จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา ตอนที่ ๑ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

วิหารหลวงวัดพระบรมธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

หัวข้อ
ตอนที่ ๑ 
1. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
2. อุบาสกคู่ในพระพุทธศาสนา
3. สังคายนาครั้งแรก
4. ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก
5. ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก

1. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

เมื่อพูดถึงวัดในพระพุทธศาสนา หลายท่านอาจนึกไปถึง วัดพระเชตวันเพราะมีพูดถึงบ่อยในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่มิใช่วัดแรกดอกนะครับ วัดแรกสุดชื่อว่า วัดพระเวฬุวัน

เวฬุวัน แปลว่า ป่าไผ่ เป็นที่เสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ มิใช่เฉพาะพระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ หากมีมาก่อนรัชกาลของพระองค์ด้วย นานเท่าใดไม่แจ้ง แต่มีประวัติน่าสนใจ

ป่าไผ่นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า กลันทกนิวาปสถานสถานเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต หรือสถานเลี้ยงกระแต แสดงว่ามีกระแตมากมายในป่าไผ่นี้

แม่นแล้วครับ สมัยหนึ่ง พระราชาเมืองนี้พระองค์หนึ่ง กลับจากไปล่าเนื้อมาบรรทมพักผ่อนอยู่ใต้กอไผ่ในป่านี้ ขณะม่อยหลับไป ก็พลันสะดุ้งตื่น เพราะเสียงกระแตร้องกันเจี๊ยวจ๊าวๆ (เจี๊ยวจ๊าวน่าจะเป็นเสียงลิงมากกว่าเนาะ)

อสรพิษตัวหนึ่งเลื้อยผ่านมายังที่พระราชาบรรทมอยู่ พระองค์รอดจากถูกอสรพิษกัด เพราะฝูงกระแตช่วยปลุกให้ตื่นบรรทม ทรงสำนึกถึงบุญคุณของฝูงกระแต จึงทรงประกาศให้ป่าไผ่เป็นอุทยานสงวนพันธุ์สัตว์โดยเฉพาะกระแต พระราชทานทรัพย์ตั้งเป็นกองทุนสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงกระแต ตั้งแต่นั้นมาป่าไผ่นี้ จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า กลันทกนิวาปสถานด้วยประการฉะนี้แล

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรด ชฎิลสามพี่น้อง พร้อมทั้งบริวารจำนวนรวมทั้งสิ้น (รวมทั้งชฎิลสามพี่น้องด้วย) 1,003 คน ให้เห็นความเหลวไหลของการบูชาไฟ จนมีจิตเลื่อมใส ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้วนั้น พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมข้าราชบริพารผู้นับถือชฎิลสามพี่น้อง อันมี ปูรณกัสสปะ เป็นประมุข ได้เสด็จมาเพื่อฟังธรรมจากอาจารย์ของตนตามที่เคยมา ได้ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์ ปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นั่งห้อมล้อมพระพุทธองค์อยู่

พระราชาและชาวเมืองต่างก็สงสัยว่า ระหว่างทักษิณกับเอกยุทธ เอ๊ย สมณะหนุ่มท่าทางสง่างามนั่งอยู่ตรงกลาง กับอาจารย์ของพวกตน อันมีปูรณกัสสปะเป็นประมุขนั้นใครใหญ่กว่ากัน พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพระราชาและชาวเมือง จึงรับสั่งกับพระปูรณกัสสปะว่า เธอบำเพ็ญตบะทรมานตัวเองจนผ่ายผอม บูชาไฟตลอดกาลนาน บัดนี้เธอคิดอย่างไรจึงละทิ้งความเชื่อถือเดิมเสีย มาบวชเป็นสาวกของเราตถาคต

พูดง่ายๆ ก็คือถือตบะเข้มงวดมานาน ทำไมตอนนี้เธอ เปลี๊ยนไป๋ว่าอย่างนั้นเถิด

พระปูรณกัสสปะจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า กราบบังคมแทบพระยุคลบาทแล้ว เหาะขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศระยะสูงเท่าลำตาล ประกาศว่า ตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาของตน แล้วลงมากราบแทบพระยุคลบาทอีกครั้ง ทำให้ประชาชนอันมีพระพิมพิสารทรงเป็นประมุข หายสงสัยโดยสิ้นเชิง ต่างก็สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล ทรงประกาศตนเป็นอุบาสกถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระองค์จึงทรงมอบถวายป่าไผ่ดังกล่าวนี้ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์

วัดพระเวฬุวันจึงนับเป็นวัดแรกสุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้แล

มีเกร็ดเล่าขานกันมาว่า หลังจากถวายวัดแล้ว พระเจ้าพิมพิสารมิได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไป ตกกลางคืนมา พวกเปรตจึงมาปรากฏตัวขอส่วนบุญ พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นขึ้นมา รีบไปเฝ้าพระพุทธองค์แต่เช้าตรู่ กราบทูลเล่าเรื่องราวให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้นคือญาติของพระเจ้าพิมพิสารในชาติปางก่อน ทำบาปกรรมไว้ รอส่วนบุญส่วนกุศลที่ญาติจะอุทิศไปให้ แต่ไม่มีใครคิดถึง ครั้นทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารทรงทำบุญกุศล ถวายวัดแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ จึงพากันมาขอส่วนบุญ แต่พระองค์ก็มิได้อุทิศให้

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามว่า จะให้ทำอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้กรวดน้ำตั้งใจอุทิศ

พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวัง แล้วทรงกรวดน้ำอุทิศให้พวกเปรตเหล่านั้น คราวนี้พวกเขาพากันมาเป็นขบวนยาวเหยียด ยังกับขบวนติดตามอารักขานกขมิ้นสัญจรก็มิปาน ขอบบุญขอบคุณเป็นการใหญ่ ว่าที่ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้นั้น พวกเขาได้รับแล้ว ขอบพระทัยฝ่าบาทตามสำนวนหนังกำลังภายใน ถ้าพูดเป็นฮินดูก็ว่า พหุต ธันยวาท” (ขอบคุณมาก) ประมาณนั้น

พวกเปรตเหล่านี้ทำบาปกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน อยากทราบไหมครับ พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามพระพุทธองค์ พระองค์ทรงเล่าให้ฟังว่า ในอดีตกาลยาวนานโพ้น พระเจ้าพิมพิสารและเปรตพวกนี้เป็นชาวเมืองเมืองหนึ่ง ต่างก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พากันทำบุญเป็นการใหญ่ บางครั้งถึงกับแข่งขันกันถวายทาน ว่าใครจะถวายทานได้ประณีตกว่ากัน วันหนึ่งขณะที่พวกเขาตระเตรียมภัตตาหารรอถวายพระอยู่ พระสงฆ์ยังมาไม่ถึง บางพวกก็เกิดหิวขึ้นมา หยิบฉวยเอาอาหารที่เตรียมจะถวายพระมากินก่อน ด้วยบาปกรรมนี้แหละ พวกเขาจึงมาเกิดเป็นเปรตรับใช้กรรมตลอดเวลายาวนาน

ฟังเรื่องนี้แล้ว ขนลุกไหมครับท่าน คนโบราณนั้นเขากลัวบาปกลัวกรรมมากนะครับ ของที่จะใส่บาตรแม้ว่าจะใส่ไม่หมด หรือไม่ได้ใส่ เขาจะไม่เอามากิน จะพยายามตามไปถวายพระถึงวัด เพราะถือว่าตั้งใจจะถวายพระแล้ว เป็นของสงฆ์ไม่ควรเอามากิน

สมัยนี้หรือครับ อย่าว่าแต่แค่นี้เลย ที่ธรณีสงฆ์ที่เขาถวายสงฆ์ไปแล้ว ยังแย่งเอามาทำสนามกอล์ฟเลย แค่นั้นยังไม่พอ จะออกกฎหมายจัดรูปที่ดิน ผนวกเอาที่วัดและธรณีสงฆ์ทั้งประเทศมาจัดสรรปันแบ่งอีกด้วย โชคดีพระสงฆ์องค์เจ้ากลัวท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายจะเป็นเปรตกันทั่วหน้า จึงได้ทักท้วงมิให้ทำ ดีว่าท่านเหล่านั้นยังพอมีหิริโอตตัปปะอยู่แล้ว ได้ถอนที่วัดและธรณีสงฆ์ออกจากร่างกฎหมายดังกล่าว ดังที่ทราบกันดีแล้ว

ไม่อย่างนั้นคงได้เห็นเปรตธรณีสงฆ์ใส่เสื้อนอกเดินเพ่นพ่านเต็มสภาแน่ โยมเอ๋ย

2. อุบาสกคู่ในพระพุทธศาสนา

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา มีอุบาสกอุบาสิกา 2 คู่ คู่หนึ่งเป็นอุบาสกล้วน ถึงรัตนะ 2 คือ พระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ คู่ที่สองเป็นอุบาสกกับอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ขอเล่าโดยย่อดังนี้

(1) ผู้ถึงรัตนะสองคู่แรก

อุบาสกคู่นี้มีนามว่า ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ ว่ากันว่าเธอทั้งสองมาจากอุกกลชนบท (หรืออุกกลาชนบท) อยู่แห่งหนตำบลใดไม่แจ้ง แต่น่าจะจากภาคเหนือของชมพูทวีป แถวตักสิลาโน่นแหละครับ ทั้งสองคนนี้เป็นพ่อค้าเดินทางมาค้าขายผ่านมาทางตำบลคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้พบพระพุทธเจ้าขณะประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) ในสัปดาห์ที่ 3 หลังจากตรัสรู้ (หลักฐานฝ่ายอรรถกถาว่าเป็นสัปดาห์ที่ 7)

เมื่อเห็นพระพุทธองค์ก็มีจิตเลื่อมใส ได้น้อมนำเอา ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง” (ความจริงต้องพูดสับลำดับเป็น สัตตุผง สัตตุก้อน”) ไปถวาย ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ร้อนถึงท้าวโลกบาลทั้ง 4 ได้น้อมนำบาตรมาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 ในประสานเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพ่อค้าทั้งสอง เสวยเสร็จแล้วก็ประทานอนุโมทนา

สัตตุผงนั้นบาลีเรียกว่า มันถะคือข้าวตากที่ตำละเอียด ส่วน สัตตุก้อนบาลีเรียกว่า มธุบิณฑิกะคือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อนๆ

พ่อค้าทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ ไม่เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ทั้งสองจึงเรียกว่า อุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นสรณะ (เทฺววาจิกอุบาสก)

ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดเพียงว่า เมื่อถวายสัตตุผงสัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้าแล้ว พ่อค้าทั้งสองก็กลับมาตุภูมิ เรื่องจบแค่นี้ครับ แค่นี้จริงๆ แต่พี่หม่องไม่ยอมให้จบ ได้แต่งต่อว่า พ่อค้าทั้งสองก่อนกลับได้กราบทูลขอของที่ระลึกเพื่อไปสักการบูชาเมื่อจากพระพุทธองค์ไป พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา 8 องค์หลุดติดพระหัตถ์มา พระพุทธองค์ประทานให้แก่พ่อค้าทั้งสอง

พ่อค้าทั้งสองได้นำพระเกศธาตุ 8 องค์นั้นไปก่อเจดีย์บรรจุไว้บูชาที่บ้านเมืองของตน พระเจดีย์นั้นรู้กันในปัจจุบันนี้ว่า ชะเวดากอง ตปุสสะกับภัลลิกะจะเป็นใครไม่ได้นอกจากชาวพม่าหงสาวดี พี่หม่องอ้างปานนั้นแหละครับ ส่วนท่านจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา

การแต่งตำนานเพิ่มเติมจากต้นฉบับเดิมทำกันทั่วไป พี่ไทยเราก็แต่งเติมครับ อย่างเรื่องนาคแปลงกายเป็นคนมาบวช ภายหลังความลับเปิดเผยขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้ลาสิกขา แล้วบัญญัติข้อห้ามว่าสัตว์เดียรัจฉานห้ามบวชเป็นภิกษุ ถึงกับมีคำซักถามตอนจะบวชว่า มนุสฺโสสิ = เจ้าเป็นมนุษย์หรือไม่

เรื่องเดิมมีแค่นี้ แต่พี่ไทยแต่งเพิ่มว่า นาคแกเสียอกเสียใจมากที่ไม่มีวาสนาบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงกราบขอพรพระพุทธองค์ ขอฝากชื่อไว้ในพระพุทธศาสนา ต่อไปใครจะมาบวชขอให้เรียกว่า นาคเถิด พระพุทธองค์ก็ทรงรับ เพราะเหตุนี้แล ผู้จะเข้ามาบวชจึงเรียกว่านาค และการบวชเรียกว่าบวชนาค มิใช่บวชนาย ก. นาย ข. เห็นหรือยังครับพี่ไทยก็ ตัดต่อเก่งไม่แพ้พี่หม่องเหมือนกัน

ดีเท่าไรแล้วที่ไม่แย่งเอาตปุสสะ ภัลลิกะมาเป็นคนไทย เพราะฟังชื่อแล้วน่าจะใกล้มาทางไทยมากกว่าพม่า

ตปุสสะ ก็ ตาบุตรภัลลิกะ ก็ ตาพันยังไงล่ะครับ



(2) ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรก

บิดามารดาของยสกุมาร บิดาของยสกุมารชื่อเรียงเสียงใดไม่แจ้ง บอกแต่ว่าเป็นเศรษฐีเมืองพาราณสี ส่วนมารดาของยสกุมารนั้น แม้พระไตรปิฎกจะไม่เอ่ยนาม แต่อรรถกถาก็โยงว่าคือ นางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมุปายาสแด่พระบรมโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้นั้นแล

เมื่อ ยสกุมาร ผู้บุตร เกิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส มองเห็นแต่ความทุกข์ที่รุมเร้าจิตใจ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านกลางดึก หลังจากตื่นขึ้นมาเห็นภาพอันน่าสังเวชของเหล่านางรำที่นอนหลับใหล แสดง ทัศนะอุจาดต่างๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหลจากปาก บางนางก็กัดฟัน ละเมอฟังไม่ได้ศัพท์ บางนางผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเปิดอวัยวะที่ควรปิด เป็นต้น

ถ้าสมัยที่ยสกุมารยังสนุกอยู่กับความสุขทางกาม ก็คงเห็นภาพเหล่าน่าดูน่าชมดุจน้องนัทน้องแนทอะไรนั้น แต่บังเอิญว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยสกุมารเอือมกับความสุขทางเนื้อหนังมังสาเสียแล้ว ภาพเหล่านี้จึงปรากฏต่อเธอดุจซากศพในป่าช้าปานนั้น จึงเดินลงเรือนไป พลางเปล่งอุทานด้วยความสลดใจว่า อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสฏฺฐํสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอถ้าจะแปลให้ถึงใจก็ต้องว่า วุ่นวายจริงโว้ย กลุ้มจริงโว้ยประมาณนั้น

เขาเดินบ่นไปจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะพระพุทธองค์เสด็จจงกรมอยู่ พระองค์ตรัสตอบว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ ยสะ เราจะแสดงธรรมให้ฟังเขาจึงเข้าไปกราบพระบาท สดับพระธรรมเทศนาจนกระทั่งได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ

บิดามารดาของยสกุมารตามหาบุตรมายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบพระพุทธองค์ ได้ฟังพระธรรมเทศนา ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บิดามารดาของตนนั้น พระยสะ นั่งอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ โดยต่างฝ่ายต่างก็มองไม่เห็นกัน ด้วยการบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ เมื่อพระธรรมเทศนาจบลง พระยสะได้บรรลุพระอรหันต์ บิดามารดาได้ดวงตาเห็นธรรม ทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัย

3. สังคายนาครั้งแรก

สังคายนา คือ การรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่ ก่อนหน้าสังคายนาเกิดขึ้นจริงๆ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ได้รวบรวมหมวดหมู่แห่งธรรมะตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ และเกินสิบไว้ก่อนแล้ว ชื่อว่าสังคีติสูตรและทสุตตรสูตร ที่ไม่นับเป็นสังคายนาก็เพราะยังไม่สมบูรณ์ สังคายนาครั้งแรกที่สมบูรณ์เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน โดยพระอรหันต์สาวก 500 รูป อันมี พระมหากัสสปะ เป็นประธาน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารานั้น พระมหากัสสปะอยู่ต่างเมือง ทราบข่าวพระประชวรของพระพุทธองค์ จึงเดินทางพร้อมภิกษุบริวารประมาณ 500 รูป เพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ ก่อนเข้าไปยังเมืองกุสินารา ได้พักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง ขณะนั้นอาชีวกนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพเดินออกนอกเมืองมา พระมหากัสสปะจึงเอ่ยถามถึงพระพุทธเจ้า อาชีวกคนนั้นกล่าวว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ตั้ง 7 วันแล้ว พวกท่านยังไม่ทราบอีกหรือ

ได้ยินดังนั้นภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ก็นั่งนิ่งปลงธรรมสังเวช พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ฝ่ายภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคล และปุถุชนอยู่จำนวนมาก ก็พากันร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์ มีขรัวตารูปหนึ่งนาม สุภัททะ ได้เห็นภิกษุทั้งหลายร่ำไห้อยู่ จึงปลอบโยนว่า นิ่งเสียเถอะ อย่าร้องไห้เลย พระศาสดาปรินิพพานไปก็ดีแล้ว สมัยยังทรงพระชนม์อยู่ทรงจู้จี้สารพัด ห้ามโน่นห้ามนี่ จะทำอะไรก็ดูจะผิดไปหมด ไม่มีอิสระเสรีภาพเลย บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้

พระมหากัสสปะได้ยินดังนั้นก็สลดใจ โอหนอ พระบรมศาสดาสิ้นไปยังไม่ข้าม 7 วันเลย สาวกของพระองค์พูดได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปนานเข้าจะขนาดไหน

ท่านรำพึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงมีพระมหากรุณาแก่ท่านเป็นกรณีพิเศษ ไปประทานบาตรและจีวรแก่ท่าน และทรงรับเอาบาตรจีวรของท่านไปทรงใช้เอง นับว่าทรงไว้วางพระทัยต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ถูกดูหมิ่น จ้วงจาบเช่นนี้ จะนิ่งดูดายหาควรไม่ ท่านจึงตัดสินใจทำสังคายนาโดยคัดเลือกพระอรหันต์สาวกผู้ทรงอภิญญา ได้จำนวน 499 รูป เว้นไว้ 1 รูป เพื่อพระอานนท์

ขณะนั้นพระอานนท์ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จะเลือกท่านด้วยก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบ ครั้นจะไม่เลือกก็ไม่ได้ เพราะการทำสังคายนาครั้งนี้ขาดพระอานนท์ไม่ได้ เนื่องจากพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุด ได้ทรงจำพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์ เพื่อเร่งทำความเพียรเพื่อทำที่สุดทุกข์ให้ได้ทันกำหนดสังคายนา อันจะมีขึ้นใน 3 เดือนข้างหน้า

พระอานนท์ จึงเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก แต่ยิ่งเพียรมากเท่าไร ก็ดูเสมือนว่าจุดหมายปลายทางห่างไกลออกไปทุกที จึงรำพึงว่า พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานว่า เราจะทำที่สุดทุกข์ได้ไม่นานหลังจากพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน คำพยากรณ์ของพระพุทธองค์คงไม่มีทางเป็นอื่นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม

วันหนึ่ง หลังจากเพียรภาวนาอย่างหนักรู้สึกเหนื่อย จึงกำหนดว่าจะพักผ่อนสักครู่แล้วจะเริ่มใหม่ จึงนั่งลงเอนกายนอนพัก เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ สว่างโพลงภายในบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ขีณาสพทรงอภิญญาในบัดดล

ขณะนั้นพระสงฆ์ 499 รูป กำลังนั่งประชุมกันตามลำดับพรรษา เว้นอาสนะว่างไว้หนึ่งที่สำหรับพระอานนท์ พระอานนท์ต้องการประกาศว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว จึงเข้าฌานบันดาลฤทธิ์ดำดินไปโผล่ขึ้นนั่งบนอาสนะ ท่ามกลางสังฆสันนิบาต ทันเวลาพอดี

เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว พระมหากัสสปะประมุขสงฆ์ได้ประกาศให้ พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญพระวินัย ทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ ผู้เป็นพหูสูต ทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยตัวท่านเองทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามประเด็นต่างๆ มีพระสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันสอบทาน

ลักษณะของการสังคายนาคงเป็นทำนองนี้คือ

1. พระสงฆ์ทั้ง 500 รูป คงต่างก็เสนอพระธรรมเทศนาที่ตนได้ยินมาจากพระพุทธเจ้า มากบ้างน้อยบ้าง ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้มาจากพระอุบาลี และพระอานนท์

2. พระธรรมเทศนานั้นๆ พระพุทธองค์คงทรงแสดงโดย ภาษาถิ่นต่างๆ พระสงฆ์ในที่ประชุมคงตกลงกันว่าจะต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่ง ร้อยกรองเป็นภาษา มาคธี

3. เมื่อร้อยกรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็ สวดสังวัธยายร่วมกันคือท่องพร้อมๆ กัน เพื่อให้จำได้คล่องปาก เพราะฉะนั้นจึงเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า สังคายนา” (แปลว่าสวดร่วมกัน, สวดพร้อมกัน) ด้วยประการฉะนี้

สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองนครขณะนั้นทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ กระทำกันอยู่เป็นเวลา 7 เดือนจึงสำเร็จ

การทำสังคายนาครั้งนี้เรียกว่า สังคายนาพระธรรมวินัยเนื่องจากยังไม่มีพระไตรปิฎกและได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ มุขปาฐะ” (คือการท่องจำ)

4. ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก

พระภิกษุรูปแรกที่ลักของชาวบ้านจนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ 2 (ห้ามลักทรัพย์) คือ พระธนิยะชาวเมืองราชคฤห์

ก่อนหน้านี้อาจมีพระภิกษุลักทรัพย์หรือถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเท่ากับท่านธนิยะ ใหญ่ขนาดไหน ก็ขนาดลักไม้จากโรงไม้หลวงเลยทีเดียว

เรื่องราวมีมาดังนี้ ขอรับ ท่านธนิยะนี้เป็นช่างก่อสร้างมาก่อน บวชเข้ามาแล้วก็สร้างกุฏิทำด้วยดินเผาตกแต่งภายนอกภายในสวยงามตามประสาช่าง พระสงฆ์องค์เจ้าเดินผ่านไปมาก็เข้ามาชม ต่างก็สรรเสริญในความเก่งของท่านธนิยะ แต่พระคุณเจ้าที่ท่านมีศีลาจารวัตรเคร่งครัด พากันตำหนิท่านธนิยะว่า ไม่ควรสร้างกุฏิสวยงามอย่างนี้

ความทราบถึงพระกรรณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรกุฏิอื้อฉาวนี้ด้วยพระองค์เอง แล้วตรัสเรียกพระธนิยะมาตำหนิโดยประการต่างๆ ทรงสั่งให้ทุบทำลายกุฏิดินของพระธนิยะเสีย

เมื่อกุฏิสวยงามที่สร้างมากับมือถูกพระพุทธองค์รับสั่งให้ทำลาย พระธนิยะคิดจะสร้างกุฏิไม้แทน จึงไปยังโรงไม้หลวง บอกคนเฝ้าโรงไม้หลวงว่า จะมาขนไม้ไปสร้างกุฏิ

ไม้นี้เป็นของหลวงนะ ขอรับคนเฝ้าโรงไม้ทักท้วง

อาตมาทราบแล้วพระหนุ่มตอบอย่างสงบ

ไม้หลวงเป็นสมบัติของพระราชานะครับ พระองค์ทรงพระราชทานหรือยัง

พระราชทานเรียบร้อยแล้ว โยม

เมื่อพระภิกษุหนุ่มยืนยันว่าไม้นี้ได้รับพระราชทานจากในหลวงแล้ว คนเฝ้าก็มอบให้ภิกษุหนุ่มขนไป

วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ ปุโรหิตแห่งพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ เดินทางมาตรวจโรงไม้ เห็นไม้หายไปจำนวนมาก จึงซักถามคนเฝ้า คนเฝ้าบอกว่าพระสมณศากยบุตรรูปหนึ่งเอาไป บอกว่าได้รับพระราชทานแล้วด้วย

วัสสการพราหมณ์จึงไปกราบทูลถามพระเจ้าพิมพิสารถึงเรื่องนี้ พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้นิมนต์พระธนิยะเข้าไปพระราชวัง ตรัสกับภิกษุหนุ่มว่า

นัยว่าพระคุณเจ้าเอาไม้หลวงไปจำนวนหนึ่ง เป็นความจริงหรือไม่

เป็นความจริง มหาบพิตรภิกษุหนุ่มตอบ

ไม้เหล่านั้นเป็นของหลวง คนที่ได้รับอนุญาตจากโยมเท่านั้น จึงจะเอาไปได้ โยมมีภารกิจมากมายจำไม่ได้ว่าเคยออกปากถวายไม้แก่พระคุณเจ้าเมื่อใด ขอได้เตือนความจำโยมด้วยเถิด

ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกนั้น พระองค์ตรัสว่า ต้นไม้และลำธารทั้งหลาย ข้าพเจ้ามอบให้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล ขอจงใช้สอยตามอัธยาศัยเถิด นี้แสดงว่าพระองค์ได้พระราชทานไม้นี้ให้แก่อาตมาแต่บัดนั้นแล้วพระหนุ่มอธิบาย

ถ้าเป็นผู้มีอำนาจสมัยนี้ คงฉุนขาด ถึงขั้นสบถว่าคนอย่างนี้ไม่เอามาทำพ่อแน่นอน แต่บังเอิญคู่กรณีของพระภิกษุในเรื่องนี้เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ถึงกิเลสยังไม่หมดสิ้นจากจิตสันดาน ก็เบาบางลงมากแล้ว พระองค์ตรัสด้วยพระสุรเสียงเข้มว่า

คำกล่าวนั้นกล่าวตามโบราณราชประเพณี ในเวลาประกอบพระราชพิธี หมายถึงว่า สมณชีพราหมณ์จะใช้สอยน้ำลำธาร หรือต้นไม้ใบหญ้าในป่า ที่ไม่มีเจ้าของนั้นสมควรอยู่ แต่ไม้ในโรงไม้หลวงนี้มีเจ้าของ หาควรที่สมณะจะเอาไปโดยพลการไม่ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ทำอย่างนี้คงถูกลงอาญาแล้ว แต่เผอิญว่าพระคุณเจ้าเป็นสมถะ จึงไม่เอาโทษ แต่ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก นับว่าโชคดีนะที่พระคุณเจ้า พ้นเพราะขน’”

ตรัสเสร็จ ก็นิมนต์พระภิกษุหนุ่มรีบออกจากพระราชวังไป พูดแบบหนังกำลังภายในก็ว่า โน่นประตู ไสหัวไปอะไรทำนองนั้น

คำว่า พ้นเพราะขนเป็นสำนวนเปรียบเทียบ สัตว์ที่มีขนคือแพะ กับสัตว์ไม่มีขน มีชะตากรรมแตกต่างกัน เมื่อเขาจะหาสัตว์ไปฆ่าบูชายัญ เขาจะเอาเฉพาะแพะ ไม่เอาแกะ เพราะแกะมีขนที่เอามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มได้ แกะจึงพ้นจาการถูกฆ่าเพราะขนของมัน

ฉันใดก็ฉันนั้น พระภิกษุหนุ่มลักไม้หลวง แต่พระราชาไม่เอาโทษ ปล่อยไป เพราะทรงเห็นแก่ผ้าเหลือง ด้วยเหตุนี้พระราชาจึงตรัสว่า พระหนุ่มรอดพ้นจากอาญา เพราะขน

เหตุเกิดครั้งนี้ คงเป็นเรื่องอื้อฉาวพอสมควร ผู้คนคงบอกต่อๆ กันไป ผู้ที่จ้องจับผิดอยู่แล้วก็พากันกระพือข่าวในทางเสียหาย เช่น ไหนพระสมณศากยบุตร คุยนักคุยหนาว่าสละทุกสิ่งทุกอย่างมาบวชประพฤติพรหมจรรย์ ทำไมยังลักทรัพย์ของคนอื่น ดังเช่นโจรกระจอกภาคใต้ เอ๊ย ทั่วไป

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสเรียกพระธนิยะผู้เป็นต้นเหตุมาสอบสวน ได้อย่างนี้ ไม่เหมาะที่พระสมณศากยบุตรจะพึงกระทำ เพราะไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส และทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เสื่อมศรัทธา จึงทรงบัญญัติทุติยปาราชิกว่า ภิกษุใดถือเอาของที่เขาไม่ให้ราคาตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป มีโทษหนักเรียกว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันทีที่การกระทำเสร็จสิ้นลง

เนื่องจากพระธนิยะเป็นคนทำผิดคนแรก พระพุทธองค์ไม่เอาผิด หากให้เธออยู่ในฐานะเป็น อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ) ความหมายก็คือ เอาไว้ให้อ้างอิงในทางชั่วว่า อย่าทำไม่ดีเหมือนพระธนิยะนะ อะไรประมาณนั้น

5. ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก

คราวนี้ละมิดปาราชิกข้อที่ 3 กันเป็นคณะเลยทีเดียว ไม่ใช่คนเดียวดังกรณีอื่น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระองค์ทรงแสดงอสุภกรรมฐาน (ว่าด้วยความไม่สวยงามแห่งร่างกาย) ให้พระภิกษุสงฆ์ฟัง

แสดงจบพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์จะหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน ห้ามใครรบกวน ยกเว้นพระภิกษุที่นำบิณฑบาตไปถวาย ภิกษุสงฆ์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องความไม่งามของร่างกาย อาจจะ อินมากไปหน่อยหรืออย่างไรไม่ทราบ ต่างก็เบื่อหน่าย ระอา สะอิดสะเอียนในความสกปรกเน่าเหม็นแห่งสรีระร่างกายของตนจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็ไหว้วานให้คนอื่นช่วยปลงชีวิตตน

ในวัดนั้นก็มี สมณกุตตกะคนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย เป็นชายแก่ อาศัยข้าวก้นบาตรพระยังชีพ รับใช้พระในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นุ่งห่มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เช่นเดียวกับพระสงฆ์ (คือเอาผ้าสบงจีวรพระมานุ่งห่ม แต่มิใช่พระสงฆ์) โบราณาจารย์แปลว่า ตาเถน

ภิกษุหลายรูปก็วานให้ ตาเถนคนนี้ช่วยปลงชีวิตให้ แรกๆ แกก็ตะขิดตะขวงใจ ที่ทำให้พระถึงแก่มรณภาพ แต่เมื่อพระสงฆ์ท่านบอกว่า เป็นการช่วยให้พวกท่านพ้นจากความทุกข์ ก็เลยเบาใจ ทำได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ทำต่อๆ ไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร ตกลง ตาเถนคนนี้ปลงชีวิตพระไปหลายรูป จนพระอารามที่มีพระหนาแน่น เบาบางลงถนัด

พระพุทธองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทอดพระเนตรเห็นพระบางตา ตรัสถามพระอานนท์ ได้ทราบว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์เบื่อหน่ายในชีวิตพาปลงชีวิตตัวเองบ้าง วานให้คนอื่นปลงชีวิตบ้าง จึงตรัสตำหนิว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่สมณศากยบุตรจะพึงทำเช่นนั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราจะปลงชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น ภิกษุนี้เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้

หาสังวาสมิได้ก็คืออยู่ร่วมกับหมู่คณะไม่ได้ ต้องสละเพศหรือสึกไป

ต่อมาไม่นานก็มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า ฉัพพัคคีย์” (กลุ่มหกคน) จะเรียกว่า แก๊งหกคนก็คงไม่ผิด เพราะท่านเหล่านี้มีพฤติกรรมแผลงๆ เลี่ยงอาบัติหรือ เลี่ยงบาลีออกบ่อย จนเป็นที่ระอาของพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย แก๊งหกคนนี้ไปเห็นสตรีสาวสวยนางหนึ่ง ก็เกิด ปิ๊งเข้า อยากได้มาบำรุงบำเรอ (จะขั้นไหน ตำราไม่บอก) แต่ติดขัดที่นางมีสามีแล้ว จึงออกเล่ห์เพทุบายเข้าไปหาสามีของนาง กล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกสามีของนางจนเคลิบเคลิ้ม แสดงว่าแก๊งหกคนนี้มีวาทศิลป์พูดชักจูงใจคนไม่บันเบาทีเดียว

อุบาสก เท่าที่ผ่านมาท่านก็ทำแต่กรรมดี มิได้ทำกรรมชั่วอะไรให้เป็นเหตุร้อนใจเลย ทำไมต้องมาทนอยู่ในโลกมนุษย์แสนสกปรกนี้ ควรรีบตายเพื่อไปเอาทิพยสมบัติบนสรวงสวรรค์ดีกว่า นะอุบาสกนะอะไรประมาณนั้น

อุบาสกที่แสนดี แต่ค่อนข้างซื่อบื้อ ไม่รู้เล่ห์เลี่ยมของเจ้ากูกะล่อน ก็เชื่อสนิทใจ จึงรับประทานโภชนะอันแสลง เคี้ยวของเคี้ยวที่แสลง ดื่มน้ำที่แสลงแล้วไม่นานก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมในที่สุด

ภรรยาของมหาเฮง เอ๊ยอุบาสกผู้แสนซื่อ รู้ว่าสามีของตนตายเพราะอุบายสกปรกของเจ้ากูทั้งหก ก็ด่าว่าอย่างรุนแรง ท่านทั้งหก อ้างว่าเป็นสมณศากยบุตร แต่มีพฤติกรรมไม่สมควรแก่สมณะ เป็นคนทุศีล ไร้ยางอาย พูดเท็จ ท่านหมดความเป็นสมณะแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุให้สามีของฉันตาย

ความทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามเจ้ากูทั้งหกเข้าเฝ้า ทรงซักไซ้ไล่เลียง จนสารภาพเป็นสัตย์ จึงตรัสตำหนิต่างๆ นานา แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า

อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ด้วยคำพูดว่า ท่านผู้เจริญ จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่

เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ พรรณนาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่อให้ตายก็ดี โดยนัยต่างๆ ภิกษุนี้เป็นปาราซิก หาสังวาสมิได้

เรียกว่าบัญญัติรัดกุมจนดิ้นไม่หลุด ฆ่าเองก็ผิด ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าให้ก็ผิด พรรณนาคุณความตายจนเขาเชื่อตามแล้วฆ่าตัวตายก็ผิด รัดกุมขนาด แม่นกา

พระบาลีให้คำจำกัดความไว้เสร็จ เช่นชักชวนอย่างไร พรรณนาคุณความตายอย่างไร โดยวิธีไหนบ้างจึงจะเข้าข่ายปาราชิก หรือไม่เข้าข่าย ทั้งนี้เพื่อปิดช่องโหว่ ไม่ให้พวก ตราช้างเรียกพี่เถียงข้างๆ คูๆ

เล่นกับพวกชอบเลี่ยงบาลีก็ต้องรัดกุมอย่างนี้แหละครับ
มีต่อครับ ตอนที่ ๒ ค้นหาดูครับ บทความถัดไป
สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น