พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ |
ทิพยจักษุมีได้จริง
ปัญหา ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ได้ทอดทิ้งพระสมณศากยมุนีหนีไปก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก พระองค์ทรงทราบได้อย่างไรว่า พระปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และเสด็จไปโปรดถูกที่ ?
พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ... เราจึงคิดว่า เราจะแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว เราจึงคิดว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้อุปัฎฐากเราผู้กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ เป็นผู้มีอุปการะแก่เรามากนัก ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่พวกเธอ เราจึงคิดว่า บัดนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ เราก็รู้ได้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีด้วยทิพยจักษุที่บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ครั้นเราอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ออกจาริกไปเมืองพาราณสี.... ฯ
ปาสราสิสูตร มู. ม. (๓๒๔)
ตบ. ๑๒ : ๓๒๘ ตท.๑๒ : ๒๖๙
ตอ. MLS. I : ๒๑๔.
ผลของศรัทธาในพระพุทธเจ้า
ปัญหา ในศาสนาฝ่ายเทวนิยม ผู้ใดมีความเชื่อและความรักในพระผู้เป็นเจ้า ผู้นั้นย่อมมีหวังเข้าสู่สวรรค์ ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “....บุคคลใดมีเพียงความเชื่อ เพียงความรักเราบุคคลนั้นทั้งหมดเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า”
ผลแห่งการละกิเลส
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย
ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
มีกิจที่จำต้องทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระ ปลงลงแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสัญโญชน์ใน
ภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อจะบัญญัติต่อไป.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยาย
แล้ว ภิกษุเหล่าใดละโอรัมภาคิยสัญโญชน์ทั้ง ๕ ประการ ได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็น
โอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลายในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว
ภิกษุเหล่าใดละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว กับมีราคะโทสะและโมหะบางเบา
ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว
ภิกษุเหล่าใดละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็น
ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรา
กล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้นเปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด ผู้เป็นธัมมานุสารี
เป็นสัทธานุสารี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ดีเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เบื้องของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว
บุคคลเหล่าใด มีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีสวรรค์
เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น มีใจชื่นชม
เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ อลคัททูปมสูตรที่ ๒
อลคัททูปมสูตร มู. ม. (๒๘๘)
ตบ. ๑๒ : ๒๘๑ ตม. ๑๒ : ๒๓๐
ตอ. MLS. I : ๑๒๘
โดยปรมัตถ์ ธาตุ ๔ ก็ไม่ควรยืดถือ
ปัญหา การที่พระพุทธองค์ตรัสถึงเรื่องธาตุ ๔ นั้น พระองค์ทรงเชื่อว่ามีธาตุ ๔ จริง ๆ หรือเพราะทรงเรียกตามโวหารโลกที่คนเข้าใจกันอยู่ในสมัยนั้น ? มีพระพุทธพจน์ตอนไหนบ้างที่แสดง ธาตุ ๔ เป็นแต่สิ่งสมมติ ?
พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ธาตุดิน .... ย่อมรู้ธาตุน้ำ ... ย่อมรู้ธาตุไฟ ... ย่อมรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม ครั้นรู้ธาตุลมโดย ความเป็นธาตุลม แล้วย่อมสำคัญหมายธาตุลม ย่อมสำคัญหมายโดยความเป็นธาตุลม ย่อมสำคัญหมายธาตุลมว่าเป็นของเรา ย่อมยินดีธาตุลมข้อนั้นเพราะอะไร เรากล่าวว่า เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ... ภิกษุใดเป็นอรหันต์ขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์เสร็จกิจแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ตนแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นด้วยปัญญาอันชอบแล้ว แม้ภิกษุนั้นย่อมรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดิน.... ย่อมรู้ธาตุน้ำโดยความเป็นธาตุน้ำ ... ย่อมรู้ธาตุไฟโดยความเป็นธาตุไฟ... ย่อมรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม.... ครั้นรู้ธาตุถลมโดยความเป็นธาตุลมแล้ว ย่อมสำคัญหมายธาตุลม ย่อมไม่สำคัญหมายโดยความเป็นธาตุลม ย่อมไม่สำคัญหมายธาตุลมว่าเป็นของเรา ย่อมไม่ยินดีในธาตุลม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอกำหนดรู้แล้วฯ”
มูลปริยายสูตร มู. ม. (๒)
ตบ. ๑๒ : ๑-๒ ตท. ๑๒ : ๑-๒
ตอ. MLS. I : ๓-๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ