จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การบวชคืออะไร ประวัติความเป็นมาของคำว่า "นาค" หรือ บวชนาค และ การเตรียมตัวก่อนบวช


การบวชคืออะไร
  เพลง บวชพระ แหละดี ไวพจน์
1.เป็นการค้นหาอะไร ที่มันดีกว่าอยู่บ้านเรือน
2.ให้เป็นการทดลองอยู่อย่างไม่มีทรัพย์สมบัติ อยู่อย่างต่ำต้อย พระเณรรูปไหนที่จะบวชเพียงเดือนเดียว ก็ขอขอให้ถือเป็นโอกาสทดลองว่า จะมีชีวิตอยู่อย่างต่ำต้อย ไม่ต้องมีสมบัติเลย
3.ทดลองการบังคับตัว บังคับจิต บังคับความรู้สึก บังคับ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ
4.ทดลองสละทรัพย์สมบัติ ของรัก ของพอใจ ทดลองไปทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรทดลอง
5.ประโยชน์ต่อตัวผู้บวช ได้เรียนรู้ธรรมะ ได้ปฏิบัติจริงได้ผลจริงๆ และได้รับสิ่งใหม่ที่ดีที่สุด คือเรื่องของพระธรรม ที่ทำให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์
6.ประโยชน์ต่อญาติผู้บวช ญาติพี่น้องทั้งบิดามารดา จะได้ใกล้ชิดพระศาสนามีความปิติยินดีในธรรมและศาสนามากขึ้น เรียกว่า เป็นญาติทางศาสนานั้นเอง ประโยชน์ทั้งหลายต่อสัตว์ทั้งหลาย ที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร และทั้งประโยชน์ต่อพระศาสนาเนื่องจากผู้บวช จะเป็นผู้เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่บุคคลทั่วไป และยั่งเป็นผู้สืบอายุพระศาสนาไว้ ให้คงอยู่คู่ลูกหลานคนไทยสืบไป

ในเมื่อบวชได้เพียงหนึ่งเดือน มันก็จะเป็นการบวชที่มีอานิสงค์มหาศาล อย่างที่ท่านอาจารย์แต่กาลก่อนท่านพูดไว้เป็นอุปมา เพื่อการคำนวณเพราะว่าไม่อาจจะพูดเป็นอย่างอื่น คือท่านพูดว่า ให้เอาฟ้าทั้งหมดนี้เป็นเหมือนแผ่นกระดาษ แล้วภูเขาพระสุเมรุเป็นเหมือนปากกาหรือพู่กัน ให้เอาแผ่นดินเป็นเหมือนกับหมึก เอาน้ำในมหาสมุทรเป็นน้ำละลายหมึก แล้วเขียนกันให้เป็นท้องฟ้า มันก็ไม่หมดอานิสงค์ของการ บวช ท่านไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ก็เลยพูดไว้เป็นอุปมาอย่างนั้น ว่าการบวช ถ้าบวชกันจริงมันมีอานิสงค์มากกว่านั้น



ประวัติความเป็นมาของคำว่า "นาค"
      ชายเมื่อมีอายุครบ20ปีบริบูรณ์ จะสามารถอุปสมบท หรือบวช เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาธรรมวินัยนำมาเป็นหลักในการประพฤติปฎิบัติต่อไปในการออกมาครองเรือนในภายภาคหน้าได้ สำหรับก่อนการบวชเรียนจะมีการไปอยู่วัดเพื่อเตรียมฝึกหัดในการท่องคำขานนาค และฝึกหัดซ้อมเกี่ยวกับวิธีบวช ในช่วงที่มาอยู่วัดนี้ ชาวบ้านจะเรียกผู้เตรียมตัวจะบวชว่า "นาค" หรือ " "พ่อนาค" "
อาจมีหลายๆคนสงสัยว่า ทำไมต้องเรียกผู้จะบวชว่านาค ทำไมไม่เรียกชื่ออื่น ประวัติความเป็นมาของคำว่า ""นาค" อาจทำให้หลายๆคนหายข้องใจได้ ซึ่งประวัติของคำว่า "นาค" มีดังนี้
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ มีพญานาคผู้หนึ่งได้แปลงร่างเป็นมนุษย์เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ อยู่มาวันหนึ่งได้เผลอนอนหลับ ร่างจึงกลับกลายเป็นพญานาคดั่งเดิม ภิกษุอื่นไปพบเข้าก็เกิดความเกรงกลัว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเรียกมาตรัสถาม ได้ความว่าเพราะเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงปลอมตัวมาบวช พระพุทะองค์ทรงดำริว่าสัตว์ดิรัจฉานไม่อยู่ในฐานะควรจะบวชจึงโปรดให้ลงเพศบรรพชิตกลับไปเป็นาคดั่งเดิม แต่ภิกษุนั้นมีความอาลัย จึงขอฝากชื่อนาคไว้ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีคำเรียกขานคนที่ต้องการจะบวชว่า "นาค" สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน


การเตรียมตัวก่อนบวช



        ผู้จะบวชเรียกว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาค ซึ่งต้องท่องคำบาลีหรือที่เรียกกันว่าขานนาคให้คล่องเพื่อใช้ในพิธี โดยต้องฝึกซ้อมกับพระอาจารย์ให้คล่องก่อนทำพิธีบวชเพื่อจะได้ไม่เคอะเขิน
นอกจากนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องคิด ต้องเตรียมตัว และทำเมื่อคิดจะบวชดังต่อไปนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะต้องทำทั้งหมดเพราะว่าทั้งนี้ให้คำนึงถึงความเหมาะสม และกำลังทรัพย์ด้วย ขั้นตอนบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีก็ได้


เครื่องอัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆ ที่ควรมีหรือจำเป็นต้องใช้ได้แก่
๑.ไตรครอง ได้แก่ สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑
๒.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา ถลกบาตร สายโยค ถุง ตะเคียว
๓.มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีดโกน
๔.เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
๕.เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)
๖.เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
๗.จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ ๒ ผืน (อาศัย)
๘.ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
๙.โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก
๑๐.สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
๑๑.ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
๑๒.กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
๑๓.ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
๑๔.สันถัต (อาสนะ)
๑๕.หีบไม้หรือกระเป๋าหนังสำหรับเก็บไตรครอง

ข้อที่ ๑-๕ เรียกว่าอัฏฐบริขารซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ มีความหมายว่า บริขาร ๘ แบ่งเป็นผ้า ๕ อย่างคือ สบง ๑ ประคตเอว ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑ และเหล็ก ๓ อย่างคือ บาตร ๑ มีดโกน ๑ เข็มเย็บผ้า ๑ นอกจากนั้นก็แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละแห่งและกำลังทรัพย์



ของที่ต้องเตรียมใช้ในพิธีคือ
๑.ไตรแบ่ง ได้แก่ สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑
๒.จีวร สบง อังสะ (อาศัยหรือสำรอง) และผ้าอาบ ๒ ผืน
๓.ย่าม ผ้าเช็ดหน้า นาฬิกา
๔.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา
๕.รองเท้า ร่ม
๖.ที่นอน เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง (อาจอาศัยของวัดก็ได้)
๗.จานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต กระโถน
๘.ขันน้ำ สบู่ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
๙.ธูป เทียน ดอกไม้ (ใช้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย)
๑๐.ธูป เทียน ดอกไม้ *(อาจใช้แบบเทียนแพรที่มีกรวยดอกไม้ก็ได้ เอาไว้ถวายพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวช)
*อาจจะเตรียมเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์และพระในพิธีนั้นอีกรูปละหนึ่งชุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และศรัทธา


คำขอขมาบิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช

"กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่ข้าพเจ้าได้เคยประมาทล่วงเกินท่านต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ทั้งตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดี ขอให้ท่านจงอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนตราบเท่านิพพานเทอญ"


การบวชนาคและแห่นาค
การจัดกระบวนแห่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ คือ

* หัวโต หรือห้วสิงโต (มีหรือไม่ก็ได้)
* แตร หรือ เถิดเทิง (มีหรือไม่ก็ได้)
* ของถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด
* ไตรครอง ซึ่งมักจะอุ้มโดยมารดาหรือบุพการีของผู้บวช (มีสัปทนกั้น)
* ดอกบัว ๓ ดอก ธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม ให้ผู้บวชพนมมือถือไว้ (มีสัปทนกั้น)
* บาตร และตาลปัตร จะถือและสะพายโดยบิดาของผู้บวช
* ของถวายพระอันดับ
* บริขารและเครื่องใช้อย่างอื่นของผู้บวช
เมื่อ จัดขบวนเรียบร้อยแล้วก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่พระอุโบสถ เวียนขวารอบนอกขันธสีมา จนครบ ๓ รอบ ก่อนจะเข้าโบสถ์ก็ต้องวันทาเสมาหน้าพระอุโบสถเสียก่อนว่า วันทามิ อาราเม พัทธะเสมายัง โพธิรุกขัง เจติยัง สัพพะ เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต
เมื่อ เสร็จแล้วก็โปรยทานก่อนเข้าสู่พระอุโบสถโดยให้บิดามารดาจูงติดกันไป อาจจะอุ้มข้ามธรณีประตูไปเลยก็ได้ เสร็จแล้วผู้บวชก็ไปกราบพระประธานด้านข้างพระหัตถ์ขวาขององค์พระ รับไตรครองจากมารดาบิดา จากนั้นจึงเริ่มพิธีการบวช


ภาพประกอบโดย ชัยวัฒน์ ทองพริก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น