จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การปลูกจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในสังคมพุทธ พระพุทธศาสนากับสังคมไทย

การปลูกจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในสังคมพุทธ

ข้อคิดจากวัดพระธาตุ พระพุทธศาสนาสอนอะไรเราได้บ้าง กับ การอยู่ร่วมในสังคม อย่าทิ้งความสำคัญตรงนี้
ถ้าทิ้งไปศาสนาก็จะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย แล้วจะหายจากความจำเป็นในสังคมด้วย

การปลูกจิตสำนึก
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงการปลุกจิตสำนึกของสังคมพุทธ ความว่า ตามหลักพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนจะต้องมองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง โดยมีคำอธิบายดังต่อไปนี้

1. มองกว้าง พระพุทธศาสนาสอนให้เรา มองกว้าง กล่าวคือไม่ให้มองแค่ตัวเอง ไม่ให้มองแค่สังคมของเรา แต่ให้มองทั้งโลก ให้มีปัญญามองเห็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยในสรรพสิ่ง ในธรรมชาติทั้งหมด เรามองว่าธรรมชาติทั้งหมดนี้เป็นระบบแห่งปัจจัยสัมพันธ์ สิ่งทั้งหลายในจักรวาลนี้มีความสัมพันธ์ พึ่งพาอิงอาศัยและส่งผลกระทบต่อกันทั้งสิ้น และให้มีเมตตากรุณาดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกิจต่างๆ

มองกว้างนั้น ถ้ายังมองออกไปไม่ถึงทั้งโลกหรือถึงอารยธรรมของมนุษยชาติ ก็ขอให้มีจิตสำนึกทางสังคม ในระดับประเทศชาติของตัวเองก่อน เป็นการค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ พัฒนากันไป ขยายทัศนะออกไป ไม่ใช่มองอยู่แค่ตัวเองและผลประโยชน์ของตัวหรือเอาแต่กลุ่มแต่พวกของตัวแล้วก็กระทบกันไป กระแทกกันมา อยู่แค่นั้น จิตสำนึกทางสังคมนั้น ตอนแรกเอาแค่ให้มีความรักบ้านเมือง มีความซาบซึ้งภูมิใจในความดีงามของชุมชนหรือสังคมของตน ซึ่งจะแสดงออกมาในจิตใจ เช่น เมื่อเห็นคนต่างประเทศเข้ามาในบ้านเมืองของตน ก็คิดนึกว่า ถ้าคนต่างชาติเหล่านั้นเดินทางไปในประเทศของเรา ได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามในบ้านเมืองของเรา และประชาชนที่อยู่ดีมีสุขมีน้ำใจ เขาก็คงจะชื่นชม

แม้แต่ไม่เห็นคนต่างชาติเหล่านั้น แต่ตนเองเดินทางไปในบ้านเมืองของตัว มองเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ทัศนียภาพในธรรมชาติแวดล้อมที่ยังคงอยู่ในสภาพอันดี และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วเกิดความรู้สึกชื่นใจ อยากให้คนต่างบ้านต่างเมืองมาเห็น และนึกว่าถ้าเขามาเห็นแล้ว เขาก็จะชื่นชม เมื่อนึกไปและทำให้เป็นไปจริงได้อย่างนี้แล้ว ก็เกิดความปีติ เอิบอิ่มปลาบปลื้มใจ ภูมิใจในประเทศชาติบ้านเมือง ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ถ้ามีขึ้นเกิดขึ้นเสมอ ๆ ก็จะชักนำจิตใจและความคิดไปในทางที่ดีงาม และสร้างสรรค์ จะทำให้ชีวิตและสังคมเจริญพัฒนาไปในทางที่ดีงามถูกต้อง

2. คิดไกล พระพุทธศาสนาสอนให้ คิดไกล ไปข้างหน้าจนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุด ให้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน โดยมีปัญญาสืบค้นหยั่งรู้เหตุปัจจัยยาวไกลในอดีต และมีความไม่ประมาทที่จะป้องกันความเสื่อมและสร้างสรรค์เหตุปัจจัยให้พร้อมที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามในอนาคต บนฐานแห่งชีวิตที่อยู่กับปัจจุบัน ที่จัดการกับปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยการพัฒนาตนก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ให้ชีวิตงอกงามสมบูรณ์จนถึงพระนิพพาน นี่คือคิดไกลอย่างยิ่ง

3. ใฝ่สูง ก็คือใฝ่ธรรมมุ่งแสวงหาความรู้ให้เข้าถึงความจริงแท้ ปรารถนาจะสร้างสรรค์ความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่สังคม ให้ชีวิตและสังคมบรรลุความดีงามประเสริฐเลิศด้วยธรรม เหมือนดังพระโพธิสัตว์ที่ตั้งปณธานใฝ่ปรารถนาโพธิญาณ มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งหวังบรมธรรม อย่างนี้จึงจะเรียกว่าใฝ่สูง

ความใฝ่สูง คือใฝ่ธรรม ที่เป็นหลักการใหญ่ประจำใจของคนทั้งสังคม คือ การถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพธรรม บูชาธรรม คนในสังคมนี้จะต้องเชิดชูบูชาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ยึดเอาธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนั้นเป็นบรรทัดฐาน ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความใฝ่ธรรมได้อย่างนี้ ก็ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่มีอุดมธรรม ถ้าคนไทยมีอุดมธรรมแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เลวร้ายทั้งหลายจะหมดไป และความเจริญพัฒนาที่แท้จริงอันพึงปรารถนาก็จะตามมา

การมีส่วนร่วมในสังคมพุทธ


การมีส่วนร่วมในสังคมพุทธ คือ การที่พุทธศาสนิกชนจะต้องส่วนเข้ามาช่วยเหลือสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ให้มีความสงบสุข ดังนั้นการเข้ามามีส่วนร่วมจะต้องเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ซึ่งพระธรรมปิฎก (2541 : 20-26) กล่าวว่า

 1. คนมีคุณแก่ส่วนรวม
สมาชิกที่ดีของสังคมจะเป็นผู้ช่วยสร้างสรรค์สังคม มีธรรม คือหลักความประพฤติ ดังนี้
1.1 มีหลักพรหมวิหาร คือ ธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐหรือผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่กว้างขวางดุจพระพรหม 4 อย่างคือ มีเมตตา คือความรักความปรารถนาดี มีไมตรีจิตที่ดี ต้องการช่วยเหลือให้ทุกคนประสบประโยชน์และความสุข มีความกรุณา คือความสงสาร อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ใฝ่ใจที่จะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนและสัตว์ทั้งปวง มีมุทิตา คือความเบิกบานพลอยยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็มีใจแช่มชื่นเบิกบาน เมื่อเห็นเขาทำดีงามประสบความสำเร็จก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจด้วย พร้อมที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุน และมีอุเบกขา คือความมีใจเป็นกลาง มองตามความเป็นจริง ไม่เอนเอียง หรือมีอคติ เป็นต้น

 1.2 บำเพ็ญการสงเคราะห์ คือ ปฏิบัติตามหลัการสงเคราะห์ หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวใจคน และประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี ที่เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 อย่างคือ ทาน คือการให้ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือสงเคราะห์ ด้วยปัจจัยสี่ ทุน หรือทรัพย์สินสิ่งของ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจ และศิลปวิทยา แก่เพื่อนร่วมสังคม ปิยวาจา คือ เจรจาอ่อนหวาน พูดคำที่สุภาพ อ่อนโยนและเป็นคำที่มีประโยชน์ที่ผู้ฟังได้ฟังแล้วชื่นใจ สบายใจเห็นประโยชน์ในคำพูดนั้น พูดให้กำลังใจ เป็นต้น อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญตนให้เป็นคนมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้แก่ การไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนมนุษย์ และไม่นิ่งดูดายเมื่อผู้อื่นขอความช่วยเหลือ การสนับสนุนในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ในสังคม และ สมานัตตา คือ การปฏิบัติตนสม่ำเสมอ ไม่ถือตัว ไม่หยิ่งจองหองในเมื่อได้ดีมีฐานะ ซึ่งได้แก่ การให้ความนับถือเพื่อนมนุษย์ ผู้มีฐานะศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับตน ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลที่ด้อยกว่าตน เป็นต้น

2. คนผู้เป็นส่วนร่วมที่ดีของหมู่ชน
คนผู้เป็นส่วนร่วมที่ดีของหมู่ชน ซึ่งจะช่วยให้หมู่ชนอยู่ร่วมกันด้วยดี มีธรรม คือหลักความประพฤติ ดังนี้

 2.1 พึ่งตนเองได้ คือทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ พร้อมที่จะรับผิดชอบตนเอง ไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาหรือเป็นภาระถ่วงหมู่คณะ หรือหมู่ญาติ ด้วนการประพฤติธรรมสำหรับสร้างที่พึ่งตนเอง เรียกว่า นาถกรณธรรม 10 ประการคือ มีศีล คือประพฤติดีมีวินัย มีพหุสัจจะ คือมีการศึกษาเล่าเรียนมาก มีกัลยาณมิตตตา คือรู้จักคบคนดี มีโสวจัสสตา คือเป็นคนพูดง่าย ไม่กระด้างดื้อรั้น มีกิงกรณีเยสุ ทักขตา คือ เอาใจใส่ช่วยเหลือกิจการของหมู่คณะ มีธรรมกามตา คือ เป็นผู้ใฝ่ศึกษาหลักธรรม สิ่งดีงามทั้งหลาย มีวิริยารัมภะ คือมีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน มีสันตุฏฐี คือ มีความรู้จักพอ ไม่โลภมาก มีสติ คือมีสติมั่นคง มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา และมีปัญญา คือเป็นผู้เข้าใจถึงเหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว เป็นต้น

2.2 อยู่ร่วมในหมู่ด้วยดี ในด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่เป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมกิจการ หรือร่วมชุมชน ตลอดจนพี่น้องร่วมครอบครัว พึงปฏิบัติหลักการอยู่ร่วมกัน ที่เรียกว่า สาราณียธรรม (ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน) มี 6 ประการคือ มีเมตตากายกรรม ได้แก่ การเข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วย เมตตา นั่นคือ การอยู่ด้วยกันด้วยการกระทำดีต่อกัน ไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน แต่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกัน เพื่อความผาสุขร่วมกัน เป็นต้น มีเมตตาวจีกรรม ได้แก่ การเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา คือใช้หลักการทูต โดยการเจรจาให้เข้าใจกัน ไม่กล่าวร้ายเสียดสีกัน เป็นต้น มีเมตตามโนธรรม ได้แก่ การเข้าไปตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา คือการไม่คิดทำร้ายซึ่งกันและกัน มีความซื่อสัตย์เคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีจิตเมตตาต่อกัน เป็นต้น แบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้มาด้วยความชอบธรรมแก่เพื่อร่วมสังคม ได้แก่ การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคเครื่องมือการเกษตร ตลอดจนวิทยาการความรู้ต่างๆ ให้แก่เพื่อนร่วมสังคม รวมตลอดถึงการรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ไม่ทำลายระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดผลกระทบมวลมนุษย์ เป็นต้น รักษาความประพฤติ(ศีล) เสมอกัน ได้แก่ การอยู่ร่วมกันอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีความเสมอภาคกัน และ มีความเห็นร่วมกัน ไม่วิวาทเพราะมีความเห็นผิดกัน ได้แก่ การอยู่ร่วมกันจะต้องยอมรับในกฎกติกาทางสังคมที่กำหนดไว้ ไม่กระทำตนเสมือนว่าเป็นการฝ่าฝืนมติของสังคมก ไม่เอารัดเอาเปรียบกันหรือข่มเหงกีดกันผู้อื่น มีแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและสังคมที่ตนอาศัยอยู่ด้วย

3. คนมีส่วนร่วมในการปกครองที่ดี
สมาชิกของรัฐผู้มีส่วนร่วมให้เกิดการปกครองที่ดี โดยเฉพาะคนในสังคมประชาธิปไตย พึงรู้หลักและปฏิบัติดังนี้
 3.1 รู้หลักอธิปไตย คือ รู้หลักความเป็นใหญ่ที่เรียกว่า อธิปไตย 3 ประการคือ อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ คือ ถือเอาตนเอง ฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของตนเป็นใหญ่ ฝ่ายที่เป็นกุศลในด้านนี้คือ การเว้นจากการทำความชั่ว มุ่งทำความดีด้วยการเคารพตนเอง โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมของชาวโลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทา สรรเสริญ เป็นต้น ฝ่ายที่เป็นกุศลได้แก่ เว้นจากการทำชั่ว มุ่งทำความดีด้วยการเคารพเสียงของชนหมู่มาก และ ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ กระทำด้วยการคำนึงถึงสิ่งที่ได้ศึกษา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การรู้จักพิจารณาอย่างถ่องแท้ ตามกำลังสติปัญญา และมุ่งคิดพิจารณาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงาม ตามหลักโดยทั่วไปได้แก่ การรู้จักเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกา และข้อบังคับทางสังคมหรือองค์กรนั้น ๆ ดังนั้นหากเราต้องการถือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ จะต้องยึดหลักของธรรมาธิปไตย โดยมิได้ถือตนหรือถือโลกเป็นใหญ่

 3.2 มีส่วนในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการมีส่วนร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว ที่เรียกว่า อปริหานิยธรรม คือ หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม ไม่ทำตามอำเภอใจตนเอง ให้เกียรติผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ ให้เกียรติและคุ้มครองสตรี เคารพสักการะโบราณสถาน และดูแลรักษาผู้ทรงศีล

ทุกคนควรทำความเข้าใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น