การบวชในพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
การบวชในพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ศัพท์ว่า บวช มาจากศัพท์บาลีว่า “ปัพพัชชา” (ซึ่งมาจาก ป + วัช + ธาตุ) หมายความว่า ออก หรือเว้นจากความพันพัวกับการครองเรือน ตลอดไปถึงจากความประพฤติชั่ว ได้แก่การหลีกออกจากบ้านเรือนไปหาที่สงัด ที่ไกลจากบ้านเรือน เช่น ในป่า ทำที่พักพออาศัยอยู่ได้ เช่น บรรณศาลา (ทับใบไม้) เพื่อทำความสงบระงับชั่วคราวบ้าง ตลอดไปบ้าง เขาถือกันว่าเป็นการประกอบการกุศลหรือบุญอย่างสูง มีมาก่อนแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นาน
ตามประวัติแสดงว่า เมื่อชาวอริยกะเข้าไปในอินเดีย ในชั้นต้นนับถือ เทวะ หรือ เทพเจ้า ครั้นแล้วก็เลื่อนมานับถือพระพรหม จึงบูชาเซ่นสรวง และอ้อนวอน เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา ต่อมาก็คิดเห็นขึ้นว่า ชีวิตนี้ย่อมสืบเนื่องมาจากกรรมเก่าซับซ้อนขึ้นไปจนกำหนดไม่ได้ แต่ข้อสำคัญที่สุดนั้น เมื่อเกิดมาก็ย่อมมีสุขและทุกข์เจือกันไป ส่วนที่เป็นสุขก็ชอบใจ แต่ส่วนที่เป็นทุกข์ก็ไม่ชอบไม่อยากได้พบเห็น จึงคิดหาทางหนีทุกข์ และก็เห็นต่างๆ กัน จึงประกอบการที่เห็นว่าเป็นตบะต่างๆ กัน การบวชครั้งนั้น ก็เป็นตบะอย่างหนึ่ง (วิธีบำเพ็ญตบะนั้นต่างๆ กันตามความคิดเห็น ไม่กล่าวไว้ ในที่นี้)
มีเรื่องเล่าไว้ว่า กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง ไปบวชเป็นฤษี เช่น พระชนก กษัตริย์ผู้ครองกรุงมิถิลา ออกไปบวชเป็นฤษี ในเรื่องรามายณะ เป็นต้น แม้ในพระพุทธประวัติตอน ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็มีเรื่องแสดงว่า อาฬารดาบส อุททกดาบส พระชฏิล ๑,๐๐๐ สัญชัยปริพาชกกับบริวาร ฤษีปัญจวัคคีย์ ออกบวชอยู่ก่อนแล้ว คนรักษาศีล ๘ ในวันพระชั่ววันและคืนหนึ่ง และคนรักษาศีล ๕ ก็น่าจะนับเข้าในการบวชด้วย แต่ยิ่งหย่อนกว่ากันตามชั้น เพราะฉะนั้น จึงมีพระพุทธภาษิต (คำที่พระพุทธเจ้ากล่าว) แสดงธรรมะหมวดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สัปปุริสบัญญัติ (ข้อที่สัตบุรุษตั้งไว้) บัณฑิตบัญญัติ (ข้อที่บัณฑิตตั้งไว้) มีธรรม ๓ ข้อ คือ ทาน การให้ ๑ บัพพัชชา การบวช ๑ มาตาปิตุปัฏฐาน การบำรุงมารดาบิดา ๑ นี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง แต่สัตบุรุษและบัณฑิตได้บัญญัติไว้ก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงนำมาแสดงเท่านั้น
พระโพธิสัตว์ (เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าเมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้) เมื่อทรงเป็นผู้ครองเรือนอยู่ แม้ทรงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ คนใช้ ที่อยู่ ยศ อำนาจ แต่ทรงนึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ว่ามีประจำแก่พระองค์และคนอื่นๆ ทั่วไป ไม่มีใครล่วงพ้น ทรงสลดจิต มุ่งหมายจะหาเครื่องแก้ ซึ่งเรียกว่าโมกขะ แปลว่า “พ้น”' จึงเสด็จออกบวช ครั้นตรัสรู้แล้ว ทรงพระกรุณา (สงสาร) คนอื่น ทรงคิดและแสดงธรรมสั่งสอน แต่ทรงเห็นว่าธรรมที่พระองค์ได้ประสบนั้นละเอียดลึกซึ้งยิ่ง ยากที่ผู้ยังยินดีติดอยู่ในโลกจะรู้ตามได้ จึงทรง ท้อพระหฤทัยที่จะแสดงธรรมสั่งสอน แต่ก็อาศัยพระกรุณาและทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้มีปัญญาและมีกิเลส (เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง) น้อยสามารถฟัง และตรัสรู้ตามได้ก็มีอยู่ จึงทรงตั้งจิตที่จะแสดงธรรมสั่งสอนสืบไป
ในชั้นต้น ทรงพิจารณาหาผู้ฟังที่พอจะตรัสรู้ตามได้เร็วก่อน จึงเสด็จไปสั่งสอนฤษีปัญจวัคคีย์และชฏิล ๑,๐๐๐ เป็นต้น และทรงสั่งสอนกษัตริย์ พราหมณ์ อำมาตย์ เศรษฐี คฤหบดี เพราะคนเช่นนี้เคยเล่าเรียนมีความรู้สูงมาแล้ว ทั้งเป็นผู้หน่ายในทางโลกมาแล้วก็มี สามารถฟังเข้าใจได้ง่าย เมื่อผู้ฟังได้ศรัทธา ความเชื่อ และปสาทะ ความเลื่อมใส ทูลขอบวช พระพุทธเจ้าก็ทรงรับด้วยพระวาจาว่า (เอหิภิกขุ) ท่านจงเป็นภิกขุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ (คือการปฏิบัติดีที่เป็นส่วนเหตุ) เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” เพียงเท่านี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าบวชเป็นภิกขุในพระพุทธศาสนา การบวชเช่นนี้ เรียกว่า
เอหิภิกขุอุปสัมปทา ผู้รับอุปสมบทเช่นนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุ เมื่อมีภิกขุในพระพุทธศาสนาขึ้นแล้ว
พระพุทธเจ้าทรงส่งภิกขุทั้งหลายให้ไปเที่ยวประกาศพระศาสนาในทิศต่างๆ เมื่อมีผู้เชื่อและเลื่อมใสปรารถนาจะบวช พระสาวกต้องนำมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบท ทั้งภิกขุผู้อาจารย์ทั้งกุลบุตรผู้จะบวช ต้องลำบากในการเดินทางเป็นต้น พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกขุนั้นๆ ให้บวชกุลบุตรได้เอง ด้วยให้โกนผมและหนวดก่อน แล้วให้นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดที่เรียกว่า กาสาวะ หรือกาสายะ ให้นั่งกระหย่งประณมมือ และกราบภิกขุ แล้วสอนให้ว่าตามว่า “(พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ) ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ” ๓ หน เพียงเท่านี้ ผู้นั้นก็ได้เป็นภิกขุในพระพุทธศาสนา การบวชเช่นนี้เรียกว่า ติสรณคมนอุปสัมปทา แปลว่า อุปสมบท ด้วยถึงสรณะ ๓
การบวช ญัตติติจตุตถกรรมอุปสัมปทา |
ครั้นเมื่อมีภิกขุในพระพุทธศาสนามากขึ้น และตั้งมั่นดีแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมอบการอุปสมบทให้เป็นกิจของสงฆ์ คือหมู่พระสาวกประชุมกัน ในมัชฌิมประเทศตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป ในปัจจันตประเทศตั้งแต่ ๕ ขึ้นไป จัดการ ให้กุลบุตรอุปสมบท มีภิกขุรูปหนึ่งเป็นผู้นำเข้าหมู่ ซึ่งเรียกว่า อุปัชฌายะ มีภิกขุอีกรูปหนึ่งสวดประกาศ บอกความที่กุลบุตรนั้นขออุปสมบท และท่านมีชื่อนั้นเป็นผู้รับนำเข้าหมู่ ประกาศคราวแรก เรียกว่า ญัตติ แปลว่า คำประกาศให้สงฆ์รู้ ครั้นแล้วสวดประกาศอีก ๓ คราว เรียกว่า อนุสาวนาที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เมื่อภิกขุที่ประชุมกันเป็นสงฆ์นั้นไม่คัดค้าน ก็เป็นอันสำเร็จการบวชเป็นภิกขุ การบวชด้วยวิธีนี้ เรียกว่า ญัตติติจตุตถกรรมอุปสัมปทา คือ อุปสมบทด้วยกรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ เมื่อทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมนี้แล้ว ให้เลิกอุปสมบทด้วยติสรณคมนอุปสัมปทา แต่นั้นมา
ในตอนต้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงกำหนดอายุผู้อุปสมบท จึงมีคนที่อายุน้อยยังเป็นเด็กอยู่ เข้ามาบวชเป็นภิกขุแล้ว ยังประพฤติอย่างเด็กอยู่ ไม่สามารถปฏิบัติดีได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งกำหนดอายุผู้จะอุปสมบทว่า ต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์จึงจะบวชได้ และทรงอนุญาตให้เด็กชายที่มีอายุพอสมควร แต่ยังไม่ถึง ๒๐ ปีบริบูรณ์ บวชเป็นสามเณร ด้วยถึงสรณะ ๓ ดังที่ได้ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกขุมาแล้วเละเลิกเสียนั้น การบวชเป็นสามเณร เรียกว่า ปัพพัชชา หรือบรรพชา บวชเป็นภิกขุ เรียกว่า อุปสมบท เมื่อมีสตรีปรารถนาจะบวช และมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกขุนี ถ้ามีอายุยังไม่ครบ ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นสิกขมานาและสามเณรีโดยลำดับ แต่ภิกขุนีนี้ได้เลิกมาเสียนานแล้ว เพราะมีเหตุขัดข้องหลายประการ เช่น ไม่มีภิกขุนีสงฆ์พอ เป็นต้น
ในตอนต้น พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติพระวินัยที่เป็นข้อบังคับ เป็นแต่ทรงแสดงธรรมแนะนำให้ปฏิบัติเท่านั้น ผู้บวชก็บวชด้วยศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใสจริงๆ เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนและตามจรรยาที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกปฏิบัติอยู่ ต่อมาเมื่อนิยมการบวชมากขึ้น
หน้าที่ของผู้บวช
เมื่อผู้บวชได้บวชแล้ว ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระวินัยที่เป็นพระบัญญติที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ด้วยศึกษาธรรมะ คือเรียนและปฏิบัติธรรมะตามความสามารถ ตามความหมายเดิมของพระพุทธศาสนา ให้เป็นบัพพชิตที่ดีเสมอกับบรรพชิตที่มีด้วยกันตามพระพุทธภาษิตว่า สมโณ อัสส สุสสมโณ สมณะ พึงเป็นสมณะที่ดี ดังนี้
การเรียนธรรมะ ก็คือเรียนจำธรรมะ ๑, พิจารณาเนื้อความของธรรมะที่เรียนจำนั้น ให้เข้าใจเนื้อความ ๑, พิจารณาดูธรรมะนั้นๆ สอบดูที่ตนให้รู้ว่าตนเองได้มีธรรมะนั้น ๆ อยู่ที่ตนเพียงไร หรือไม่มี ๑, นี้เป็นปริยัติ คือเรียน หรือปริยัติธรรม ธรรมคือเรียน, ครั้นแล้วจึงปฏิบัติธรรมะที่พิจารณาเห็นว่าควรปฏิบัติตามสมควร นี้เรียกปฏิบัติ หรือปฏิบัติธรรม ธรรมคือปฏิบัติ เมื่อได้ปฏิบัติไปได้ประสพผลอย่างไร อันเกิดสืบมาแต่ปฏิบัติ นี้เรียกปฏิเวธคือรู้ตามเป็นจริง หรือปฏิเวธธรรม ธรรมคือรู้ตามเป็นจริง
การปฏิบัติธรรมแยกออกเป็น ๒ คือ ตั้งจิตให้กำหนดอยู่ในที่มุ่ง (ที่เรียกว่า อารมณ์) อันเดียว ไม่ให้ฟุ้งส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ เรียกว่าสมถะ ๑ พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง เรียกว่า วิปัสสนา ๑
พระพุทธศาสนาแสดงว่า บุคคลถึงจะได้ประสพผลดีมีอำนาจมากจนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหมือนกันหมด จะต่างกันก็เพียงช้าบ้าง เร็วบ้าง เพราะกำหนดนับเท่านั้น ถ้าว่าจ๋าเพาะเบื้องต้นกับเบื้องปลาย ก็คงเกิดและดับเหมือนกันหมด ไม่มีพิเศษกว่ากันเลย ความแก่ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ไม่มีใครชอบ แต่ที่ความแก่ ความเจ็บ ความตายมีก็เพราะมีความเกิดเป็นต้นเหตุ และความเกิดนั้นก็มีเพราะเหตุต่อขึ้นไปอีกคือ ตัณหา ความตื้นรนใจ (แสดงตามนัยแห่งอริยสัจจ์ ๔) เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก จึงทำอริยมรรคให้เกิดขึ้น คือปฏิบัติตามอริยมรรค กำจัดตัณหาเสีย เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีเกิด เมื่อไม่มีเกิด ก็ไม่มีไม่มีเจ็บไม่มีตาย เป็นอันพ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง
พึ่งโปรยทานสละการตระหนี่ สละการอยู่เรือน มุ่งสู่พระวินัย |
ผู้นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาเห็นจริงด้วยใจแล้ว แม้ยังยินดีติดอยู่ในโลก เห็นว่าตนไม่สามารถจะปฏิบัติเพื่อตัดตัณหาในชาตินี้ได้ แต่ก็ปรารถนาจะให้มีนิสัยปัจจัยเพื่อให้สิ้นชาติสิ้นภพในกาลต่อไป จึงตั้งใจบวชชั่วคราวบ้าง ยืดยาวต่อไปบ้าง และเห็นว่าบวชเป็นบุญที่ให้ผลเป็นสุขในภพต่อไปบ้าง เห็นความที่ต้องเป็นกังวลกับกิจการต่าง ๆ ของผู้ครองเรือน เป็นความทุกข์ยากลำบากบ้าง จึงบวชก็มี ผู้บวชเหล่านี้ เมื่อบวชแล้วก็มุ่ง ศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่ล่วงละเมิดด้วยไม่มียางอายแก่ใจ เมื่อเห็นว่าตนหมดอุตสาหะในการที่จะบวชอยู่ต่อไป ก็ลาสิกขา คือสึกออกไป
อนึ่ง ในครั้งก่อนยังไม่มีโรงเรียน ยังไม่มีการฝึกสอนในทางศาสนา ในทางปกครอง และในความรู้อื่นๆ อันเป็นเบื้องต้น แม้แต่การเรียนหนังสือไทย ผู้บวชจึงเป็นอันหัดเป็นผู้ใหญ่ปกครองตัวเองด้วย และถ้าต้องการจะเรียนอะไรที่สมควรและพอจะหาเรียนได้ ก็หาเรียนทางนั้น เช่น เรียนหนังสือเป็นต้น จึงนิยมกันว่าผู้บวชแล้วเป็นคนดีมีความสามารถ
ภายหลังต่อมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาจัดการศึกษาขึ้น มีโรงเรียนให้กุลบุตรได้เล่าเรียน จนถึงส่งนักเรียนไปเรียนในต่างประเทศก็มี และมีโรงเรียนสตรีขึ้นด้วย การบวชจึงมีน้อยลง แต่ก็ยังมีผู้ใหญ่พอใจให้ผู้อยู่ในปกครองได้บวชบ้าง ผู้บวชพอใจบวชเองบ้าง จึงยังมีการบวชสืบต่อมาจนบัดนี้
แต่ก็เป็นธรรมดา เมื่อมีผู้บวชที่ดี ก็ย่อมมีผู้บวชที่ชั่วแทรกแซงไป ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาแล้ว พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยมาเป็นลำดับ ในภายหลัง ตามที่ปรากฏในกฎหมายพระสงฆ์ มีผู้บวชที่ฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติมากขึ้น พระวินัยพุทธบัญญัติ ไม่สามารถปกครองผู้บวชได้ดีพอ พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภก จึงต้องทรงออกกฎหมายช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า กฎหมายพระสงฆ์ คือลงโทษพระสงฆ์ผู้ประพฤติ ฝ่าฝืนให้มีโทษทางฝ่ายบ้านเมืองด้วยอีกส่วนหนึ่ง ทรงตั้งกรมธรรมการและสังฆการีให้ช่วยคอยดูแลสอดส่องและลงโทษ แต่ก็ยังไม่สามารถทำผู้บวชให้ดีได้ทั่วถึงอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงผนวช ประทับที่วัดมหาธาตุ ได้ทรงเห็นทรงทราบความเป็นไปของผู้บวชอยู่ในครั้งนั้น ทรงทนอยู่ไม่ได้จึงทรงแสวงหาพระที่ดี ทรงสอบสวนจนพอพระหฤทัย จึงทรงอุปสมบทใหม่พร้อมด้วยผู้สมัครใจเข้าร่วมด้วย ในชั้นต้นก็น้อย ต่อมาจึงมากขึ้นโดยลำดับ จนเป็นพระคณะธรรมยุตขึ้น และทรงปกครองเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่ในกรมธรรมการ เมื่อทรงลาผนวชเพราะต้องทรงรับอาราธนาให้ครองราชสมบัติ ก็ทรงมอบการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุต แก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ให้ทรงปกครองสืบต่อมา และสืบต่อมาถึงทุกวันนี้ แม้พระธรรมยุตเองในบัดนี้ เมื่อมีมากออกไป ก็ย่อมมีผู้ไม่เอื้อเก้อต่อพระธรรมวินัยมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อแรกมี เพราะความมากนั่นเอง จึงดูแลปกครองกันไม่ทั่วถึงด้วย ผู้บวชไม่มีศรัทธา ปสาทะพอ มุ่งประโยชน์อย่างอื่นด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ