จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หัวข้อธรรมคำกลอน พุทธทาส ภาพประกอบธรรม ชุดที่ ๑/๓ หมวดเรียนศาสนา

หัวข้อธรรมคำกลอน พุทธทาส ภาพประกอบธรรม ชุดที่ ๑/๓
หมวดเรียนศาสนา

หัวข้อธรรมประเภทนี้ มีไว้สำหรับใช้เพ่งเพื่อให้เห็น ข้อเท็จจริงแห่งข้อความนั้น
แล้วเพ่งต่อไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ขึ้นมาจริงๆจนจิตใจเปลี่ยนไป ตามข้อเท็จจริงนั้น
ในการที่จะทำให้เกิด ความสลดสังเวช ความไม่ประมาทการเปลี่ยนนิสัยที่ไม่พึงปราถนา
กวาดล้า่งความรู้สึก ที่ทำความรำคาญให้แก่ตน ให้หมดไปจากจิตใจเพื่อให้เกิดความสะอาด ความสว่างและความสงบโดยสมควรแก่การกระทำของตนความรู้ความเข้าใจ ที่เกิดจากการเพ่งทำนองนี้ จะถูกต้องและมีประโยชน์กว่าที่เกิดจากการอ่านตะพึดและยังเป็นการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาชนิดหนึ่งอยู่ในตัวทั้งสมาธิและปัญญา ในระดับที่คนทั่วไปจะพึงทำได้และพร้อมกันนั้นก็เป็นศีลอยู่แล้ว
ในขณะที่มีการสังวรระวัง บังคับตัวเองให้ทำเช่นนั้นไม่มีโอกาสแก่การทุศีลแต่ประการใด


มีธรรมเป็นอาภรณ์

คนไร้ธรรม ฟั่นเฟือน เหมือนเปลือยกาย
มันน่าอาย อวดได้ ไม่คลื่นเหียน
คนมีธรรม รู้อาย ไม่ว่ายเวียน
จุ่งดูให้ แนบเนียน มีอาภรณ์

อาจสุขเย็น เห็นประจักษ์ เพราะรักตัว
ไม่เมามัว รักกิเลส เป็นเหตุถอน
ตนออกจาก ความจริง สิ่งถาวร
จนเห็นกง- จักรร้อน เป็นดอกบัว

ความเห่อเหิม เพิ่มตัณหา ให้กล้าจัด
เหมือนหลงสร้าง สมบัติ ไว้ทูนหัว
ยิ่งมีมาก หนักมาก ยิ่งยากตัว
ทั้งยิ่งกลัว ความวิบัติ ขึ้นบัดดล



ประชดธรรม

ประชดธรรม คำนี้ มีความหมาย
ที่เปรียบได้ เป็นอุปมา ห้าสถาน
ประชดน้ำ พร่ำแต่ดื่ม น้ำล้างจาน
เปรี้ยวหรือหวาน เขาก็รู้ อยู่แก่ใจ

ประชดลม ก็อมอุจ- จาระพ่น
ตลบมา หน้าของตน ก็พ่นใหญ่
 ประชดบาป นำมาอาบ นาบหทัย
ประชดไฟ ให้สาสม แก่ยมบาล

ประชดกรรม นำกิเลส มาไล้หัว
ทั้งเนื้อตัว แมมมอม จอมกล้าหาญ
อย่ามาเตือน ทั้งบิดา หรืออาจารย์
ยอมวายปราณ รวมหมด ประชดตนฯ






มังคุดธรรม

ไอ้จ๋อหนึ่ง กัดมังคุด ทั้งเปลือกฝาด
ก็อาละวาด ขว้างทิ้ง กลิ้งหลุนหลุน
ไอ้จ๋อหนึ่ง มีปัญญา รู้ค่าคุณ
หยิบบิดุน กินเนื้อใน ชื่นใจลิง

คนโง่งับ ศาสนา ร้องว่าฝาด
ก็อาละวาด โกรธใจ คล้ายผีสิง
สัตบุรุษ ขุดพระธรรม ได้ความจริง
ดื่มธรรมยิ่ง ดื่มสุข ทุกวันคืน

ลิงหรือคน ก็วิกล ได้ด้วยกัน
กลืนถูกมัน ก็กลืนคล่อง ไม่ต้องฝืน
กลืนทั้งเปลือก ตาเหลือก ตายทั้งยืน
กลืนเนื้อใน ชื่นมื่น รื่นเริงธรรมฯ

อ้างอิงจาก : หนังสือหัวข้อธรรมในคำกลอน, ประพันธ์โดย พระธรรมโกศาจารย์
ท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฏร์ธานี

ภาพถ่ายโดย ชัยวัฒน์ ทองพริก รุ่น Nikon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น