จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนากับบทบาททางสังคมการเมือง และธรรมแห่งพระราชา นักปกครอง

 พระพุทธศาสนากับการเมืองและสันติภาพ
พระพุทธศาสนากับบทบาททางสังคมการเมือง 
และธรรมแห่งพระราชา นักปกครอง

    มนุษย์ไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง จำเป็นต้องรวมกันอยู่เป็นสังคม เป็นกลุ่มก้อน ดังนั้นจำเป็นต้องจัดระบบในการอยู่ร่วมกัน โดยจะต้องมีฝ่ายปกครอง และอยู่ภายใต้การปกครอง ซึ่งไม่ว่าการปกครองจะเป็นลักษณะใดก็ตามถือว่าเป็น “การเมือง การเมืองจึงเป็นเรื่องของการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองจะผูกมัดสมาชิกทั้งหมดในสังคม

       หลักการปกครองของพระพุทธศาสนา มีประเด็นสำคัญที่น่าศึกษาและควรนำมาประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นมาในช่วงที่มนุษย์ถูกกดขี่อิสรภาพ มีการถือชั้นวรรณะ เป็นการจำกัดสิทธิ และหน้าที่ของมนุษย์ ยังผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเฉพาะสังคมชนชั้นของอินเดียในสมัยนั้น ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาติอริยกะ ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดอำนาจแต่เพียงเผ่าเดียว จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้อุบัติขึ้นในโลก ทรงปฏิเสธการถือชั้นวรรณะทั้ง 4 คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ด้วยการยึดถือหลัก “อาวุโส” เป็นประการสำคัญ (ประสิทธิ์ จันรัตนา, 2539 : 3)

        ประเด็นที่ยกมาจะเห็นได้ว่า การเมืองและสันติภาพเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ให้ความสำคัญที่จะปลดปล่อยมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทรงต่อสู้กับแนวทางการปกครองที่ถือชั้นวรรณะ การเอาเปรียบซึ่งกันและกัน มาสู่ความเสมอภาคกันและมีเสรีภาพในการดำรงชีวิตพระพุทธศาสนาจึงมีแนวทางและหลักการที่จะนำพาชาติบ้านเมืองให้บรรลุเป้าหมายที่สงบสุขมีสันติอย่างแท้จริง โดยให้ฝ่ายปกครองและสมาชิกของสังคมนั้น ๆ หรือประเทศชาตินั้น ๆ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่จะช่วยพยุงความอยู่รอดปลอดภัยให้เกิดแก่ชาติบ้านเมืองเป็นอันดับแรก จะเป็นสภาพเอื้อให้สมาชิกทุกคนในประเทศนั้นมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และมีจิตใจมุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วย
การเมืองในโลกเป็นเรื่องของการแบ่งสรรผลประโยชน์และอำนาจ จึงจำเป็นต้องสะสมผู้คน พวกพ้อง เงินทอง ข้าวของ แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพราะหากตกลงกันด้วยดีไม่ได้ ก็ต้องข่มขู่ด้วยวิธีการที่รุนแรงไปตามลำดับ จนกระทั่งการสู้รบขนาดเล็กไปจนถึงสงครามขนาดใหญ่ลามไปทั่วโลก การเมืองทางโลกจึงเป็นการแสดงพลังอำนาจทุก ๆวิถีทางเพื่อจะได้เหนือคู่ต่อสู้อันจะทำให้สามารถแย่งชิงผลประโยชน์ในสัดส่วนที่มากกว่าคนอื่นเพราะหตุแห่งการมีกำลังอำนาจมากกว่าคนอื่น

พระพุทธศาสนากลับมีแนวคิดตรงข้ามกับการแสวงหาอำนาจที่มากกว่าผู้อื่น แต่มุ่งเน้นในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดังท่านองค์ดาไล ลามะ ผู้นำพุทธศาสนาของทิเบต ได้กล่าวว่า

   มวลมนุษยชาติที่ถือกำเนิดเกิดมาบนโลกใบนี้ย่อมถือว่าเป็นสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน คือครอบครัวโลกมนุษย์ และเช่นเดียวกับสมาชิกทั้งหลายของครอบครัวทั่วไปครอบครัวหนึ่ง เราจึงมีบุคลิกภาพที่ไม่เหมือนกัน พร้อมกับความแตกต่างทางด้านบุคลิกภาพนั้น เราจึงมีความแตกต่างกันทางด้านสติปัญญา ความสนใจ และวัฒนธรรมประเพณีตามมา แต่ถึงเราจะมีความแตกต่างกันอย่างไร เราก็ยังเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ กล่าวคือ เราต้องการความสุขและเกลียดความทุกข์ความเจ็บปวด และที่สำคัญคือเราต่างมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์เท่ากัน

    วัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนาก็เพื่อรับใช้และเอื้อประโยชน์แก่มนุษยชาติ ตามทัศนะของชาวพุทธ การพยายามทำให้คนอื่นกลับใจหันมานับถือศาสนาพุทธไม่ใช่เป็นภารกิจอันสำคัญอะไร และไม่สามารถเทียบเท่าได้กับการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับมนุษยชาติ พระพุทธองค์ทรงอุทิศพระองค์เป็นแบบอย่างให้พุทธศาสนิกชนได้เห็นถึงความเป็นผู้มีความพอพระทัย และความอดทน ในการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชาวโลกอย่างเสียสละ พระพุทธองค์ให้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นสำคัญ ถ้าเรามีความสามารถช่วยเหลือได้ แต่ถ้าไม่สามารถช่วยได้ เราก็อย่าเบียดเบียนเขา

หัวใจของพระพุทธศาสนาคือสันติภาพภายในตัวของมนุษย์ ถ้าเรามีสันติหรือความสงบในหัวใจ เราก็สามารถต่อสู้กับปัญหาภายนอกได้ ด้วยความสุขุมรอบคอบและด้วยปัญญา เราจะเป็นคนที่ยิ้มสู้ปัญหา พระพุทธศาสนาสอนให้เรารักกัน มีความเมตตากรุณาต่อกัน มีความอดทน ไม่เบียดเบียนกัน และคำสอนที่สำคัญที่ทำให้เรามีสันติภาพภายในหคือหลักของอิทัปปจยตาที่สอนว่า สรรพสิ่งอิงอาศัยกันและกันตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนามุ่งเน้นสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแต่การจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขนั้นสมาชิกของสังคมจะต้องร่วมกันให้เกิดการปกครองที่ดี ดังคำกล่าวของพระธรรมปิฏกที่ว่า สมาชิกของรัฐผู้มีส่วนร่วมให้เกิดการปกครองที่ดี โดยเฉพาะคนในสังคมประชาธิปไตย พึงรู้หลักปฏิบัติดังนี้

ก. รู้หลักอธิปไตย คือ รู้หลักความเป็นใหญ่ที่เรียกว่า อธิปไตย 3 ประการ ดังนี้

1. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ คือ ถือเอาตนเอง ฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของตนเป็นใหญ่ ฝ่ายที่เป็นกุศลในด้านนี้คือ การเว้นจากการทำความชั่ว มุ่งทำความดีด้วยการเคารพตนเอง

 2. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมของชาวดลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทา สรรเสริญ เป็นต้น ฝ่ายที่เป็นกุศลได้แก่ เว้นจากการทำชั่ว มุ่งทำความดีด้วยการเคารพเสียงของชนหมู่มาก

 3. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ กระทำด้วยการคำนึงถึงสิ่งที่ได้ศึกษา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การรู้จักพิจารณาอย่างถ่องแท้ ตามกำลังสติปัญญา และมุ่งคิดพิจารณาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงาม ตามหลักโดยทั่วไปได้แก่ การรู้จักเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกา และข้อบังคับทางสังคมหรือองค์กรนั้น ๆ ดังนั้นหากเราต้องการถือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ จะต้องยึดหลักของธรรมาธิปไตย โดยมิได้ถือตนหรือถือโลกเป็นใหญ่

ข. มีส่วนในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว ที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม 7 (condition of welfare)

 อปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมสำหรับใช้ในการปกครอง เพื่อป้องกันมิให้การบริหารหมู่คณะเสื่อมถอย แต่กลับเสริมให้เจริญเพียงส่วนเดียว สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมู่ชนและผู้บริหารบ้านเมือง ดังนี้คือ

1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการประชุมพบปะปรึกษาหารือกิจการงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันโดยสม่ำเสมอ

 2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจกรรมร่วมกันเป็นการประชุมและการทำกิจกรรมทั้งหลายที่พึงกระทำร่วมกัน หรือพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง

 3. ไม่บัญญัติ หรือล้มเลิกข้อบัญญัติต่าง ๆ เป็นการไม่เพิกถอน ไม่เพิ่มเติม ไม่ละเมิดหรือวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันมิได้ตกลงบัญญัติไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ

 4. ให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือ และรับฟังความคิดเห็นของท่านในฐานะที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์มามาก

 5. ไม่ข่มเหงสตรี เป็นการให้เกียรติและคุ้มครองสตรี มิให้มีการกดขี่ข่มเหงรังแก

 6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่องเตือนความจำ
ปลุกเร้าให้เราทำความดี และเป็นที่รวมใจของหมู่ชน ไม่ละเลยพิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานที่สำคัญเหล่านั้นตามประเพณีที่ดีงาม

 7. ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีล เป็นการจัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรม แก่บรรพชิต ผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก

นอกจากนั้นยังมีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ยกตัวอย่างเช่น

หลักสาราณียธรรม
 สาราณียธรรม หมายถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง หมายถึง มีความปรารถนาดีต่อกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ดังนี้

 1. เมตตากายกรรม ได้แก่ การเข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วย เมตตา นั่นคือ การอยู่ด้วยกันด้วยการกระทำดีต่อกัน ไม่เบียดเบียนทำ
ร้ายกัน ไม่ก่อสงคราม แต่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกัน เพื่อความผาสุขของมวลมนุษย์ เป็นต้น

 2. เมตตาวจีกรรม ได้แก่ การเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา คือใช้หลักการทูต โดยการเจรจาให้เข้าใจกัน ไม่กล่าวร้ายเสียดสีกัน เป็นต้น

 3. เมตตามโนธรรม ได้แก่ การเข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา คือการไม่คิดทำร้ายซึ่งกันและกัน มีความซื่อสัตย์เคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีจิตเมตตาต่อกัน เป็นต้น

 4. แบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้มาด้วยความชอบธรรมแก่เพื่อนมนุษย์ ได้แก่ การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคเครื่องมือการเกษตร ตลอดจนวิทยาการความรู้ต่างๆให้แก่เพื่อนมนุษย์รวมตลอดถึงการรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ไม่ทำลายระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดผลกระทบมวลมนุษย์ เป็นต้น

 5. รักษาความประพฤติ(ศีล) เสมอกัน ได้แก่ การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมติสากลหรือหลักการขององค์การสหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศไม่ฝ่าฝืนมติหรือหลักการนั้นอันจะก่อให้เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้เนื้อเนื้อเชื่อใจกัน

 6. มีความเห็นร่วมกัน ไม่วิวาทเพราะมีความเห็นผิดกัน ได้แก่ การอยู่ร่วมกันจะต้องยอมรับในกฎกติกาทางสังคมที่กำหนดไว้ ไม่กระทำตนเสมือนว่าเป็นการฝ่าฝืนมติของสังคมโลก ไม่เอารัดเอาเปรียบกันหรือข่มเหงกีดกันผู้อื่น มีแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ด้วย


หลักสังคหวัตถุ 4
 สังคหวัตถุ 4 แปลว่า เครื่องยึดเหนี่ยว มีความหมายว่า คุณธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่นไว้ได้ คือ เป็นเครื่องก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวสนิทสนมยิ่ง ๆ ขึ้นและผูกพันให้มั่นคงตลอดไป ซึ่งมีดังต่อไปนี้
 1.ทาน แปลว่า การให้ หมายถึง การแบ่งให้ เฉลี่ยให้ ปันให้ เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรี ผูกสามัคคีกันไว้ เช่น เมื่อเพื่อนมนุษย์ถูกภัยพิบัติ เราก็ควรส่งอาหาร สิ่งของ ยารักษาโรคไปให้ตามกำลังความสามารถของเราหรือเพื่อนมนุษย์เป็นปกติสุขเราก็แบ่งปันให้ความรู้วิทยาการ เงินทุนเครื่องมือทำการเกษตร เป็นต้น
 2. ปิยวาจา แปลว่า เจรจาอ่อนหวาน หมายถึง พูดคำที่สุภาพ อ่อนโยนและเป็นคำที่มีประโยชน์ที่ผู้ฟังได้ฟังแล้วชื่นใจ สบายใจเห็นประโยชน์ในคำพูดนั้น

 3. อัตถจริยา แปลว่า ประพฤติประโยชน์ หมายความว่า การบำเพ็ญตนให้เป็นคนมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้แก่ การไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนมนุษย์ และไม่นิ่งดูดายเมื่อผู้อื่นขอความช่วยเหลือ การสนับสนุนในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลกโดยรวมและการชักนำโน้มนำประเทศที่มีนโยบายที่ผิดพลาดที่มุ่งแสวงหาอำนาจผลประโยชน์หรือเป็นภัยต่อความสงบสุขของโลก ให้หันมามีนโยบายหรือทิศทางที่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อความสงบสุขของมนุษยชาติได้

 4. สมานัตตา แปลว่า ความเป็นคนมีตนสม่ำเสมอ หมายความว่า ไม่ถือตัว คือไม่หยิ่งจองหองในเมื่อได้ดีมีฐานะ ซึ่งได้แก่ การให้ความนับถือเพื่อนมนุษย์ ผู้มีฐานะศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับตน ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลที่ด้อยกว่าตน เป็นต้น


หลักพรหมวิหาร 4
 พรหมวิหาร หมายถึง หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์ หรือธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักในใจและควบคุมความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมวลมนุษยชาติ และสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยชอบธรรม มี 4 ประการคือ

 1. เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอย่างให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข มิจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลายโดยทั่วหน้า

 2. กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันที่จะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

 3. มุทิตา คือความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตใจผ่องใสบันเทิง ประกอบด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

 4. อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง มีจิตใจเที่ยงตรง ไม่เอนเอียง ไม่เกิดอคติต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
ในขณะเดียวกันพระมหากษัตริย์ ผู้ปกครองบ้านเมือง จะต้องมีคุณสมบัติ และข้อปฏิบัติ เพื่อให้บุคคลในรัฐอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ ผู้ปกครองรัฐจะต้องมีหลักปฏิบัติ โดยประกอบด้วยธรรมต่อไปนี้


หลักทศพิธราชธรรม
 ทศพิธราชธรรม คือ มีคุณธรรมของผู้ปกครอง หรือ ราชธรรม 
(ธรรมของพระราชา 10 ประการ ดังนี้

 1. ทาน หมายถึง การให้ และแบ่งปันให้มวลประชา คือ บำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ โดยมุ่งปกครองหรือทำงานเพื่อให้กับมวลประชา เอาใจใส่ จัดสรรสวัสดิการ การให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ให้ประชาราษฎร์ได้รับประโยชน์สุข ความสะดวกปลอดภัย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนประสบทุกข์ และให้ความสนับสนุนแก่คนทำความดี

 2. ศีล หมายถึง รักษาความสุจริต คือ ประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจี ประกอบการอย่างสุจริต ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์

 3. ปริจจาคะ หมายถึง บำเพ็ญกิจด้วยเสียสละ คือ สามารถเสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนเสียสละชีวิตของตนได้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความสงบเรียนร้อยของบ้านเมือง

 4. อาชวะ หมายถึง ปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง คือ ซื่อตรง ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน

 5. มัททวะ หมายถึง ทรงความอ่อนโยนเข้าถึงคน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ควรได้ความรักภักดี

 6. ตปะ หมายถึง พ้นจากการมัวเมาโดยเผากิเลส คือ ตัดกิเลสตัญหา มิให้เข้ามาครอบงำจิตใจ ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่หลงไหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและมั่นแต่จะบำเพ็ยเพียรทำกิจในหน้าที่ให้บริบูรณ์

 7. อักโกธะ หมายถึง ไม่โกรธ คือ ไม่เกรี้ยวกราด ไม่วินิจฉัยความ และกระทำการด้วยอำนาจความโกรธ มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันสุขุมราบเรียบตามธรรม

 8. อวิหิงสา หมายถึง ไม่เบียดเบียน คือ ไม่หลงอำนาจ ไม่บีบคั้นกดขี่ มีความกรุณา ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใดด้วยอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง

9. ขันติ หมายถึง ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ อดทนต่อความเหนื่อยยาก อดทนต่อการบำเพ็ญกรณียกิจโดยชอบธรรม

10. อวิโรธนะ หมายถึง ความไม่คลาดธรรม คือ การประพฤติอยู่ในธรรมอันถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและราษฎร์เป็นที่ตั้ง สิ่งใดที่ประชาราษฎร์ปรารถนาโดยชอบธรรมก็ไม่ขัดขืน การใดที่จะเป็นไปโดยชอบธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ ก็ไม่ขัดขวาง วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะหรืออารมณ์ที่ปรารถนาและไม่ปรารถนาใด ๆ มีความเที่ยงธรรม และมีนิติธรรม คือ มีระเบียบแบบแผน มีหลักในการปกครอง ตลอดจนประพฤติตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม

ทศพิธราชธรรม หรือราชธรรม 10 ประการนี้ ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นหัวใจในการปกครอง องค์พระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองบ้านเมือง ได้ทรงเคารพและยึดเป็นแนวทางในการบริหารประเทศตลอดมา บุคคลใดก็ตาม หากประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม 10 ประการนี้ ย่อมได้รับการยกย่องเทิดทูนว่าเป็นผู้ปกครองโดยธรรม และจะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนและประชาชนจะถวายความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่งและส่งผลให้สังคมนั้นสงบสุขในที่สุด



หลักจักรวรรดิวัตร

จักรวรรดิวัตร หมายถึง วัตรปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรด์ พระจริยวัตรที่พระเจ้าจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ ธรรมเนียมการทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระเจ้าจักรพรรด์ หรือหน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่

1. ธรรมาธิปไตย หมายถึง การยึดหลักธรรมเป็นใหญ่ในการปกครอง พระราชาจะต้องจัดการบำรุงรักษาป้องกัน และคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม ต่อบุคคลภายใต้การปกครองดังนี้

 1.1 บำรุงพระญาติวงศ์ ด้วยการบำรุงเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน เป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุขและมีความเคารพนับถือกัน
 1.2 บำรุงกองทัพ
 1.3 บำรุงเจ้าเมือง หรือสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ข้าราชการฝ่ายปกครอง
 1.4 บำรุงข้าราชบริพาร และข้าราชการฝ่ายพลเรือน
 1.5 บำรุงนักวิชาการ แพทย์ พ่อค้า และเกษตรกร ด้วยการช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์ เป็นต้น
1.6 บำรุงราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่น ไม่ทอดทิ้ง
1.7 บำรุงแก่พระภิกษุสงฆ์ นักบวชผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม
1.8 บำรุงสัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย

2. มา อธรรมการ หมายถึง ห้ามมิให้มีความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาจักร คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้าย ความเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง

3. ธนานุประทาน หมายถึง แบ่งปันทรัพย์สินเฉลี่ยให้แก่คนยากจน มิให้ขัดสนยากไร้ในแผ่นดิน

4. สมณพราหมณปริปุจฉา หมายถึง มีการปรึกษา สอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา เพื่อให้ทราบถึงการปฏิบัติตามหลักธรรมที่ถูกต้องดีงาม แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวมทั้งบำรุงสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย


ราชสังคหวัตถุ 4

 ราชสังคหวัตถุ หมายถึงหลักการสงเคราะห์ประชาชนของพระราชา หรือนักปกครองบ้านเมือง ประกอบด้วย

1. สัสสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตร
2. ปุริสเมธะ หมายถึง ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ
3. สัมมาปาสะ หมายถึง ความรู้จักผูกประสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ
4. วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ หมายถึง ความมีวาจาอันดูดดื่มน้ำใจ คือ รู้จักพูด รู้จักปราศรัย ไพเราะ สุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ เป็นคำพูดที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ
หนังสือ ธรรมะกับการเมือง จากการบรรยาย(พุทธทาส)

นอกจากนั้น ยังมีชาวพุทธตัวอย่างที่เป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีผลงานเกี่ยวกับการเมืองและสันติภาพ ตลอดจนด้านอื่น ๆ เป็นจำนวน ได้แก่ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ และพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ในส่วนที่เป็นฆราวาสได้แก่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงใช้ธรรมะนำการเมืองไทยสมัยนั้นให้พ้นจากการล่าอาณานิคมของประเทศในแถบตะวันตกได้อย่างสง่างามจึงทรงรักษาไว้ทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ส่วน ดร.เอ็มเบคการ์ ก็ใช้ธรรมะนำการเมืองของอินเดียสมัยต่อสู้เอกราชจากอังกฤษ เป็นผู้นำของรัฐสภาพผู้ร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย เป็นที่ศรัทธาของชาวอินเดียทั่วไปจนกลับใจหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามอย่างท่านรวมเป็นจำนวนหลายล้านคน

ส่วนอีกท่านหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของคำสอนของพระพุทธเจ้าในการต่อสู้ทางการเมืองตามแนวพระพุทธศาสนาคือ มหาตมะ คานธี ท่านได้นำเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาประยุกต์เป็นอหิงสาธรรม ในฐานะที่เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพ ในความพยายามต่อสู้ทางการเมือง ท่านได้แสดงแก่ชาวโลกถึงอหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) และความอดทนสามารถใช้ต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม และการยึดครองทุกชนิดในโลกที่แวดล้อมไว้ด้วยแนวคิดที่หลากหลายและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันทั้งทางภาษาและศาสนา
พระเทพโสภณด้บรรยายถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพของโลก ความตอนหนึ่งว่า หากชาวพุทธทั้งปวงปฏิบัติตามคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว ก็จะมีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มิใช่เฉพาะต่อมวลมนุษย์เท่านั้น แต่จะคลุมไปถึงสรรพสัตว์อื่น ๆ และจำมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

กล่าวโดยสรุป พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญต่อการเมืองการปกครองที่จะให้มวลมนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลักการ ความคิด และเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติทั้งผู้ปกครองรัฐและประชาชนในรัฐ รวมทั้งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์สันติภาพให้เกิดขึ้นแก่โลกได้อย่างแท้จริง
 อ้างอิงมาจากรายวิชาพระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๕
 รวบรวม และภาพทั้งหมด โดยชัยวัฒน์ ทองพริก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น