จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประวัติ บุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนา อ.วศิน อินทสระ (ผู้รสจนาประพันธ์ อันไพเราะ)

บุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนา  อ.วศิน อินทสระ 
(ผู้รสจนาประพันธ์ อันไพเราะ)
หนึ่งในปูชนียบุคคลในวงการพระพุทธศาสนาบ้านเรานั้น  ใครเลยจะปฏิเสธว่าไม่ใช่  "วศิน  อินทสระ"  ผู้เป็นนักคิด นักเขียนและนักวิชาการ รวมทั้งเป็นอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ ประสาทวิชาความรู้ทางธรรมแก่พระนิสิตของมหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัยมาหลายต่อหลายรุ่น ตลอดระยะเวลากว่า  40  ปี  ที่ผ่านมาท่านอาจารย์วศิน อุทิศตนทุ่มเทให้กับงานด้านพระพุทธศาสนาอย่างไม่เหน็ด- เหนื่อย ไม่ย่อท้อ โดยไม่ปรารถนารางวัลตอบแทนใดๆ ใน ชีวิต ถึงกระนั้นก็ตาม พุทธพจน์ที่ว่า "คนทำดีย่อมได้ดี" ยังศักดิ์สิทธิ์ และเป็นจริงเสมอ เพราะทางราชการ โดย กรมการศาสนาได้มอบรางวัลเสมาธรรมจักร ให้กับท่าน ในฐานะที่เป็นฆราวาสผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาวรรณกรรม ในปี พ.ศ.2525 โดยในปีนั้นฝ่ายบรรพชิต ที่ได้รับรางวัลนี้ คือท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)
ปัจจุบัน แม้ว่าท่านอาจารย์วศินจะเกษียณแล้ว แต่ด้วยวัย 67 ปีที่ยังดูแข็งแรง และเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ ท่านจึงยังต้องรับภาระหนักต่อไป ทั้งการเป็นอาจารย์ หนังสือศุภมิตร ราย 2 เดือน ของมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนา และมนุษยธรรม ของวัมกุฎกษัตริยาราม และถ่ายทอดความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนาให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ทุกวันอาทิตย์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. รวมทั้งงานเขียนวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ท่านอาจารย์วศินเขียนหนังสือมากมาย โดยเฉพาะนิยายอิงหลักธรรมและชีวประวัติ "พระอานนท์พุทธอนุชา" ที่เรียกน้ำตาจากผู้อ่านคนแล้วคนเล่า
แต่เรื่องหนึ่งที่ท่านอาจารย์วศินไม่ยอมเขียนก็คือประวัติของตัวเอง ซึ่งหนังสือพิมพ์รายเดือน "ธรรมลีลา" ได้สัมภาษณ์ ประวัติชีวิตของท่านบางส่วนไว้ดังนี้
-อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ท่านอาจารย์หันมาสนใจศึกษาพระธรรม
ชีวิตผมลำบากมาตั้งแต่เด็ก พอเรียนจบชั้นประถม ตอนนั้นอายุ 13 ปี พี่ชายบวชพระ อยู่ที่วัดบุปผาราม กรุงเทพฯ ก็พาผมมาบวช ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด จากสงขลา ตอนนั้นก็บวชตามที่ผู้ให้บวช ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี พอบวชแล้วถึงรู้ว่าได้อะไรเยอะมากเพราะผมเองเป็นคนชอบทดลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ คำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ลองทำดู บวชเณรอยู่ 7 ปี พออายุ 20 ปีก็บวชพระ ตอนเริ่มเรียนนักธรรมตรี รู้สึกว่าได้อะไรเยอะมาก เลยทุ่มชีวิตจิตใจลงไปศึกษาอย่างเต็มที่
-ตอนนั้นชอบอ่านเรื่องประเภทไหนเป็นพิเศษคะ เช่น นิทานชาดก พุทธศาสนสุภาษิต
ผมอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า(หัวเราะ) ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนสุภาษิต เรื่องราวอะไรต่างๆ ในพุทธศาสนานี่ชอบหมด เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แล้วเวลานั้นหนังสือขาดแคลนมาก ต้องขอยืมเค้ามาแล้วจดๆ เอาไว้ เพราะสตางค์ที่จะซื้อไม่มี  หนังสือของหลวงวิจิตรวาทการผมก็ชอบ ของท่านพุทธทาสก็ชอบ  ผมอ่านตั้งแต่ตอนเป็นเณร จนกระทั่งบัดนี้
ไม่ยากนะ ยังเคยแนะนำให้เพื่อนอ่านด้วย แต่ว่ารู้สึกจะไม่มีใครอ่าน (หัวเราะ) แล้วตลอดเวลาที่บวชส่วนใหญ่จะอ่านแต่หนังสือพระธรรม สึกมาแล้วไปทำงานทำการอะไรก็ไม่เคยทิ้ง สนใจค้นคว้ามาตลอด
- บวชเรียนอยู่นานมั๊ยคะ
 บวชเป็นเณรอยู่ 7 ปี พอตอนอายุ 20 ก็บวชพระ สอบได้นักธรรมเอกและ ป.ธ.7  แล้วเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย บุรพศึกษา 1 ปี และเตรียมศาสนศาสตร์ 2 ปี รวม 3 ปี แล้วจึงสมัครสอบ ม.8 ได้ และได้เรียนเป็นนักศึกษาต่ออีก 4 ปี จนจบหลักสูตรปริญญาตรีสาขาศาสนศาสตร์ รวมแล้วเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยทั้งหมด 7 ปี สมัยนั้นทุกคนต้องเรียนกันทั้งหมด 7 ปี พอจบแล้วทางมหามกุฎฯ ก็บรรจุผมให้เป็นอาจารย์ ผมลาสิกขาเมื่ออายุ 30 ปี ตอนนั้นก็ประมาณ พ.ศ.2507
-ทราบว่าอาจารย์ไปเรียนที่อินเดียวด้วย
เคยไปเรียนปริญญาโทสาขาปรัชญา  ที่มหาวิทยาลัยบานารัสฮินดูยูนิเวอร์ซิตี้ ที่คนทั่วไปเรียกว่า มหาวิทยาลัยพาราณสี แคว้นอุตรประเทศ เรียนอยู่ 2 ปี
-ได้อะไรกลับมาบ้างคะ
ได้เยอะจนคำนวณไม่ถูก ไม่ใช่ได้ความรู้อย่างเดียว แต่ได้โลกทัศน์และธรรมทัศน์ ได้ความเข้าใจ ชีวิต เช่น ความลำบาก ทำให้ผมต่อสู้กับความลำบากได้มากขึ้น  ผมยังเคยคุยกับนาวาเอกสมภพ ภิรมย์ ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นอธิบดีกรมศิลปากร แล้วไปอินเดีย ผมบอกท่านว่า ถ้าอยู่อินเดียแล้วไปอยู่เมืองไทย ที่ไหนก็ได้ เพราะที่อินเดียลำบากมาก
อีกอย่างหนึ่งได้เข้าใจเรื่องราวจากหนังสือชัดเจนขึ้น เพราะ ตอนอยู่เมืองไทยไม่รู้ พอไปอินดียถึงได้รู้ อย่างสมมติว่า เราเคยอ่านในพระวินัย ท่านบอกว่าหน้าร้อน  ตอนกลางวันให้ปิดหน้าต่าง ส่วนกลางคืนให้เปิดหน้าต่าง แต่บ้านเรานี่ตอนกลางวันต้องเปิดหน้าต่าง เราก็สงสัยว่า เอ๊ะ..ทำไมต้องให้ปิดหน้าต่างตอนกลางวัน พอไปอยู่อินเดียถึงได้รู้ว่า ต้องปิดจริงๆ เพราะว่าลมที่เข้ามาหน้าร้อนน่ะ ลมร้อนทั้งนั้น เลยต้องปิด แต่พอกลางคืนต้องเปิดไว้ เพราะลมเย็นจะได้เข้า แล้วพอกลางวันปิดไว้ลมเย็นจากกลางคืนก็ยังอยู่
-แรงดลใจที่อาจารย์ได้รับและคิดว่าต้องทำงานให้กับพระพุทธศาสนานั้น มาจากไหน
ก็สืบเนื่องมาจากการบวช เพราะการบวชนี่ ถ้าคนตั้งใจศึกษาปฏิบัติ จะได้อะไรเยอะมาก  ไม่ใช่ได้เพียงความรู้อย่างเดียว ทีนี้ก็ระลึกถึงอุปการะของชาวบ้านประชาชนว่าเราอยู่ได้อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ก็เพราะชาวบ้าน อุปการะเลี้ยงดู ถึงรู้จักหรือไม่รู้จักเขาก็เลี้ยงดู แล้วก็เห็นว่าพระพุทธศาสนานี้มีคุณค่าเหลือเกิน ก็เลยอยากจะตอบแทนชาวบ้าน ตอบแทนอุปการะของประชาชน และตอบแทนคุณของพระศาสนาด้วยการ เผยแผ่ธรรม
-อาจารย์เริ่มเผยแผ่ธรรมในรูปของงานเขียนเมื่อไหร่คะ
ตอนอายุ 29 ปี ตอนนั้นเขียนหนังสือเรื่องแสงเทียนเป็นหนังสือเล่มแรก ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนิยายอิงหลักธรรม พออายุ 30 ก็เขียนเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชาเป็นนิยายอิงหลักธรรมเและชีวประวัติ ซึ่งเล่มหนังนี่คนนิยมกันมาก แต่ผมเองชอบทุกเล่มที่เขียนนะ (หัวเราะ)
-นอกจากหนังสืออ่านทั่วไปแล้ว ท่านอาจารย์ยังแต่งหนังสือแบบเรียนให้กรมวิชาการ เพื่อใช้เป็นตำราเรียนด้วย
ครับ ก็เขียนแบบเรียนให้ชั้นมัธยมศึกษา ปี 2524 มีวิชาสังคมศึกษา, ปี 2529 เรื่องประวัติพระสาวก เล่ม 1-2 , ปี 2531 เรื่องธรรมเพื่อการครองใจคน และปี 2534 เรื่องจริยธรรมกับบุคคล
-อาจารย์เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือธรรมจักษุ ด้วยใช่ไหมคะ
ใช่ เป็นอยู่ 10 ปี ตอนนี้เป็นควบกับหนังสือศุภมิตร
-การเผยแผ่ธรรมในรูปแบบอื่นล่ะคะ
ก็มีทางวิทยุ ตอนนี้จัดรายการสดอยู่ 2 คลื่น รายการวิเคราะห์ธรรม วันอังคาร ตอนสองทุ่มถึงสองทุ่มครึ่ง ที่คลื่น AM 963 และรายการธรรมร่วมสมัย  วันพฤหัสบดีประมาณเที่ยงคืนกว่าๆ ถึงตีหนึ่งสิบห้า ที่คลื่น FM 100.5 แล้วก็มีบรรยายธรรมทุกวันอาทิตย์ ตอบสิบโมงครึ่งถึงเที่ยงครึ่งที่มหามกุฎฯ วัดบวรฯ อ้อ.. มีตอบปัญหาธรรมทางโทรศัพท์ ของสายพุทธธรรมด้วย หมายเลข 02-662-3111 กับมีคอลัมน์ธรรม และทรรศนะชีวิตที่ส่งบทความให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันทุกวันพฤหัสบดี หรือสามารถอ่านเพิ่มเติม ได้จาก www.manager.co.th
-ตอนนี้ท่านอาจารย์เกษียณแล้ว ยังสอนพระนิสิตที่มหามกุฎฯ อีกหรือเปล่า
สอนอยู่ เพราะสมเด็จฯ (สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมกุฎฯ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิยาลัย) ท่านไม่ให้ออก ท่านให้เงินเดือนประจำด้วย ก็ต่ออายุกันไปปีต่อปี สอนทุกวัน เว้นวันพระ สอนปริญญาตรี ปริญญาโท วิชาพุทธศาสตร์บ้าง จริยศาสตร์บ้าง ปรัชญาบ้าง
-พูดถึงพระแล้ว ตอนนี้วงการพระสงฆ์บ้านเรามีข่าวมากมายเหลือเกินทั้งที่เป็นข่าวไม่ดีจริงๆ และเป็นข่าว  เพราะถูกโจมตีจากผู้ไม่ประสงค์ดี อาจารย์เห็นว่าอย่างไรคะ
มันอยู่ที่ว่าเขาโจมตีถูกหรือโจมตีผิด เราต้องรับมาพิจารณา ถ้าเขาโจมตีถูก ก็ต้องรับไว้แก้ไข หากเขาโจมตีผิดก็ชี้แจง ต้องถือแนวพุทธพจน์ว่า ถ้าเขาติเตียน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อย่าเสียใจ และอย่าปฏิเสธ ถ้าเราโกรธเสียก่อนก็จะไม่รู้ว่าเขาติเตียนถูกหรือผิด ต้องเอามาพิจารณา แม้แต่เขาชม ก็อย่าเพิ่งรับ ถ้าเรารีบรับ รีบดีใจเสียก่อน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีดีจริงหรือเปล่า อันนี้อยู่ในพรหมชาลสูตร
-แล้วเรื่องพระภิกษุณีล่ะคะ ท่านอาจารย์มองว่าอย่างไร
คงมีได้ยาก ด้วยเงื่อนไขที่ว่าภิกษุณีต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย แต่ตอนนี้ภิกษุณีบ้านเราไม่มี ก็ไม่รู้จะบวชจากใครทีนี้พระสงฆ์เมืองไทยนั้น ถ้าไม่ได้บวชจากภิกษุณีสงฆ์ก่อน ท่านก็ไม่กล้าบวชให้ เพราะท่านถือตามพระวินัย
-ถ้าไม่บวชแล้วผู้หญิงจะบรรลุธรรมได้มั๊ย
 ผู้หญิงบรรลุธรรมได้ อันนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสมาตลอด ว่าผู้หญิงสามารถจะบรรลุธรรมได้ แม้เป็นฆราวาสก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้
- ท่านอาจารย์รู้สึกอย่างไรกับสภาพสังคมตอนนี้
ค่อนข้างหนักใจเรื่องความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม ความตกต่ำทางจิตใจของคนในสังคมก็รู้สึกเป็นห่วง
-คิดว่าคนในสังคมจะช่วยกันได้อย่างไรคะ
ช่วยกันมีศีลธรรม ช่วยกันถอนตนจากวัตถุนิยมมาเป็นธรรมนิยม ปัญญานิยม
แม้จะผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาว มาหลายฤดูกาล แต่ท่านอาจารย์วศิน ยังคงยืนหยัดที่จะสร้างงานสร้างคน บนเส้นทางสายพุทธธรรมต่อไป ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยสำนึกในคุณของพระพุทธศาสนา  และความรักความศรัทธาที่มีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น
ผลงานการประพันธ์ของอาจารย์วศิน อินทสระ มีรายชื่อดังนี้
1      กรรมฐานหรือภาวนา
2      การช่วยเหลือตนเองและพึ่งตนเอง
3      การเผยแผ่ศาสนา
4      การเผยแผ่ศาสนาพร้อมความเข้าใจหลักศาสนาและการพัฒนาชีวิตด้วยคุณธรรม
5      การพึ่งตน
6      การศึกษาและการปฏิบัติธรรม
7      คติชีวิต เล่ม 1 และ 2
8      ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
9      ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต
10   ความคิดทางพระพุทธศาสนาและทรรศนะชีวิต
11   ความคิดเห็นที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
12   ความสุขของชีวิต
13   ความหลัง
14   คุณของพระรัตนตรัยและการเข้าถึง
15   คุณความดีดอกไซร้
16   คู่มือสอนศีลธรรม ม.ศ.4-5
17   จดหมายถึงลูก
18   จริยธรรมกับบุคคล
19   จริยศาสตร์ เล่ม 1 และ 2
20   จริยาบถ เล่ม 1 และ 2
21   จอมจักรพรรรดิ์อโศก เล่ม 1 และ 2
22   จากปาณิสสราด้วยรักและห่วงใย
23   จากวราถึงนภาพร
24   ชาวพุทธกับวิกฤตศรัทธา
25   ชีวิตนี้มีอะไร
26   ตรรกศาสตร์พุทธศาสนา
27   ทางแห่งความดี เล่ม 1-2-3-4 ตอนที่ 1 และ 2
28   ทำอย่างไรกับความโกรธ
29   ธรรมปฏิสันถาร
30   ธรรมเพื่อการครองใจคน
31   ธรรมและชีวิต
32   ธรรมาลังการ
33   ธัมโมชปัญญา เล่ม 1 - 2 - 3
34   แนวทางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนา
35   แนวธรรมแห่งสุตตันตะ เล่ม 1 และ 2
36   บทเรียนชีวิต
37   บนเส้นทางสีขาว
38   แบบเรียนวิชาพุทธศาสนา ม.2
39   แบบเรียนวิชาพุทธศาสนา ม.4
40   ปกิณกธรรม เล่ม 1 และ 2
41   ประวัติพระสาวก เล่ม 1 และ 2
42   ปัญญารัตนะ
43   ปาฐกถาปัญหาน่าสนใจทางพระพุทธศาสนา
44   ผู้สละโลก 
45   พระคุณของพ่อ
46   พระอานนท์พุทธอนุชา    
47   พ่อผมเป็นมหา เล่ม 1 และ 2
48   พุทธจริยศาสตร์
49   พุทธจริยา
50   พุทธปฏิภาณ
51   พุทธปรัชญาเถรวาท เล่ม 1 และ 2
52   พุทธปรัชญามหายาน
53   พุทธวิธีในการสอน
54   พุทธศาสนาในประเทศไทย
55   เพื่อความสุขใจ
56   เพื่อชีวิตที่ดี เล่ม 1 และ 2
57   เพื่อเยาวชน
58   ภาพจำลองชีวิต
59   มนุษย์กับเสรีภาพ
60   ร่มธรรม
61   รอยช้ำในดวงใจ
62   ลีลากรรมของสตรีในพุทธกาล
63   ศีลสมาธิปัญญา(หลักการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต)
64   สายธารที่เปลี่ยนทาง
65   สาระสำคัญมงคล 38 เล่ม 1 และ 2
66   สาระสำคัญวิสุทธิมรรค
67   สิ่งเกื้อกูลชีวิต
68   สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่เพื่อความถูกต้อง
69   แสงเทียน
70   หลักธรรมเพื่อความสำเร็จในชีวิต
71   เหมือนภูเขา
72   อธิบายมิลินทปัญหา
73   อนุทินทรรศนะชีวิต
74   อย่าเป็นคนเชื่อง่าย
75   อันความกรุณาปรานี
76   อันชนกชนนีนี้รักเจ้า
77   อาภรณ์ประดับใจ
โดย ทองพริก วิกิพีเดีย

1 ความคิดเห็น:

  1. ดิฉันได้ลาออกจากงานมาดูแลบุตรได้ประมาณหนึ่งปี และได้สนใจไฝ่ธรรมะอย่างจริงจังประมาณหนึ่งเดือน โดยทำบุญ สวดมนคร์ และอ่านหนังสือธรรมะ ดิฉันได้ซื้อหนังสือธรรมะมาอ่านหลายเล่ม มีของท่านอาจารย์รวมอยู่ด้วย ชอบมากค่ะ เข้าใจง่าย และตั้งใจว่าจะหาเล่มอื่นๆมาอ่านอีก ทั้งตั้งใจซื้อไปฝากคนอื่นที่สนใจในทางธรรมค่ะ เล่มแรกที่ได้อ่านและอยากแนะนำ คือ สวรรค์ นรก บุญ บาป
    ขอให้อาจารย์เจริญทั้งทางโลกและทางธรรมนะคะ ปารมี/นิพพาน

    ตอบลบ

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น