จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การฝึกอบรมตนเอง ตามพุทธศาสนา

การฝึกหัดอบรมตน ทางพุทธศาสนา



การฝึกอบรมตน หมายถึง การฝึกตนเองให้กระทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ซึ่งถือว่าเป็นผู้พัฒนาตนเอง ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยรวม โดยอาศัยหลักของไตรสิกขาดังนี้
1. ศีล เป็นการฝึกการควบคุมพฤติกรรมทางกาย และวาจา เครื่องมือที่ใช้ฝึกศีลคือ วินัย เพราะวินัยเป็นตัวการจัดเตรียมชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนา โดยการจัดระเบียบความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม
2. สมาธิ เป็นการฝึกในด้านจิต ได้แก่การพัฒนาจิตทั้งในด้านคุณธรรม เช่น มีความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง มีความเพียรพยายาม มีความรับผิดชอบ มีความอดทนอดกลั้น มีความข่มใจ เป็นต้น และมีสุขภาพจิตที่ดีมีความสุข เช่น มีความอิ่มเอมใจ มีความร่าเริงเบิกบานใจ มีความสดชื่นผ่องใส มีความรู้สึกพึงพอใจ เป็นต้น
3. ปัญญา เป็นการฝึกพัฒนาด้านความรู้ความเข้าใจ ความรู้ที่มีเหตุผล รู้จักการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ตลอดจนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เป็นต้น


การพึ่งตนเอง
การพึ่งตนเอง หมายถึง การทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนได้ พร้อมที่จะรับผิดชอบตนเอง ไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาหรือเป็นภาระให้กับบุคคลอื่น การพึ่งตนเองโดยไม่คอยแต่พึ่งบุคคลอื่น หรือการคอยอ้อนวอนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือตนเอง เวลาที่เกิดความลำบาก หรือความทุกข์ใจ เป็นต้น การประพฤติธรรมสำหรับสร้างที่พึ่งแก่ตนเอง มี 10 ประการคือ
1. ประพฤติดีมีวินัย คือ ดำเนินชีวิตโดยสุจริต ทั้งทางกาย ทางวาจา มีวินัย และประกอบอาชีพสุจรติ (สัมมาชีพ)
2. ได้ศึกษาสดับตรับฟังมาก คือศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟังมาก โดยศึกษาวิชาการให้มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริง มีความรู้แจ้งชัดเจน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในดำเนินชีวิตได้
3. รู้จักคบคนดี คือ มีกัลยาณมิตร รู้จักเลือกคบหาสมาคมกับคนที่ดี เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นผู้แนะนำสั่งสอนเราไปในทางที่ดี เลือกสร้างความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องในสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ซึ่งจะทำให้มีชีวิตที่เจริญงอกงาม
4. เป็นคนที่พูดกันง่าย คือไม่ดื้อรั้น เป็นคนกระด้างกระเดื่อง รู้จักรับฟังเหตุผล ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น และยอมรับข้อเสนอแนะพร้อมที่จะปรับปรุงตนเอง
5. ขวนขวายกิจของหมู่ คือเอาใจใส่ช่วยเหลือธุระหรือกิจการงานของหมู่คณะ ญาติ เพื่อนฝูง และภายในชุมชนของตนเอง รู้ใจใช้ปัญญาไตร่ตรองหาวิธีดำเนินงานที่เหมาะสม สามารถดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
6. เป็นผู้ใฝ่ในธรรม คือ ศึกษาธรรม หรือชอบศึกษาหาความรู้ รู้จักพูด รู้จักฟัง สร้างความรู้สึกสนิทสนม ทำตัวเป็นที่รักใคร่ของบุคคลอื่น และชวนให้ผู้อื่นอยากเข้ามาปรึกษาและร่วมสนทนาด้วย
7. มีความขยันหมั่นเพียร คือ มีความมุมานะบากบั่น ขยันเรียนขยันทำกิจการงาน ไม่ย่อท้อ รักความก้าวหน้า พยายามหลีกเลี่ยงจากความชั่ว ประกอบแต่ความดีงาม เป็นต้น
8. มีความพอดี คือ มีความยินดี มีความพึงพอใจในสิ่งที่ควรได้และไม่ควรได้ รู้จักความพอดีไม่ละโมบโลภมาก
9. มีสติมั่นคง คือ รู้สึกตนเองอยู่ตลอดเวลา ระลึกอยู่เสมอในสิ่งที่กระทำ สิ่งที่คิด มีความสุขุมรอบคอบ ไม่ประมาทเลินเล่อ ไม่เลื่อนลอย เป็นต้น
10. มีปัญญาอยู่เหนืออารมณ์ คือ มีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้คุณรู้โทษ รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และมีความคิดวิจารณญาณ

การพึ่งตนเองตามหลักพุทธศาสนสุภาษิตคือ อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถแปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายความว่า คนเราในระยะแรก ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เช่น บุตรต้องอาศัยบิดามารดาเป็นผู้เลี้ยงดูตั้งแต่เล็กจนโต ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ศึกษาหาความรู้ แต่เมื่อเราเติบโตมีวิชาหาเลี้ยงชีพได้แล้ว เราจะต้องพึ่งตนเองในการทำมาหากิน ในการสร้างฐานะ และในการเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้เพื่อจับจ่ายใช้สอยในยามแก่เฒ่า นอกจากจะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนแล้ว เราก็จะต้องให้ผู้มีพระคุณมีบิดามารดาเป็นต้น เหล่านั้นพึ่งเราได้ในสิ่งที่ท่านต้องการจะพึ่ง

คนที่บิดามารดาเลี้ยงจนโตแล้ว ส่งเสียให้เรียนจนมีวิชาความรู้แล้ว ยังอาศัยแรงงานของบิดามารดาเลี้ยงชีวิตต่อไป จัดเป็นบุคคลที่เปล่าประโยชน์ นอกจากเป็นที่พึ่งแก่ตนเองไม่ได้แล้วยังทำตนให้เป็นภาระแก่ผู้อื่นด้วย ดังนั้น บุคคลผู้มีปัญญาพึงรีบสร้างฐานะเพื่อเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น