จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เบิกเนตร:กฐินปัจจุบันมีกี่อย่าง กฐินหลวงคืออะไร

 




พระกฐินหลวง 

เป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น พุทธมามกะและเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ รวมทั้งพระกฐินที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ราชสกุล องคมนตรี หรือผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้เสด็จฯ แทนพระองค์นำไปถวายยังพระอารามหลวงสำคัญ ๑๖ พระอาราม ที่สงวนไว้ไม่ให้มีการขอพระราชทาน คือ

๑. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

๒. วัดอรุณราชวราราม

๓. วัดราชโอรสาราม

๔. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

๕. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

๖. วัดบวรนิเวศวิหาร

๗. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

๘. วัดสุทัศนเทพวราราม

๙. วัดราชาธิวาส

๑๐. วัดมกุฏกษัตริยาราม

๑๑. วัดเทพศิรินทราวาส

๑๒. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

๑๓. วัดพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

๑๔. วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๑๕. วัดสุวรรณดาราราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก  จังหวัดพิษณุโลก

 

กฐินต้น

เกิดขึ้นจากการที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน วัดที่ไม่ได้เป็นวัดหลวง และไม่ได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์เอง

 

พระกฐินพระราชทาน 

เป็นกฐินที่มี ผ้าพระกฐิน บริขาร และบริวารกฐิน เป็นของหลวง แต่เปิดโอกาสให้ส่วนราชการ องค์กร  หรือบุคคลที่สมควร  ขอรับพระราชทานอัญเชิญไปถวายยังพระอารามหลวงต่างๆ รัฐบาลโดยกรมการศาสนาเป็นผู้จัดหาผ้าพระกฐิน และบริวารพระกฐิน (ปัจจุบันมีจำนวน 265 พระอาราม มีรายชื่อตามบัญชีพระอารามหลวง) ซึ่งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สมาคม บริษัทห้างร้าน และบุคคลทั่วไป จะต้องยื่นความจำนงขอพระราชทานผ่านไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และเมื่อถึงกำหนดกฐินกาลก็ติดต่อขอรับ ผ้าพระกฐินและบริวารพระกฐินจาก กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา  เพื่อนำไปทอดกฐิน  ณ พระอารามที่ขอรับพระราชทานไว้ เมื่อทอดถวายเรียบร้อยแล้วผู้ขอรับพระราชทานจะต้องจัดทำบัญชีรายงานถวายพระราชกุศลในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน  ส่งไปยัง กรมการศาสนา  เพื่อจะได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐิน ส่งไปยัง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายพระราชกุศลในการที่หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลทั่วไป อัญเชิญผ้าพระกฐินไปถวาย  ณ  อารามนั้น

 

กฐินทั่วไป หรือ “กฐินราษฎร์”

ในปัจจุบัน การถวายผ้ากฐินโดยทั่วไปในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับ “บริวารกฐิน” มากกว่าผ้ากฐินซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกรานกฐิน

กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฎรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความสำคัญกับการรวบรวม (เรี่ยไร) เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย


#กฐินหลวง

#รักในหลวง

#รักประเทศไทย

#เราภาคภูมิใจเมืองไทยนี้ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น