นิทานสุดท้าย ที่อยากจะเล่า ก็คือ เรื่อง เกี่ยวกับเซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก ตามชื่อ ของหนังสือ เล่มหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า "เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก" คือ หนังสือ ที่เอามา เล่านิทาน ให้ฟัง นี้เอง ควรจะทราบ ถึงคำว่า เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก ด้วยจะง่าย ในการเข้าใจ เซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก หมายความว่า ธรรมะ ชั้นที่เป็นเนื้อ เป็นกระดูก ยังไม่ถึง เยื่อในกระดูก ธรรมะชั้นลึกจริงๆ จัดเป็น ชั้นเยื่อในกระดูก นี่เราจะเล่ากัน แต่เรื่อง ชั้นเนื้อ และชั้นกระดูก หมายความว่า ในนั้นมันมี ชั้นเยื่อในกระดูก อีกทีหนึ่ง ถ้าเข้าไม่ถึง มันก็ติดอยู่ แค่เนื้อแค่กระดูก เหมือนที่ เราไม่เข้าถึง หัวใจ ของ พระพุทธศาสนา แล้วก็คุยโวอยู่ ซึ่งมันเป็น ชั้นเนื้อ ชั้นกระดูก ทั้งนั้น ไม่ใช่ ชั้นเยื่อในกระดูกเลย และเมื่อจะพูดกัน ถึงเรื่องนี้ เขาเล่า นิทาน ประวัติ ตอนหนึ่ง ของ ท่านโพธิธรรม คือ อาจารย์ ชาวอินเดีย ที่ไป ประเทศจีน ที่ไป ประดิษฐาน พระพุทธศาสนา นิกายธยานะ ลงไปใน ประเทศจีน ซึ่งต่อมา เรียกว่า นิกายเซ็น ญี่ปุ่นเรียกว่า เซ็น หรือภาษาจีน เรียกว่า เสี่ยง
เมื่อท่านโพธิธรรม อยู่ในประเทศจีน นานถึง ๙ ปี ท่านก็อยากจะ กลับอินเดีย ทีนี้ไหนๆ จะกลับทั้งที อยากจะลอง สอบดูว่า บรรดาศิษย์ ต่างๆ ที่สอนไว้ที่นี่ ใครจะรู้อะไร กี่มากน้อย ก็เลยเรียก มาประชุม ถามทำนอง เป็นการสอบไล่ว่า ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร ข้อสอบ มีเพียงสั้นๆว่า "ธรรมะที่แท้จริง นั้นคืออะไร?"
ศิษย์ชั้นหัวหน้าศิษย์ ที่เรียกว่า ศิษย์ชั้นมีปัญญา เฉียบแหลม ชื่อ ดูโฟกุ ก็พูดขึ้นว่า "ที่อยู่ เหนือ การยอมรับ และ อยู่เหนือ การปฏิเสธ นั้นแหละ คือ ธรรมะ ที่แท้จริง" คำตอบอย่างนี้ ก็ถูกมากแล้ว ถ้า ผู้ใดฟัง ไม่เข้าใจเรื่องนี้ พึงจัดตัวเองว่า เป็นผู้ที่ ยังไม่รู้ธรรมะได้เลย ไม่รู้ธรรมะ อะไรเลยก็ว่าได้ ถ้าไม่รู้จัก สิ่งที่เหนือ การยอมรับ และการปฏิเสธ
ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า "เอ้า! ถูก! แกได้ หนัง ของฉันไป" นี้ หมายถึง หนังที่หุ้มชั้นนอก ไม่ใช่เนื้อ ไม่ใช่กระดูก คือ ชั้นหนังแท้ๆ เสร็จแล้ว คนนี้ นั่งลง
นางชีคนที่ชื่อ โซจิ ก็ยืนขึ้น แล้วบอกว่า "สิ่งที่เห็นครั้งเดียว แล้วเป็น เห็นหมด เห็นตลอดกาล นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง"
ท่านอาจารย์ ก็บอกว่า " เอ้า! ถูก! แกได้ เนื้อ ของฉันไป" คือมัน ถูกกว่า คนทีแรก จึงได้เนื้อไป แล้วเขาก็นั่งลง
คนที่สาม ยืนขึ้น ตอบว่า "ที่ไม่มีอะไรเลย นั่นแหละ คือ ธรรมะ" เขาใช้คำว่า ไม่มีอะไรเลย เท่านั้น แต่เรา ขยายความ ออกไป ก็ได้ว่า ไม่มีอะไร ที่ถือ เป็นตัวตน เลย นั่นแหละ คือธรรมะแท้จริง
อาจารย์ ก็บอกว่า "ถูก! แกได้ กระดูก ของฉันไป" คือ ลึกถึง ชั้นกระดูก
ศิษย์อีกคนหนึ่ง เป็นศิษย์ก้นกุฎิ ชื่อ เอก้า ยืนขึ้น หุบปากนิ่ง แล้วยัง เม้มลึก เข้าไป ซึ่งแสดงว่า นิ่งอย่างที่สุด เป็นการแสดงแก่อาจารย์ว่า นี่แหละ คือ ธรรมะ การที่ต้อง หุบปาก อย่างนี้แหละ คือธรรมะ อาจารย์ ก็ว่า "เออ! แกได้ เยื่อในกระดูก ของฉันไป"
นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร บรรดา ครูอาจารย์ ทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่มี สติปัญญา ได้ศึกษา เล่าเรียน มามาก จงลองคิดดู คำตอบที่ว่า อยู่เหนือ การยอมรับ และปฏิเสธนั้น ยังถูกน้อยกว่า คนอื่น ส่วนผู้ที่ตอบว่า ลงเห็นทีเดียวแล้ว เห็นหมด และ เห็นตลอดกาล ด้วย นี่ยังถูกกว่า แล้วที่ว่า ไม่มีอะไรเลยนั้น ยิ่งถูกไปกว่าอีก แล้วที่ถึงกับว่า มันพูดอะไรออกมาไม่ได้ มันแสดงออกมาเป็น คำพูด ไม่ได้ จนถึงหุบปากนิ่งนี้ ยิ่งถูกกว่าไปอีก นี่แหละ พวกเรามี สติปัญญา ละเอียด สุขุม แยบคาย มีความสำรวม ระมัดระวัง สงบอกสงบใจมาก จนถึงกับว่า ไม่หวั่นไหว และเข้าใจ เรื่องไม่หวั่นไหว หรือไม่มีอะไรนี้ได้หรือไม่ ขอให้ลองคิดดู ถึงจะยังทำเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็ขอให้เข้าใจว่า แนวของมัน เป็นอย่างนั้น คนที่รู้ อะไรจริงๆ แล้ว จะไม่พูดอะไรเลย เพราะรู้ซึ้ง ถึงขนาดที่อยู่ เหนือวิสัย ของการบรรยาย ด้วยคำพูด อย่างที่ เล่าจื้อ ว่า "คนรู้ไม่พูด คนที่พูด นั้นไม่ใช่ คนรู้" นี่ก็หมายถึง ตัวธรรมะจริงๆ นั้น มันพูดไม่ได้ ถึงแม้ ที่อาตมา กำลังพูด อยู่นี่ ก็เหมือนกัน ยังไม่ใช่ธรรมะจริง เพราะมันยังเป็น ธรรมะที่พูดได้ เอามาพูดได้ ลองทบทวนดูว่า ท่านเคยเข้าใจ ซึมซาบ ในความจริง หรือ ในทฤษฎีอะไร อย่างลึกซึ้ง จนท่านรู้สึกว่า ท่านไม่อาจ บรรยาย ความรู้สึก อันนั้น ออกมา ให้ผู้อื่นฟัง ได้จริงๆ บ้างไหม? ถ้าเคย ก็แปลว่า ท่านจะเข้าใจถึง สิ่งที่พูด เป็นคำพูด ไม่ได้
ธรรมะจริง มันพูดไม่ได้ ต้องแสดงด้วย อาการ หุบปาก แต่ขอให้ถือว่า เรากำลังพูดกัน ถึงเรื่องวิธี หรือ หนทาง ที่จะเข้าถึงธรรมะจริง ก็แล้วกัน แต่ว่า เมื่อเข้าถึงธรรมะจริง แล้ว มันเป็นเรื่อง ที่จะต้อง หุบปาก แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ จะต้องถึงเข้า ข้างหน้า เป็นแน่นอน ไม่มี ครูบาอาจารย์ คนไหน จะมีอายุเท่านี้ อยู่เรื่อยไป คงจะเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่า คนแก่ เห็นโลก ในด้านลึก เห็นชีวิต ด้านลึก โดยสิ้นเชิง เป็นแน่ ฉะนั้นจึงควร เตรียมตัว ที่จะเข้าถึง แนวของ ธรรมะ เสียแต่ป่านนี้ จะไม่ขาดทุน และก็ไม่ใช่ว่า เป็นเรื่องเศร้า หรือ เป็นเรื่องน่าเบื่อ จนเกินไป
ในที่สุด เราจะต้องมานึกกัน ถึงเรื่อง เปลือก และ เนื้อ บ้าง นิทาน ทั้งหลายนั้น มันเหมือนเปลือก ส่วน spirit ของนิทานนั้น เหมือนกับเนื้อใน แต่ว่า เปลือกกับเนื้อ จะต้องไปด้วยกัน ครูบาอาจารย์ ทั้งหลาย อย่าได้เกลียด เปลือก และ อย่า ได้ยึดมั่น ถือมั่น เอาแต่เนื้อ มันจะเน่าไปหมด ข้อนี้หมายความว่า ถ้าเนื้อไม่มีเปลือก มันจะเน่า จะต้องเป็นเนื้อที่เน่า เนื้อที่มีเปลือก เท่านั้น ที่จะไม่เน่า เหมือนอย่างผลไม้ ถ้าไม่มีเปลือก เนื้อมันจะอยู่ได้อย่างไร จะเป็นมังคุด ทุเรียนอะไรก็ตาม ถ้ามันไม่มีเปลือก ของมัน เนื้อของมันจะอยู่ได้อย่างไร จะสำเร็จประโยชน์ ในการบริโภคของเราได้อย่างไร ทั้งที่เราต้องการบริโภคเนื้อ เปลือกของมัน ก็ต้องมี หรือว่า การที่ผลไม้มันจะออกมาจากต้น มีดอกแล้ว จะเป็นลูก มันยังต้อง เอาเปลือกออกก่อน เพื่อให้เนื้อ อาศัยอยู่ในเปลือก แล้วเจริญขึ้น ถ้าไม่มีเปลือก ส่งเนื้อ ออกมาก่อน มันก็เป็นต้นไม้ ที่โง่อย่างยิ่ง คือ มันจะเป็นผลไม้ขึ้นมาไม่ได้ เพราะเยื่อนั้น จะต้องเป็นอันตราย ไปด้วย แสงแดด ด้วยลม ด้วยอะไรต่างๆ หรือ มดแมลง อะไรก็ตาม ฉะนั้น มันต้องมีเปลือก ที่แน่นหนา เกิดขึ้นก่อน เนื้อเจริญขึ้น ในนั้น ก็เป็นผลไม้ ที่เติบโต แก่ สุก บริโภคได้ นั่นคือ คุณค่าของเปลือก มองดูอีกแง่หนึ่ง มันก็ยิ่งกว่าเนื้อ มันมีค่า มากกว่า เนื้อก็ได้ เพราะ มันทำให้ เนื้อ เกิดขึ้นได้ สำเร็จประโยชน์ แต่เราก็ ไม่มีใคร กินเปลือก เพราะ ต้องการจะ กินเนื้อ ฉะนั้น เราจะต้องจัด เปลือก และ เนื้อให้ กลมกลืน กันไป
นิทานอิสป หรือ นิทานอะไรก็ตาม ตัวนิทาน มันเหมือนกันกับ เปลือก ที่จะรักษา เนื้อใน ไว้ ให้คงอยู่ มาจนถึงบัดนี้ได้ ถ้าไม่ใส่ไว้ ในนิทานแล้ว ความคิดอันลึกล้ำ ของอิสป อาจจะไม่มาถึงเรา มันสูญเสีย ก่อนนานแล้ว และ จะไม่มีใคร สามารถ รับช่วงความคิด นั้นมาถึงเรา เพราะว่า เขาไม่มี การขีด การเขียน ในสมัยนั้น หรือว่า เอาตัวอย่างกัน เดี๋ยวนี้ว่า ชนชาติเอสกิโม ทางแลปแลนด์ ทางขั้วโลกเหนือนั้น ก็ยังมีวัฒนธรรม หรืออะไรของเขา เล่าต่อกันมา เป็นพันๆปี ยังพูด ยังเล่า ยังสอนกันอยู่ ชนพวกนี้ ไม่มีหนังสือเลย เดี๋ยวนี้ก็ยัง ไม่มีหนังสือ พวกเอสกิโม อยู่ใน "อิกลู" หรือ กระท่อม ที่ทำขึ้นด้วย แท่งน้ำแข็ง แต่พอถึง เย็นค่ำลง ก็จุดตะเกียง เข้าใน กระท่อม แล้วคนที่แก่ ชั้นปู่ ก็นั่งลง เล่าสิ่งต่างๆ ที่ได้ยิน มาจาก บิดา จากปู่ จากทวด เด็กเล็กๆ ก็มา นั่งล้อม และ ฟัง ไม่ใช่ฟังเฉยๆ จำด้วย ทำอย่างนี้ไป เรื่อยทุกวันๆ จนเด็กเหล่านี้ โตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ เป็นบิดา เป็นปู่ ก็ยังเล่าต่อไปอีก ฉะนั้น จึงสืบสิ่งต่างๆ ไปได้เป็นพันๆ ปี แล้วก็อยู่ใน "เปลือก" คือนิทานทั้งนั้น เขาจะต้อง เล่าเป็นนิทาน อย่างนั้น ชื่อนั้น ที่นั่น อย่างนั้นๆ ทั้งนั้น นั่นแหละ คือ อานิสงฆ์ ของเปลือก.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ