จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เราถามพระพุทธเจ้าตอบ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ 5

 พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์

วิธีปฏิบัติเมื่อถูกด่าว่า
ปัญหาเมื่อเราถูกด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย เราควรจะปฏิบัติอย่างไร?
 พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สามควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าวก็ตาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายในเราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทางซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายถึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แลฯ

กกจูปมสูตร มู. ม. (๒๖๗)
ตบ. ๑๒ : ๒๕๕-๒๕๖ ตท.๑๒ : ๒๐๖-๒๐๗
ตอ. MLS. I : ๑๖๓-๑๖๔

  เรียนไม่เป็นก็มีโทษ
 ปัญหา คนทั่วไปเข้าใจว่า การเรียนธรรมเป็นของดี มีประโยชน์ แต่ถ่ายเดียว ใครจะทราบว่าการเรียนธรรมก่อให้เกิดทุกข์โทษ มีหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษเหล่าบางพวกในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทานอิติวุตตกะชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ บุรุษเหล่าเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรอง เนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตรตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้น เป็นผู้มีความข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ (เรียนเพื่อข่มผู้อื่น) และมีการเปลื้องเสียซึ่งความนินทาเป็นอานิสงส์ (เรียนเพื่อให้คนตำหนิมิได้) ย่อมเล่าเรียนธรรม 
ก็กุลบุตรทั้งหลายย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด บุรุษเหล่าเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์แห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษเสาะหางูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขน หรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว

อลคัททูปมสูตร มู. ม. (๒๗๘)
ตบ. ๑๒ : ๒๖๗-๒๖๘ ตท.๑๒ : ๒๑๗-๒๑๘
ตอ. MLS. I : ๑๗๑-๑๗๒

 กุญแจสู่มรรคผลและนิพพาน

ปัญหา อะไรเป็นเครื่องมืออันสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้ปุพเพนิวาสนุสสติญาณระลึกชาติก่อนได้ จุตูปปาตญาณ รู้จุติและอุบัติของสัตว์ ทั้งหลาย อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้หมดสิ้นไป?

พุทธดำรัสตอบ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ภิกษุนั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก.... ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย..... ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ.... ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับอาสวะ....
เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวสาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าพ้นแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีฯ

จูฬหัตถิปโทปมาสูตร มู. ม. (๓๓๖)
ตบ. ๑๒ : ๓๔๖-๓๔๘ ตท.๑๒ : ๒๘๖-๒๘๘
ตอ. MLS. I : ๒๒๘-๒๓๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น