จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คำผกาผู้ไม่รู้จักธรรม ร้อยเหลี่ยมพันมุม โดย วีณา โดมพนานคร

จากคอลัมน์ร้อยเหลี่ยมพันมุม โดย วีณา โดมพนานคร
 คำผกาผู้ไม่รู้จักธรรม
คำผกา

จากบทสนทนาของคน 2 คนเผยแพร่ผ่านมติชนออนไลน์หลายตอน มีถ้อยคำของนักเขียนนามว่า คำ ผกา ซึ่งตอบคำถามของ วิจักขณ์ พานิช ผู้สัมภาษณ์ ทำให้รู้ได้ว่า ผู้ตอบเป็นคนไม่เคยคิด จะเข้าหาวัดหรือธรรม ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์
ได้รับฟังทรรศนะ ทำให้รู้ว่าผู้ตอบมี "ทัศนวิสัย" เช่นไร
บทสนทนาทั้งหมดมีมากมาย กินความหลากหลาย แต่ที่เลือกมาเป็นประเด็นที่อยากขอร่วมวงสนทนาด้วย เพราะมีความเบ็ดเสร็จในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาส่วนอื่นๆ
ตัวอย่างที่ผู้ถามเริ่มนำทางก่อนด้วยการยกคำพูดที่มักได้ยินอยู่เสมอว่า
"ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน อย่ามัวสนใจสิ่งนอกตัว ขอแค่ทุกคนดูใจ ตัวเอง ไม่ให้ถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลสตัณหา ไม่ต้องไปต่อว่าคนอื่น ขอแค่ทุกคนหันมาสนใจเรื่องภายใน ตัวระบบมันก็จะเปลี่ยนไปสู่สังคมอันผาสุกเอง หากมนุษย์มีจิตใจที่ดีงามเป็นพื้นฐาน"


คำตอบมีว่า


"ฟังแล้วมันก็เหมือนจะดีนะคะ แต่ถามว่าปลูกข้าวแล้วขายไม่ได้ราคา ไม่มีน้ำจะทำนา แล้วถามว่าน้ำถูกเอาเข้าเมืองเพื่อที่จะเอาไปทำไฟฟ้า ในขณะที่รัฐบาลขอร้องให้ชาวนาชะลอการทำนา ในเมื่อเราอยู่ในสังคมแบบนี้แล้วจะให้ชาวนาเขามานั่งดูจิตใจตัวเอง เหรอ


คนที่พูดอย่างนี้เขาไม่ได้มองเห็นว่า มันไม่มีความเป็นธรรมอยู่ในสังคม แต่ความเป็นธรรมมันจะเกิดขึ้นได้ เราก็ไม่สามารถไปบังคับให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ มันจะมีระบบอะไรที่ "สั่ง" ให้ทุกคนเป็นคนดี แล้วยังต้องมีความเป็นธรรมในจิตใจด้วย"


อีกเรื่อง


"มองว่างานของ ว.วชิรเมธีมันเป็นยากล่อมประสาท หลอกขายกันไปวันๆ ไม่ได้ทำให้คนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม มันเป็นการเอาตัวรอดคนเดียว"


หรืออีกสักประโยคของคุณคำ ผกา


"ความดีมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ เลย แล้วมันก็เป็นอัตวิสัยมากๆ ดีสำหรับเราอาจจะไม่ดีสำหรับคนอื่น"


ด้วยทัศนวิสัยที่มองผ่านอัตตา ทำให้เกิด "ภาพลวงตา" ในกรอบพุทธศาสนาเรื่อง การภาวนา การดูใจ หนังสือธรรมะ หรือกระทั่งเรื่องความดี


ที่บอกว่าความเข้าใจในเรื่องทั้งหมดนี้เป็นภาพลวงตา คงต้องไล่ภาพความจริงกันทีละภาพ


ความจริงที่ 1 คือ ตัวผู้พูดที่บอกอยู่แล้วว่า ไม่เคยศึกษา-ไม่เคยปฏิบัติตามธรรมของพุทธ จึงยังไม่ "รู้จัก" และ "ประจักษ์" ใน "ความจริง" ที่มีอยู่


ความจริงที่ว่าธรรมในพุทธนั้นเป็นเรื่องที่ว่าด้วย "ใจ"


ความจริงที่ 2 การพูดถึงเรื่องการดูใจแบบเป็นยาวิเศษแก้ปัญหาความยากจน หรือแก้ปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรให้ได้ภายในย่อหน้าเดียว


จะเป็นเรื่องปกติไปได้อย่างไร ?


การภาวนาเพื่อดูใจตัวเองที่ถูกทาง เป็นกระบวนการที่ต้องใช้คำอธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้นและผลที่ตามมามากมาย ซึ่งล้วนเป็นเรื่องภายใน ที่ไม่อาจพูดถึงได้เพียงแค่รูปแบบภายนอกที่เห็นว่านั่งหลับตา ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ วิธีที่ทำให้เห็นใจตัวเอง


เพราะนั่งหลับตาอาจเห็นได้ง่าย จึงพูดถึงได้แค่นั้น


ที่เห็นได้ยากกว่าคือใจที่ให้หันเข้ามาดูในตัวเอง เพื่อให้เห็นในความโลภ ความอหังการ ความแค้นเคือง ที่เป็นต้นกำเนิดของพฤติกรรมอัปลักษณ์ที่หลั่งไหลออกไปสู่ผู้อื่นด้วยความภาคภูมิใจโดยไม่รู้ตัว


เมื่อมองเห็นจึงจะรู้จักหยุด รู้จักคิด รู้จักทำ ในทางที่เป็นการคลี่คลายปัญหาในขอบ เขตของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันไป

แรงกระเพื่อมเป็นคลื่นที่ถูกส่งออกจากแต่ละคนจึงจะหนุนเนื่องเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง


คนที่เดินไปเห็นเศษแก้วตกอยู่ริมถนนแล้วเก็บออกให้พ้นทาง ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความสงบ มากกว่าคนที่มองเห็นแล้วเมินว่าธุระไม่ใช่


พ่อค้าผู้ร่ำรวยที่กล้าหาญทำธุรกิจแบบมีคุณธรรมกำกับ ซึ่งเกิดจากการรู้จักและมองเห็นใจตัวเอง ย่อมมีอยู่อย่างแน่นอน แม้จะยังไม่มากพอที่จะทำให้สังคมไร้ปัญหาโดยสิ้นเชิง


ชาวนาแม้มีปัญหารุมเร้า ถ้าจะนั่งหลับตาภาวนาก็คงไม่ใช่เพราะเพื่อให้ปัญหาโครงสร้างทางการเกษตรของประเทศไทยหายวับไปกับบทสวดมนต์


แต่ถ้าจะมีชาวนาเลือกใช้การภาวนากับชีวิต ก็น่าจะมีผลตามมาเป็นจิตใจที่สงบ มีปัญญาในการดำเนินชีวิตในปัจจัยที่ตนเองกำหนดได้ให้ดีที่สุด ถ้าจะป่าวร้องความเดือดร้อนด้วยเสียงตะโกนก็อาจจะเป็นไปด้วยวิธีที่แยบคาย คาดหวังผลได้


ความจริงที่ 3
หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นของ ว.วชิรเมธี หรือของท่านอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน แม้จะไม่ได้ประกาศปลุกเร้าให้คนลุกขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาสังคม แต่ไม่ได้บอกให้คนเอาตัวรอด และเป็นเพียงยากล่อมประสาทอย่างแน่ๆ


เมื่อชักนำให้คนรู้จักเส้นทางของการรู้จักใจ จะน้อยจะมาก ก็คล้ายกับการเปรียบเปรยเรื่องการนั่งหลับตาภาวนากับปัญหาสังคม ที่คงไม่ส่งผลโดยตรงกันแบบเห็นหัวเห็นท้ายภายในพริบตา

แต่การไม่ให้ความสำคัญกับใจนี่แหละ ที่จะทำให้สังคมยุ่งเหยิงมากยิ่งขึ้น เพราะกลไกและระบบที่ถูกตั้งขึ้นภายใต้ความเห็นแก่ตัว ไม่ช่วยให้ปัญหาน้อยลงอยู่แล้ว


ความจริงที่ 4 เพราะใช้อัตวิสัยจึงบอกว่าความดีเป็นอัตวิสัย ความดีที่เป็นความดีแท้ไม่ใช่แค่เปลือกนั้นเกิดขึ้นจากใจ และปรากฏผลประจักษ์ได้ก็ด้วยใจอีกนั่นแหละ

ใจคนนั้นไม่ว่าจะวัฒนธรรมไหน ภาษาใด ซีกโลกตรงกันข้าม จะมีโครงสร้างของความรู้สึกแหวกแตกต่างกันไปได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว


ความดีในทางพุทธว่ากันด้วยใจ ไม่ใช่เครื่องแบบ จึงไม่ใช่อัตวิสัยแน่นอน

เรื่องของใจ ถ้าไม่รู้จักและไม่เข้าใจพูดไปแล้ว ทำให้เห็น "ใจ" ของคนพูดมากกว่าสิ่งใด ๆ


(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2553)

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยกับคุณคำ ผกา ทุกเรื่อง มันเหมืนปรัชญาที่ฟังเข้าใจง่ายดี แต่ไม่เห็นด้วยที่แก้ผ้า

    ตอบลบ

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น