วิธีเจริญสมาธิอย่างมีแบบแผน
• พระธรรมปิฎก (2543 : 849-850) กล่าวว่า “...การ เจริญสมาธิอย่างมีแบบแผน หมายถึง วิธีฝึกอบรมเจริญสมาธิอย่างที่ได้ปฏิบัติสืบๆกันมา ในประเพณีการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ตามที่มีการอธิบายไว้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา เป็นวิธีการที่ถือปฏิบัติกันอย่างเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการ โดยมุ่งฝึกจำเพาะแต่ตัวสมาธิแท้ๆ ภายในขอบเขตที่เป็นระดับโลกียะทั้งหมดซึ่งกำหนดวางกันไว้เป็นรูปแบบ มีขั้นตอนที่ดำเนินไปตามลำดับ ดังนี้...”
1. รักษาตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ดี หรือชำระศีลให้หมดจด เพื่อให้เกิดความสงบทางกายและวาจาเป็นเบื้องต้น
2 . ตัดปลิโพธ คือเครื่องผูกพัน หน่วงเหนี่ยวให้เป็นห่วงกังวล 10 อย่าง ได้แก่
1) บ้าน ที่อยู่อาศัย
2) ลูก หลาน ญาติ ตระกูล
3) ลาภ ยศ ทรัพย์สมบัติ
4) บุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์นอกเหนือจากตระกูลญาติ
5) ภาระงานในหน้าที่ที่ต้องทำสม่ำเสมอ (กรรม)
6) ภาระงานที่ต้องติดต่อประสาน
7) ญาติ บุคคลใกล้ชิด บุคคลที่รู้จัก เจ็บป่วย
8) ตนเองเจ็บป่วย
9) ความรู้มาก วุ่นอยู่กับเรื่องที่รู้ จนเป็นกังวล (คันถะ)
10) อิทธิ คือฤทธิ์ของปุถุชน เป็นภาระในการรักษา แต่เป็นปลิโพธสำหรับผู้บำเพ็ญวิปัสสนาเท่านั้น ไม่เป็นปลิโพธแก่การเจริญสมาธิโดยเฉพาะ เพราะผู้ที่เจริญสมาธิยังไม่มีฤทธิ์ที่จะห่วง
3. เมื่อตัดปลิโพธได้แล้ว ไม่มีอะไรติดข้องค้างใจ พึงไปหาท่านที่สามารถสอนกรรมฐานให้แก่ตนได้ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดีงาม ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นอย่างแท้จริง เรียกว่า กัลยาณมิตรคือผู้ประกอบด้วยกัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ คือ น่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักว่ารู้จักพูด ยอมให้พูด ยอมให้ว่า แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ และไม่ชักนำไปในเรื่องที่ผิดวินัย ศีล และ ธรรม กัลยาณมิตรนั้นถ้าให้ดีควรได้พระพุทธเจ้า รองลงมาคือพระอรหันต์ ซึ่งหมายถึงพระสงฆ์สาวกที่สามารถตัดกิเลส ตัณหา ได้โดยสิ้นเชิง ถ้าหาไม่ได้ก็หาพระอริยบุคคลที่มีกิเลส ตัณหาน้อยที่สุด หรือปุถุชนที่เป็นพหูสูต ศึกษาเรียนรู้พระไตรปิฎกมามาก เพราะปุถุชนที่เป็นพหูสูตบางทีสอนได้ดีกว่าพระอรหันต์ที่ไม่เป็นพหูสูตเสีย อีก เพราะพระอรหันต์ถนัดแต่แนวปฏิบัติที่ท่านผ่านมาเองเท่านั้น บอกทางไปได้พอจำเพาะตัว และบางองค์ก็ไม่ถนัดเชิงสอนอีกด้วย ส่วนพหูสูตได้ค้นคว้ามาก สอบสวนมาหลายอาจารย์ แสดงทางไปให้เห็นกว้างขวาง และรู้จักกลวิธี ยิ่งได้พระอรหันต์ที่เป็นพระหูสูตก็ยิ่งดี เมื่อหากัลยาณมิตรได้แล้วพึงเข้าไปหา ทำวัตรปฏิบัติต่อท่านแล้วขอโอกาสเรียนกรรมฐานจากท่าน
4. เลือกกรรมฐานที่เหมาะกับจริยาของตน โดยกรรมฐานทั้ง 40 อย่าง แตกต่างกันโดยความเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัย หรือ จริยาของแต่ละบุคคล ถ้าเลือกได้เหมาะกัน ก็ปฏิบัติได้ผลดีและรวดเร็ว ถ้าเลือกผิด อาจทำให้ปฏิบัติได้ล่าช้าหรือไม่สำเร็จผล “จริยา” แปลว่า ความประพฤติปกติ หมายถึงพื้นเพของจิต พื้นนิสัย ลักษณะความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่งตามสภาพจิตที่เป็นปกติของบุคคลนั้นๆ
พระธรรมปิฎก (2543 : 853) กล่าวว่า “...ตัวความประพฤติหรือลักษณะนิสัยนั้น เรียกว่า จริยา บุคคลผู้มีลักษณะนิสัยและความประพฤติอย่างนั้นๆ เรียกว่า จริต ซึ่งจริตแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 6 จริต ได้แก่...”
1) ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยหนักไปทางราคะ ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม ละมุนละไม ควรใช้กรรมฐานคู่ปรับคือ อสุภะ (และกายคตาสติ)
2) โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยหนักไปทางโทสะ ประพฤติหนักไปทางใจร้อน หงุดหงิดรุนแรง กรรมฐานที่เหมาะคือ เมตตา (รวมถึงพรหมวิหารข้ออื่นๆ และกสิณ โดยเฉพาะวรรณกสิณ)
3)โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยไปทางโมหะ ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึม ใครว่าอะไร อย่างไรก็คอยเห็นคล้อยตามไป พึงแก้ด้วยมีการเรียน ไต่ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาล หรืออยู่กับครู (กรรมฐานที่เกื้อกูลคือ อานาปานสติ)
4) สัทธาจริต ผู้ มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยมากด้วยศรัทธา ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจ เลื่อมใสโดยง่าย พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรแก่ความเลื่อมใส และ ความเชื่อที่มีเหตุผล เช่นระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย และ ศีลของตน (อนุสสติ 6 ข้อแรกใช้ได้ทั้งหมด)
5) พุทธิจริต หรือญาณจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยความประพฤติหนักไปทางใช้ความคิดพิจารณา และมองไปตามความจริง พึงส่งเสริมให้ใช้ความคิดพิจารณาสภาวธรรม และสิ่งดีงามที่ให้เจริญปัญญา เช่นพิจารณาไตรลักษณ์ (กรรมฐานที่เหมาะคือ มรณสติ
อุปสมานุสติ จตุธาตุวัฏฐาน และ อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)
6) วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยความประพฤติหนักไปทางชอบครุ่นคิดวกวน นึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน พึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ (หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น)
• พระธรรมปิฎก (2543 : 854) กล่าวว่า “...อาการแสดงออกต่างๆกันในทางความประพฤติของจริตเหล่านี้ เช่น เมื่อพบเห็นสิ่งของสักอย่างถ้ามีอะไรเป็นส่วนดีอยู่บ้าง ใจของคนราคจริต จะไปจับอยู่ที่ส่วนที่ดี ที่สวย ที่งาม ติดใจอยู่ที่ความสวยความงาม ส่วนคนโทสจริต แม้ของนั้นจะมีส่วนดีอยู่หลายอย่าง แต่ถ้ามีส่วนเสียหรือข้อบกพร่องอยู่สักหน่อย ใจของเขาจะกระทบเข้ากับส่วนที่เสียนั้นก่อน ไม่ทันได้พิจารณาเห็นส่วนดีก็จะไปเสียเลย คนพุทธิจริต คล้ายคนโทสจริตอยู่บ้าง ที่มองเห็นส่วนเสีย แต่ต่างกันที่ว่าคนโทสจริต มองหาส่วนเสีย หรือ มองให้เสียทั้งที่ไม่เป็นอย่างนั้นจริง และผละไปอย่างหงุดหงิดขัดใจ หรือใครว่าดีก็ดีด้วย ว่าไม่ดีก็ไม่ดีด้วย ส่วนคนพุทธิจริตมองหาส่วนเสียข้อบกพร่องที่เป็นจริงและผ่านไปโดยไม่ติดข้องขัดใจ ส่วนคนวิตกจริต จะคิดวกวน จับจด นึกถึงสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตัดสินไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี และคนสัทธาจริต จะคล้ายราคจริต คือมองเห็นแต่ส่วนดี ต่างกันที่ คนสัทธาจริตเห็นแล้วก็ซาบซึ้งใจเรื่อยไป อย่างไรก็ตาม คนมักมีจริตผสม เช่นราคะผสมวิตก โทสะผสมพุทธิ เป็นต้น ในการปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิ นอกจากเลือกกรรมฐานให้เหมาะกับจริตแล้ว แม้แต่สถานที่อยู่อาศัย บรรยากาศ หนทาง ของใช้ อาหาร เป็นต้น ก็ต้องเลือกสิ่งที่เป็นสัปปายะ คือเกื้อกูลเหมาะกันด้วย...”
“...กรรมฐาน 40 นั้น นอกจากเหมาะกับจริตที่ต่างกันแล้ว ยังต่างกันโดยผลสำเร็จที่สามารถให้เกิดขึ้นสูงต่ำ มากน้อยกว่ากันด้วย คือมีขอบเขตในการให้เกิดสมาธิระดับต่างๆไม่เท่ากัน...”
5. เมื่อ เลือกกรรมฐานที่คิดว่าเหมาะกับจริตตนแล้ว หากัลยณมิตรได้แล้ว ก็พึงรับกรรมฐานโดยมีกัลยาณมิตร เป็นพยาน โดยมีคำกล่าวอย่างเป็นพิธีการคือ “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอสละอัตภาพนี้แด่พระองค์” คำบาลีว่า “อิมาหํ ภควา อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ” แปลว่าขอถวายชีวิตก็ได้ ฝ่ายกัลยาณมิตร หรือพระอาจารย์ ก็จะสอบถามลักษณะอาการความนึกคิดและ จริตจริยาว่าอาการความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร จะนึกพิจารณาอะไรแล้วสบาย ใจน้อมไปในกรรมฐานใด เป็นต้น เมื่อทราบกรรมฐานที่ต้องการปฏิบัติและได้กรรมฐานที่เหมาะกับจริยาแล้ว พระอาจารย์ก็จะชี้แจงให้รู้ว่าจะเริ่มต้นปฏิบัติอย่างไร วิธีกำหนดจิต และฝึกอบรมทำอย่างไร นิมิตเป็นอย่างไร สมาธิมีขั้นตอนอย่างไร วิธีรักษาสมาธิ เลี้ยงสมาธิ และทำสมาธิให้มีกำลังมากขึ้นทำอย่างไร เป็นต้น
6. หาสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อทำการปริยัติ คือศึกษาทฤษฎีจากกัลยาณมิตร หรือพระอาจารย์ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาสถานที่ที่จะฝึกภาคปฏิบัติ โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นวัด และเป็นวัดเดียวกับพระอาจารย์ เพื่อความสะดวกในการสอบถามพระอาจารย์ หากเกิดอุปสรรคขัดข้อง แต่ถ้าไม่ผาสุก ก็พึงไปหาวัดที่เป็นสัปปายะ หรือสถานที่ที่เหมาะเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ซึ่งสถานที่หรือวัดที่เป็นสัปปายะมีลักษณะ ดังนี้
1) ไม่ใกล้ ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก ไปมาสะดวก
2) กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนไม่อึกทึก
3) ปราศจากการรบกวนของเหลือบยุง ลมแดด สัตว์เลื้อยคลาน
4) ไม่ขัดสนปัจจัย 4
5) มีพระเถระ หรือพระอาจารย์ ที่เป็นกัลยาณมิตรและเป็นพหูสูต ซึ่งสามารถเข้าไปสอบถามข้ออรรถ ข้อธรรมให้ท่านช่วยอธิบายแก้ความสงสัยได้
7 .ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ พระธรรมปิฎก (2543 : 857) กล่าวว่า “...กรรมฐาน แต่ละประเภทมีรายละเอียด วิธีเจริญสมาธิแตกต่างกันไป แต่กระนั้น ก็พอสรุปเป็นหลักการทั่วไปกว้างๆ ดังที่บางคัมภีร์แสดงไว้โดยจัดเป็นภาวนา คือการเจริญหรือการฝึก 3 ขั้น...แต่ก่อนจะกล่าวถึงภาวนา 3 ขั้น มีคำที่ควรทำความเข้าใจคำหนึ่ง คือ นิมิต...”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ