มัจจุราชแห่งความตาย มีอยู่ทุกขณะเมื่อเราประมาทต่อชีวิต |
ตาย ความตาย นึกถึงความตายดีนัก
โดย หลวงตาแพรเยื่อไม้
จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา
เมื่อตอนเช้าเคล้าชื่นระรื่นรส
พอสายหมดลมลับลงดับขันธ์
เมื่อตอนสายได้สนุกสุดสุขครัน
พอบ่ายพลันชีวาตม์ลงขาดรอน
เมื่อตอนบ่ายรายล้อมพร้อมหน้าญาติ
พอเย็นขาดชีวาลงคาหมอน
เมื่อตอนเย็นเล่นสนุกไม่ทุกข์ร้อน
พอค่ำมรณ์ม้วยมิดอนิจจัง
คำกลอนนี้เป็นบันทึกความจำ ซึ่งข้าพเจ้าลืมชื่อผู้เขียนและหนังสือเล่มนั้นเสียแล้ว เพราะเวลาล่วงเลยมานาน ปรกติข้าพเจ้าเป็นคนลืมเก่ง จนกลายเป็นคนเจริญยากคนหนึ่ง แต่สำหรับสิ่งที่ถูกใจแล้ว ข้าพเจ้าก็ลืมยากเหมือนกัน เช่น คำกลอนที่เขียนไว้ข้างบนนี้
ความตายเป็นสถานีสุดท้ายของชีวิต มีท่านผู้รู้ได้นิยามชีวิตไว้ว่า
“ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลง ความตายคือที่สุดของความเปลี่ยนแปลง”
เป็นสภาวะหรือธรรมชาติที่ไม่เคยรับฟังคำวิงวอนหรือขู่ตวาดของใครๆ เหมือนตะวันตก ก็คือที่สุดของตะวันออก..... ไม่มีศาสดา ผู้วิเศษคนใดจะใช้อำนาจความวิเศษของตนเปลี่ยนแปลงกฎของธรรมชาติให้โลกมีกลางวันตลอดกาลได้
“ตะวันขึ้นแล้วก็ตก ชีวิตเกิดแล้วก็ตาย”
ตะวันขึ้นแล้วก็ตก คนเราได้เห็นจำเจอยู่ทุกวัน ไม่เคยรู้สึกประหลาดใจ ทั้งๆ ที่เห็นว่ากลางวันมีค่ากว่ากลางคืน เราต่างก็มีจิตใจปรกติต่ออาการของดวงตะวันขึ้น – ตก อยู่ทุกวัน การขึ้น – ตกของดวงตะวัน ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเสียใจอย่างไรเลย ส่วนอาการของชีวิตเกิดแล้วก็ตายนี้ เราส่วนมากมิอาจจะรักษาใจให้เป็นปกติได้
เพราะอะไร ?
การที่เราไม่ตกใจ เสียใจ ที่เห็นดวงตะวันตกดินก็น่าจะด้วยเหตุ ๒ ประการ ๑. เห็นทุกวัน ๒. ช่วงเวลาขึ้นตกของตะวันเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ (กลางวัน ๑๒ ชั่วโมง กลางคืน ๑๒ ชั่วโมง) การเห็นทุกวันนั้นย่อมทำให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา
หลักสูตรการศึกษาซึ่งมีวิชาการหลายแขนง ก็ล้วนแต่มีความมุ่งหมายที่จะเข้าถึง “ธรรมดา” อันเป็นแก่นแห่งวิชาการนั้นๆ การเรียนจึงต้องอาศัยการทำบ่อยๆ เพื่อให้ใจเข้าถึง “ธรรมดา” อันเป็นหลักวิชาการแต่ละแขนง พอถึงแก่นแห่งวิชาแล้วก็เกิดเป็นปรกติภาพ คือ สงบ เพราะเห็นหลักธรรมดาแล้วนั่นเอง ฉะนั้น การเห็นบ่อยๆ รู้บ่อยๆ จึงมีประโยชน์มาก
ในอาการของชีวิตเกิดแล้วตายซึ่งเป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง ก็น่าที่คนเราจะรักษาปรกติภาพไว้ได้เพราะมีให้ดูเป็นประจำ เห็นการเกิดการตายกันอยู่เสมอ แต่ก็หาได้รักษาปรกติของจิตใจไว้ได้ไม่ กลับเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปรกติ เป็นเหตุการณ์ที่โหดร้ายทารุณต่อจิตใจที่สุด
แม้เห็นคนตายที่ห่างออกไป คือคนอื่นที่ไม่รู้จักกันก็อดที่จะเศร้าสลดใจไม่ได้ ซ้ำยิ่งคนใกล้ชิดกับเราด้วยแล้วก็เหมือนกับหัวจิตหัวใจเราได้สลายลงไป การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนเราไม่ยอมคุ้นเคยกับความตาย เหมือนกับคุ้นต่อการตกของดวงตะวัน เห็นว่าความตายเป็นแขกแปลกหน้าอยู่เสมอ แม้แต่การจะพูดถึงมัน หากพูดผิดกาลเทศะก็เหมาว่าเป็นคนปากเสีย เราพยายามนักหนาที่ลืมตายกัน พยายามลืมในสิ่งที่จำต้องประสบ
แต่แล้วผลของการฝึกฝนพยายามเช่นนั้นช่วยอะไรเราได้บ้าง ? เมื่อมรณะสมัยผ่านมาถึงเราจริงๆ ค่าที่เราไม่เคยตระเตรียมรอคอยต้อนรับ ก็ทำให้เราเสียขวัญ ร้องไห้ เอาเถอะ น้ำตาแม้จะเป็นเครื่องหมายแห่งความโง่ที่ไม่ยอมรับรู้ความจริงในธรรมชาติ แต่มันมีความหมายพิเศษแฝงอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นเครื่องวัดเครื่องประมาณความดีของผู้ตาย
พ่อแม่น้ำตาซึมไหลด้วยความรันทดเมื่อมองเห็นศพลูก เพราะคุณค่าของความเป็นพ่อแม่เป็นลูกนี้ มันมีความหมายลึกซึ้งอย่างยากที่จะช่วยกันกลั้นน้ำตาได้ ในสมัยเช่นนี้ถ้าใครถือว่าใจแข็งปลงตก บางทีก็เสียคน ถูกหาว่าเป็นคนใจดำ
ฉะนั้นน้ำตาแม้จะเป็นเครื่องหมายแห่งความโง่
แต่การร้องไห้ก็ไม่ใช่ความผิด
ถ้าเป็นไปได้ การไม่ยอมร้องไห้ด้วยอำนาจที่เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเห็นตะวันตกดิน แม้คนจะประณามว่าใจดำ ก็ยังมีความปลอดภัยมากกว่าร้องไห้เพราะความโง่ คนฉลาด เห็นการตายเป็นการสูญเสียครั้งเดียว
แต่คนโง่ต้องสูญเสียร่ำไป เหมือนคำของปราชญ์ที่ว่า
“คนกล้าตายครั้งเดียว คนขี้ขลาดตายหลายครั้ง”
พระพุทธเจ้าสงสารพวกเรา เกรงว่าพวกเราจะตายซ้ำตายซากกัน แล้วก็ต้องทนทุกข์ทรมานกันอยู่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น จึงสอนให้หมั่นนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เพื่อให้คุ้นกับความตายจะได้รักษาใจให้เป็นปกติเมื่อความตายมาถึง โดยให้เจริญ “มรณัสสติกรรมฐาน”
พวกเราอย่าพยายามลืมตายกันเลย จงแบ่งเวลาในวันหนึ่งรำลึกถึงความตายด้วยความมุ่งหมายดังพระพุทธเจ้าตรัสไว้บ้าง จะได้สร่างเมาและใช้ชีวิตให้มีค่า หาไม่แล้วเมื่อลูกตาย เมียตาย พ่อตาย แม่ตาย ฯลฯ ก็จะเฝ้าแต่ฝังตัวเองอยู่ในความเศร้า
เหมือนเรื่องราว เคยมีคหบดีผู้หนึ่ง เมื่อบุตรชายตายนำไปฝังที่สุสาน ทุกเวลาสายัณห์เย็น จะต้องมานั่งร้องไห้รำพรรณที่ศพลูก จนไม่มีเวลาจะพบสายลมแสงแดดที่น่าพิสมัยของโลกได้ วันหนึ่งเมื่อจากบ้านมาถึงสุสานยังไม่ทันร้องไห้ เหลือบตาเห็นเด็กคนหนึ่งมาชิงร้องไห้ก่อน ก็เลยลืมคิดที่จะร้องแข่งกับเด็ก จึงเข้าไปถามเด็กว่าร้องไห้ทำไม
เด็กคนนั้นตอบว่า “ฉันต่อเรือนรถไว้อย่างสวยงามแต่ยังขาดล้อ ที่ร้องไห้ก็เพราะปรารถนาจะได้ล้อรถ”
คหบดีจึงถามว่า “ล้อรถที่ไหนล่ะที่เจ้าอยากได้น่ะ !”
เด็กตอบว่า “เรือนรถที่ต่อไว้นั้นสวยงามมาก จนไม่ควรจะใช้ล้อที่สร้างจากวัตถุของโลกนี้ เห็นสมควรอยู่ก็แต่พระอาทิตย์กับพระจันทร์เท่านั้น ฉันอยากได้พระอาทิตย์กับพระจันทร์มาทำล้อรถ”
คหบดีฟังแล้วก็ประณามเด็กทารกคนนั้นว่า “เจ้านี่จะบ้าหรือ ? ที่มาร้องไห้เอาพระอาทิตย์พระจันทร์ สิ่งนั้นมันสูงเกินนัก ไม่มีใครหรอกจะได้สิ่งที่สูงสุดนั้นมาครองเป็นสิทธิได้”
เด็กนั้นก็ย้อนตอบว่า “ช่างฉันเถอะ ! ถึงฉันจะบ้าบอ แต่ขอให้รู้ไว้ว่าการบ้าเพราะร้องไห้จะเอาในสิ่งที่สูงถือเอาไม่ได้ก็ยังมองเห็น คงจะบ้าน้อยกว่าคนที่ร้องไห้จะเอาในสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น ร้องไห้จะให้คนที่รักซึ่งตายไปกลับฟื้นขึ้นมา”
คหบดีได้คิด นับแต่นั้นก็เลิกมาป่าช้า เลิกฝังชีวิตไว้กับความเศร้าที่เปล่าประโยชน์ ทำไมหนอ เราจึงจะได้คิดกันอย่างท่านคหบดีผู้นี้บ้าง เพราะจะช่วยให้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ขาดทุน
“การนึกถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร บรรเทามืดโมหันธ์อันธการ ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ” ฝึกใจให้คุ้นกับความตายเข้าไว้ แล้วจะได้ไม่ต้องตายทั้งเป็น
อีกประการหนึ่ง การเห็นอาการขึ้นลงของดวงตะวันซึ่งเป็นไปอย่างมีช่วงเวลาสม่ำเสมอ เป็นธรรมชาติที่รักษาใจคนให้เป็นปรกติได้ไม่หวั่นไหวกับการตกของดวงตะวัน และรู้จักการตระเตรียมประกอบกิจการงานให้เหมาะแก่เวลา เช้า สาย บ่าย เย็น จะทำงานอะไร ต่างก็ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้
การเคลื่อนคล้อยของดวงตะวันที่คงเส้นคงวา ทำให้คนไม่สู้วิตกกังวลเกิดทุกข์ร้อนอย่างใดๆ ส่วนการเคลื่อนคลานของชีวิตหาได้มีความแน่นอนไม่ ผู้ใหญ่จะต้องตายก่อนเด็ก หรือเด็กจะต้องตายก่อน พ่อแม่จะตายก่อน หรือลูกจะไปก่อน เพราะอนิมิตฺตมนญฺญษตํ มจฺจานํ อิธชีวิตํ ความตายย่อมไม่มีนิมิตเครื่องหมายบอกให้รู้ได้
เป็นหน้าที่ของคนต่างหากที่ควรจะเตรียมตัวต้อนรับมันเสมอ อย่าให้มันมาถึงโดยที่ไม่เตรียมตัว เดี๋ยวจะต้องจรจากชีวิต เหมือนคนเดินทางที่กะทันหันไม่ทันจะเตรียมจัดเสบียง
ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้ผู้อ่านสนใจคำกลอนที่บันทึกไว้แต่ต้นด้วย เพราะเป็นทางเดียวที่จะช่วยให้คิดถึงความตายอย่างมีสติสัมปชัญญะขึ้นบ้าง
........................ เอวัง ........................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ