จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประวัติบุคคลสำคัญในพระพุทธศาสนา พุทธทาสภิกขุ และ วิดิโอ ประวัติ ๑๐๐ ปีชาตกาลพุทธทาส ของบล็อกท่องเที่ยวใต้





สารคดีวิดิโอ ประวัติ ๑๐๐ ปีชาตกาลพุทธทาส






ท่านพุทธทาสภิกขุ ช่วงหนึ่งของยุคมีอิทธิพลต่อปัญญาชนอย่างมาก
 
พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ (เนื้อหามีเพียงบางส่วน จะดูเต็มไปเปิดดู พุทธทาส วิกิพิเดีย)

(27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536) เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี
ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด ตลอดเวลาที่ดำรงสมณเพศ ท่านพุทธทาสภิกขุตั้งใจศึกษาพระปริยัติอย่างแน่วแน่ พร้อมตั้งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และวัตรเหล่านี้เองที่ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกิจทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระอย่างยากยิ่งที่จะหาพระภิกษุรูปใดเสมอเหมือน

ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสวนโมกขพลาราม เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีปรากฏอยู่มากมายทั้งในรูปพระธรรมเทศนา และในรูปงานเขียน โดยท่านพุทธทาสภิกขุตั้งใจทำการถ่ายทอดพระพุทธศาสนาให้อยู่ในฐานะที่เป็น พุทธะ ศาสนา อย่างแท้จริง นั่นคือเป็นศาสนาแห่งความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ไม่เจือปนไปด้วยความหลงผิดที่เข้าแทรกมากมายจนกลายเป็นเนื้อร้ายที่คอยกัดกิน ทั้งเรื่องพุทธพาณิชย์ เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องลัทธิพราหมณ์ เรื่องความยึดมั่นถือมั่นในบุญบาป เรื่องความหลงใหลในยศลาภของพระสงฆ์ และเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย ท่านพุทธทาสภิกขุมุ่งชี้ให้ชาวพุทธทั้งหลายเห็นถึงมิจฉาทิฐิและสีลัพพตปรามาสเหล่านี้เสมอมา ทำให้หลายคนขนานนามท่านพุทธทาสภิกขุว่าเป็น พระผู้ปฏิรูป แต่แท้จริงแล้ว คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปกว่าความจริงอันสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเลย เพียงแต่ระยะเวลาอันยาวนานได้ทำให้ความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าเปลี่ยนแปรหรือถูกเบี่ยงเบนไป ท่านพุทธทาสภิกขุจึงทำหน้าที่เสมือนผู้กลั่นให้พระพุทธศาสนากลับมาบริสุทธิ์อีกครั้ง

คำสอนจำนวนมากจากท่านพุทธทาสภิกขุเป็นธรรมะระดับโลกุตระ อันมีนิโรธเป็นรส และมีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นธรรมะขั้นสูง และไม่เหมาะกับฆราวาสผู้ยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนแห่งโลกียะ แต่ท่านพุทธทาสภิกขุตระหนักว่าธรรมะเหล่านี้คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และพุทธมามกะไม่ว่าจะระดับชั้นใดก็ควรจะได้รับรู้ ได้รับปฏิบัติ และได้รับผลจากธรรมะเหล่านี้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้ถ่ายทอดให้อยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจ โดยยังคงเนื้อหาสำคัญไว้ได้อย่างครบถ้วน คำสอนทั้งหลายของท่านพุทธทาสภิกขุ แท้จริงแล้วก็คือการสกัดพระสูตรให้ออกมาเป็นภาษาพูด และพระอภิธรรมให้ออกมาเป็นภาษาชาวบ้านนั่นเอง โดยข้อธรรมที่ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นย้ำมากที่สุดคือเรื่องสุญญตา จนทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาหลายคนเรียกท่านว่า นักรบเพื่อความว่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุยังรวมไปถึงเรื่องพื้นฐาน เช่น เรื่องการทำงาน และเรื่องการศึกษา ซึ่งคนทั่วไปสามารถนำธรรมะเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที

นอกจากพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังมีใจเปิดกว้างทำการศึกษาคำสอนของต่างศาสนาและต่างนิกาย ด้วยความคิดว่าศาสนาทั้งหลายล้วนมุ่งหมายในสิ่งเดียวกัน ในสมัยที่ท่านพุทธทาสภิกขุจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกขพลาราม นอกจากสาธุชนคนไทยผู้สนใจในธรรมะทั้งหลายจะแวะเวียนมาสนทนา และฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านพุทธทาสภิกขุอย่างไม่ขาดสายแล้ว ยังมีชาวต่างชาติผู้ต้องการเรียนรู้พระพุทธศาสนา นักศึกษาและอาจารย์ทางด้านศาสนศาสตร์จากต่างประเทศ รวมถึงประมุขของศาสนจักรต่างๆ แวะเวียนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดเห็น รวมทั้งสนทนาธรรมกับท่านเป็นอันมาก ทำให้สวนโมกขพลารามเปรียบเสมือนตักศิลาสำหรับผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทำให้วงการพระพุทธศาสนากลับมาตื่นตัวอีกครั้ง


กำเนิดนามพุทธทาส
เนื่องจากท่านพุทธทาสภิกขุพบว่าตำราธรรมะภาษาไทยนั้นยังอธิบายไว้ไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจริงๆ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเริ่มเขียนหนังสือ ตามรอยพระอรหันต์ โดยมุ่งหวังเพื่อให้เป็นแผนที่สำหรับการเดินทางไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ อันเป็นอุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งคำประณมพจน์และคำประกาศใช้นาม พุทธทาส ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือตามรอยพระอรหันต์นี้ ว่า

พุทฺธสฺสาหํ นิยฺยาเทมิ สรีรญฺชีวิตญฺจิทํ พุทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโส ว พุทฺโธ เม สามิกิสฺสโร - อิติ พุทฺธทาโส
ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส
ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงที่มาของนามพุทธทาสไว้ดังนี้

เราเกิดความรู้สึกที่จะรับใช้พระพุทธศาสนาขึ้นมา โดยที่เราเริ่มเข้าใจพระพุทธเจ้าและเริ่มเข้าใจพุทธศาสนา ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์ แต่แล้วมันก็ไม่ค่อยจะได้รู้จักกัน ฉะนั้นจึงอุทิศตั้งจิตว่า เราจะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา อย่างกับว่ารับใช้พระพุทธองค็ให้สมกับหน้าที่ของพระสาวก ทีนี้ทุกเย็นไม่ว่าวัดไหนเขาก็สวดทำวัตรเย็น ในบททำวัตรเย็นมันก็มีคำชัดเลยว่า "ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้แด่พระพุทธเจ้า" มันก็ยิ่งเข้ารูปกันกับ เราที่ตั้งใจอยู่ว่าจะรับใช้พระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นทาส จึงสมกับที่เรียกตัวเองว่า "พุทธทาส"

ร่างของท่านพุทธทาสภิกขุ ขณะถูกฌาปนกิจ ณ สวนโมกขพลารามนี่คือความหมายของคำว่า "พุทธทาส" เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าไม่มีอะไรดีกว่า ชีวิตของเราจะอยู่ต่อไปอีกกี่ปีก็ตามใจ ถ้าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด และสูงสุด ก็ควรจะทำงานนี้ คือรับใช้พระพุทธเจ้า ด้วยการทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายไป มีประโยชน์แก่คนทุกคนในโลกก็แล้วกัน แล้วอาตมายังคิดด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ใจว่า พุทธบริษัททุกคนเป็นพุทธทาสอยู่แล้วในตัว ไม่ใช่แต่เรา แต่เขาทำงานอย่างพุทธทาสอยู่แล้วทุกคน ช่วยรักษาบำรุงเผยแผ่พระพุทธศาสนา ฉะนั้นเราก็ไม่ยกตัว ไม่อวดดี ไม่จองหองพองขนว่า เป็นพุทธทาสแต่เราคนเดียวเท่านั้น[11]
นายธรรมทาสเขาตั้งชื่อของเขาก่อน ธรรมทาส ทีนี้เราเห็นว่ามันว่างอยู่ตำแหน่งหนึ่ง ก็เลยเห็นว่ามันน่าจะชื่อพุทธทาส แล้วเจ้าคุณวัดสามพระยาสมัยนั้น สมเด็จวัดสามพระยาตอนนี้แหละ ท่านเกิดชอบขึ้นมา ท่านก็เลยใช้ชื่อสังฆทาสอยู่พักหนึ่ง และท่านก็จัดการเรื่องของคณะสงฆ์เป็นการใหญ่ ปฏิรูป ปฏิวัติอะไรกัน ในเรื่องเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ก็เลยใช้ชื่อตัวเองว่าสังฆทาสเลยได้มีครบชุด[1]

ทองพริกวิกิพิเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยินดีต้อนรับความคิดเห็นดีๆ ติชมบทความตามพอเหมาะ

สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น