จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

เบิกเนตรความดีในหลวง ร.๙ :เบิกเนตรโครงการหลวง ที่ต้องไปสูจน์

 












เมื่อวานพูดถึงโครงการหลวงที่ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวเขาในพื้นที่ต่างๆไปแล้ว 


เมื่อเช้านี้นั่งกินกาแฟ กับขนมปังทาแมคคาเดเมียโครงการหลวง ก็นึกขึ้นมาว่าที่จริงแล้วโครงการหลวงนอกจากพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขาแล้ว ยังผลิตสินค้าดีๆ มีคุณภาพมาให้เรากินกันด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง


พอว่างเลยลองมานั่งลิสต์ของดีโครงการหลวง 5 อันดับแรกในใจ เสธ. 


1. แมคคาเดเมียบด - เสธ. ชอบอันนี้มากที่สุด ทากับขนมปังอร่อยมาก หอมมันครับ


2. ปลาเทราต์โครงการหลวง - ปลาเทราต์เป็นปลาเมืองหนาว แต่บ้านเราเอามาเพาะเลี้ยงสำเร็จที่สถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ สร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยงอย่างงาม ปลาเทราต์เนื้อมีสีส้มคล้ายปลาแซลมอน รสชาติอร่อย ใครที่เคยไปกินปลาเทราต์ที่สถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ จะติดใจครับ


3. ไข่คาร์เวียร์โครงการหลวง - ไข่ปลาคาร์เวียร์ได้มาจากปลาสเตอร์เจียน ซึ่งก็เป็นปลาเมืองหนาวอีก และบ้านเราก็เอามาเพาะเลี้ยงสำเร็จที่สถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์อีกแล้ว ไข่คาร์เวียร์ราคาแพงและหากินยาก ต้องสั่งจองกัน จริงๆก็อร่อยดีแต่ด้วยความที่นานๆทีได้กิน เลยให้คะแนนน้อยกว่าปลาเทร้าหน่อยนึง


4. เนยงาดำโครงการหลวง - สำหรับ เสธ. ไอ้นี่ก็อร่อย ทาขนมปังกินกับกาแฟได้ดีมาก 


5. สตรอว์เบอรี่โครงการหลวง - แน่นอนล่ะครับ ถ้าพูดถึงโครงการหลวง ไม่พูดถึงสตรอว์เบอรี่ก็ไม่ได้ เพราะเป็นหนึ่งในสินค้าพัฒนาชีวิตชาวเขาเลย สตรอว์เบอรี่โครงการหลวงอร่อย หวาน และสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงอย่างเป็นกอบเป็นกำ 


จริงๆของที่ประทับใจจากโครงการหลวงมีมากกว่านี้ แต่ถ้าจัดอันดับเยอะไปเกรงว่าจะเฝือ เอาแค่ 5 อันดับพอ ที่เหลืออยากเห็นรีวิวจากคนอื่นบ้าง


แล้วท่านล่ะครับ มีอะไรจากโครงการหลวงที่ท่านชอบบ้าง? มาแชร์กันครับ 


เพราะนี่เป็นสิ่งยืนยันว่า โครงการที่พลิกฟื้นชีวิตชาวเขาและประชาชนนี้ ได้ผลิตอะไรดีๆมาให้เราได้กินได้ใช้กันบ้างครับ 


#เสธPlay

เบิกเนตรความดีของในหลวง ร.9 :70 ปี ความดีพัฒนาถิ่นลำบากบนดอย

 








"คุณนริศโรจน์ เฟื่องระบิล"

อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนติน่า




#บทความโดย


"คุณนริศโรจน์ เฟื่องระบิล"

อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนติน่า


#จุดเริ่มต้นในการขึ้นไปของในหลวงรัชกาลที่9 #ไม่ใช่ต้องการแค่ให้คนเหล่านั้นมีไฟฟ้าใช้

#แต่พระองค์ต้องการทำให้คนเหล่านั้นมีตัวตน


โดยอดีตท่านทูตได้โพสต์กล่าวว่า.... 


"ย้อนหลังไป 20 กว่าปี ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะสื่อต่างประเทศที่เป็นแขกของ กต. โดยผมมีหน้าที่ต้องพาคณะสื่อเหล่านี้ไปถ่ายทำตามหมู่บ้านชาวเขาตามดอยต่างๆ เพื่อให้คณะสื่อได้สัมภาษณ์ถึง วิถีชีวิตของพวกเขาที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  


ผมได้ฟังการสัมภาษณ์ชาวเขาเผ่าต่างๆผ่านสื่อประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน !


ประเด็นสำคัญที่ผมจับได้คือ ชาวเขาเหล่านี้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวง ร.๙ ได้ทรงเข้ามาช่วยเหลือให้พวกเขาเลิกทำไร่เลื่อนลอย/ปลูกฝิ่น และปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆทดแทน  ถนนหนทางดีขึ้นจนพวกเขานำของออกมาขายได้ 


แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ในหลวง ร.๙ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาเป็น #คนไทย โดยสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่พลเมืองชั้นสองอีกต่อไป 


ในหลวง ร.๙ ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเขาแบบสุดโต่งให้เป็นคนเมืองแบบเราๆท่านๆ


แต่ท่านทำให้ชาวเขามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นในรูปแบบและวิถีชีวิตของพวกเขาเอง  


ในหลวงท่านไม่ได้ไปยัดเยียดความเป็นคนเมืองให้ชาวเขาแต่อย่างใด  


ถ้าใครที่เคยสัมผัสการทรงงานของพระองค์ท่านจะรับทราบได้ด้วยหัวใจว่าสิ่งที่ในหลวง ร.๙ ทรงทำนั้นไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรทางการเมืองเลย


ผมเคยพาคณะสื่อต่างประเทศร่วมร้อยคณะแล้วกระมังไปถ่ายทำสารคดีตรงแปลงปลูกสตอเบอรี่พันธ์พระราชทาน / ไร่กาแฟ / ไร่มะคาเดเมีย /แปลงปลูกพืชผักเมืองหนาว /แปลงดอกไม้เมืองหนาว ฯลฯ ในพื้นที่ซึ่งเดิมเคยเป็นไร่ฝิ่น ไร่เลื่อนลอยที่แห้งแล้งมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน


เคยพาคณะสื่อต่างประเทศไปดูแนวรอยต่อพรมแดนไทย-พม่า ตรงดอยตุง ที่ฝั่งไทยพลิกฟื้นจากเขาหัวโล้นเป็นป่าเขียวขจี ในขณะที่ฝั่งพม่ายังเป็นเขาหัวโล้นอยู่ 


จริงอยู่ที่ในบางพื้นที่ของไทยยังไม่สามารถเป็นไปตามแนวที่ในหลวง ร.๙ ได้ทรงกรุยทางเป็นแนวตัวอย่างให้ได้หมด #เพราะพระองค์ท่านมิใช่รัฐบาล #ไม่ได้มีอำนาจอะไรในมือ


#ท่านเพียงทรงวางรูปแบบแนวทางการพัฒนาให้เท่านั้น


แต่จากการตระเวนไปในหลายพื้นที่ ได้สัมภาษณ์ชาวเขาด้วยตัวเอง ทุกอย่างในภาพรวมมันดีขึ้น แตกต่างขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด 


ตรงนี้ถ้ามีใครเอามากระแนะกระแหนว่า 70 ปีไม่มีอะไรดีขึ้นล่ะก้อ ผมขอเถียงหัวชนฝา เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยตาของผมเอง ได้ยินคำยืนยันจากชาวเขาด้วยหูของผมเอง


สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ในหลวง ร.๙ ได้มอบให้ชาวเขานอกเหนือจากการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม นั่นคือ #ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ การได้เป็นพสกนิกรของพระองค์ท่าน เป็น #ราษฎรไทยโดยสมบูรณ์  ที่ชาวเขาภูมิใจ พวกเขามิใช่คนเร่ร่อน ไร้สัญชาติ  อีกต่อไป


"แต่พวกเขามีประเทศไทย เป็นพลเมืองไทย และมีที่ดินทำกินเป็นของเขาเอง" 


ลูกหลานชาวเขาหลายๆคนได้รับการศึกษามีอาชีพมั่นคง และเป็นพี่น้อง “คนไทย” เหมือนพวกเราทุกคน  


มิติตรงนี้ต่างหากที่สำคัญมากที่สุด 


การที่จะมีกลุ่มบุคคลใดไปช่วยสานต่องานของในหลวง ร.๙ นั้น เป็นสิ่งที่ดีที่ควรยกย่องสรรเสริญ  


แต่การทำดีสานต่อนั้นไม่ใช่การเอามาเปรียบเทียบเพื่อ ดิสเครดิต สิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำมาก่อนล่วงหน้า


การดิสเครดิตโดยเอาจุดเล็กๆจุดเดียวมาตีกินจุดอื่นๆในภาพรวมใหญ่ แบบนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่หวังดี เพื่อหวังให้เกิดความแตกแยกในสังคม  


ใครก็ตามที่ทำแบบนั้นแสดงว่ามีจิตใจชั่วร้ายแอบแฝงและไม่หวังดีกับใครทั้งนั้นไม่ว่า “ชาวเขา” หรือ “ชาวเรา”....

เบิกเนตรความดีในหลวง ร.๙ เหรียญ นี้ เเทนบัตรประชาชน

 



#เหรียญนี้_คือ_บัตรประชาชน


     เมื่อยังเป็นเด็กหญิงอยู่ ยังไม่มีสัญชาติไทย  และใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกล ต่อมาเมื่อ..“ ในหลวง “ ...เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

         โดยสิ่งที่สำคัญมากก็คือ.. การได้รับสัญชาติไทย..ขณะนั้นพวกเรายังไม่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนอย่างเป็นทางการ การจะเดินทางไปใหน ก็ถูกตรวจสอบ...แต่พระองค์..ทรงพระราชทานเหรียญ ให้คนละหนึ่งเหรียญ ซึ่งฉันใช้คล้องคอมาตลอดตั้งแต่นั้นมา...เพราะแทนบัตรประชาชนได้..

        ปัจจุบัน. แม้จะได้รับสัญชาติไทยแล้ว ก็ยังคล้องเหรียญนี้ไว้ตลอดเวลา...รักและบูชาเหรียญนี้มาโดยตลอด...และยังมีความภูมิใจว่า รับจากพระหัตถ์..ของพระองค์ โดยตรง.

      ยืนยันว่า จะปฎิบัติตนทำดีเพื่อในหลวง และสั่งสอนลูกหลานให้ทำความดีตามหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"  ซึ่งในหลวงทรงสอนเอาไว้


    เพราะถ้าไม่มี " ในหลวง" 

   เราก็คงจะไม่ได้เป็นคนไทย เหมือนทุกวันนี้


#ภาพ นางไพเราะ เยอเบาะ อายุ 60 ปี ชาวบ้านแสนใจ จ.เชียงราย


#Cr: ประชาชน ของ พระราชา

เบิกเนตรผลงาน ในหลวง ร.๙ ในการพัฒนาประเทศเรื่องพลังงานไทย

 .



....70 ปี กับ 9 โครงการพลังงานทดแทน พลังแห่งสายพระเนตรของพระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย

โครงการพระราชดำริด้านการพัฒนาพลังงาน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพลังงานในทุกด้าน ทั้งน้ำ แสงอาทิตย์ ลม และเชื้อเพลิงชีวภาพ

 

          ปัจจุบันจะเห็นว่าการใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทย มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับในอดีตที่พลังงานทดแทนยังคงเป็นเรื่องไกลตัว เราจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากกว่าครึ่ง แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นว่า ในวันข้างหน้าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พระองค์จึงทรงริเริ่มโครงการด้านพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ ลม หรือแม้กระทั่งเชื้อเพลิงชีวภาพ

 

          ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่พระองค์ตรัสถึงเรื่องการใช้พลังงานว่า "...ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยัน หาวิธีที่ทำให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้นมันจะหมดภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทนเราก็เดือดร้อน...” พระราชดำรัสเมื่อปี พ.ศ. 2548


          ผมจึงขอรวบรวมแนวพระราชดำริด้านพลังงานที่โดดเด่นของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาให้ชาวไทยทุกคนได้ศึกษาและเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ซึ่งทั้งหมดล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานของประเทศอย่างแท้จริง

 


1. พลังงานน้ำ


          ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านวิศวกรรมศาสตร์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ทำให้พระองค์ทรงมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องเขื่อนเป็นอย่างดีว่าจะนำมาน้ำในเขื่อนมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร ต้องสร้างขนาดใหญ่แค่ไหน เพื่อจะได้กระแสไฟฟ้าที่เหมาะสม รวมถึงต้องไม่เป็นปัญหาต่อการใช้น้ำของเกษตรกร

 

          ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ จึงทำให้การพัฒนาด้านพลังงานน้ำในไทยเติบอย่างมั่นคง สร้างประโยชน์ให้ประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง โดยพระองค์จะทรงเน้นการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับเก็บกักน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนใกล้เคียง เสริมการทำงานของเขื่อนขนาดใหญ่ที่จัดทำโดยภาครัฐ ซึ่งจะทำให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถพึ่งพาตนเองได้


          ดังที่จะได้เห็นว่า มีโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ ยะลา, โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง เชียงใหม่, โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง เชียงใหม่, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เชียงใหม่, เขื่อนพรมธารา ชัยภูมิ, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยกุ่ม ชัยภูมิ, โรงฟ้าพลังน้ำคลองช่องกล่ำ สระแก้ว, โรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกะเปาะ นราธิวาส และโรงไฟฟ้าพลังน้ำทุ่งเพล จันทบุรี


          หรือแม้กระทั่ง “เขื่อนภูมิพล” ที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยและให้ความห่วงใยเรื่องการบริหารจัดการภายในโครงการอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำครั้งแรกของประเทศ ในปี พ.ศ. 2500 เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยมีโรงผลิตไฟฟ้าเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ โรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสง


2. แก๊สโซฮอล์ จากผลิตภัณฑ์เอทานอล


          อีกสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลด้านพลังงานของในหลวง รัชกาลที่ 9 คือ พระราชดำริเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่พระองค์ทรงรับสั่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 แล้วว่า ในอนาคตน้ำมันจะขาดแคลนและมีราคาแพง จึงให้ทดลองผลิตแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิง ทำเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ในสวนจิตรลดา โดยเริ่มตั้งแต่การทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดนำมาทำแอลกอฮอล์  เพื่อใช้ในการผลิต "เอทานอล" ผสมกับน้ำมันเบนซิน จนกลายเป็นน้ำเชื้อเพลิง "แก๊สโซฮอล์" ได้สำเร็จ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมีการนำแก๊สโซฮอล์เติมให้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

 

          จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2544 จึงเริ่มนำแก๊สโซฮอล์ ออกมาจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. บริเวณสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต และในปีเดียวกัน บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก็เริ่มทดลองจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นครั้งแรกเช่นกัน ทำให้ภายในเวลาไม่กี่ปี น้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ซึ่งนอกจากช่วยลดการนำเข้าน้ำมันลงได้ส่วนหนึ่งแล้ว ยังช่วยลดมลภาวะเป็นพิษในอากาศได้อีกด้วย


3. ไบโอดีเซล


          นอกจากพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับเครื่องยนต์เบนซินแล้ว ในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล พระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากโครงการพัฒนาไบโอดีเซล เมื่อปี พ.ศ. 2526 ที่ทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก กำลังผลิต 110 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส เพื่อทำการทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซล


          จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี พ.ศ. 2543 โดยโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้เริ่มนำไบโอดีเซล มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ดีเซล และพบว่าสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล โดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงอื่น ๆ ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ในปี พ.ศ. 2544 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร "การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล"


          อีกทั้งในปีเดียวกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ก็ได้อัญเชิญผลงานของโครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ "Brussels Eureka 2001" ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และได้รับเหรียญทองประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณพร้อมถ้วยรางวัล แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในเวทีนานาชาติอีกด้วย

 

          ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการนำไบโอดีเซล มาใช้ในเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรชาวไทยมีรายได้ที่มั่นคงจากการปลูกพืชพลังงานอีกทางหนึ่ง

 


4. ดีโซฮอล์


          ดีโซฮอล์ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมน้ำมันดีเซลกับแอลกอฮอล์ เพื่อนำไปใช้แทนน้ำมันของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยโครงการส่วนพระองค์ส่วนจิตลดา ได้เริ่มวิจัยน้ำมันดีโซฮอล์ขึ้นในปี พ.ศ. 2541 และพบว่า สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ดีเซลได้ดีพอสมควร พร้อมทั้งยังช่วยลดปัญหาควันดำได้กว่า 50% อีกด้วย


5. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สขยะ


          ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับโครงการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สขยะเป็นอย่างมาก โดยได้พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่คณะทำงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาทดลองเกี่ยวกับพลังงานขยะ จนในปี พ.ศ. 2552 จึงสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้สำเร็จ จำนวน 480,080 หน่วย ด้วยการนำขยะมาทับถมกัน แล้วใช้ท่อฝังเข้าไปในกองขยะ ดึงแก๊สมีเทนออกมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า นับเป็นต้นแบบของการผลิตไฟฟ้าจากขยะ จนสามารถต่อยอดพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างในปัจจุบัน

 


6. เชื้อเพลิงอัดแท่งและระบบผลิตน้ำเย็นโดยใช้พลังงานความร้อนจากแกลบ


          พระองค์ได้แสดงให้ประชาชนชาวไทยเห็นว่า "แกลบ" นั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด โดยเมื่อปี พ.ศ. 2518 ทรงมีพระราชดำรัสให้นำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวของสวนจิตรลดา  ที่เหลือเป็นจำนวนมากมาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง สะท้อนให้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้ทดลองนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชตามแหล่งน้ำมาผสมแกลบทำเป็นเชื้อเพลิงแท่ง และทำการทดลองพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงได้เหมือนถ่านไม้ และทดแทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ได้


          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการนำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวในสวนจิตรลดา มาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งแล้วก็ตาม แต่ก็พบว่ายังมีแกลบเหลือเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศึกษาและพัฒนานำแกลบที่มีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลมาทำประโยชน์ในด้านพลังงานความร้อน

 

          โดยนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องทำความเย็นแบบดูดซึมชนิดใช้น้ำร้อน เพื่อผลิตน้ำเย็นสำหรับอาคารควบคุมสภาวะแวดล้อมเพื่อการเพาะเห็ดเขตหนาว และใช้กับเครื่องปรับอากาศให้กับอาคารวิจัยเห็ด อาคารวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งศาลามหามงคลภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งโครงการดังกล่าว ก็ได้เป็นตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจนำไปประยุกต์ในอนาคต


7. แก๊สชีวภาพมูลสัตว์


          เมื่อปี พ.ศ. 2522 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม ภายในโครงการสวนจิตรลดา โดยนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและมูลสัตว์มาหมักในบ่อที่มีสภาพไร้อากาศ จนเกิดเป็นแก๊สชีวภาพ ที่มีคุณสมบัติจุดติดไฟและให้ความร้อนได้ มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ อีกทั้งยังไม่มีกลิ่น  โดยแก๊สชีวิภาพที่ผลิตได้นั้น สามารถนำกลับมาเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแก่ระบบการผลิตโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ภายในโครงการส่วนสวนจิตรลดา นับว่าอีกหนึ่งโครงการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนได้อย่างยั่งยืน 


8. โครงการพลังงานแสงอาทิตย์


          ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้หลากหลายรูปแบบ พร้อมทั้งยังเป็นตัวอย่างและแหล่งความรู้แก่ประชาชนที่สนใจนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ภายในครัวเรือนหรือประกอบธุรกิจของตนเองอีกด้วย


          ดังเช่น "โครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์" ที่มีเป้าหมายเพื่อปูพื้นฐานการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานทดแทน โดยการใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ซึ่งมีอยู่ทั่วไป มาใช้ประโยชน์ ด้วยการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลแล้ว ยังเป็นการลดมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง

 

          หรืออย่าง "โครงการเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์" ที่มีลักษณะเป็นเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบอุโมงค์ลมร้อน โดยมีแผงรับความร้อนจากแสงอาทิตย์และพัดลมเป็นตัวเป่าลมร้อนที่เกิดขึ้น สามารถนำไปใช้อบผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดธัญพืช เมล็ดถั่ว ผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร ตลอดจนเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าในการอบแห้งผลิตภัณฑ์อบแห้งของโครงการส่วนพระองค์ฯ ทั้งการทำกล้วยตาก และผลไม้อบแห้งอื่น ๆ

 


9. พลังงานลม


          ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้พัฒนาการใช้พลังงานลมในโครงการสวนจิตรลดา มานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นเป็นการใช้เพื่อวิดน้ำสำหรับถ่ายเทน้ำของบ่อเลี้ยงปลานิล รวมถึงการใช้พลังงานลมในการสูบน้ำขึ้นไปบนภูเขา เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นไม้ และได้มีโครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับพลังงานลม ออกมาอีกหลายโครงการ ได้แก่

 

          - กังหันลมบริเวณโครงการสระเก็บน้ำพระราม 9


          เป็นหนึ่งในโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยภายในโครงการได้นำเทคโนโลยีกังหันลมมาผลิตไฟฟ้าร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นกังหันลมที่มีความเร็วลมต่ำ และปราศจากเสียงรบกวน

 

          - กังหันลมผลิตไฟฟ้า ณ โครงการชั่งหัวมัน


          พระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ศูนย์วิจัยพลังงานลมน้ำและแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี ออกแบบและติดตั้งกังหันลม ขนาดกำลังผลิต 50 กิโลวัตต์ ทั้งหมด 20 ตัว บริเวณพื้นที่โครงการชั่งหัวมัน จ.เพชรบุรี ด้วยทรงเล็งเห็นว่าบริเวณพื้นที่ในโครงการมีกระแสลมพัดแรง ซึ่งนับเป็นทุ่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


          ด้วยพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยมาตลอด แม้แต่ด้านพลังงานที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าความรู้อย่างต่อเนื่อง จนสามารถนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นได้อย่างทุกวันนี้ สมดังพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย" อย่างแท้จริง 


ขอขอบคุณข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน


สายฝน แห่งชีวิต ปล่อยความทุกข์ กังวลไหลไปตาม สายน้ำ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวาง





ใบไม้ร่วงโรย ชีวิตล่วงเลย แต่ใจไม่ร่วงหล่น