จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ ลิงกับแมลงปอ

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ  ลิงกับแมลงปอ

ลิงกับแมลงปอ
   นานมาแล้ว แมลงปอตัวหนึ่งบินมาไกลรู้สึกเหนื่อยจึงเกาะพักอยู่ที่กิ่งของต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ลิงที่อยู่ที่ต้นไม้ไล่   แมลงปอไม่ให้มาเกาะที่กิ่ง  แมลงปออ้อนวอนว่า "ฉันบินมาไกล เหนื่อยเหลือเกินขอหยุดพักที่นี่สักครู่เดียวเท่านั้น" ลิงไม่ฟังโยนกิ่งไม้ไล่แมลงปอ แมลงปอโกรธมากจึงไปเล่าให้ราชาแห่งแมลงปอฟัง ราชาแห่งแมลงปอโกรธมากจึงส่งแมลงปอสามตัวไปแจ้งต่อราชาแห่งลิงว่าจะทำสงครามกับลิง ราชาแห่งลิงหัวเราะเยาะ ว่าไอ้แมลงปอตัวเล็กมันจะสู้พวกลิงฉลาดอย่างเราได้หรือ  และเมื่อถึงวันทำสงคราม ราชาแห่งลิงให้ลิงทุกตัวหาท่อนไม้เป็นอาวุธสำหรับทุบแมลงปอให้บี้แบน ฝ่ายแมลงปอไม่มีอาวุธกันเลย   ราชาแห่งแมลงปอได้กระซิบวิธีการที่จะต่อสู้กับลิง พอถึงสนามรบแมลงปอแต่ละตัวบินไปเกาะที่หน้าผากลิงแต่  ละตัว ลิงเมื่อรู้สึกว่าแมลงปอมาเกาะที่หน้าผากก็ใช้ท่อนไม้ทุบแมลงปอทันที แต่แมลงปอบินหนีทัน ลิงถูกท่อนไม้ทุบก็หัวแตกตายหมด แมลงปอจึงเป็นผู้ชนะในสงคราม

    เรื่องนี้ ก็จะว่าเหมือนเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวเช่นกัน  มันยอมกันไม่ได้ไม่มีศิลปะในการยอม มันก็มองเห็นโทษที่เสียตามมา   แต่จะพูดในเรื่อง สะท้อนชีวิตความจริงจากนิทานนี้ว่า  บางครั้งคนเรานี้มันหลงตนเองว่าฉลาด ว่าเก่ง ฮึกเหิมลำพองใจ จึงมักจะเอาเปรียบเหยียดหยามคนที่อ่อนแอกว่า นี้มันเป็นสิ่งเลวร้ายจริงๆ ไอ้คำที่ว่าหลงอวดตนเอง ในความรู้สึก เหมือนลิงในนิทานนี้ มันจะทำให้เกิดความประมาท หรือ จากใช้ชีวิตเดินไปผิดทางก็ได้ ไอ้คนฉลาด มันจะคิดร้ายหรือโกงได้อย่างไม่สนใจใครเลย ผลเสียหายต่อส่วนรวมมันเลยฝั่งรากลึก   ส่วนคนมีปัญญานี้ไม่อวดตัว มันไม่ยกตนข่มคนอื่น รู้วิธีคิดอย่างรอบคอบมองสิ่งใดนี้เล็งเห็นผลข้างหน้า คือ ลดความเสียหายจะตามมาอย่างไม่ประมาท และก็รู้ผิด ชอบชั่วดี นี้สำคัญ สุดท้ายก็จะไม่เสียหายอะไร กับ ส่วนรวมเลย ดั่งแมลงปอ ชีวิตเราก็เช่นนั้น คือมีปัญญา นี้มันสำคัญกว่าความฉลาดมาก สังคมเรามีคนฉลาดมากมาย แต่ขาดปัญญา กันเสียส่วนใหญ่ ก็เลยเป็นสังคมเห็นแก่ตัวอย่างฝังรากลึก
                                                                                                             โดย อุตฺตมสาโร

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ เศรษฐีฟางเส้นเดียว

เศรษฐีฟางเส้นเดียว


     มีชายหนุ่มกำพร้าพ่อแม่และยากจนมาก ไม่ว่าเขาจะขยันทำงานรับจ้างหนักเท่าไรก็ยังยากจนอยู่ วันหนึ่งเขาเข้าไปสวดมนต์ในศาลเจ้าแม่กวนอิมแล้วหลับไป เขาฝันว่าเจ้าแม่กวนอิมมาปรากฏกายต่อหน้าเขาและบอกเขาว่าต่อไปนี้เขาจะโชคดี พอออกจากศาลเจ้าให้เดินไปทางทิศตะวันออก และถ้าหกล้มที่ไหนมือจับอะไรได้ก็ให้ถือไว้แล้วจะมีโชค

 เมื่อชายหนุ่มตื่นขึ้นมาเขารู้สึกปลื้มใจก้มกราบเจ้าแม่กวนอิมแล้วเดินทางออกจากศาลมุ่งไปทางทิศตะวันออก พอเดินๆไปก็สะดุดหินหกล้ม มือแตะพื้นดินมีฟางเส้นหนึ่งติดมือมา เขาก็ถือฟาง     เส้นนั้นเดินไป ระหว่างทางแมลงปอมาเกาะที่มือ เขาจึงผูกแมลงปอกับฟาง แมลงปอก็บินหึ่งๆ ต่อมาเขาพบเด็กเล็กๆยืนร้องไห้ ชายหนุ่มจึงส่งเชือกฟางผูกแมลงปอให้ เด็กชอบใจแมลงปอบิน  หึ่งๆจึงหยุดร้องไห้และถือเชือกฟางผูกแมลงปอไว้ แม่ของเด็กดีใจที่ลูกหยุดร้องไห้ จึงให้ส้มแก่ ชายหนุ่มสามผล ชายหนุ่มเดินต่อไปเห็นหญิงสาวเป็นลมเพราะกระหายน้ำ จึงมอบส้มสามลูกให้ คนใช้ของหญิงสาว คนใช้ของหญิงสาวรู้สึกขอบคุณจึงมอบผ้าไหมให้ชายหนุ่ม 3 ม้วน ชายหนุ่มเดินแบกผ้าไหมสามม้วนไป พอเดินๆไปก็พบซามูไรนั่งอยู่ข้างม้าที่นอนป่วยอยู่ ซามูไรขอแลกม้า  กับผ้าไหม ชายหนุ่มสงสารม้าจึงแลกผ้าไหมให้ไปแล้วจูงม้าไปให้กินน้ำ ม้าก็แข็งแรง ชายหนุ่มขี่ม้าเดินทางต่อไปจนถึงปราสาท ใหญ่แห่งหนึ่งก็ขอเข้าไปพักในปราสาท เศรษฐีเจ้าของปราสาท   เห็นม้ามีลักษณะดีจึงขอซื้อ และให้บุตรสาวนำเงินออกมา เมื่อบุตรสาวนำเงินออกมาและเห็นหน้าชายหนุ่มก็จำได้ว่าเป็นผู้ที่ให้ส้มช่วยชีวิต เจ้าของปราสาทจึงชวนให้ชายหนุ่มอยู่ทำงานด้วย ชายหนุ่มทำงานด้วยความขยันขันแข็ง เศรษฐีจึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย ชายหนุ่มทำงานจนร่ำรวย เป็นเศรษฐี ผู้คนก็ขนานนามชายหนุ่มผู้นี้ว่า เศรษฐีฟางเส้นเดียว

   มีความจริงอยู่บางอย่างที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต โดยไม่มีสิ่งดลบันดาลศักดิ์สิทธิ์ใดมาช่วย ถ้ารอสิ่งเหล่านี้อยู่ มันยังเหมือนว่าเรายอมให้โชคชะตา หรือ พรหมเป็นเจ้าชีวิตเรา ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ควรจะเป็นไป ของมนุษย์เลย หรือ จะรอฤกษยามนี้ก็จะหาความเจริญแท้จริงไม่ได้เลย มันจะทำอะไรก็ต้องถือสิ่งที่ไม่ถูกต้องงมงายเสียเปล่าๆ ที่ควรจะเป็นต้อง ว่า เวลาไหน เราคิดดี เเล้ว เวลานั้นคือดี เวลาไหนเราพร้อมที่สุดในการจะทำอะไร เวลานั้นดี  เวลาไหนสะดวกกาล เวลา ตามฤดู ตามเหตุตามผล ใจมันพร้อม นั้นเวลาดี เราก็จะทำอะไรได้ในสิ่งที่พึ่งตนเอง มากกว่า พึ่งเทพเจ้าบรรดาล เพราะเหตุปัจจัยมันมี ว่า เราทำอะไรที่ดีเเล้ว จิตใจมันดี สิ่งอื่นอำนวย มันก็ดำเนินอะไรๆไปได้ ผลจะเกิดถูกต้องอย่างไร มันก็มาจากเหตุปัจจัยที่ทำมาทั้งหลาย บางอย่างต้องใช้เวลา เหมือนจะได้ข้าวมาหนึ่งไร่ ไว้ขาย มันก็ต้องหาเมล็ดข้าวพันธ์ดี ชาวนารู้วิธีอย่างดี ฤดูกาลปลูกมันสมควร นี้เราก็พร้อมได้ที่จะกระทำการหว่านเมล็ดข้าวลงไป  ต้องใช้เวลาดูเเลนาข้าวพอถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จะให้ผล นี้เหตุปัจจัยมันพร้อมที่เริ่มจากความรอบคอบของเราเป็นสำคัญ แล้วเราจะรอโชคชะตาอย่างสิ้นหวังนี้ถือว่า เราหมดศักดิ์ศรี ของ มนุษย์เสียแล้ว
                                                               โดย อุตฺตมสาโร 

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ ก้อนหินของอุปสรรค


นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ  ก้อนหินของอุปสรรค
              
         ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระราชาผู้ปราดเปรื่ององค์หนึ่งต้องการจะออกเดินทาง ท่องเที่ยวไปเยี่ยมประชาชนของพระองค์ เมื่อมาถึงที่กลางตลาดพระองค์ ก็เกิดความคิดที่แยบคายอย่างหนึ่งขึ้น พระองค์นำหินก้อนใหญ่ มาวางกลางถนน กีดขวางทางเดินของชาวบ้าน และพระองค์ก็ไปซ่อนตัว และคอยสังเกตอยู่ห่าง ๆ ชาวนาคนแรกเดินผ่านมาพร้อมทั้งบ่นอย่างไม่พอใจว่าใครกันที่เป็นผู้ที่นำหินนี้ มากีดขวางทางเดินของเขา แต่แล้วเขาก็เดินอ้อมหินนั้นไป
        พระราชาก็มองดูด้วยความสนใจ ต่อมามีหญิงเลี้ยงวัวคนหนึ่งเดินจูงวัวของตนมา เมื่อมองเห็นหินก่อนนั้น เธอก็พูดว่าทำไมหินก่อนนี้จึงมาอยู่ที่นี่ แล้วอย่างนี้เธอจะข้ามมันไปได้อย่างไร พูดจบหญิงคนนั้นก็จูงวัวของเธอเดินหันหลังกลับไปโดยไม่สนใจที่จะเดินอ้อมมันไปเหมือนชาวนาคนแรก เวลาผ่านไปไม่นานก็มีเด็กชายตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง เดินมาหยุดอยู่ที่หน้าก้อนหินก้อนใหญ่นั้นเค้าพยายามที่จะผลักหินไปให้พ้นทาง แต่เพียงลำพังตัวเขาก็ไม่สามารถทำได้เขาจึงเดินหันหลังกลับไป
        แต่เพียงไม่กี่อึดใจเด็กน้อย คนนั้นก็เดินกลับมาพร้อมกับเพื่อน ๆ ของเขาหลายคน แล้วเด็กๆ ก็ช่วยกันผลักหินก้อนนั้นออกไปให้พ้นทางเดิน เมื่อพวกเขาเดินกลับมาที่ถนน พวกเขาก็พบถุงใส่เหรียญทองของพระราชา วางอยู่แทนที่หินก้อนนั้นหินก้อนนั้น ได้ให้ข้อคิดที่มีค่าอย่างหนึ่งนั่นก็คืออุปสรรคในชีวิตของพวกเรานั้นมีไว้เพื่อพิสูจน์ ความกล้าของเราที่จะเผชิญหน้ากับมัน หากเราหนีปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องหนีมันไปเรื่อย
        หากปัญหานั้นหนักหนาเกินกว่าเราจะฝ่าฟันไปได้ ลองมอง ไปรอบ ๆ ตัวแล้วเราจะพบว่ายังมีผู้ที่สามารถช่วยเรามาก เท่ากับผู้ที่เราสามารถ จะช่วยให้เขาฝ่าฟันอุปสรรคของเขาไปได้ และอุปสรรคที่แข็งแกร่งที่สุดก็คือความอ่อนแอและความหวาดกลัวของตัวเราเองที่จะเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นนั่นเอง

   ในความจริงของชีวิตเรานั้นเช่นกัน อุปสรรคนั้นมีเป็นธรรมดา บางคนเลือกหนีอุปสรรค แต่อุปสรรค ในบางเรื่องมันไม่เลือกที่หนีเรา และการเผชิญหน้าในการที่จะรับอุปสรรคทั้งหลายนั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่ฉลาด  ถ้ามันเป็นเรื่องที่เราจะฝืนมัน การขอความช่วยเหลือด้วยการเป็นมิตรนั้นเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ เลือกว่าจะให้ใครช่วยเหลือเรา ชี้เเนะเรา เตือนเรา สอนเรา สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า เป็นสัตว์สังคม ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว  แต่สิ่งที่สำคัญหากตอนนี้เรายังไม่พบอุปสรรค จงไม่ปฏิเสธกับการที่จะช่วยเหลือคนอื่น อย่างถูกต้องในศีลธรรม อย่างจริงใจ ให้เขาคนนั้นที่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องที่สมเหตุสมผลที่เราช่วยได้ เพราะสักวันหนึ่งตัวเราเองอาจจะเป็นฝ่ายที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่นกัน                               
โดย อุตฺตมสาโร

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ น้ำผึ้งหยดเดียวแท้ๆ

            

    ยังมีชายผู้หนึ่งอาศัยอยู่ในป่า  ทุก ๆ วันเขาจะเข้าป่าไปหาน้ำผึ้งมาขายหรือแลกเปลี่ยนกับของอื่น ๆ ที่ภายในหมู่บ้าน  วันนี้เขาโชคดี  เขาสามารถหาน้ำผึ้งจากในป่าได้มากจึงคิดจะนำน้ำผึ้ง    เข้าไปขายในเมืองใหญ่  ครั้นเมื่อชายชาวป่าคนนี้เข้าไปถึงในตัวเมือง  เขาแลเห็นพระราชวังมีความสวยงามมากสิ่งก่อสร้างทั้งหลายล้วนสีทองอร่ามตา  และ ประดับประดาด้วยกระจกแก้วสีต่าง ๆ จึงเดิน   เข้าไปดูใกล้ ๆ ทันใดนั้นเอง  ทหารก็ออกมาตีฆ้องตีกลองร้องป่าวประกาศ  ชายชาวป่าได้ยินเสียงดังก็ตกใจรีบวิ่งหนีกลับบ้าน  ระหว่างที่วิ่งหนีกลับบ้านนั้นเขาได้ทำน้ำผึ้งหยดลงบนพื้นทางเดินหนึ่งหยด  แมลงวันตัวหนึ่งได้กลิ่นหอมหวานของน้ำผึ้งก็บินมาตอม  แมงมุมตัวหนึ่งเห็นแมลงวันก็ย่องเข้าไปจะจับกิน  จิ้งจกตัวหนึ่งมาเห็นแมงมุมก็ย่องเข้าไปจะจับแมงมุม  แมวตัวหนึ่งเห็นจิ้งจกก็ค่อย ๆ ย่องเข้าไปหมายจะจับจิ้งจกกิน  พอดีขณะนั้นสุนัขของพระราชาผ่านมาเห็นแมว  สุนัขก็กระโจนเข้ากัดแมว  เจ้าของแมวเห็นแมวของตนโดนสุนัขกัดก็โกรธ  คว้าไม้มาตีสุนัขของพระราชาจนตาย  ด้วยไม่รู้ว่าเป็นสุนัขของใคร  มหาดเล็กผู้ดูแลสุนัขของพระราชาก็โกรธ  ตรงเข้าตีเจ้าของแมว   พ่อค้าและชาวบ้านเห็นเจ้าของแมวโดนมหาดเล็กตีก็เข้าไปห้าม  แต่พวกมหาดเล็กเข้าใจผิดคิดว่าพวกชาวบ้านจะรุมทำร้ายตนจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น  แล้วการต่อสู้ก็ขยายวงกว้างออกไป  ทั้งพ่อค้า  มหาดเล็ก  และชาวบ้านเข้าต่อสู้กันเป็นจำนวนมาก  เสียงการต่อสู้ดังสนั่นจนพระราชาออกมาดู  เมื่อชาวบ้านเห็นพระราชาออกมาก็จะเข้าไปร้องทุกข์  แต่พระราชาเข้าใจผิดคิดว่าชาวบ้านถืออาวุธจะมาทำร้ายตนด้วย  จึงสั่งให้ทหารออกสู้ทำให้บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากก่อนที่ทุกฝ่ายจะรู้ความจริง

 อ้างอิงจาก
เสริมสกุล   โทณะวณิก.  (2544).  รวมนิทานพื้นบ้านไทย.  กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ มีอะไรต้องแบ่งปันกัน

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ  มีอะไรต้องแบ่งปันกัน

คืนที่ฟ้าฉ่ำฝน ..... ตายายคู่หนึ่งจูงมือ ค่อยๆ
พากันเดินเข้าร้าน
McDonalds
แลดูแปลกตาท่ามกลางเหล่าวัยรุ่นหนุ่มสาว

สายตาหลายคู่จ้องมองมาอย่างชื่นชมในความรัก

ที่ยืนยาวมากว่าครึ่งศตวรรษของสองตายาย

ตาเดินตรงไปที่เคาน์เตอร์สั่งอาหารชุดและชำระเงินอย่างคุ้นเคย

ก่อนพายายไปเลือกหาที่นั่งริมในสุดของร้าน

ตายายช่วยกันนำอาหารออกจากถาด

ตาค่อยๆ แบ่งแฮมเบอร์เกอร์ออกเป็น
2 ส่วน
เอาเฟรนช์ไฟร์ออกมานับครึ่ง

และจัดวางไว้ดูน่ารับประทานข้างหน้ายาย

คว้าแก้วโค้กมาจิบหนึ่งอึก

ส่งให้ยายรับไปจิบหนึ่งอึกก่อนจะวางไว้ตรงกลางเบื้องหน้าทั้งคู่

ขณะที่ตาเริ่มกินแฮมเบอร์เกอร์ส่วนของตนอยู่

บรรดาลูกค้าในร้านที่จับตาดูคู่ตายายมาตั้งแต่ต้นเริ่มรู้สึกกระสับกระส่าย

หลายคนสะกิดกันพลางกระซิบ

" น่าสงสารจังแกคงมีเงินพอซื้อได้แค่ชุดเดียวมาแบ่งกันมั้ง"

ชายหนุ่มโต๊ะข้างๆถึงกับเดินเข้ามาหาพร้อมเสนอตัวขอเป็นเจ้ามือซื้อให้อีกชุดอย่างสุภาพ

ตายิ้มรับความมีน้ำใจ

แต่ปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า

" ไม่เป็นไรหรอกมีอะไรเราก็ต้องเอามาแบ่งกันอยู่แล้ว"

เวลาผ่านไป ทุกคนเริ่มสังเกตว่า

ยายได้แต่นั่งนิ่งจ้องมองตากินแฮมเบอร์เกอร์อย่างเอร็ดอร่อยไม่ยอมแตะต้องส่วนของตน

นอกจากหยิบโค้กขึ้นมาจิบ

ชายหนุ่มคนเดิมตัดสินใจเข้ามาหาอีกครั้ง

เอ่ยขอร้องให้เขาได้เลี้ยงคู่ตายายที่น่ารักนี้เถอะ

คราวนี้ยายเป็นฝ่ายปฏิเสธอย่างอ่อนหวาน

ยืนยันเหมือนเดิมว่ามีอะไรก็ต้องเอามาแบ่งกัน

เมื่อตารับประทานเสร็จ

ขณะหยิบกระดาษมาเช็ดปาก

ยายก็ยังคงนั่งนิ่งดูสามีสุดที่รักอยู่อย่างนั้นราวกับกลัวว่าเขาจะไม่อิ่มจริงๆ


ชายหนุ่มคนเดิมก็อดรนทนไม่ได้อีก

เอ่ยปากอย่างจริงจังขอตายายอนุญาตให้เขาเลี้ยงสักครั้ง

แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างสุภาพอีก .....

ชายหนุ่มนึกสงสัย

" ทำไมคุณยายไม่รับประทานบ้างเลยครับ

ก็ไหนบอกว่ามีอะไรก็ต้องเอามาแบ่งกันไง

คุณตาก็ทานเสร็จแล้ว

ยังรออะไรอยู่หรือครับ
?"

............................
คุณยายตอบเนิบๆ ........
" รอฟันปลอมจากตาน่ะหลาน"

ในสุดท้ายอาจจะฟังเเล้วตลก แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่ชีวิตคู่ ของใครต่อหลายคนคงปรารถนา และเราก็คำนึง ว่าชีวิตเรานี้ มันเป็นสิ่งทนสภาพร่างกายนี้ไม่ได้ ย่อมแปรเลี่ยนไปในทางเสื่อม และก็คืนสู่ธรรมชาติ นี้คนที่ไม่ประมาทต้องคิดให้ดี เเต่ระหว่างที่เราอยู่ด้วยกันนั้นก่อนที่ใครคนใดคนหนึ่งจะจากกัน เราควรจะทำให้ดีกันอย่างไร ปฏิบัติให้ดีกันอย่างไร พูดให้ดี คิดให้ดี อย่าโกรธ อย่าด่า อย่าตะคอกใส่ อย่าดูถูกเหยียดหยามกัน นี้สำคัญ คือ รักษาน้ำใจ นี้จะขอบอกอะไรสักอย่าง ชีวิต คู่จะยืนยาว เป็นไปได้ด้วยดี เราทั้งคู่ต้อง แต่งงานกับธรรมะเสียก่อน คือต้องเขาไปเรียนรู้เรื่องชีวิตนี้ให้ดี ให้ถูกต้อง ให้เข้าใจ ว่าชีวิตนี้ คือ อะไร ควรจะเป็นอย่างไร เราเกิดมาเพื่ออะไร สิ่งที่สุดของชีวิตคืิออะไร
ถ้าเราทั้งคู่ แต่งงานกับคำตอบที่ได้จากธรรมะ เราจะมีชีวิตที่สันติสุข ตลอดยามชรา ลาโลกเลยทีเดียว 
โดย อุตฺตมสาโร

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ ตากับยายปลูกถั่วปลูกงา ให้หลานเฝ้า

นิทานสั้นแง่คิดสอนใจ  ตากับยายปลูกถั่วปลูกงา
    
    กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มียายกับตาปลูกถั่วปลูกงาอยู่บนเชิงเขา  วันหนึ่งตากับยายต้องไปตลาดจึงฝากถั่วฝากงาเจ็ดทะนานให้หลานเฝ้า  แต่ด้วยความเป็นเด็ก  หลานจึงไม่เฝ้าเอาแต่เล่นและนอนหลับ  กาจึงมากินถั่วกินงาเจ็ดทะนานจนหมด  ยายกลับมายายก็ด่า  ตามาตาก็ตี  หลานร้องไห้ด้วยความเจ็บที่โดนตาตี  คิดโทษพวกอีกาที่มากินถั่วกินงาจนหมด  ทำให้ตนถูกตี  จะต้องหาคนมาจัดการกับพวกอีกาให้ได้ 

อีกากินถั่วกินงา นายพรานช่วยหน่อย
             
 หลานจึงวิ่งร้องไห้ไปหานายพรานขอให้ช่วยไปยิงอีกาให้ที  เพราะอีกามากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  ตนจึงโดนยายด่าและโดนตาตี  นายพรานได้ฟังแล้วจึงตอบว่า  “มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไป  หลานจึงไปหาหนู  ขอให้หนูช่วยไปกัดสายธนูของนายพรานให้ขาด  เพราะนายพรานไม่ช่วยไปยิงอีกาที่มากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  หนูได้ฟังแล้วจึงตอบว่า  “มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไป  หลานจึงไปหาแมว  ขอให้แมวช่วยไปกัดหนูให้ที  เพราะหนูไม่ช่วยไปกัดสายธนูของนายพราน  นายพรานไม่ช่วยไปยิงอีกาที่มากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  แมวได้ฟังแล้วก็ตอบว่า  “มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไป  หลานจึงไปหาหมา  ขอให้หมาช่วยไปกัดแมว  เพราะแมวไม่ยอมไปกัดหนู  หนูไม่ไปกัดสายธนูของนายพราน  นายพรานไม่ไปยิงอีกาที่มากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  หมาได้ฟังแล้วก็ตอบเหมือนกันว่า  “มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไป  หลานจึงไปหาค้อนให้ช่วยทุบหัวหมา  เพราะหมาไม่ยอมไปกัดแมว  แมวไม่ยอมไปกัดหนู  หนูไม่ยอมไปกัดสานธนูของนายพราน  นายพรานไม่ยอมไปยิงอีกา  เพราะอีกามากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  ค้อนได้ฟังแล้วก็ตอบไปว่า  “มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไป  หลานจึงไปหาไฟให้ช่วยไหม้ค้อน  เพราะค้อนไม่ยอมไปทุบหัวหมา  หมาไม่ยอมไปกัดแมว  แมวไม่ยอมไปกัดหนู  หนูไม่ยอมไปกัดสายธนูของนายพราน  นายพรานไม่ยอมไปยิงอีกาที่มากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  ไฟได้ฟังก็ตอบไปว่า  “มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไปอีก  หลานจึงไปหาน้ำให้ช่วยดับไฟ  เพราะไฟไม่ไปไหม้ค้อน  ค้อนไม่ยอมไปทุบหัวหมา  หมาไม่ยอมไปกัดแมว  แมวไม่ยอมไปกัดหนู  หนูไม่ยอมไปกัดสายธนูของนายพราน  นายพรานไม่ยอมไปยิงอีกาที่มากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  น้ำได้ฟังแล้วก็ตอบไปว่า  “มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไป  หลานจึงไปหาตลิ่งให้มาพังทับน้ำ  เพราะน้ำไม่ยอมไปราดรดไฟ  ไฟไม่ยอมไปไหม้ค้อน  ค้อนไม่ยอมไปทุบหัวหมา  หมาไม่ยอมไปกัดแมว  แมวไม่ยอมไปกัดหนู  หนูไม่ยอมไปกัดสายธนูของนายพราน  นายพรานไม่ยอมไปยิงอีกาที่มากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  ตลิ่งได้ฟังแล้วก็ตอบว่า  ”มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไป  หลานจึงไปหาช้างให้ช่วยมาถล่มตลิ่ง  เพราะตลิ่งไม่พังทับน้ำ  น้ำไม่ไปดับไฟ  ไฟไม่ไปไหม้ค้อน  ค้อนไม่ไปทุบหัวหมา  หมาไม่ไปกัดแมว  แมวไม่ไปกัดหนู  หนูไม่ไปกัดสายธนูของนายพราน  นายพรานไม่ไปยิงอีกาที่มากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด  ช้างได้ฟังแล้วก็ตอบว่า  ”มันไม่ใช่ธุระอะไรของข้าสักหน่อย”  หลานจึงเดินร้องไห้ต่อไปอีก  หลานจึงไปหาแมลงหวี่ให้ช่วยไปตอมตาช้าง  เพราะช้างไม่ช่วยถล่มตลิ่งไม่พังทับน้ำ  น้ำไม่ช่วยไปดับไฟ  ไฟไม่ไปไหม้ค้อน  ค้อนไม่ไปทุบหัวหมา  หมาไม่ไปกัดแมว  แมวไม่ไปกัดหนู  หนูไม่ไปกัดสายธนูของนายพราน  นายพรานไม่ไปยิงอีกาที่มากินถั่วกินงาของยายกับตาจนหมด 

          แมลงหวี่ได้ฟังแล้วก็ตอบว่า  “พวกเราจะช่วยไปตอมตาช้างให้เอง  ของชอบอยู่แล้ว  กำลังอยู่ว่าง ๆ จะตอมตาช้างให้เน่าทั้งสองข้างเลย”  ช้างเห็นดังนั้นแล้วตกใจกลัว  จึงรีบไปถล่มตลิ่ง  ตลิ่งก็กลัวช้างจึงรีบไปพังทับน้ำ  น้ำก็กลัวตลิ่งพังจึงรีบไปดับไฟ  ไฟก็กลัวน้ำจึงรีบไปไหม้ค้อน  ค้อนก็กลัวไฟจึงรีบไปทุบหัวหมา  หมาก็กลัวค้อนจึงรีบไปกัดแมว  แมวก็กลัวหมาจึงรีบไปกัดหนู  หนูก็กลัวแมวจึงรีบไปกัดสายธนูของนายพราน  นายพรานกลัวหนูมากัดสายธนูจึงรีบไปยิงอีกา  อีกากลัวจะถูกนายพรานยิงจึงรีบเอาถั่วเอางามาคืน  หลานก็เอาถั่วเอางาไปคืนให้ยายกับตา  ยายก็เลิกด่า  ตาก็เลิกตีหลานตั้งแต่นั้นมา
 จาหหนังสือ
อนุสร   รอดสุข.  (2550).  20 นิทานพื้นบ้านแสนสนุก.  กรุงเทพมหานคร :  สิปประภา.



 อีกส่วนในเเง่ธรรมมะของสวนโมกข์
นิทานเรื่องนี้เป็นอุบายในเบื้องโบราณที่สั่งสอนเรื่องคติธรรม โดยเฉพาะ “อิทัปปัจจยตา” และ การดูแลสภาวะจิต

 “อิทัปปัจจยตา” เป็นหลักการทางพุทธศาสนากล่าวถึงความเกี่ยวเนื่องกันของเหตุและผล เมื่อมีเหตุย่อมมีผล และเมื่อเหตุดับผลก็ดับ คือเมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นเมื่อสิ่งนี้ ไม่มีสิ่งนี้ย่อมไม่มีเพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป

 อธิบายในรูปแบบปรัชญา ใช้อธิบายสิ่งต่างๆแบบเชื่อมโยง เช่น เสาเป็นปัจจัยของหลังคา ถ้าไม่มีเสา หลังคาก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีหลังคา เสาก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งเสาและหลังคาเป็นปัจจัยของกันและกัน คือ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาลอยๆโดยไม่มีเหตุผล
บางเหตุการณ์ประกอบด้วยหลายเหตุปัจจัย เช่น ร้องไห้เพราะเจ็บ เจ็บเพราะหัวแตก หัวแตกเพราะหกล้ม หกล้มเพราะถนนลื่น ถนนลื่นเพราะฝนตก

 แต่เมื่อผันแปรมาเป็นนิทาน ย่อมมีการแต่งเติมรายละเอียดและรสชาติให้แตกต่างกันไป

 ๑. ยายกับตา ยายกับตา ปลูกถั่วปลูกงา ประสายากจน
ยังมีหลานชาย วุ่นวายซุกซน ตายายจำทน พร่ำบ่นอุ้มชู

 ๒. วันหนึ่งตายาย จะไปในเมือง แต่ยังมีเรื่อง ที่เป็นห่วงอยู่
ถั่วงาสุกงาม เหลืองอร่ามน่าดู กาอาจโจมจู่ จิกกินสิ้นไป

 ๓. เรียกหลานมาสั่ง คอยระวังกา หากเผลอแล้วหนา ลักถั่วงาได้
จะตีจะด่า กลับมาเมื่อไร จงจำคำไว้ เหลวไหลไม่ดี

 ๔. เจ้าหลานจอมซน ไม่สนคำเตือน มัวเที่ยวแชเชือน เล่นโน่นเล่นนี่
อีกาบินมา ลักถัวงาที่- นาตายายนี้ เจ็ดเม็ดเจ็ดทะนาน

 ๕. เมื่อหลานรู้ความ นึกคร้ามคำสั่ง ให้คอยระวัง อีการังควาน
ตายายคงกลับ มาอีกไม่นาน ไม่แคล้วโดนอาน หวาดหวั่นอุรา

 ๖. ไปหานายพราน ไหว้วานขอร้อง เล่าเรื่องขัดข้อง ช่วยฉันเถิดหนา
โปรดเอาหน้าไม้ ไปยิงอีกา ยายมายายด่า ตามาตาตี

๗. นายพรานได้ฟัง กลับนั่งเมินเฉย เจ้าเด็กซนเอ๋ย เรื่องทั้งหมดนี้
ไม่เกี่ยวกับข้า ธุระใช่ที่ อย่าได้ถือดี จู้จี้กวนใจ

 ๘. ไปหาหนูน้อย ไขถ้อยร้อยเรื่อง ที่แสนขุ่นเคือง กากับพรานใหญ่
หนูเอ๋ยจงช่วย กัดสายหน้าไม้ ของพรานใจร้าย จะได้ช่วยเรา

 ๙. หนูน้อยได้ฟัง ความหลังของหลาน ให้แสนรำคาญ ไขขานเรื่องเล่าข้าไม่อยากยุ่ง นังนุงเหนื่อยเปล่า กลับไปเถิดเจ้า แล้วหนีเข้ารู

 ๑๐. ไปหาเจ้าแมว แล้วเล่าเรื่องขม ที่ต้องตรอมตรม ระทมเพราะหนู
จงช่วยจับกิน ให้สิ้นทั้งหมู่ แมวเหลือบตาดู แล้วเมินเดินไป

 ๑๑. ไปหาเจ้าหมา ช่วยกัดแมวด้วย หาไม่คงม้วย เพราะมีเรื่องใหญ่
บอกเล่าความหลัง ทั้งหมดนั่นไซร้ หมานอนหลับไหล ไม่ยลไม่ยิน

๑๒. ไปหาเจ้าฆ้อน โปรดยอนหูหมา ช่วยฉันเถิดหนา ยอนหมาให้ดิ้น
เล่าเรื่องผ่านมา น้ำตาไหลริน ฆ้อนใหญ่ใบ้กิน ไม่ตอบไม่ตาม

๑๓. ไปหาเปลวไฟ ช่วยไหม้ฆ้อนเถิด หาไม่จักเกิด เรื่องร้ายล้นหลาม
แล้วเล่าคดี ที่มาถ้อยความ ไฟลุกวาววาม ไม่เหลียวไม่แล

 ๑๔. ไปหาแม่น้ำ ดับไฟให้ที อับจนเหลือที่ ชีวีท้อแท้
หากน้ำไม่ช่วย คงม้วยเป็นแน่ น้ำไม่แยแส ไม่พูดไม่จา

๑๕. ไปหาตลิ่งดิน ช่วยทับแม่น้ำ ทุกข์ร้อนเหลือล้ำ กรรมซ้ำเติมมา
ตลิ่งนิ่งเงียบงัน ไม่ขานตอบว่า หลานเศร้าอุรา น้ำตาพร่างพราย

๑๖. ไปหาช้างใหญ่ ไขแจ้งแถลงเหตุ จงสำแดงเดช กระทืบทำลาย
ตลิ่งให้พังลง ทับน้ำกระจาย เจ้าช้างเบี่ยงบ่าย ไม่ใช่กงการ

๑๗. พบแมงหวี่น้อย เศร้าสร้อยเล่าความ ที่ผ่านมาตาม ลำดับเนิ่นนาน
อับจนปัญญา จะแก้เหตุการณ์ ไปหาทุกย่าน น้ำใจใครมี

๑๘. ช่วยฉันเถิดหนอ ขอร้องสักนิด ฉันสำนึกผิด ยอมโดนด่าตี
แมงหวี่ฟังหลาน ไขขานถ้อยวจี จะช่วยเธอนี้ ให้รอดปลอดภัย

 ๑๙. จึงแมงหวี่เจ้า เข้าตอมตาช้าง ช้างเจ็บร้องคราง กระทืบดินใหญ่
ตลิ่งจะทับน้ำ น้ำจะดับไฟ ฆ้อนถูกไฟไหม้ ไปยอนหูหมา

 ๒๐. หมามาไล่แมว แมวตามกัดหนู หนูวิ่งเกรียวกรู หน้าไม้หมายล่า
พรานป่าเกรงกริ่ง ไม่นิ่งเนิ่นช้า เล็งยิงอีกา ชีวาวางวาย


๒๑. ได้ถั่วงาคืน เจ็ดเม็ดเจ็ดทะนาน หัวใจเจ้าหลาน วิโยคโศกหาย
เหน็ดเหนื่อยหนักหนา เพราะกลัวตายาย การณ์เกือบจะสาย ไม่โดนด่าตี

 ๒๒. ขอบคุณแมงหวี่ ที่มีน้ำใจ ตัวเล็กแต่ใหญ่ ยิ่งด้วยความดี
ขอบคุณเพื่อนพ้อง ทั้งน้องทั้งพี่ นับตั้งแต่นี้ ฉันจะไม่ซน

 ๒๓. จะเป็นเด็กดี มีวินัยจริง จะทำทุกสิ่ง ที่เป็นเหตุผล
จะช่วยแก้ไข ไม่เห็นแก่ตน จะรักทุกคน ด้วยสันติธรรม

 ๒๔. ตายายกลับมา ไม่ด่าไม่ตี เพราะรักหลานนี้ จึงคอยสอนพร่ำ
โบราณว่าไว้ ให้ได้จดจำ จบถ้อยร้อยคำ เพียงเท่านี้เอยฯ


วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประวัติของวันเด็กแห่งชาติ และ รวมคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ของแต่ล่ะปี


ประวัติของวันเด็กแห่งชาติ และ รวมคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ของแต่ล่ะปี

   วันเด็กแห่งชาติ เป็นวันสำคัญในประเทศไทยตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี เป็นวันหยุดราชการที่มิได้ชดเชยในวันทำงานถัดไป (วันจันทร์) มีการให้ คำขวัญวันเด็ก ทุกปีโดยนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น
เนื้อหา

    1 ประวัติ
    2 คำขวัญวันเด็ก
    3 ดูเพิ่ม
    4 อ้างอิง

ประวัติความเป็นมาวันเด็กแห่งชาติ

งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ

รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้
คำขวัญวันเด็ก

คำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปี                    นายกรัฐมนตรี                 คำขวัญ
พ.ศ. 2499          จอมพล ป. พิบูลสงคราม        จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ. 2502          จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์         ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. 2503          จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์          ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. 2504          จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์          ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. 2505          จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์          ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. 2506          จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์          ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ. 2507          จอมพลถนอม กิตติขจร          ไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ. 2508          จอมพลถนอม กิตติขจร          เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ. 2509          จอมพลถนอม กิตติขจร          เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ. 2510          จอมพลถนอม กิตติขจร          อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ. 2511          จอมพลถนอม กิตติขจร          ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ. 2512          จอมพลถนอม กิตติขจร          รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ. 2513          จอมพลถนอม กิตติขจร          เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ. 2514          จอมพลถนอม กิตติขจร          ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ. 2515          จอมพลถนอม กิตติขจร          เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ. 2516          จอมพลถนอม กิตติขจร          เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2517          สัญญา ธรรมศักดิ์    สามัคคีคือพลัง
พ.ศ. 2518          สัญญา ธรรมศักดิ์    เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ. 2519          หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช               เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ. 2520          ธานินทร์ กรัยวิเชียร                รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ. 2521          พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์                เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
พ.ศ. 2522          พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์                เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ. 2523          พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์                อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2524          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์      เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ. 2525          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์      ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2526          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์      รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ. 2527          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์      รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ. 2528          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์      สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ. 2529          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์      นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2530          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์      นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2531          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์      นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2532          พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ       รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2533          พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ       รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2534          พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ       รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ. 2535          อานันท์ ปันยารชุน                 สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ. 2536          ชวน หลีกภัย           ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2537          ชวน หลีกภัย           ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2538          ชวน หลีกภัย           สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2539          บรรหาร ศิลปอาชา มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ. 2540          พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ           รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ. 2541          ชวน หลีกภัย           ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2542          นายชวน หลีกภัย    ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2543          ชวน หลีกภัย           มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2544          ชวน หลีกภัย           มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2545          พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร   เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ. 2546          พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร   เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ. 2547          พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร   รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ. 2548          พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร   เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ. 2549          พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร   อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ. 2550          พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์         มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ. 2551          พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์         สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2552          อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
พ.ศ. 2553          อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2554          อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
พ.ศ. 2555          ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร    สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี
และคำขวัญวันเด็กปี 2555 คือ 
สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี

 สิ่งที่เด็กควรจะได้มากที่สุดในปัจจุบันและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กคือการที่ทุกฝ่ายให้ตัวอย่างที่ดีที่ถูกต้องเเก่เด็กๆ และให้ศีลธรรม กับพวกเขา โดยเฉพาะการศึกษาทั้งหลายต้องมีศีลธรรม มากกว่า ที่จะเน้นอวดวิชา และการมุ่งหมายอาชีพ แบบมุ่งหมายใหญ่โต กว่าศีลธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้อยู่ ประเทศชาติต่อไปข้างหน้าก็อย่าหวังอะไรให้มันไปในทางที่ถูกต้อง และเจริญเลย มันจะเลวร้ายกว่าที่ปัจจุบันนี้ด้วยซ้ำ ศีลธรรมไม่มีในเยาวชนแล้ว อนาคตของประเทศก็จะไร้สันติภาพ ตัวเด็กเองก็ไร้สันติภาพยังต้องเป็นทาสของกิเลศและ การเห็นแก่ตัว อย่างนี้แล้ว เราควรจะนึกได้หรือยังว่า เราควรจะให้สิ่งใดกับพวกเด็กเหล่านี้ รีบกระทำ เพราะเขายังสามารถ รับเสพสิ่งดีจากตัวอย่างที่ดี เเละ การศึกษา สภาพเเวดล้อม ที่ดีได้ ก่อนที่จิตใจพวกเขาจะเป็นไม้แก่ ไม้แข็ง ที่ดัดไม่ได้เสียเลย
                                                                        โดย อุตฺตมสาโร

 ข้อมูลจากสารานุกรม วิกิพิเดีย  โดย ทองพริก วิกิพิเดีย

จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย เพื่อ อะไร



จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย

                  พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อที่มารวมกันเป็นสิกขาบท  เพื่อเป็นข้อฝึกหัดทางกายวาจานี้ พระองค์แสดงวัตถุประสงค์ทุกครั้ง จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัยมี ๑๐ ประการ คือ


 จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยส่วนรวม

                                ๏ สังฆะสุฏฐุตายะ เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดโดยรวม ที่ยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์นั้น หมายถึง พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติโดยการบังคับ กดขี่ตามพระพุทธอำนาจ แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทโดยการยอมรับจากสงฆ์ว่าที่บัญญัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีแก่ส่วนรวม  เพื่อให้เกิดผลดีร่วมกันและทุกฝ่ายต่างให้การยอมรับ

                                 ๏ สังฆะผาสุตายะ  เพื่อความผาสุกของพระสงฆ์ หมายถึง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยดี  นอกจากพระสงฆ์จะอยู่ร่วมกันด้วยความเรียบร้อยแล้ว   ต้องเกิดความสบายแก่ทุกฝ่ายด้วย


ประโยชน์เฉพาะบุคคล

                                ๏  ทุมมังกูนัง ปุคคะลานัง นิคคะหายะพื่อกำราบคนหน้าด้าน ไม่มียางอาย  หมายถึง  หากพระองค์ไม่บัญญัติสิกขาบทชี้โทษให้เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด  อะไรมีโทษน้อยอะไรมีโทษมาก คนที่หน้าด้านไร้ยางอายเหล่านี้เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็จะทำอะไรได้ทุกอย่างตามใจชอบ เพราะถือว่าไม่มีข้อห้าม

                                ๏  เปสะลานัง  ภิกขูนัง ผาสุวิหาระตายะ เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีศีล  หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทก็เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่มีศีล  คนเหล่านี้มักจะมีความละอายสงบเสงี่ยมเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่สร้างความรำคราญให้แก่ผู้อื่น  หากพระองค์ไม่บัญญัติสิกขาบท ท่านที่มีศีลเหล่านี้ก็จะอยู่ด้วยความลำบาก  เพราะจะถูกรบกวนจากคนที่ไร้ยางอายคอยสร้างปัญหาสร้างความรำคราญให้

    จุดประสงค์เพื่อประโยชน์คือความดีงามแห่งชีวิต

                                ๏  ทิฏฐะธัมมิกานัง อาสะวานัง สังวะรายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทเพราะคำนึงถึงผลดีและผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้บวช เช่น ถูกชกต่อย, ถูกตีด้วยไม้, ถูกตัดมือตัดเท้า, ถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองในลักษณะต่างๆ ตามสมควรแก่ความผิด ตลอดถึงการเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทแล้ว จะทำให้ผู้บวชมีความสำรวมระวังมากขึ้น  เป็นการป้องกันไม่ให้โทษดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังบวชอยู่

                                ๏  สัมปะรายิกานัง อาสะวานัง ปะฏิฆาตายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดในอนาคต เป็นการป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้บวชในอนาคต  อันเนื่องมาจากผลแห่งบาปกรรมที่ไม่สำรวมระวังในความเป็นพระ ท่านแสดงโทษของการผิดศีลไว้ ดังนี้ บ้านแตกสาแหรกขาด ทรัพย์สมบัติล่มจม  ร่างกายเกิดโรคภัยเบียดเบียน

              
 จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน

                                ๏   อัปปะสันนานัง วา ปะสาทายะ เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส

                                ๏  ปะสันนานัง วา ภิยโยภาวายะ เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้วมีความเลื่อมใสยิ่งขึ้น

                ประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทั้งสองข้อนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเอง  คือ เมื่อคนเป็นอันมากได้เห็นพระสงฆ์ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล งดงามด้วยอาจาระ ก็จะเกิดความเลื่อมใส  และผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะเกิดศรัทธามากยิ่งขึ้น นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตามธรรมะคำสั่งสอนเพื่อเข้าสู่ความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป


 จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา

                                ๏  สัทธัมมัฏฐิยา  เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม คือ เมื่อมีการบัญญัติสิกขาบท ภิกษุทั้งหลายย่อมเรียนสิกขาบทและพระพุทธวจนะเมื่อปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ย่อมได้บรรลุโลกุตตรธรรม ที่ตนจะพึงบำเพ็ญข้อปฏิบัติแล้วบรรลุได้ด้วยความปฏิบัติ เพราะฉะนั้น พระสัทธรรมทั้งหมด ชื่อว่าเป็นสภาพตั้งอยู่ยั่งยืนนานด้วยสิกขาบทบัญญัติ

                                ๏  วินะยานุคะหายะ พื่ออนุเคราะห์พระวินัย คือ เพื่อให้ภิกษุเคารพในวินัย  อันเป็นกฎระเบียบเเบบแผนขนบธรรมเนียมที่ทรงบัญญัติไว้ ให้บังเกิดมีผลในการปฏิบัติตามหลักการอย่างหนักแน่นมั่นคง

 ที่มา จากหนังสือ ลูกผู้ชายต้องบวช ผู้แต่ง ญาณวชิระ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น