จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หลักธรรมเรื่อง สันโดษในพุทธศาสนา ป.อ.ปยุตโต

หลักธรรมเรื่อง สันโดษในพุทธศาสนา  ป.อ.ปยุตโต

พระพุทธเจ้าไม่ตรัสสันโดษไว้ลอยๆ สันโดษต้องมีต่อว่าสันโดษ
ในอะไร พระพุทธเจ้าตรัสสันโดษไว้
- สำหรับภิกษุ ให้ใช้สันโดษกับปัจจัย ๔ ฉะนั้น
- สำหรับชาวบ้าน สันโดษต้องมากับตัวต่อว่า สันโดษในวัตถุ
บำรุง บำเรอ หรือในการหาความสุขส่วนตัว

ทีนี้ ยังมีกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่ให้สันโดษ คือ ความไม่สันโดษใน
กุศลธรรมทั้งหลาย ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยให้สันโดษเลย
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ที่เราได้ตรัสรู้นี้ ได้เห็นคุณค่าของธรรม
๒ ประการ คือ
๑. ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
๒. ความไม่ระย่อในการบำ เพ็ญเพียร
สองข้อนี้ เรียกว่า อุปัญญาตธรรม แปลว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้า
เห็นคุณ ธรรม ๒ ข้อชุดนี้ เป็นหลักทั้งในพระสูตรและอภิธรรม ในพระ
อภิธรรม มีในมาติกา ชุด ๒ (องฺ.ทุก.๒๐/๒๕๑; อภิ.สํ.๓๔/๑๕)

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธ ถ้าใครมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนให้
สันโดษใช่ไหม อย่าเพิ่งรีบตอบ ต้องตอบเขาว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้
สันโดษในวัตถุบำ เรอความสุข แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม
ต้องเน้นว่า ในสิ่งที่ดีงาม ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็น
ประโยชน์แล้ว ท่านไม่ยอมให้สันโดษเป็นอันขาด

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญ แม้แต่ความตั้งอยู่ได้
ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมจากกุศล
ธรรมทั้งหลาย เราสรรเสริญเพียงอย่างเดียว คือ ความก้าว
หน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย” (องฺ.ทสก.๒๔/๕๓)

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญอย่างเดียว คือ การไม่ยอมหยุดในการ
เจริญหรือพัฒนากุศลธรรม และมีคาถาในธรรมบทมาอ้างด้วย คือ พระ
พุทธเจ้าตรัสพระคาถาที่ลงท้ายว่า วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ
(ขุ.ธ.๒๕/๒๙) ภิกษุจะมีศีลวัตรดี จะได้เป็นพหูสูต จะได้ฌานได้สมาธิ จะได้
บรรลุความสุขจากเนกขัมมะ คือเป็นอนาคามี หรือจะอะไรก็ตาม ตราบ
ใดยังไม่สิ้นอาสวะ อย่าได้ถึงความวางใจ

พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้น ขนาดเป็นอนาคามีแล้ว บรรลุธรรม
เบื้องสูงแล้ว ตราบใดยังไม่สิ้นอาสวะ อย่าหยุด อย่าวางใจ
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงได้เล่าเรื่องพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้า
ตรัสว่า พระอริยบุคคลที่เป็นโสดาบัน เป็นต้น ได้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว
เกิดความสันโดษ คือเกิดความพอใจในธรรมที่บรรลุแล้ว พระพุทธเจ้า
ตรัสว่าพระอริยบุคคลนั้นเป็นปมาทวิหารี คือเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท
ให้สังเกตว่า ขนาดพระอริยบุคคล บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว เกิด
สันโดษขึ้นมา ยังถูกตำ หนิว่า เป็น ผู้อยู่ด้วยความประมาท (ขุ.ม.๑๙/๑๖๐๑)
ฉะนั้น ในเรื่องกุศลธรรม สิ่งดีงาม พระพุทธเจ้าไม่ให้เราหยุด
เลย จึงเข้ากับหลักเรื่องการพัฒนาตนให้ก้าวหน้าเรื่อยไป
ถ้าเราเข้าใจหลักเรื่องนี้แล้ว ความพอดีเป็นทางสายกลางก็จะ
เกิดขึ้น เป็นทางที่จะนำ ไปสู่จุดหมายที่ถูกต้อง มิฉะนั้น ธรรมต่างๆ จะ
คลาดเคลื่อนวุ่นวายไปหมด แล้วแม้แต่กุศลธรรม ก็จะทำ ให้เกิดโทษ

จากหนังสือ จาริกบุญ-จารึกธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น