จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

คำสอนเรื่องฤกษ์ยาม ทางพุทธศาสนาว่าอย่างไร

คำสอนเรื่องฤกษ์ยาม
                   พระพุทธเจ้าทรงกล้าประกาศอย่างตรงไปตรงมาถึงหลักคำสอน เรื่องฤกษ์ยาม เช่นที่ตรัสว่า
                  ๑.คนเขลามัวถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์ย่อมล่วงเลยไป ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้ : พระสุตตันตปิฏก เล่ม 27 หน้า 61
              ๒.สัตว์ประพฤติสุจริตกายวาจาใจในเวลาเช้า เช้าวันนั้นย่อมเป็นเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น ประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจในเวลาเที่ยง เที่ยงวันนั้นย่อมเป็นเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น ประพฤติสุจริตกาย วาจา ใจในเวลาเย็น เย็นวันนั้นย่อมเป็นเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น : พระสุตตันตปิฏก เล่ม 20 หน้า 178
                 พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้ากล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่ต้องหาฤกษ์ ถือความสุจริต ความสะดวกเป็นเกณฑ์ก็แล้วกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะกับคนอื่นที่เขายังอยากจะหาฤกษ์ของเขา ปัญหาขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะมีใจเข้มแข็งแค่ไหน ถ้าใจเข้มแข็งแล้วก็เลิกถือจุกจิกหรือฤกษ์ยามได้
               คนบางคนเมื่ออายุยังน้อย อ่านหนังสือปฏิทินพกประจำปี ซึ่งมีผู้แต่งโคลงเรื่องตัดเล็บตัดผมไว้ ห้ามตัดวันนั้นให้ตัดวันนี้ ท่องจำได้ขึ้นปาก มาภายหลังได้ลองตัดในวันที่ห้ามดูเพื่อฝืนใจให้กล้าสลัดความเชื่อถือโชคลาง เมื่อฝืน ๆ ไปก็เกิดความสบายใจที่จะตัดเล็บตัดผมได้ในโอกาสที่ว่าง ไม่ต้องเลือกว่าเป็นวันไหน ทำให้วันเวลาใน 1 สัปดาห์ ไม่กลายเป็นอัมพาตไป บางวันสำหรับเว้นการทำนั่นทำนี่
              ในการกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ ผู้เคร่งทางถือฤกษ์อาจไม่ชอบ แต่ข้าพเจ้าเห็นมีทางประนีประนอมกันได้ กล่าวคือพระพุทธศาสนานั้นมีข้อปฏิบัติหลายชั้นถ้าปฏิบัติได้แค่ไหน ก็ถือว่าเป็นการกระทำตามความเหมาะสมแก่จริตอัธยาศัย คือยังอยากถือฤกษ์ยามอยู่ และในขณะเดียวกันก็จะทำคุณงามความดีหรือทำบุญกุศล ดังนี้ก็หาได้ทำให้ท่านกลายเป็นคนผิด คนเสียอะไรไม่ ยกเว้นไม่ได้ก็เชิญถือต่อไป ถ้าใจแข็งพอก็จะเว้นได้เองในภายหลัง เพราะไม่ใช่เรื่องนี้เท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นอีกถมไปที่พระพุทธศาสนาว่าไม่ดี แล้วเราก็ยังละไม่ได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความถือ เราถือเขาเป็นต้น ข้อสำคัญเมื่อละไม่ได้ก็อย่าไปเหมาเอาว่า พระพุทธศาสนาสอนให้มีโลภ โกรธ หลง ก็ใช้ได้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่า จะเกณฑ์ให้คนทุกคนมีจิตใจเหมือนกันหมด มีความประพฤติทางกาย วาจา อย่างเดียวกันหมดนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความจริงการตั้งพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่เพื่อคนที่วิเศษแล้ว เพราะถ้าคนทั้งหลายประเสริฐวิเศษไปหมดแล้ว ดูก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องตั้งศาสนา แต่เพราะเหตุที่ยังมีคนหลายชนิดหลายประเภทซึ่งเป็นคนยังมีกิเลสธรรมดาสามัญ ไม่ใช่ผู้วิเศษมาจากไหนนี้เอง จึงได้มีพระพุทธศาสนาขึ้น และก็เป็นธรรมดาของการสอนที่ต้องขึงเชือกหรือตั้งขีดขั้นไว้ ตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงอย่างสูง เริ่มต้นทีเดียวเราจะเอาอย่างสูงมาเป็นแนวตัดสิน ก็อาจจะยังไม่ได้ผลดี เพราะฉะนั้นในปัญหาเรื่องฤกษ์ยามนี้ ถ้าท่านจะถือก็ไม่ทำให้เสียหายหรือตกนรกหรือชื่อว่าทำบาปทุจริตอันใด แต่ถ้าท่านใจกล้า ท่านจะลองหัดไม่ถือดูบ้างก็จะสบายใจดีไม่น้อย
                 ในการนี้อาจมีบางท่านยังติดใจที่จะสนับสนุนเรื่องฤกษ์ยามอยู่ โดยให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่า ดวงดาวในท้องฟ้าย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับมนุษย์และโลกเราอยู่ไม่น้อย เช่น ดวงจันทร์เกี่ยวข้องกับน้ำขึ้นน้ำลง และเกี่ยวโยงถึงการมีระดูของสตรี ธาตุต่าง ๆ ในดวงดาวย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับธาตุต่าง ๆ ในโลกเรา และในร่างกายมนุษย์ จุดดับในดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า Sun Spot ย่อมทำให้เกิดพายุแม่เหล็กในโลกเรา เป็นอุปสรรคแก่การส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นต้น ฉะนั้น อิทธิพลของดวงดาวจึงน่าจะมีอยู่โดยแท้ เมื่อเป็นเช่นนี้การถือฤกษ์ยามจะว่าไร้เหตุผลเสียทีเดียวก็ไม่เชิง น่าจะมีอะไรที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์อยู่เหมือนกัน
                 เรื่องนี้ถ้าจะตอบตามหลักพระพุทธศาสนา ก็ตอบได้ว่าจุดที่เพ่งเล็งนั้นต่างกัน พระพุทธศาสนาต้องการให้ทำคุณงามความดี โดยไม่ต้องให้ชื่อว่าดีเพราะอาศัยเหตุภายนอกคือฤกษ์ยาม หากให้ทำดีที่กาย วาจา ใจของตนหรือให้สร้างคุณงามความดีขึ้นเป็นพื้นฐาน เพื่อให้สิ่งอื่น ๆ ถูกจูงให้ดีไปตาม ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าทรงประกอบคุณงามความดีอย่างเต็มที่ แม้สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระองค์ก็กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานคือวันวิสาขบูชา ก็กลายเป็นวันสำคัญของโลก ก้อนดิน ท่อนไม้ โลหะ หรือของอื่น ๆ ที่นำมาปั้นแกะสลักหล่อหลอมเป็นพระพุทธรูปก็กลายเป็นของควรแก่การกราบไหว้ บูชา ถามว่าอะไรจูงอะไร ตอบว่าคุณงามความดีจูงให้ทุก ๆ อย่างดีไปหมด ถ้าเอาคุณงามความดีออกเสียอย่างเดียว อย่างอื่น ๆ ก็พลอยหมดความหมายไปด้วย คราวนี้ถ้าเราจะลองเอาฤกษ์วิสาขะที่พระองค์ประสูติมาจูงอย่างอื่น ๆ บ้างจะได้หรือไม่ ปรากฏในตำนานว่าคนที่เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้านั้นมีหลายคนเราก็คงเห็น แล้วฤกษ์วิสาขะจูงไม่สำเร็จที่จะให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ทุกคน หรือเพื่อความยุติธรรม เราอาจกล่าวตามเหตุผลทางโหราศาสตร์ได้ว่า คนเกิดฤกษ์เดียวกันวันเดียวกันแต่ต่างเวลากันเพียงเล็กน้อย ก็ต่างกันได้ แต่เมื่อย้อนถามกันอย่างตรงไปตรงมาว่าแน่หรือที่ว่า ฤกษ์สร้างความดีให้คน สร้างความสำเร็จต่าง ๆ ให้ ก็คงจะยอมรับกันว่า ยังไม่แน่เหมือนหลักพระพุทธศาสนาที่ว่าความดี ความชั่ว หรือกรรมที่ทำนั้นย่อมปรุงแต่งคนให้ดีเลวต่างกัน
                   ด้วยเหตุนี้เองเราจึงพิจารณาเรื่อง พรหมลิขิต ของพราหมณ์เทียบกรรมลิขิต ของพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนขึ้น คือพราหมณ์ถือว่า ใครจะดีจะชั่ว พระพรหมผู้สร้างโลกได้ลิขิตไว้เสร็จแล้วที่หน้าผาก ไม่มีใครแก้ได้ นอกจากพระพรหมเอง ส่วนพระพุทธศาสนาถือว่าความดี ความชั่วที่เราทำ ซึ่งเรียกว่ากรรมดีกรรมชั่วนี้แหละที่ลิขิตชีวิตของเรา แต่เพราะเราทำไว้หลายอย่างต่าง ๆ กัน บางทีก็ดี บางทีก็ชั่ว ผลที่ได้รับจึงไม่เหมือนกัน และบางครั้งก็สลับซับซ้อนจนเหลือที่จะสาวหาเบื้องต้นและที่สุดได้ เมื่อพิจารณากันถึงรากฐานชั้นใน คือกรรมดีกรรมชั่วของคนแล้ว ผู้เรียนโหราศาสตร์บางคนก็อธิบายว่า ดวงดาวหรือท้องฟ้าเป็นคล้ายแผนที่ ซึ่งแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของคนเราต่าง ๆ กัน คนที่ทำกรรมดีก็เกิดมาโดยมีแผนที่ท้องฟ้าบอกไว้ว่าจะได้ดี คนที่ทำกรรมชั่วแผนที่ก็บอกไว้ว่าจะได้รับผลชั่ว เป็นการอธิบายโหราศาสตร์ให้มาสมคล้อยกับหลักทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอีกต่อหนึ่ง คือยอมรับว่าความดีความชั่วจูงสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งกำหนด ให้คนหรือสัตว์เกิดในขณะที่ดวงดาวอยู่ในลักษณะดีหรือชั่ว ไม่ใช่ดวงดาวบังคับคนให้ดีชั่ว หรือในตัวอย่างอื่นอีก กรรมดีกรรมชั่วนั้นเอง จูงให้คนไปเกิดในที่ที่มีความสุข ความเจริญ ให้มีสิ่งแวดล้อมดีงาม เรื่องของดวงดาวเป็นเพียงแผนที่อ่านกรรมดีกรรมชั่วของคนเท่านั้น
                       อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอย้ำในที่นี้ว่า ทางพระพุทธศาสนาต้องการปลูกฝังดีใน คือดีที่ตัวคน ไม่ใช่ให้ไปติดที่ ดีนอก เช่น ที่ดวงดาว เพราะดีในเป็นดียั่งยืนและตรงไปตรงมา ส่วนดีนอกยังเป็นที่น่าสงสัย เช่น นาย ก. สอบไล่ได้ เพราะขณะสอบฤกษ์ดี, กับนาย ข. สอบไล่ได้เพราะมีความรู้ ความสามารถ เราก็คงเห็นแล้วรากฐานของคนสองคนนี้ไกลกันมาก คนที่สอบได้เพราะฤกษ์ดี (สมมติว่ามี) นั้น เราจะหวังเอาความรู้ความสามารถที่เป็นสาระอะไรไม่ได้เลย แต่คนที่สอบได้เพราะมีความรู้ ความสามารถ ย่อมเป็นผู้มีรากฐานมั่นคงมาก และเป็นที่พึ่งประสงค์ยิ่งกว่าโดยแท้
                อาจมีปัญหาเกิดขึ้นอีกข้อหนึ่งที่ว่า ทางพระพุทธศาสนาไม่สอนให้เชื่อถือโชคลางหรือฤกษ์ยาม แต่เหตุไฉนกำหนดกาลต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และเข้าพรรษา จึงเนื่องด้วยดวงฤกษ์ทั้งสิ้น กล่าวคือวันมาฆบูชา กำหนดในวันที่พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อมฆา วันวิสาขบูชากำหนดในวันที่พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อวิสาขา และวันเข้าพรรษากำหนดเมื่อพระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่ออาสาฬหา ล่วงแล้ววันหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้จะว่าพระพุทธศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับฤกษ์ยามอย่างไร (กลุ่มดาวฤกษ์ชื่อ มฆา มี 5 ดวง มีลักษณะคล้ายงูผู้ ชื่อวิสาขะมี 3 ดวงมีลักษณะคล้ายคันฉัตรหรือแขนนาง, ชื่ออาสาฬหะ มี 3 ดวงมีลักษณะคล้ายสัปคับช้าง ชื่อทั้ง 3 นี้เป็นอิตถีลิงค์ เป็นชื่อกลุ่มดาว ถ้าเป็นชื่อเดือนก็เป็นมาฆะ,เวสาขะและอาสาฬหะ)
                    ปัญหานี้ ถ้ารู้เรื่องวิธีนับวันเดือนปีของอินเดียโบราณแล้วก็จะเข้าใจได้ชัดขึ้นว่า กำหนดกาลทางพุทธศาสนานั้นเป็นไปตามปฏิทินโบราณนั่นเอง กล่าวคือ ปฏิทินของอินเดียโบราณ ไม่มีการพิมพ์เป็นเล่มเป็นแผ่นดังทุกวันนี้ แต่ใช้ท้องฟ้าทั้งฟ้าเป็นแผ่นปฏิทิน วิธีนับวันกำหนดด้วยดวงจันทร์ข้างขึ้น ข้างแรมเป็นขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ วิธีกำหนดเดือนและเรียกชื่อเดือนใช้วันพระจันทร์เต็มดวงเป็นหลัก พระจันทร์เต็มดวงในเดือนไหน ผ่านกลุ่มดาวอะไร ก็เรียกชื่อเดือนตามกลุ่มดาวนั้น เช่น พระจันทร์เต็มดวงผ่านกลุ่มดาวชื่อมาฆะก็เรียกเดือนนั้นว่า มาฆะ พระจันทร์เต็มดวงโคจรผ่านกลุ่มดาวชื่อวิสาขะ ก็เรียกเดือนนั้นว่าวิสาขะ ส่วนวันเข้าพรรษากำหนดตามฤดูที่แบ่งออกเป็น 3 คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันกลางเดือน 8 (รวม 4 เดือน) ฤดูฝนกำหนดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันกลางเดือน 12 (รวม 4 เดือน) และฤดูหนาวกำหนดตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันกลางเดือน 4 (4 เดือนเช่นเดียวกัน) การจะรู้กำหนดดังกล่าวก็ต้องดูท้องฟ้าซึ่งเป็นแผ่นปฏิทินใหญ่ ว่าดวงจันทร์โคจรไปถึงไหนผ่านกลุ่มดาวอะไร ก็กำหนดฤดูเดือนวันได้ ตกลงวันมาฆบูชา วิสาขบูชาและเข้าพรรษา ไม่ใช่เอาดีกันที่ตรงฤกษ์นั้น ๆ แต่อาศัยดาวฤกษ์ 27 กลุ่ม กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นเครื่องกำหนดปฏิทินเท่านั้น
                   ความจริงหลัก 3 ประการ ในการกำหนดเดือน คือ 1. พระจันทร์เต็มดวง 2. โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ที่เป็นชื่อของเดือน 3 ดิถีนั้นต้องเป็นดิถีที่ 15 นับแต่วันขึ้น 1 ค่ำมา เราจะเห็นได้ว่าข้อกำหนดทั้ง 3 นี้ มีคลาดเคลื่อนกันอยู่เสมอ เช่น พระจันทร์เต็มดวง แต่ยังไม่เสวยฤกษ์นั้นยังขาดไปอีก 1 ฤกษ์ หรือดิถีคลาดเคลื่อนไปวัน 1 แต่รวมความแล้ว ก็ถือเอาถูกส่วนมากเป็นประมาณ ผู้ที่รู้จักถือเอาประโยชน์ ก็เพ่งเพียงพอกำหนดเป็นปฏิทินได้ ส่วนผู้เข้าใจผิดก็นึกว่าเป็นเรื่องถือฤกษ์ยาม เพราะเห็นข้อกำหนดว่า พระจันทร์เต็มดวงเข้าฤกษ์นั้นฤกษ์นี้แล้วหรือยังกลายเป็นจะเอาดีกันทั้งตรง ดาวฤกษ์ซึ่งกลายเป็นเรื่องวุ่นวายไป ในครั้งพุทธกาลเองพระพุทธเจ้าก็ทรงทราบดีว่าการใช้ท้องฟ้าเป็นปฏิทินนั้นอาจ จมีความเห็นแตกต่างกันได้บ้าง ในวินัยปิฏกพระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งข้อกำหนดไว้ ในเรื่องวันอุโบสถ วันปวารณาว่า ถ้าความเห็นไม่ตรงกัน ระหว่างพระสงฆ์ฝ่ายอาคันตุกะ (ผู้มาอาศัยพัก) กับพระสงฆ์ฝ่ายเจ้าถิ่น ให้ถือเสียงของพระสงฆ์เจ้าถิ่นเป็นประมาณดังนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวุ่นวายในเรื่องฤกษ์ยามอะไรเลย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงควรทราบว่าดาวฤกษ์ที่เกี่ยวข้องเข้ามาในพระพุทธศาสนา นั้น เพียงสำหรับกำหนดวันเดือนปีเท่านั้น วิธีการคิดปฏิทินแบบนี้มีทั่วไปแม้ในปฏิทินยิว ปฏิทินจีน เรียกว่า ปฏิทินจันทรคติ (Lunar Calendar) คือคิดตามวิถีโคจรของดวงจันทร์ ในสมัยปัจจุบันกำหนดปฏิทินตามวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ จึงเรียกว่าปฏิทินตามวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ จึงเรียกว่าปฏิทินสุริยคติ (Solar Calendar)
               ผู้เขียนขอกล่าวใจความสำคัญในเรื่องฤกษ์ยามตามคติทางพระพุทธศาสนาโดยย่อเพื่อเป็นแนวทำความเข้าใจกันดังนี้ :-
                    ๑. ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือฤกษ์ยามเป็นสำคัญแต่ถือคุณงามความดีเป็นสำคัญ ถ้าทำคุณงามความดีในวันเวลาใด วันเวลานั้นก็กลายเป็นฤกษ์งามยามดีไป
                   ๒. ทางพระพุทธศาสนาไม่ ถือว่าฤกษ์งามยามดีเป็นตัวจูงให้เกิดความดีงามหรือความสำเร็จผล แต่ถือว่าตัวคุณงามความดีเป็นตัวจูงให้เกิดความสำเร็จผล รวมทั้งจูงให้เกิดฤกษ์ดีด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงทำคุณงามความดีไว้ แม้จะประสูติวันวิสาขะวันนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร แต่เพราะพระองค์ทรงทำคุณงามความดีไว้ ทุกสิ่งที่เนื่องด้วยพระองค์เช่นวัน เดือนปี ก้อนดินท่อนไม้หรือโลหะที่นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปก็เลยพลอยเป็นของมีค่า ไปด้วย จึงนับได้ว่าคุณงามความดีเป็นตัวจูงสิ่งอื่น ๆ ให้ดีตาม
                   ๓. ในบางครั้งทาง พระพุทธศาสนามีกำหนดกาลเวลาเนื่องด้วยดาวฤกษ์ ก็ไม่ใช่เพราะคิดในเรื่องฤกษ์งามยามดี แต่เป็นการอาศัยดาวฤกษ์เป็นปฏิทินตามวิธีการคำนวณของอินเดียโบราณเท่านั้น วันเดือนปีตามกำหนดนั้น มิได้ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์อะไรขึ้นมาเลย สำคัญที่คนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่างหาก ที่จะทำให้วันเดือนปีพลอยมีความหมายไปด้วย
                 จากข้อสรุป 3 ข้อนี้ เชื่อว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจความตรงไปตรงมาของพระพุทธศาสนามากขึ้น ว่าในศาสนานี้ทำได้สอนแฝงความลึกลับอะไรไว้เลย เป็นเรื่องคิดได้ หาเหตุผลได้ อย่างตรงไปตรงมาทั้งสิ้น และข้อเสนอนี้อาจทำให้ท่านผู้ที่เข้าใจว่า เรื่องกำหนดกาลพระพุทธศาสนาเป็นการติดฤกษ์ยาม ได้โปรดเข้าใจให้ถูกต้องต่อไปด้วย เพื่อพิจารณาว่า แท้จริงพระพุทธเจ้าทรงมุ่งการปฏิบัติมากกว่าการเถียงกันเรื่องวัน เดือน ปีอันเคยมีข้อเถียงกันมาแล้วแม้ในครั้งพุทธกาล
               มีข้อควรกล่าวไว้ ก่อนจะผ่านเรื่องนี้ไปอีกเล็กน้อยก็คือสำหรับท่านที่ยังติดในเรื่องฤกษ์ยาม ท่านอาจรู้สึกว่า เรื่องนี้ออกจะขัดใจท่านอยู่บ้าง ก็ขอได้โปรดเข้าใจด้วยว่า ถ้าท่านยังทิ้งไม่ได้ก็โปรดถือของท่านตามสบายต่อไป เพราะไม่เป็นบาปตกนรกอะไร และไม่ทำให้ท่านเสียหายอะไรเป็นแต่อย่าถือจนเป็นเหตุให้ตัวท่านเอง เดือดร้อน หรือเป็นเหตุเสียการเสียงาน แต่ถ้าท่านจะหัดผ่อนคลายการถือลงทีละเล็กละน้อย และหัดใจให้เข้มแข็งขึ้นถึงกับไม่ถือได้เลยในที่สุด ก็หมายความว่าท่านได้ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์แล้วในเรื่องนี้ ข้อสำคัญให้ถือคุณงามความดีเป็นหลักเกณฑ์เป็นแนวทางปฏิบัติจริง ๆ ก็จะทำให้จิตใจสบายและเป็นทางสร้างความเจริญได้อย่างถูกตรงตามหลักธรรมทาง พระพุทธศาสนา การปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่ามีหลายชั้น พุทธศาสนิกจึงเลือกปฏิบัติได้ตามความสามารถหรือความสะดวกใจ
                 เรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือน้ำมนต์
                เข้าใจว่าเรื่องน้ำมนต์ เป็นเรื่องมีแพร่หลายอยู่ในหลายศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์ คริสต์ศาสนา และพระพุทธศาสนา แต่ในพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่าจุดสำคัญอยู่ที่น้ำมนต์ หากอยู่ที่คุณงามความดี
                การที่ทางพระพุทธศาสนาพลอยมีน้ำมนต์กับเขาไปด้วยนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องโดยตรง แต่เป็นเรื่องโดยอ้อมที่มีเล่าไว้ในหนังสือที่แต่งภายหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ 1,000 ปี คือในชั้นอรรถกถา อธิบายความในรัตนสูตร (อรรถกถาจุททกปาฐะหน้า 173) เล่าเรื่องภัย 3 ประการเกิดขึ้นในกรุงไพศาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ภัย 3 ประการนั้น คือ ทุพภิกขภัย (ภัยเพราะข้าวยากหมากแพง) อมนุสสภัย (ภัยเพราะอมนุษย์หรือปีศาจ) และโรคภัย (ภัยเพราะโรค) โดยเฉพาะที่เกิดในภาษาบาลีว่า อหิวาตกโรค แต่จะเหมือนอหิวาตกโรคในปัจจุบันหรือไม่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ลักษณะที่เล่าไว้รู้สึกว่าเป็นโรคร้ายแรงมาก ตายกันเป็นครัว ๆ และลามไปถึงสัตว์ต่าง ๆ ด้วย คณะกษัตริย์ลิจฉวีจึงส่งคนไปอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จจากแคว้นมคธไปโปรด ยังแคว้นวัชชี เมื่อทรงรับนิมนต์แล้วก็เสด็จผ่านบ้านปาฏลีคามข้ามแม่น้ำคงคาตรงนั้น สู่ฝั่งแคว้นวัชชีเข้าสู่กรุงไพศาลี ในเรื่องเล่าว่าพอเสด็จเข้าเขตวัชชีฝนก็ตกใหญ่ ทำให้โรคระบาดสงบ เมื่อเสด็จเข้าสู่กรุงไพศาลีนครหลวงแล้ว ก็ทรงสอนให้พระอานนท์ท่องจำรัตนสูตร (ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ ฯลฯ) พระอานนท์จำได้แล้วก็เอาบาตรใส่น้ำประพรมไปทั่ว พวกอมนุษย์ก็หนีไป เหตุร้ายต่าง ๆ ก็สงบ
                  จากเรื่องเล่าในอรรถกถานี้ จึงมีการตั้งน้ำมนต์ในเมื่อมีการสวดพระปริตรในบ้านเมือง เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็มีการอาราธนาพระสังฆเถระให้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งแก่คณะบุคคลในบ้าน นั้น และแก่บ้านเรือนเพื่อเป็นสวัสดิมงคล และเพื่อขจัดสิ่งไม่พึงปรารถนาต่าง ๆ ต่อมาก็มีเรื่องเป็นพิเศษส่วนตัวตามความเชื่อถือของบุคคล ใครรู้สึกว่าเหตุการณ์ในชีวิตไม่ราบรื่นหรือมีอะไรไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น เรื่อย ๆ ก็ไปหาพระให้ช่วยรดน้ำมนต์ให้ ทำให้ใจสบายไปได้ไม่น้อย กล่าวกันในทางจิตวิทยารู้สึกว่าจะได้ผลทางจิตใจมาก ถ้าผู้รดน้ำมนต์มีความเชื่อว่า จะเป็นเหตุผ่อนคลายความไม่ดีต่าง ๆ ลงไป
                  ในศาสนาพราหมณ์เขามีความเชื่อในเรื่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เช่น แม่น้ำคงคา ถือกันว่าไหลมาแต่สวรรค์ผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้า ซึ่งช่วยให้กระแสน้ำอ่อนลง มิเช่นนั้นก็จะท่วมโลก เพราะน้ำนั้นไหลผ่านเศียรพระศิวะ จึงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ล้างบาปได้ ทำให้ผู้อาบลอยบาปไปตามกระแสน้ำ หรืออาบแล้วทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ทุก ๆ ปีที่ท่าอาบน้ำเมืองพาราณสีจะมีคนไปอาบน้ำทำพิธีทางศาสนาในแม่น้ำคงคาตอน นั้นนับจำนวนล้าน ๆ คน
                    มีเรื่องเล่าไว้ในวรรณคดีฝ่ายพระพุทธศาสนาว่า แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์นับถือกันนั้น มิใช่มีแต่แม่น้ำคงคาเท่านั้น แม่น้ำอื่น ๆ เช่น ยมุนา สรภู สรัสสตี นินนคา อจิรวตี และมหี (รวมเป็น 7 สาย ทั้งแม่น้ำคงคา)1 บางแห่งก็กล่าวถึงแม่น้ำสายอื่นอีกคือ พาหุกา, คยา, สุนทริกา, สรัสสตี, ปยาคะและพาหุมตี2 (เฉพาะปยาคะดูเหมือนจะไม่ใช่ชื่อแม่น้ำ เป็นชื่อท่าน้ำหรือเมืองท่า แต่ในหนังสือ Geography of Early Buddhism ของ B.C.Law กล่าวไว้ในหน้า 36 ว่า ทั้งปยาคะและคยาเป็นชื่อของแม่น้ำก็มี คือแม่น้ำเนรัญชราตอนที่ผ่านตำบลคยา คล้ายกับแม่น้ำสุพรรณ แม่น้ำนครชัยศรี แม่น้ำท่าจีน ความจริงเป็นลำน้ำสายเดียวกัน ผ่านเมืองไหนก็เลยตั้งชื่อไปตามเมืองนั้น)
                    เมื่อถึงฤดูร้อน พวกพราหมณ์ที่มีทรัพย์ ก็ไปยังบ้านพักร้อนริมฝั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสาธยายมนต์ และอาบน้ำดำหัววันละ 3 เวลา ทางพระพุทธศาสนา ไม่สอนให้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ดังจะเห็นได้ในตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบสุนทริกะภารทวาชพราหมณ์ว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ! ท่านจงอาบน้ำในธรรมวินัยนี้จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งหลาย ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ มีความเชื่อ (ตามเหตุผล), ไม่ตระหนี่, ท่านจะไปแม่น้ำคยาทำอะไร, แม้น้ำดื่มของท่านก็เป็นแม่น้ำคยาแล้ว” (สุตันตตปิฏก เล่ม 12 หน้า 70)
                  “ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ ซึ่งคนส่วนมากพากันอาบ ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดเป็นพราหมณ์ (ไม่ใช่พราหมณ์เพราะสืบสกุล)” : (พุทธอุทาน พระสุตันตปิฏก เล่ม 25 หน้า 81)
                   “ถ้าบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการรดน้ำ (ศักดิ์สิทธิ์) แล้ว กบ, เต่า, งู, จระเข้ และสัตว์น้ำทั้งปวงก็จักไปสวรรค์ได้เป็นแน่” (ปุณณิกาเถรีภาษิต พระสุตตันตปิฏก เล่ม 26 หน้า 475)
                   จากหลักพระพุทธศาสนาดังกล่าวมานี้ แสดงว่า พระพุทธศาสนาไม่ยอมยกความสำคัญให้แก่น้ำภายนอกไม่ว่าจะเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในแม่น้ำไหน หากถือการประพฤติปฏิบัติทางศีลธรรมว่าเป็นแม่น้ำที่อาบโดยไม่เปียกตัวเป็น การยืนยันอย่างหนักแน่น ให้คนถือเอาคุณงามความดีจูงสิ่งอื่น ๆ ไม่ใช่เอาแม่น้ำที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเครื่องจูงคุณงามความดี เป็นการสอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริงและสอนตรงไปตรงมา
                   เมื่อหลักพระพุทธศาสนาเป็นเช่นนี้ เรื่องการใช้น้ำมนต์ในพระพุทธศาสนาที่ถือกันอยู่ทุกวันนี้จะว่าอย่างไร ? ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่า หลักฐานเรื่องน้ำมนต์ทางพระพุทธศาสนาสืบค้นได้ว่าปรากฏในหนังสือชั้นอรรถกถา ที่แต่งภายหลังพระพุทธปรินิพพานประมาณพันปี ในพระไตรปิฏกแท้ ๆ ไม่มีสอนให้ใช้น้ำมนต์ หรือทำน้ำมนต์ในที่ไหนเลย ผู้ถือเรื่องน้ำมนต์อาจสบายใจได้อย่างหนึ่งก็คือ เราดัดแปลงให้เป็นแบบพุทธได้ก็ดีแล้ว คือแทนที่จะลงอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แบบพราหมณ์ เราอาน้ำมาใส่บาตรหรือใส่หม้อน้ำมนต์ อาราธนาพระเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเรานับถือว่าศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้
                   อย่างไรก็ตามเมื่อ พูดกันโดยเคร่งครัดตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว น้ำมนต์ไม่สามารถทำคนชั่วให้ดีหรือทำคนดีให้ชั่วได้ จะช่วยได้ก็ในทางจิตใจ ให้สบายขึ้นโปร่งใจขึ้นอันเป็นผลทางจิตวิทยา
                   คราวนี้มีปัญหาว่าคนที่นับถือพระพุทธศาสนานั้นมีความรู้ความเข้าใจหลายชั้น คนทั่วไปย่อมนับถือด้วยต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งอำนวยความสามัคคี ช่วยบำบัดทุกข์ภัยต่าง ๆ จะให้เคร่งครัดตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นขั้น ๆ คือ จากเปลือกนอกเข้าไปหาแก่น เพราะฉะนั้น ระบบจูงคนด้วยน้ำมนต์จึงไม่น่าเสียหายอะไร หากจะยกตัวอย่างต่อไปอีก คนที่เจริญเติบโตแล้วกินอาหารแข็งได้ เช่น ข้าวสุกเนื้อสัตว์เป็นชิ้น ๆ มีฟันบดเคี้ยวให้แหลกได้ แต่เด็กเกิดใหม่ยังไม่มีฟันจะให้กินข้าวแบบผู้ใหญ่ก็คงเกิดโทษถึงตายเป็นแท้ การสอนศาสนาก็เช่นเดียวกัน จะพรวดพราดให้ขึ้นชั้นสูงทีเดียว ขึงเส้นตึงไว้เลยไม่ยอมผ่อนก็น่าจะมีโทษมากกว่ามีคุณเรื่องน้ำมนต์ก็น่าจะ เป็นแบบนั้นในเมื่อคนยังไม่ซาบซึ้งหลักกรรมดีพอ ยังไม่เข้าใจหลักพระพุทธศาสนาชั้นสูงแจ่มแจ้งพอ จะปฏิเสธเสียทีเดียวก็จะทำให้คนเข้าไม่ติด ข้อชี้แจงนี้เป็นการช่วยให้ฝ่ายใช้น้ำมนต์สบายใจขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่าการศึกษาพระพุทธศาสนานั้นไม่ควรติดอยู่แค่น้ำมนต์ หรือชั้น ก. ข. เท่านั้น เราควรจะรู้ความจริงกันให้ถี่ถ้วน เมื่อเข้าใจตลอดสายแล้วจะได้เป็นตัวของตัวเองในการนับถือพระพุทธศาสนา ไม่มีน้ำมนต์รดก็ไม่เดือดร้อน
                        ผู้เขียนขอกล่าวถึงเรื่องจริงใจงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่สนามหลวง ได้มีเสียง 2 ฝ่าย คือ ควรวงสายสิญจน์ และตั้งน้ำมนต์เพราะพระสวดมนต์ กับอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรเพราะงานนี้เป็นงานใหญ่ เป็นการแสดงหลักพระพุทธศาสนาให้นานาประเทศได้รู้เห็นเรื่องที่เคยเป็นขนบ ธรรมเนียม ถ้าจะมีควรจะมีส่วนเอกชน ไม่ใช่ส่วนรวมซึ่งจะจารึกลงในประวัติศาสตร์ และชาวพุทธในประเทศอื่น ๆ อาจนำไปเขียนวิจารณ์ในทางไม่เป็นสิริมงคลแก่ประเทศไทยได้ ทั้งสองฝ่ายไม่อาจตกลงกันได้ จึงต้องส่งเรื่องให้พระคุณเจ้าสมเด็จพระวันรัตสังฆนายก วัดเบญจมบพิตร(ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ. 2503 สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2505) เป็นผู้ตัดสิน ท่านได้ชี้ขาดให้งดการวงสายสิญจน์และตั้งบาตรน้ำมนต์ จึงเป็นอันตกลงตามนั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการประกาศ ความเติบโตทางจิตใจของชาวพุทธไทยว่าถึง 2,500 ปีแล้ว อย่าติดอยู่แค่ ก. ข. กันโดยไม่ยอมขึ้นชั้นอื่นบ้างเลย ผู้เขียนขอบันทึกสดุดีพระคุณเจ้าสมเด็จสังฆนายกไว้ในที่นี้ด้วยคารวะอย่าง สูง ที่ได้ช่วยให้เรากล้าศึกษาความจริงทางพระพุทธศาสนากันให้สูงขึ้น ไม่ติดอยู่เพียงวัตถุภายนอก ทั้งยังช่วยประกาศคุณแห่งพระพุทธศาสนาที่สอนอย่างตรงไปตรงมาโดยถือเหตุผล เป็นประมาณ
                   อย่างไรก็ตามสำหรับท่านที่ยังมีความเลื่อมใสในน้ำมนต์อยู่ หนังสือนี้ไม่คัดค้านท่าน ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อท่าน โปรดนับถือน้ำมนต์ของท่านต่อไปตามสบายใจ เพราะอย่างน้อยนอกจากจะทำให้ท่านสบายใจแล้ว ก็ยังทำใจของท่านให้ใกล้ชิดกับพระรัตนตรัยโดยอาศัยวัตถุ คือ น้ำเป็นสื่อกลางได้ทางหนึ่ง ข้อสำคัญขอให้ท่านพยายามถือเอาหลักใหญ่เข้ามาร่วมด้วย นั้นก็คือพยายามทำคุณงามความดีด้วย อย่าคิดเพียงจะนั่งนอนอยู่เฉย ๆ ให้น้ำมนต์ดลบันดาลอะไรต่ออะไรให้ท่านดีขึ้นมาเอง ความดีก็ทำ น้ำมนต์ก็ใช้ ท่านก็มีหวังได้ประสบผลดีอันเนื่องมาจากการจูงของคุณงามความดีได้ แต่ก็อย่าถึงกับเดือดร้อนถ้าบางโอกาสหาน้ำมนต์รดไม่ได้
                     อนึ่ง ผู้เขียนขอซ้อมความเข้าใจไว้ด้วยว่า หนังสือนี้ไม่สนับสนุนให้ยกตนข่มผู้อื่นเพียงเพราะเขาเลื่อมใสในน้ำมนต์ คนบางคนอาจมีความประพฤติดีมีนิสัยใจคอดีกว่าคนที่ดีแต่ยกหลักชั้นสูงขึ้นมา อ้างสำหรับข่มคนอื่น แล้วตนเองไม่ทำคุณงามความดีอะไร คอยแต่จะจับผิดผู้อื่นเพื่อยกตนว่ามีความรู้ชั้นสูง อย่างนี้ยังมิใช่ทางที่ควรดำเนิน แท้จริงเราควรเห็นอกเห็นใจกันในระหว่างพุทธศาสนิกชนทุกประเภท อย่าดูหมิ่นเหยียดหยามกันใครปฏิบัติได้แค่ไหนก็ควรช่วยกันส่งเสริมให้ ปฏิบัติได้สูงขึ้น ๆ อย่าเสียเวลาในการทะเลาะกันเอง หรือยกตนข่มผู้อื่นเลย ดังนี้หลักพระพุทธศาสนาทุกชั้นจะไม่เป็นพิษแก่ใคร ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น