จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สังคมแห่งความสุข จาก ท่าน ว.วชิรเมธี สุขของประเทศภูฎาน(ภูถาน)กับสุขของประเทศไทย

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังบรรยายในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง ความสุขในสังคมสมัยใหม่: จิตวิญญาณ สังคม และวิทยาศาสตร์ จึงเก็บเกี่ยวธรรมะบรรยายที่น่าสนใจจากพระคุณเจ้าพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือท่าน ว. วชิรเมธี ผู้ได้รับการกล่าวขานว่า ธรรมะจากท่านนั้น เป็นธรรมะอินเทรนด์

ท่าน ว.วชิรเมธี ปราชญ์แห่งยุคสมัยใหม่ของพุทธศาสนา
                               

เจ้าชายจิกมี่ เคเซอร์ นัมเกล
ประเทศภูฏาน

พระคุณเจ้าได้เล่าประสบการณ์เมื่อครั้งไปเยือนประเทศภูฏาน (เจ้าของประเทศออกเสียงว่า พู ถาน) อย่างเป็นทางการในฐานะตัวแทนคณะสงฆ์จากประเทศไทย ท่านว่า ภูฏานเป็นดินแดนแห่งความสุขแหล่งสุดท้ายของโลก

               

พระมหากษัตริย์ของภูฏานทั้งพระองค์ที่ ๔ และพระองค์ที่ ๕ ในปัจจุบัน (เจ้าชายจิกมี)พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รัก ทำไมจึงเป็นที่รัก เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นต้นธารของความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH)

ทำไมบ้านนี้ เมืองนี้ จึงเป็นดินแดนแห่งความสุขแหล่งสุดท้ายของโลก มองในแง่ภูมิศาสตร์ เพราะเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าเขา แต่หากมองในแง่นั้นอย่างเดียว ยังไม่ใช่มองอย่างพุทธ เราต้องมองที่เหตุปัจจัย มองลึกเข้าไปถึงปรัชญาการพัฒนาประเทศ คือ พุทธปรัชญา ภูฏานนั้นเป็นเมืองพุทธ ความสุขที่แท้จริงของประเทศภูฏานก็คือพุทธศาสนา ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ยันชาวบ้านธรรมดา ล้วนนั่งสมาธิเป็นกิจวัตรประจำวัน เดินไปตามถนน หนทางเราจะเห็นคนหนุ่มคนสาว คนแก่คนเฒ่า ถือกระบอกมนตราติดมืออยู่เป็นประจำ แล้วก็แกว่งกระบอกมนตรา สวดมนต์ ทุกหนทุกแห่งตามหลังคาบ้าน จะเห็นธงปักอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในผืนธงนั้นมีมนตราจารึกอยู่ เรียกว่า ธงมนตรา เมื่อลมพัดธงก็จะพัดพามนตราไปปกคลุมทั้งประเทศ ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ประชาชนทั้งประเทศเป็นมังสวิรัติ ชนชั้นนำเป็นชาวพุทธโดยแท้ เค้าเลี้ยงวัวไว้ เพื่อรีดแต่นมเท่านั้น


พระคุณเจ้านิยามความเป็นภูฏานไว้ว่า

 ภูฏาน เมืองกิเลสพักร้อน

 ส่วนประเทศไทย เป็น เรือนเพาะชำกิเลส นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ประเทศเรา ขาดความสุขมวลรวมประชาชาติ


ที่ภูฏานชนชั้นนำบริหารประเทศอย่างมีสติไม่ตื่นไปกับกระแสโลก ประชาชนก็ซึมซับรับเอาไว้ ถึงกับมีเรื่องเล่าว่า
" มีนกกะเรียนฝูงหนึ่ง เคยบินเข้ามาในหมู่บ้านทุกปี ปีที่แล้ว รัฐบาลนำไฟฟ้าเข้าไปในหมู่บ้านแห่งนั้น นกกระเรียนจำนวนหนึ่งมาจับอยู่ที่สายไฟฟ้าแรงสูง ไฟช๊อตนกตาย ชาวบ้านประท้วง บอกเอาเสาไฟฟ้าออกไป เราจะเอานก สุดท้ายไม่เอาไฟฟ้า ขอให้นกให้มีชีวิตอยู่ร่วมกับคน" นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่า พุทธธรรมได้ฝังรากลงลึกเข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่


ย้อนกลับมาเมืองไทยของเราซึ่งก็เป็นเมืองพุทธที่ ขึ้นชื่อมากว่าพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก แต่


เมืองไทยเป็นเมืองพุทธแต่ทำไมทรุดลง???


เป็นเรื่องที่น่าคิด ความเป็นมนุษย์ของเรา เราเป็นพุทธทางวัฒนธรรม มากกว่าโดยเนื้อหาสาระ


ที่ท่านนำเรื่องภูฏานมาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่า ประเทศที่นำหลักการทางพุทธศาสนาไปใช้ในการบริหารประเทศแล้วได้ผล ยังมีอยู่จริงในโลกนี้ ที่มองเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน


พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสุข ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ในบรรดาคนที่มีความสุข ฉันเป็นหนึ่งในนั้น ในโลกนี้จะมีซักกี่คนที่พูดได้แบบนี้ ส่วนมากจะพูดกันว่า ในบรรดาคนที่มีความทุกข์ในโลก ฉันอยู่อันดับต้น ๆ


นี่แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาของศาสนาแห่งความสุข


เป้าหมายของศาสนาคือ นิพพาน ซึ่งมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วิมุติ วิมุติมีอีกชื่อหนึ่งว่า สันติคือความสงบ


มีพระพุทธพจน์หนึ่งกล่าวว่า นิพพานฺ ปรมฺ สุขขฺ นิพพานเป็นบรมสุข


สุขอื่นยิ่งกว่าสันติสุขไม่มี ฉะนั้น มองในแง่เป้าหมาย พุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาแห่งความสุข และในแง่วิธีการ พระองค์ตรัสไว้ในอริยสัจ ๔ว่า


ทุกข์มีไว้สำหรับเห็น สุขมีไว้สำหรับเป็น


แต่คนส่วนใหญ่ ทุกข์มีไว้สำหรับเป็น สุขมีไว้สำหรับคิดถึง


สรุปได้ว่า
๑.พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของศาสนาแห่งความสุข

๒.ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความสุข

๓.เป้าหมายของศาสนาก็คือมรรคา
ปริศนาธรรมที่ช่างได้ทิ้งไว้ในพระพุทธรูป พระโอฐแย้มละไมอยู่เป็นนิจอันเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความสุข นั่นคือ ปริศนาธรรม ดวงพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าจะสะท้อนให้เห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสุข


ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ เราควรเป็นหน่วยความสุขเคลื่อนที่ ไปไหน ไปนั่งใกล้ใคร ควรระบายความสุขให้แก่ผู้คนรอบข้าง ทุกวันนี้เราเป็นอย่างนั้นหรือไม่???? ถ้าเราบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ แต่ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ แสดงว่าเราต้องผิดพลาดในแง่ใดแง่หนึ่ง ส่วนในแง่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องพิจารณากันเอาเอง
นิยามแห่งความสุข ในแนวของพุทธศาสนา ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือชั่ง ตวง วัด อย่างเช่น ความสุขในใจเรา บางทีเราวัดไม่ได้ แต่เราสามารถรู้ได้ สัมผัสได้ ฉะนั้น ฝรั่งจำนวนมากพยายามจะวัดสิ่งที่เป็นนามธรรม ด้วยกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม พอวัดไม่ได้ก็ไม่อยากจะทำวิจัยแล้ว  แต่ในทัศนะของพุทธศาสนา ความสุข นิยามได้ ความสุขคืออะไร ความสุขคือสภาวะที่ทำได้ง่าย หมายความว่า เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว เราสามารถรับมือกับมันได้อย่างสบาย ๆ ไม่ต้องจำใจยอมรับ จำใจทำ


ประเภทของความสุข มี ๒ ประเภท คือ

๑.  ความสุขทางกาย  คือสุขที่แสดงผลออกมาทางกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น 

๒.  ความสุขทางใจ คือ เจตสิกสุข คือใจที่เป็นสุข

ในทางธรรมมะความสุขมีอยู่ ๒ ประเภท

๑.    ความสุขในโลก หรือ โลกียสุข คือความสุขที่กิเลสของเราได้รับการพะเน้าพะนอ เช่น ตาอยากเห็น เราก็ให้มันเห็น  ลิ้นอย่างลิ้มรส ก็ได้ลิ้ม กายอยากสัมผัส ก็ได้สัมผัส ฯลฯ

๒.    ความสุขที่อยู่เหนือโลก หมายความว่า เป็นความสุขที่เกิดจากสภาพที่แท้จริงของใจ เกิดจากปัญญารู้เท่าทันความจริงของโลก


บ่อเกิดแห่งความสุข

๑.    เกิดจากกาม = กามสุข กามคือวัตถุหรือกิเลส ที่น่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจ กามสุข คือสุขที่เกิดจากการสนองตามประสาทสมผัสทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

๒.    ฌาณสุข คือ ความสุขเกิดจากการภาวนา มีความลึกซึ้งทางจิตเพิ่มขึ้น เป็นความสุขของคนที่ฝึกจิต เช่น การปฏิบัติสมาธิแล้วเกิดความดื่มด่ำลึกซึ้ง

๓.   วิมุติสุข คือ ความสุขเกิดจากจิตหลุดพ้นสิ้นเชิงจากพันธนาการของกิเลสทั้งปวง




ชาวโลกบอกว่า ตามความอยากไปแล้วสุข

ชาวพุทธบอกว่า อยู่เหนือความอยากแล้วสุข

มหาตะมะ คานธี กล่าวไว้ว่า ทรัพยากรที่มีอยู่นั้น เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลกได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนโลภเพียงคนเดียว


วิธีสร้างความสุข  
เราจะสร้างความสุขกันอย่างไร ความจริง บ่อเกิดของความสุขอยู่ตรงไหน เราก็สร้างความสุขกันตรงนั้นนั่นแหล่ะ


กามสุข  -    คือความสุขที่เกิดจากกาม วิธีการก็คือ ก้าวเข้าไปหาและสนองตอบประสาทสัมผัสทั้ง ๖ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ฌานสุข    -    ฝึกสมาธิ ภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน
วิมุติสุข     -     เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้จิตรู้เท่าทันความเป็นจริง
 แต่วิธีอย่างนี้ฟังดูอุดมคติมากไปหน่อย  วิธีสร้างความสุขให้ง่ายกว่านั้นอีก มี อยู่ ๕ ข้อ


๑.  สร้างความสุขจากเสพหรือสนองตอบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นการสร้างความสุขพื้นฐาน ตาอยากดูรูป พาไปดู หูอยากฟังเสียงเพราะ ก็พาไปฟัง จมูกอยากดมกลิ่นหอม ก็พาไปดม


๒.  สร้างความสุขจากการพัฒนาใจให้มีคุณธรรม เช่นพ่อแม่มีเมตตาต่อลูก ยอมลำบากเพื่อให้ลูกของตนเองมีความสุข เป็นปรัชญาการทำงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราคือ ความสุขของฉัน คือการทำให้คนอื่นมีความสุข อย่างนี้ เป็นความสุขที่เกิดจากความมีเมตตา


๓.  รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตไม่ยึดติดกับความสุข หมายความว่าอยู่กับโลกแต่ไม่หลุดโลก ใจที่ขาดสติ จะปล่อยให้ทุกข์ตามธรรมชาติกลายมาเป็นทุกข์ในใจของตนเอง ทุกข์ทางกาย ไม่จำเป็นต้องให้ใจต้องเป็นทุกข์ด้วย มันจะกลายเป็นทุกข์สองต่อ


๔.  สร้างความสุขจากการปรุงแต่งใจให้เป็นสุข รู้จักฝึกจิตฝึกใจให้มองโลกในแง่ดี เกิดมาในโลก อยู่ใต้ฟ้าอย่ากลัวฝน เกิดเป็นคนอย่ากลัวโดนนินทา นี่คือการปรุงแต่งใจให้เป็นสุข


๕.  พัฒนาปัญญาให้เข้าถึงอิสรภาพ รู้แจ้งจริงในความจริงของโลก เหมือนดอกบัวเกิดในน้ำ แต่ลอยพ้นน้ำขึ้นไป ตรงนี้เกิดขึ้นได้จากการเจริญวิปัสสนา กรรมฐาน และมีจิตที่หลุดพ้น เป็นอิสระจากกิเลสอย่างถาวร อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา


วิธีปฏิบัติต่อความสุข อย่าประมาทในความสุข มีอยู่ ๔ ประการ


๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมใจที่ไม่เป็นทุกข์ หมายความว่า ตามธรรมชาติอันเป็นธรรมดาของชีวิต ใจของเราทุกข์ มีพุทธดำรัสตรัสไว้ว่า จิตโดยแท้นั้นผ่องใส แต่กายที่ทุกข์นั้น ถ้าเราไม่เอาใจเข้าไปแบกทุกข์ ใจก็ไม่ทุกข์ แต่มนุษย์จำนวนมากมีชีวิตที่เป็นทุกข์ เพราะเอาใจเข้าไปแบกทุกข์ แกว่งเท้าหาเสี้ยน ทุกข์จริงนั้นไม่มี แต่ใจเราไปแกว่งหามันเอง
๒. สุขที่ชอบธรรม หมายความว่า เวลาแสวงหาความสุขนั้น ขอให้แสวงหาแต่ความสุขโดยชอบธรรม สุขที่ไม่ชอบธรรมไม่ต้องเอามา เช่นความสุขที่ติดในกามารมณ์ สุขที่ชอบธรรมนิยามง่าย ๆ ว่า ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำคนอื่นให้เดือดร้อน ทำจิตใจให้สดชื่นเบิกบานแจ่มใส
๓. ต้องไม่ยึดติดในความสุขในชอบธรรม เช่นการยึดติดในสมาธิ เสพติดสมาธิมาก ๆ จะขี้เกียจ หลงลืมโลก ลืมหน้าที่ หากขาดสติ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า มีความสุขโดยชอบธรรม ก็จงอย่าประมาท
๔.ความสุขของมนุษย์นั้นมีพัฒนาการ เรามีความสุขจากกามแล้วก็ยังไม่พอ ต้องพัฒนาไปจนถึงจิตที่เป็นวิมุติสุขด้วย



เรียบเรียงจากธรรมบรรยายโดย พระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี)

แสดงธรรมที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐
โดย : วนา ขอบคุณ วนามากที่เรียงข้อคิดดีๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น