จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ ๔ ถามตอบปัญหาธรรม คลายข้อสงสัยพุทธทาส ตอน ตายแล้วเกิด-ตายแล้วไม่เกิด

ถามตอบปัญหาอาจารย์พุทธทาส
ในโอกาสวันล้ออายุปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้แสดงธรรมในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๔ เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อธรรมบรรยายที่ท่านตอบผู้ข้องใจ หรือ ตอบผู้โจษจ้วงท้วงกล่าวหาท่านที่มีมาในสังคมไทย.


ตอนที่ ๔ ถามตอบปัญหาธรรม คลายข้อสงสัยพุทธทาส ตอน  ตายแล้วเกิด-ตายแล้วไม่เกิด๔. ตายแล้วเกิด-ตายแล้วไม่เกิด
ปรัศนี:  เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ได้พูดว่าพระพุทธเจ้าท่านห้าม ไม่ให้พูดว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด.. คือพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ใครพูดว่าตายแล้วเกิดก็บาป ใครพูดว่าตายแล้วไม่เกิดก็บาป นี่มันอย่างไรกันครับ?
พุทธทาส: นี่สำนวนพูดที่เขาเอาไปพูดใหม่ เราไม่ได้ใช้สำนวนอย่างนี้ แต่ใจความอย่างนี้ที่ว่า ตามหลักของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านมีบัญญํติสัมมาทิฎฐิ ว่ามีแต่สังขาร หรือธรรมชาติล้วนๆ ปรุงแต่งกันไป ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีใครตายแล้วเกิด คือไม่มีคน นี่จึงพูดไม่ได้ว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด นี้เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า คือ ก่อนพระพุทธเจ้านั้น เขามีการเชื่อว่า มีสัตว์ มีบุคคล มีวิญญาณ มีเจตภูต ที่เข้าร่างออกร่าง แล้วก็นี่แหละตายแล้วก็ไปเกิด ทีนี้บางพวกก็ว่าไม่เกิด มันเถียงกันเองอยู่แล้ว ก่อนพุทธกาล
พวกหนึ่งเหวี่ยงซ้ายสุดว่า ตายแล้วเกิด อีกพวกหนึ่งเหวี่ยงสุดขวาว่า ตายแล้วไม่เกิด มันก็ทะเลาะกันมาอย่างนี้อยู่แล้ว ก่อนพุทธกาล

พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาในโลกนี้ ก็พบว่า พูดอย่างนั้นมันไม่ถูก ถ้าแกจะเชื่อ จะใช้คำว่า ตายแล้วเกิดนี้ ก็ยังพูดอย่างนั้นไม่ได้ จะต้องพูดว่า ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับให้เกิดมันมี มันก็จะเกิดแหละ; ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับให้เกิดไม่มีมันก็ไม่เกิดแหละ นี่เรียกว่า พูดอย่างสมมติโลกียโวหาร ถ้าพูดให้อย่างถูกต้องเป็นโลกุตตรโวหารละก็พูดว่า ไม่มีคนโว้ย ไม่มีคน ไม่มีคนตะโกนให้ลั่นไปหมดว่า ไม่มีคน

ดังนั้น จึงพูดไม่ได้ว่าใครตาย หรือใครเกิดหรือตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด นี่พูดไม่ได้ทั้งนั้น พูดว่าไม่มีคน นั่นแหละถูกที่สุด จะเป็นลัทธิอปัตตาสุญญตา สอนให้เห็นว่ามี ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรมีเยอะแยะไป แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงกระแสปรุงแต่งแห่งสังขาร ตามกฎของอิทัปปัจจยตา
มันเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของสังขารไปตามกฎแห่งสังขาร ไม่มีคน ไม่มีคนแลว้จะมาใช้คำว่า ตาย-เกิด ใครตายใครเกิด มันก็ไม่ถูก บอกว่าไม่มีคน มีแต่กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของสังขาร อย่างนี้ไม่เป็นนัตถิกทิฎฐิ ซึ่งปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลย นี่ยังยอมรับว่า มีกระแสแห่งการปรุงแต่งแห่งสังขาร ที่คนมันไม่รู้น่ะมันไปยึดเอาตอนใดตอนหนึ่ง มาสมมติเรียก ว่าคน ว่าสัตว์ นี้ก็เป็นการพูดอย่างสูง คือ โลกุตตรโวหาร

ถ้าพูดให้ถูกอย่างโลกียโวหารชั้นต่ำ ก็พูดว่า มันแล้วแต่ปัจจัย ถ้าปัจจัยมันเกิด ถ้าปัจจัยให้เกิดมันไม่มีมันก็ไม่เกิด นี่ก็ถูกไปชั้นหนึ่ง เป็นชั้นต่ำ เป็นโลกียโวหาร แต่ถ้าเป็นชั้นสูง เป็นชั้นโลกุตตรโวหาร ก็พูดว่า ไม่มีคนโว้ย! พูดเท่านี้ก็พอ แล้วไม่ต้องพูดว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด มันไม่มีคนที่จะตายหรือเกิด นี่พูดว่า ไม่มีใครตาย-ไม่มีใครเกิด คนใดไม่เข้าใจคำพูดนี้ มันเป็นพุทธบริษัทเด็กอมมือเกินไป ก็ไปเอาซิไปเอาอย่างโลกียโวหาร แต่เขาก็ต้องพูดว่า ถ้ามีเหตุปัจจัยมันจึงจะเกิด ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย มันก็ไม่เกิด นี่คือคำพูดที่ถูกต้อง

สำนวนที่ว่า “ใครพูดว่าตายแล้วเกิดก็บาป ตายแล้วไม่เกิดก็บาป” ตรงนี้ไม่ได้ใช้คำว่า “บาป” แม้พระพุทธเจ้าตรัสก็ไม่ได้ใช้คำว่าบาป ท่านใช้คำว่า มันเป็นมิจฉาทิฎฐิ เป็นมิจฉาทิฎฐิ ประเภทเหวี่ยงสุดโต่ง เหวี่ยงไปทางเกิดก็ว่าเกิด เหวี่ยงไปทางไม่เกิดก็ไม่เกิด จึงเรียกว่า อันตคาหกิทิฎฐิ ทิฎฐิที่ถือเอาสุดโต่ง ข้างใดข้างหนึ่ง จึงได้พูดว่า เกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง ไม่ได้ใช้คำว่า “บาป” ไม่ถึงปรับเป็นบาป แล้วก็ไม่ได้ปรับ ให้ตกนรกรุนแรงอะไรนัก แต่มันจะไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้มีมิจฉาทิฎฐิ นั่นจะไม่ถึงกับตกนรกรุนแรงร้ายกาจอะไร แต่มันไม่บรรลุมรรคผล นี่เข้าใจกันไว้ให้ดีว่า มันเป็นแง่ของภาษาบ้าง เป็นการตีความหมายผิดบ้างถูกบ้าง เอ้ามีอะไรว่าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น