จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา วันพระสงฆ์ วันพระธรรม
ประวัติความเป็นมาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชา

       วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 แต่ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน
เนื้อหาของพระธรรมเทศนาที่แสดงในวันนี้เกี่ยวกับการทำตนให้สุดโต่ง 2 ประการ ที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ

อัตตกิลมถานุโยค

1. อัตตกิลมถานุโยค คือ การทำตนให้ลำบากเปล่า คือ ความพยายามเพื่อบรรลุผลที่มุ่งหมายด้วยวิธีทรมานตนเองให้ได้รับ
ความลำบากต่าง ๆ

 2. กามสุขัลลิกานุโยค คือ การทำตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุขในสังคมอินเดียสมัยโบราณเชื่อว่า นิพพาน หรือนิโรธ เป็นความสุขที่ต้องมุ่งแสวงหา เพราะถือว่าเป็นความสุขสงบที่เป็นอมต ไม่ผันแปร
ในการแสวงหานั้น มีหลักความเชื่ออยู่ 2 อย่าง คือ ความเชื่อที่ว่า การจะบรรลุนิพพานได้นั้น ด้วยการทรมานตนเองให้ลำบาก
กับความเชื่อที่ว่า การจะบรรลุถึงนิพพานนั้น ได้ด้วยการทำตนเองให้พร้อมพรั่งด้วยสิ่งอำนวยความสุข เมื่อเกิดความเชื่อเช่นนั้น จึงทำ
ให้เกิดการปฏิบัติต่าง ๆ ติดตามมา ผู้ที่เชื่อว่าการบรรลุนิพพาน ด้วยการทรมานตนเองให้ลำบาก จึงได้ทรมานตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นอดอาหารจนร่างกายซูบผอม นอนบนหนาม เอาขี้เถ้าทาตัวและไม่อาบน้ำ เป็นต้น ส่วนผู้ที่เชื่อว่า การบรรลุนิพพานด้วยการทำตนเองให้พร้อมพรั่งด้วยสิ่งอำนวยความสุขต่าง ๆ ก็ได้แสวงหา สะสมและหมกมุ่นอยู่กับการเสพสุข แล้วในที่สุดคามเชื่อ 2 อย่างนั้นก็ไม่ได้บรรลุนิพพานอย่างที่หวังไว้เพราะฝ่ายแรกตึงเกินไป และฝ่ายหลักหย่อนเกินไป เพราะเริ่มต้นมาจากการปฏิบัติผิดนั่นเอง

 พระพุทธเจ้า ก่อนตรัสรู้ทรงปฏิบัติตามข้อปฏิบัติมาแล้วครั้นทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางหรือข้อปฏิบัติให้ได้บรรลุนิพพาน จึงทรงแสวงหาทางสายใหม่ ในที่สุดก็ทรงพบว่าอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ 8 คือ

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ การทำงานชอบ
5. สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ

 เป็นทางสายกลางที่ดีที่สุด แล้วทรงปฏิบัติตามทางสายกลางนั้น ไม่ช้าก็ได้บรรลุนิพพาน
ทางสายกลางนั้น เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วคิดหาทางไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ ซึ่งก็พบว่าต้องเริ่มต้นด้วยการทำจิตให้สงบไม่เอนเอียงไปทางข้างตึงหรือข้างหย่อน โดยอาศัยการฝึกสติเป็นตัวนำพร้อมทั้งเพียรระวังไม่ให้ความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เพียรละให้ได้ในขณะเดียวกันก็เพียรให้เกิดความคิดที่ดีและเพียรรักษาความคิดที่ดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และพบต่อไปว่าจิตสงบแล้วพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งทางกายและวาจาก็สงบด้วย เมื่อสงบครบทั้งกาย วาจาและใจแล้วก็ได้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน

ในวิถีชีวิตของปุถุชนนั้น ย่อมมีความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต ความสำเร็จย่อมแตกต่างกันไปตามความปรารถนาของแต่ละคน บางคนปรารถนาความร่ำรวยเป็นความสำเร็จบางคนปรารถนาความมีชื่อเสียงเป็นความสำเร็จ

ความร่ำรวย และความมีชื่อเสียง มีองค์ประกอบให้ถึงความสำเร็จได้ 2 ส่วน ส่วนแรกเกิดจากผู้ปรารถนาเอง และส่วนที่ 2เกิดจากสิ่งแวดล้อมสนับสนุน อันอาจได้แก่ บุคคล กาละและเทศะผู้ปรารถนาต้องทำให้เกิดความพอดีระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมสนับสนุน

ความพอดีส่วนตนนั้น ก็เริ่มจากทำความเข้าใจความสำเร็จให้ชัดเจนว่าคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหนแล้วคิดหาทางไปสู่ความสำเร็จนั้นได้อย่างไร เมื่อพบทางแล้ว ก็ประคับประคองความคิดนั้นให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะไม่เคร่งเครียดจนกร้าว และปล่อยเฉยจน
เฉื่อยชา ในขณะเดียวกันก็ประคับประคองการแสดงออกทั้งทางกายและวาจา ให้สอดคล้องกับความคิด จนเข้าได้กับบุคคลกาละและเทศะ อย่างไม่เสียหลักธรรม

ความพอดีดังกล่าว เรียกได้ว่า ทางสายกลาง ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติส่วนตน ส่วนที่เกี่ยวกับส่วนรวมก็มีทางนำมาประยุกต์ใช้ได้คืองานของหมู่คณะ จะสำเร็จได้ก็ด้วยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดถือทางสายกลาง ก็ย่อมทำให้งานดำเนินไปได้ด้วยดีแม้จะไม่ราบรื่นและไม่เรียบร้อยในตอนแรกแต่ด้วยอาศัยการทำงบานแบบทาบงสายกลาง ก็จะทำให้เกิดความคิด การกระทำและคำพูดที่พอดีต่อกัน ในกลุ่มผู้ร่วมงาน ซึ่งในที่สุดก็ยอมรับกันได้ไม่เกิดการแบ่งฝ่ายซึ่งทำให้เกิดอุปสรรค

ความเป็นมาและความสำคัญ อาสาฬหบูชา


ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
      วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา; อังกฤษ: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน สำหรับในปี พ.ศ. 2554 นี้ วันอาสาฬหบูชาจะตรงกับวันศุกร์ ที่ 15 กรกฎาคม ตามปฏิทินสุริยคติ

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ[2] ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์[3]

การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย

พิธีการในประเทศไทย
      เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสังฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)[4] โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501[5] กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล

อย่างไรก็ตาม วันอาสาฬหบูชาถือเป็นวันสำคัญที่กำหนดให้กับวันหยุดของรัฐเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนในต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอื่น ๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันอาสาฬหบูชาเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชา

สำหรับในปี พ.ศ. 2554 นี้ วันอาสาฬหบูชาจะตรงกับ วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม ตามปฏิทินสุริยคติ
ความสำคัญวันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดง เปิดเผย ทำให้แจ้ง แก่ชาวโลก ซึ่งพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ คือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ" คือทรงเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ทรงตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก "พระปัจเจกพุทธเจ้า" ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนา และด้วยการที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระสงฆ์"[6]

ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว ซึ่งควรพิจารณาเหตุผลโดยสรุปจากประกาศสำนักสังฆนายกเรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา ที่ได้สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาไว้โดยย่อ ดังนี้

 เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร์ ประกาศสัจจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น
เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
 
ประกาศสำนักสังฆนายกเรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชา
ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑[5]


ทองพริก วิกิพิเดีย ขอบคุณ วิกิพิเดีย และ หน่วยการเรียนรู้วิชาพุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น