จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แนวคิด งานวิจัย พุทธศาสนา กับ สตรี

แนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา
๑๑ กันยายน ๒๕๔๗ 





โดย นาง ปาริชาต นนทกานันท์
วิทยานิพนธ์ : หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


.....ในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน การให้ความสำคัญเกี่ยวกับสตรีมีบทบาทและมุมมองที่น่าสนใจ รวมทั้งคำถามที่ควรแก่การหาคำตอบอยู่ไม่น้อย

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ก็เช่นกัน ผู้ทำการวิจัยมีจุดมุ่งหมายจะศึกษาแนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา และพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวความคิดนี้กับหลักธรรมบางอย่างในพุทธศาสนา นอกจากนั้นก็จะเป็นการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ดูบทบาทของพุทธศาสนาในการเปลี่ยนแปลง และยกระดับสถานภาพสตรีในด้านต่าง ๆ

โดยในงานวิจัยนี้ ได้เริ่มวิจัยจากการกล่าวถึงสภาพของสตรีในสมัยก่อนพุทธกาล และสมัยพุทธกาล เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงสภาพที่เปลี่ยนไปของสตรี และแสดงให้เห็นบทบาทของพุทธศาสนาที่มีส่วนช่วยยกระดับสถานภาพของสตรีในฐานะต่าง ๆ ให้สูงขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้เห็นว่าหลักธรรม แนวความคิดบางอย่างในพุทธปรัชญานั้นทำให้ทรรศนะในทางที่เห็นและปฏิบัติต่อสตรีอย่าง ผู้ที่ด้อยกว่านั้นน้อยลงและลดความสำคัญลงไปทั้งทางตรง คือ โดยการต่อต้าน คัดค้าน เช่นการต่อต้านพิธีสตี เพราะขัดกับหลักธรรมข้อปฏิบัติในพุทธศาสนา หรือโดยทางอ้อม เช่น การไม่สืบต่อการประกอบพิธีกรรม ขนบธรรมเนียม ความเชื่อบางอย่าง เช่น ความเชื่อที่ว่าบุตรชายจะช่วยให้บิดาไปสวรรค์และพ้นจากนรกขุมที่ชื่อว่าปุตตะได้ เพราะในทางพุทธศาสนานั้นถือว่าการจะไปสวรรค์นรกของผู้ใดก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ไม่ได้ขึ้นต่อบุตรหรือสามี บุคคลจะเป็นเช่นไรก็ด้วยกรรมของตน คือตนเป็นผู้กระทำและรับผลจากการกระทำทั้งสิ้น หลักการเช่นนี้ไม่ได้สนับสนุนความคิดความเชื่อแบบเก่า และมีส่วนช่วยส่งเสริมสถานภาพ สิทธิของสตรีให้ดีขึ้น

ในสมัยพุทธกาล โดยทั่วไปแล้วสถานภาพของสตรีในด้านที่เกี่ยวกับทางโลก คือสถานภาพของสตรีในฐานะบุตร ภริยา มารดา หญิงหม้าย และผู้ประกอบอาชีพนั้นดีขึ้น ได้รับการยกย่องนับถือ มีเกียรติมากขึ้น โดยสตรีผู้เป็นบุตรหญิงนั้นก็ได้รับการต้อนรับที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะพุทธศาสนาไม่เชื่อในความสำคัญที่จะต้องมีบุตรชายเพื่อประกอบพิธีกรรมให้แก่บิดาเมื่อเสียชีวิต สตรีผู้เป็นภริยาก็มีอำนาจในกิจการบ้านเรือนมากขึ้น อีกทั้งเป็นผู้มีอำนาจร่วมกับสามี ภริยาจัดว่า เป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับความสุข การยกย่องนับถือ ไม่ใช่ทาสในครัวเรือนดังแต่ก่อน ส่วนสตรีในฐานะมารดานั้น พุทธปรัชญาก็ได้ให้ความสำคัญไม่น้อยในฐานะเป็นผู้มีพระคุณ และยกย่องว่ามารดาเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยาก และมีอุปการะอย่างยิ่ง สถานภาพสตรีในฐานะหญิงหม้ายก็ดีขึ้นโดยหญิงหม้ายที่เป็นพุทธศาสนิกไม่ต้องได้รับการ ดูถูกเหยียดหยามและเป็นที่รังเกียจดังแต่ก่อน ทั้งมีเสรีภาพในการรับผิดชอบต่อชีวิตของตนมากขึ้น

นอกเหนือจากสถานภาพในทางสังคมแล้ว สถานภาพของสตรีในทางศาสนาก็ดีขึ้น เพราะสตรีไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับสามีในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่สามารถประกอบพิธีกรรมได้โดยอิสระ มีตนเป็นผู้กำหนด เป็นที่พึ่งของตน สตรีสามารถเลือกนับถือศาสนา เข้าบวช และบรรลุถึงนิพพานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใด เมื่อสตรีได้รับโอกาสให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาทั้งในฝ่ายที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิตแล้ว ก็มีสตรีจำนวนไม่น้อยที่แสดงความสามารถในทางธรรม และทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการทำให้สตรีเป็นที่ไว้ใจ ยอมรับ ยกย่องในสังคมมากขึ้น ซึ่งก็มีผลทำให้สถานภาพของสตรีดีขึ้นโดยปริยาย

และหลังจากพิจารณาสถานภาพของสตรีแล้ว ผู้วิจัยได้กล่าวถึงแนวความคิดหลักธรรมบางอย่างในพุทธศาสนาเพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างหลักธรรม แนวความคิดนั้น ๆ กับทรรศนะของพุทธปรัชญาที่มีต่อสตรี ซึ่งจากการวิจัยสรุปได้ว่า หลักไตรลักษณ์ กฎแห่งกรรม แนวความคิดเรื่องทุกข์ นิพพานและปัญญานั้นล้วนมีความสัมพันธ์กับทรรศนะที่พุทธปรัชญามีต่อสตรีหลักธรรมและแนวความคิดเหล่านี้ มีส่วนในการทำให้พุทธปรัชญามองหญิงชายในฐานะที่เท่าเทียมเสมอภาคด้วยกันทั้งสิ้น เพราะมนุษย์ทั้งชายและหญิงนั้นจำต้องอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ กฎแห่งกรรม เผชิญกับความทุกข์ในโลกด้วยกันทั้งนั้น นอกจากนี้เป้าหมายสูงสุดคือนิพพานอันจัดเป็นความสุขอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนานั้นยังเป็นสิ่งที่หญิงชายทุกคน ก็มีสิทธิเข้าถึงหรือบรรลุได้หากประพฤติปฏิบัติอย่างแท้จริง และท้ายสุดรสแห่งความสุขของนิพพานอันเป็นวิมุตติรสก็เป็นรสเดียวกันทั้งสิ้น นับได้ว่าเป็นความเสมอภาคเท่าเทียมที่จุดเริ่มต้น ( คือตั้งแต่ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ ) และที่เบื้องปลายคือเป้าหมายสูงสุดในทางศาสนาที่บุคคลพึงบรรลุได้




ผลจาการวิจัยทำให้ทราบว่าแนวความคิดเกี่ยวกับสตรีของพุทธปรัชญานั้นมีลักษณะเด่น คือ แตกต่างจากแนวคิดในปรัชญาศาสนาอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน และทรรศนะเกี่ยวกับสตรีนี้ก็มีความสัมพันธ์กับหลักธรรมและแนวคิดบางอย่างของพุทธศาสนา ยิ่งกว่านั้นการวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของพุทธศาสนาที่มีส่วนในการยกระดับสถานภาพของสตรีในด้านต่าง ๆ โดยสิ่งที่พุทธศาสนาได้กระทำไปในสมัยนั้นอาจถือได้ว่าเป็นการริเริ่มเปิดยุคใหม่ และกรุยทางสำหรับงานที่จะส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศอันจะมีภายหลัง ทั้งนั้นนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของสตรี นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนทางเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธนั้น ก็ตระหนักในเรื่องความเสมอภาคทางเพศนี้มานานแล้ว การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เป็นไปโดยได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตกในภายหลังนั้น จึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่เสียเลยทีเดียว เพราะท่าทีและการเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับสตรีนี้ได้เคยปรากฏแล้วแต่ครั้งพุทธกาล หากแต่ไม่ใคร่มีผู้มีทรรศนะที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวความคิดของพุทธปรัชญาที่มีต่อสตรี หรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่พุทธศาสนาได้ทำไว้ในด้านนี้

อนึ่งการวิจัยนี้ทำให้ทราบว่า แนวความคิดของพุทธปรัชญาที่มีต่อสตรีนั้นไม่ได้เป็นการมองสตรีในแง่มุมเดียว หรือสรุปได้เป็นประเด็นเดียว หากแต่เป็นการมองในหลายด้าน ดังนั้นการสรุปแนวความคิดจึงไม่สามารถสรุปว่า แตกต่างกัน เท่ากัน ด้อยกว่ากัน หรือเหนือกว่ากัน อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องพิจารณาสรุปเป็นด้าน ๆ ไป ซึ่งพอสรุปได้เป็น ๔ ด้านคือ

ประการแรก พุทธปรัชญาเห็นว่าธรรมชาติของสตรีและบุรุษนั้นแตกต่างกัน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ คือต่างกันในรูปร่างสัณฐาน เครื่องหมายหรือสภาพความเป็นอยู่ นิสัย และกิริยาอาการ

ในทางสรีระวิทยาแล้วหญิงไม่ใคร่มีกำลังกาย ไม่แข็งแรง บึกบึนเท่าชาย ( ยกเว้นแต่ในกรณีของนางวิสาขาที่ได้กล่าวไว้ว่ามีกำลังเท่า ๕ ช้างสาร อันหมายถึงว่ามีกำลังมาก ซึ่งในกรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ โดยการที่นางได้เช่นนี้ เป็นเพราะบารมีบุญญาธิการที่นางได้กระทำไว้ จึงไม่ได้เป็นกรณีที่เป็นมาตรฐานสำหรับสตรีโดยทั่วไป ) จึงยากที่สตรีจะปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยได้เมื่อถึงคราวประสบภัย ยิ่งกว่านั้นสตรียังมีความทุกข์ทางกายบางอย่างที่ต้องประสบนอกเหนือไปจากบุรุษ เช่น การมีระดู การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร เป็นต้น นับว่าสตรีนั้นมีชีวิตที่เป็นทุกข์มากว่าชาติโดยธรรมชาติ


..... ส่วนในทางจิตนั้นสตรีก็มีธรรมชาติที่แตกต่างจากบุรุษ แม้สตรีจะอดทน แต่สตรีก็มีจิตใจที่อ่อนโยน อ่อนไหวเป็นกังวลได้ง่าย และมักเป็นไปตามอำนาจของอารมณ์ ไม่หนักแน่นเข้มแข็งเท่าบุรุษ

ข้อแตกต่างนี้เป็นความแตกต่างกันโดยธรรมชาติซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าความแตกต่างนี้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เพศใดเหนือหรือด้อยกว่าเพศใดโดยอัตโนมัติ ทั้งยังไม่ได้เป็นไปในลักษณะแบบเหนือกว่า ด้อยกว่า แต่เป็นความแตกต่างที่ต่างก็บทบาทในลักษณะที่เกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

เป็นความจริงที่ว่าพุทธปรัชญาเห็นว่าสตรีนั้นแตกต่างจากบุรุษ แต่ความแตกต่างนี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความด้อยกว่าเสมอไป สิ่งที่ต่างกันก็มีคุณสมบัติหรือคุณค่าที่ต่างกันไปในตัวของมันเอง เหมือนกับสีแดงที่ต่างจากสีเขียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสีแดงด้อยกว่าสีเขียว หรือเขียวด้อยกว่าแดง ทั้งสองก็มีลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ต่างกัน แต่คุณสมบัตินั้นก็ไม่ได้ทำให้สีใดสีหนึ่งด้อยกว่าอีกสีหนึ่ง ความด้อยหรือเหนือกว่านั้นมันไม่ได้มีอยู่ในตัวมันเอง แต่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมันอยู่ในเงื่อนไขหรือสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ฯลฯ มนุษย์ชายหญิงก็เช่นกัน สำหรับเงื่อนไขก็คือ สภาพสังคมและค่านิยมในสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นเอง ในยุคที่สังคมมนุษย์ต้องอาศัยแรงกายอย่างมากในการดำรงชีวิตอยู่นั้น บุรุษเพศผู้มีธรรมชาติทางกายที่แข็งแรงบึกบึนย่อมจะเหนือกว่าสตรีเพศอย่างแน่นอน แต่เมื่อสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป แรงงานจากเครื่องจักรกลได้เข้ามาช่วยเบาแรงกายของมนุษย์ และความสามารถในทางสติปัญญาเริ่มเข้ามาแทนที่ความสำคัญของแรงกาย บุรุษเพศจะยังเหนือกว่าสตรีเพศอยู่ดังแต่ก่อนอยู่อย่างไร เมื่อเงื่อนไขได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นการตัดสินกันด้วยความรู้ความสามารถ สติปัญญาแล้ว สตรีควรจะเป็นผู้เสมอภาคเท่าเทียมกับบุรุษในทุก ๆ ด้าน ความแตกต่างในทางสรีระที่เคยถือเป็นข้อตัดสินความด้อยกว่า เหนือกว่าของบุคคลนั้นก็ไม่น่าจะเป็นข้ออ้างใช้ได้อีกต่อไป

ประการที่สอง พระพุทธศาสนาถือสตรีเท่าเทียมและเสมอบุรุษโดยคุณธรรมปัญญาและความสามารถ ในทางสังคมก็เป็นที่ยอมรับกันว่าสตรีมีสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถและเป็นบัณฑิตได้เช่นเดียวกับบุรุษ ในทางศาสนาก็ถือว่าทั้งสตรีและบุรุษอยู่ในฐานะสูงเท่า ๆ กันคือ สามารถเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดคือนิพพานได้เท่าเทียมกัน พุทธศาสนายอมรับความเท่าเทียมกันในด้านนี้ดังจะเห็นได้จากการที่พระพุทธองค์ทรงจัดให้มีพุทธบริษัท ๔ มีภิกษุณี และยกย่องสตรี ให้เป็นเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับบุรุษ

อันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างบางอย่างของชายและหญิงที่เป็นไปโดยธรรมชาตินี้ทำให้ต้องยอมรับว่าในทางสรีระแล้วหญิงด้อยกว่าชาย ไม่ว่าจะเป็นโดยธรรมชาติที่แท้จริงของสตรีเพศ หรือโดยการเลี้ยงดูอบรมของสังคม ที่มีส่วนในการหลอมให้สตรีเป็นเช่นนั้นก็ตาม สภาพทางกายนี้เป็นอุปสรรค หรือจำกัดการประพฤติปฏิบัติในบางอย่างของสตรี เช่น การปฏิบัติตนเป็นอนาคาริกเที่ยวปฏิบัติธรรมในที่สงบวิเวกปลอดผู้คนนั้นย่อมกระทำได้ไม่สะดวกหรือทำได้โดยเสี่ยงอันตราย ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เพราะธรรมชาติทางกายของสตรีนั้นไม่อำนวยให้สตรีกระทำได้โดยสะดวกเช่นบุรุษ ดังนั้นในการกระทำเพื่อให้บรรลุสิ่งใดนั้น สตรีจะกระทำได้ก็ด้วยการมีความตั้งใจและความอุตสาหะพยายามมากกว่าบุรุษยิ่งนักในการที่จะให้ได้มาหรือบรรลุซึ่งสิ่งเดียวกัน

ความแตกต่างระหว่างหญิงหรือชาย ยังเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุถึงเป้าหมายบางอย่างของสตรี เช่น เป็นข้อจำกัดทำให้สตรีเป็นพระพุทธเจ้า พระเจ้าจักรพรรดิ พรหม ท้าวสักกะ พญามารไม่ได้

การที่พระพุทธองค์อนุญาตให้มีภิกษุณีในพระพุทธศาสนานั้นมองได้ว่า เป็นการยอมรับทางภูมิปัญญาและความสามารถของสตรีในการสำเร็จมรรคผล ศีลหรือระเบียบวินัยของภิกษุณีมีจำนวนมากและเคร่งครัดกว่าภิกษุนั้น ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นเป็นพิเศษนั้นก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงของธรรมชาติทางกาย จิตใจ และเพื่อสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของภิกษุณีเป็นส่วนใหญ่

ส รุปผลการวิจัยประการที่สาม สตรีด้อยกว่าบุรุษในทางกาย ซึ่งข้อนี้ก็มีผลในการจำกัดการกระทำและเป้าหมายของสตรีในสมัยนั้นในบางด้าน แต่ในด้านภูมิปัญญา ความสามารถแล้วสตรีเสมอบุรุษ และสามารถดำรงตำแหน่งบางอย่างได้เช่นเดียวกับบุรุษ แต่ความแตกต่างในธรรมชาติของสตรีและบุรุษนั้นมีอยู่โดยธรรมชาติ ทำให้ต่างปฏิบัติหน้าที่แห่งเพศของตน แต่ไม่จำเป็นต้องให้เพศ ความแตกต่างทางเพศนั้นมาเป็นอุปสรรคกีดขวาง หรือใช้มันเป็นเครื่องมือทำให้เพศหนึ่งด้อยกว่าอีกเพศหนึ่ง

การที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งให้สตรีเป็นเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ ก็เป็นการยืนยันถึงการยอมรับในความสามารถเสมอบุรุษอีกระดับหนึ่ง การอนุญาตให้สตรีเป็นภิกษุณีก็จัดเป็นการเปิดทางใหม่สำหรับสตรี เป็นความพยายามและเป็นวิธีการของพระองค์ที่จะช่วยยกระดับฐานะและสถานภาพของสตรีให้ดีขึ้นกว่าเดิมทั้งในทางโลกและทางธรรม ฐานะทางศาสนาในครั้งกระนั้นทั้งสมัยพุทธกาลและก่อนพุทธกาลเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อฐานะทางสังคมอย่างมาก โดยที่สถานภาพทางศาสนาเป็นสิ่งที่กำหนดหรือแสดงให้เห็นสถานภาพทางสังคม การยอมให้สตรีบวชนั้นในทางศาสนาก็เป็นการให้สตรีมีเสรีภาพ มีอิสระ เป็นตัวของตัวเองในการที่จะเลือกนับถือศาสนา ปฏิบัติวัตรทางศาสนาหรือบวชในศาสนา อนึ่งการให้สตรีมีสิทธิแห่งการเข้าเป็นสมาชิกในสังฆมณฑลนั้นก็เป็นการเปิดโอกาสให้สตรีได้มีโอกาสศึกษาธรรมจากพระพุทธองค์ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการยกฐานะสตรีในด้านการศึกษาอีกโสตหนึ่งด้วย ส่วนในทางสังคมนั้น การอนุญาตให้สตรีเป็นภิกษุณีก็จัดเป็นการเปิดทางใหม่สำหรับสตรี ทั้งยังแสดงถึงการยอมรับว่าสตรีก็เป็นผู้ที่มีปัญญา มีเจตจำนง มีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตน และมีสิทธิเสรีภาพ มีอิสระที่จะทำตามที่ตนปรารถนาด้วยเช่นกัน

แม้ว่าการที่ให้มีภิกษุณีในพุทธศาสนานั้นแม้จะมีปัญหาหรือมีผลลบต่อพุทธศาสนาอยู่บ้างในบางแง่ แต่สำหรับที่เป็นการยกระดับสตรีแล้วนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ของสตรีที่สำคัญไม่น้อย เพราะพุทธานุญาตครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้น และกรุยทางสำหรับงานด้านการยกระดับฐานะสตรีให้สูงขึ้นและเท่าเทียมบุรุษอันจะมีมาในภายหลัง


อ้างอิง ปาริชาต นนทกานันท์ . แนวความคิดเกี่ยวกับสตรีในพุทธปรัชญา.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,


 ขอบคุณ เว็ป กัลยาณมิตร  และ คุณนาม สุมินต์ตรา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น