอาชนะธรรมชาติ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วิทยาศาสตร์เน้นการควบคุมธรรมชาติภายนอกมุ่งแก้ปัญหาภายนอกวิทยาศาสตร์ถือว่าการพิสูจน์ทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่นำมาแสดงให้สาธารณชนประจักษ์ชัดเป็นหลักฐานยืนยันในสิ่งที่ค้นพบนั้นได้ จึงจะเป็นการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์
หลักการพระพุทธศาสนาเป็นการทดสอบความรู้สึกทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดในจิตใจเฉพาะตน ไม่สามารถตีแผ่ให้สาธารณชนประจักษ์ด้วยสายตา แต่พิสูจน์ทดลองได้ด้วยความรู้สึกในจิตใจ และหลักการพระพุทธศาสนาไม่ได้เน้นในเรื่องให้สาธารณชนยอมรับหรือไม่ยอมรับ มุ่งให้ศึกษาเข้าไปในจิตใจตนเอง แต่มุ่งแสวงหาความจริงจากทั้งภายนอกและภายในตัวมนุษย์อันเป็นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา ทางด้านจิตวิญญาณอันเป็นผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและต่อคุณภาพชีวิต สอนให้คนควบคุมภายในจิตใจตัวเอง ลำพังแต่ความสามารถที่ควบคุมธรรมชาติได้ ไม่อาจทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ มนุษย์ต้องรู้จักควบคุมตนเอง ให้มีจิตใจดีงามด้วย สันติสุขที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ และสอนมนุษย์ดำรงชีวิตให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

3. ยอมรับโลกแห่งสสาร (Matter) สสาร หมายถึง ธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่จริง รวมทั้งปรากฏการณ์และความเป็นจริงตามภาวะวิสัย (ObjectiveReality) ด้วย ซึ่งสรรพสิ่งเหล่านี้มีอยู่ต่างหากจากตัวเรา เป็นอิสระจากตัวเรา และเป็นสิ่งที่สะท้อนขึ้นในจิตสำนึกของคนเราเมื่อได้สัมผัสมัน อันทำให้ได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของสิ่งนั้น ๆ กล่าวโดยทั่วไปแล้วสสารมีคุณลักษณะ 3 ประการคือ
1) เคลื่อนไหว (Moving) อยู่เสมอ
2) เปลี่ยนแปลง (Changing) อยู่เสมอ
3) การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวนั้น มิใช่เป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างส่งเดช แต่หากเป็นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เรียกกันว่า กฎแห่งธรรมชาติ (Laws of Natires)

วิทยาศาสตร์ยอมรับโลกแห่งสสารซึ่งเทียบได้กับ รูปธรรมในความหมายของพระพุทธศาสนา อันหมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริงทางภาววิสัย ที่อวัยวะสัมผัสของมนุษย์สัมผัสได้ วิทยาศาสตร์มุ่งศึกษาด้านสสารและพลังงาน ยอมรับโลกแห่งสสาร ที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ว่ามีจริง โลกที่อยู่พ้นจากนั้น วิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ ส่วนแนวคิดทางพระพุทธศาสนานี้ ชี้ว่าสัจธรรมสูงสุด (นิพพาน) ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ไม่สามารถรับรู้ได้ พระพุทธศาสนาแบ่งสิ่งที่มีอยู่จริงของสองพวกใหญ่ ๆ คือ สังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง) ได้แก่ สสารและ อสังขตธรรม” (สิ่งที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง) คือ นิพพาน วิทยาศาสตร์ยอมรับว่าสังขตธรรมมีจริง แต่อสังขตธรรมอยู่เหนือการรับรู้ของวิทยาศาสตร์

สัจธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมีทั้งที่สามารถแสดงให้เห็นประจักษ์เป็นสาธารณะได้และไม่สามารถแสดงให้ประจักษ์เป็นสาธารณะได้ แต่แสดงโดยการประจักษ์ในตนเองได้ (หมายถึงมีทั้งที่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส และรับรู้ด้วยใจ) ความจริงระดับต้น ๆ และระดับกลาง ๆ ใคร ๆ ก็อาจเข้าใจและเห็นจริงได้ เช่น คนโลภมาก ๆ อิจฉามาก ๆ ไม่มีความสงบสุขแห่งจิตใจอย่างไรบ้าง คนที่มีเมตตา ไม่ปรารถนาร้ายต่อใคร ๆ มีความสุข ไม่มีเวร ไม่มีภัย อย่างไรบ้าง ความจริงเหล่านี้ ล้วนสามารถแสดงให้ประจักษ์ได้ ชี้ให้ดูตัวอย่างได้ แต่ปรมัตถธรรม อันสูงสุดนั้นผู้ที่ได้พบแล้วยากจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เป็นสภาวะที่ผู้รู้เอง เห็นเอง จะพึงประจักษ์เฉพาะตัว

4. มุ่งความจริงมาตีแผ่ วิทยาศาสตร์นั้นแสวงหาความรู้จากธรรมชาติและจากกฎธรรมชาติที่มีอยู่ภายนอกตัวมนุษย์ (มุ่งเน้นทางวัตถุหรือสสาร) ไม่ได้สนใจเรื่องศีลธรรม เรื่องความดีความชั่ว สนใจเพียงค้นคว้าเอาความจริงมาตีแผ่ให้ประจักษ์เพียงด้านเดียว เช่น วิทยาศาสตร์พบเรื่องการระเบิด แต่ควรระเบิดอะไร ไม่ควรระเบิดอะไร ไม่อยู่ในขอบข่ายของวิทยาศาสตร์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จึงมีทั้งคุณอนันต์และมีโทษมหันต์ กระบวนการผลิตทางวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุข เป็นลำดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงความสงบสุข อันสูงสุดคือนิพพาน ฉะนั้นกระบวนการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงส่งเสริมให้มนุษย์อนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

คำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เน้นเรื่องศีลธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุข เป็นลำดับขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงความ
สงบสุข อันสูงสุดคือนิพพาน ฉะนั้นกระบวนการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงส่งเสริมให้มนุษย์อนุรักษ์ธรรมชาติ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


ไอสไตย์กล่างถึงพุทธศาสนา



อัลเบิร์ต ไอสไตล์ กล่าวถึงพระพุทธศาสนาก่อนเสียชีวิต

ถึงแม้อัลเบิร์ต ไอสไตล์ ได้จากโลกนี้ไปโดยที่เขายังไม่สามารถค้นพบตำตอบตามที่เขากำลังต้องการก็ตาม แต่ไอสไตล์ได้ทิ้งคำพูดที่เป็นปริศนาที่สำคัญมากให้กับมนุษยชาติ ในช่วงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเขา อัลเบิร์ตได้เริ่มสงสัยแล้วว่า พระพุทธศาสนาอาจจะเป็นศาสนาที่ให้คำตอบต่อคำถามที่เขากำลังพยายามค้นหา ในช่วง 1 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตนั้น มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นหนึ่งของเขาชื่อเรื่อง " The Human Side " ซึ่งนักฟิสิกส์ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลผู้นี้ ได้กล่าวทิ้งท้ายให้เป็นปริศนาแห่งโลกอนาคตว่า

The religion of the future will be a cosmic religion. It should transcend personal God and avoid dogma and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising from the experience of all things natural and spiritual as a meaningful unity. Buddhism answers this description. If there is any religion that could cope with modern scientific needs it would be Buddhism. (Albert Einstein) "ศาสนาในอนาคต จะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตน และควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ (คือเป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว) และแบบเทววิทยา(คือพึ่งเทวดาเป็นหลักใหญ่) ศาสนานั้นเมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนสามัญสำนึกทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือ ทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้....ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็นพระพุทธศาสนา" อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
นักฟิสิกส์ ชาวเยอรมัน ผู้เสนอทฤษฏีสัมพัทธภาพ

คำพูดของไอสไตล์นั้นมีความนัยที่สำคัญซ่อนอยู่และรอคอยการค้นพบ และทฤษฎีเอกภาพหรือทฤษฎีสรรพสิ่งที่ต้องการค้นหานั้น ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตอบให้เบ็ดเสร็จก่อนหน้านั้น 2500 ปี

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ14 กรกฎาคม 2555 เวลา 04:48

    ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงสอนไม่ให้​เชื่อตามทฤษฎีประเพณีและเหตุผลท​างตรรกะ ใครรู้ช่วยวิเคราะห์ทีนะค่ะ ขอบคุณมากๆค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ก็สิ่งนั้นมันเอาความแน่นอนถูกต้องตายตัวเป็นความจริงเป็นกุศล เป็นที่สุดของปัญญา ไม่ได้ น่ะครับ คือมันไม่เเน่ ที่ว่าจะถูกต้อง ทฤษฏี มันก็ไม่มีที่ยืนยันว่าจะถูกต้องที่สุด ทฤษฏี ที่ว่า เเน่ ของนักวิทยาศาสตร์ก็ยังถูกลบล้างอยู่ตลอดเวลาเมื่อมีคนอื่นที่รู้มากว่าพิสูจน์และค้นพบใหม่ มันไม่ใช่อกาลิโก ส่วนประเพณี ประเพณีเกี่ยวกับ อะไร ล่ะ เป็นอกุศล หรือ กุศล และเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางที่ถูกต้องหรือเปล่า นั้นก็ไม่เเน่ ยังอีกมากครับ ในหลักกาลามสูตร ต้อง ค้นหาอ่านให้จบน่ะ ครับ มันจะเเจ่มแจ้งเอง ไม่อย่างนั้นก็ด้านขวามือ ของคุณ เว็ปวัดนาป่าพง พุทธวจน ลองถาม พระอาจารย์ดูได้ ท่านทราบดี อาจเป็นการเริ่มต้นให้คุณเข้าหาพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ก็ได้ น่ะ

      ลบ
  2. อย่าถือมากนักวางมันชะบ้างมันหนัก

    ตอบลบ

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น